Hello Pride Month! สวัสดีเดือนมิถุนายนค่ะน้อง ๆ ชาว Dek-D
อย่างที่ทราบกันว่า เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศที่เท่าเทียม วันนี้พี่ ๆ ชาว Dek-D จึงขอนำเสนอหลักสูตรน่าสนใจต้อนรับ Pride Month ปริญญาโท “สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) หลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในอาเซียน หลักสูตรที่พร้อมขับเคลื่อนผู้คนไปสู่สังคมในอุดมคติ แล้วที่นี่เรียนอะไรกันบ้าง ไปดูกัน!
“สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” จากการเรียนรู้ในห้องเรียนสู่การผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในสังคม
ความเป็นมา
“หลักสูตรปริญญาโทสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” แต่เดิมเคยเป็น “หลักสูตรสตรีศึกษา” ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยเกิดจากความตั้งใจของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร (ส.บ.อ.) และโครงการสตรีและเยาวชนศึกษาที่ต้องการผลักดันประเด็นดังกล่าว
ต่อมาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา ได้มีการปรับปรุงฉบับปี พ.ศ. 2550 และย้ายมาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของวิทยาลัยสหวิทยาการ
เมื่อปี พ.ศ. 2556 ได้พัฒนาหลักสูตรและปรับเปลี่ยนชื่อวิชาใหม่เป็น “สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมหลากหลายประเด็นมากยิ่งขึ้น
เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง?
“สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” ศาสตร์แห่งศตวรรษ วิสัยทรรศน์แห่งความเข้าใจ
หลักสูตรดังกล่าวมุ่งศึกษา วิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ความไม่เสมอภาคทางเพศ ตลอดจนภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เข้ามาทับซ้อนอยู่กับประเด็นเพศสถานะ โดยมีเนื้อหาการสอนที่มีความลุ่มลึกและกว้างขวาง ครอบคลุมสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์หลากหลายสาขาวิชาอันจะนำไปสู่การพัฒนาและการเสริมสร้างเจตคติของสังคมให้การยอมรับและเคารพในคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน
ระยะเวลาการศึกษา
หลักสูตร 36 หน่วยกิต ใช้เวลาการศึกษาตลอดหลักสูตรอย่างน้อย 4 ภาคการศึกษา แต่ไม่เกิน 14 ภาคการศึกษาปกติ
นอกจากนี้ยังมีวิชาเลือกจำนวนทั้งหมด 19 วิชา โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ สื่อสารมวลชน
- กลุ่มที่ 2 เพศสถานะ การพัฒนาและแนวทัศน์ข้ามพรมแดน
- กลุ่มที่ 3 เพศสถานะ การเมือง และกฎหมาย
- กลุ่มที่ 4 เพศทางเลือก ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง และ ขบวนการเคลื่อนไหวของเพศทางเลือก
การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา
- ข้อเสนองานวิจัย (Research Proposal)
- พิจารณาผลการศึกษา และผลสอบภาษาต่างประเทศ
- การสอบสัมภาษณ์
คุณสมบัติของผู้สมัคร
- สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี โดยไม่จำกัดสาขาจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองวิทยฐานะ
- มีคุณสมบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2553 ข้อ 7 คลิก
- มีผลทดสอบภาษาอังกฤษ TU-GET หรือ TOEFL หรือ IELTS (ผลสอบต้องไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันสมัคร)
ค่าใช้จ่ายในการศึกษา
ประมาณ 18,300 บาทต่อภาคการศึกษา ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 73,200 บาท (4 ภาคการศึกษาปกติ)
หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร?
- ผู้ที่มีความสนใจในงานพัฒนาสตรีและความหลากหลายทางเพศ
- ผู้ที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศ
- ผู้ที่พร้อมสร้างความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคมที่ยั่งยืน
เป็นอย่างไรบ้างคะกับหลักสูตรป.โท “สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” ของมธ. ถือเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจเลยทีเดียว ด้วยจุดเด่นของหลักสูตรที่ไม่ซ้ำใคร ได้ความรู้เรื่องเพศควบคู่กับการขับเคลื่อนสังคม ยืนหนึ่งในไทยและอาเซียนจริง ๆ ค่ะ
หากสนใจหลักสูตรดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ขอบคุณข้อมูลจากhttps://sdgs.tu.ac.th/2022/11/23/first-master-degree-in-women-gender-and-sexuality-studies-by-college-of-interdisciplinary-studies-2/https://cis.tu.ac.th/master-programhttps://ngthai.com/education/36747/women-gender-and-sexuality-studies/
0 ความคิดเห็น