ตอนนี้ "ภาษาอังกฤษ" เป็นภาษาสำคัญ แม้กระทั่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หลายคณะก็ยึดเอาวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาหลัก (ถึงจะไม่ได้สอบเข้าสายภาษาก็ตาม) อย่างคณะแพทยศาสตร์เองที่ดูเป็นคณะที่ต้องเน้นวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ แต่น้องๆ รู้มั้ยคะ สอบเข้าแพทย์นี่แหละ ห้ามทิ้งภาษาอังกฤษเด็ดขาด!
วันนี้พี่มิ้นท์จะพาน้องๆ มาดูความสำคัญของวิชาภาษาอังกฤษกับการสอบเข้าแพทยศาสตร์ ว่ามีความสำคัญยังไง หรือโหดขนาดนั้น ไปหาคำตอบกันค่ะ
"ภาษาอังกฤษ" วิชาสำคัญ จะสอบเข้าหมอ ห้ามทิ้งวิชานี้!
วิชาหลักๆ ของการสอบเข้าแพทย์
แน่นอนว่า คณะแพทยศาสตร์ เป็นคณะสายวิทย์ วิชาที่สอบเข้าก็จะเน้นวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
หากเข้าผ่าน กสพท ก็จะใช้คะแนน TPAT1 วิชาเฉพาะแพทย์ 30% และ A-Level 70% โดย A-Level ใช้ถึง 7 วิชา ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์ รวมกัน 3 วิชาคือ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา มีค่าน้ำหนักอยู่ที่ 40% รองลงมาคือ คณิตศาสตร์1 20% ภาษาอังกฤษ 20% ภาษาไทย 10% และสังคม 10% ดังนั้นภาษาอังกฤษก็ถือว่ามีค่าน้ำหนักเทียบเท่ากับคณิตศาสตร์เลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีกำหนดคะแนนขั้นต่ำ ที่แต่ละวิชาต้องได้ไม่ต่ำกว่า 30% นั่นหมายความว่า ภาษาอังกฤษ ก็จะต้องได้ 30 คะแนนขึ้นไปจึงจะมีสิทธิ์สมัคร แม้จะดูไม่สูงมาก แต่ถ้าต้องเตรียมสอบทุกวิชา ก็ทำให้หลายคนพลาดคะแนนส่วนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
โครงการอื่นๆ ใช้เกณฑ์อะไร
กสพท เป็นรอบการรับคณะแพทยศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุด ส่วนรอบอื่นๆ อย่าง Portfolio และ Quota ก็จะใช้เกณฑ์คัดเลือกเป็นของตัวเอง เกณฑ์จึงมีความหลากหลายมาก
คณะแพทยศาสตร์ รอบ Portfolio เน้นพอร์ตฟอลิโอและความสามารถพิเศษ ดังนั้นวิชาสอบจึงยังไม่ได้นำมาใช้ แต่ในส่วนของคุณสมบัติมักจะกำหนด GPAX และคะแนนภาษาอังกฤษขั้นต่ำ (ส่วนใหญ่เป็นคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษมาตรฐาน) บางคนเกรดดี แต่ภาษาอังกฤษไม่ดี หรือไม่ได้สอบภาษาอังกฤษอื่นๆ ไว้ ก็สมัครไม่ได้
คณะแพทยศาสตร์ รอบ Quota ส่วนใหญ่เป็นโควตาภูมิภาค หรือโครงการที่กำหนดคุณสมบัติพิเศษไว้ เกณฑ์คัดเลือกนั้นมีทั้งคล้ายกับรอบ Portfolio หรือเริ่มเปลี่ยนมาใช้คะแนนสอบจากส่วนกลาง ตัวอย่างเกณฑ์แพทย์รอบโควตา
- คณะแพทยศาสตร์ ม.บูรพา ใช้คะแนน TPAT1 และ A-Level อีก 5 วิชา ถ้าดูตามสัดส่วนค่าน้ำหนักเฉพาะ A-Level วิชาภาษาอังกฤษใช้ 15% เป็นรองแค่วิชาเคมีและชีววิทยา ที่ใช้ 20% แต่มากกว่าฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ที่ใช้วิชาละ 10% เท่านั้น
- คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลาฯ รอบโควตา 14 จังหวัด ใช้ A-Level 7 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิต1 ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยวิชาที่กำหนดคะแนนขั้นต่ำมากที่สุดคือ ภาษาอังกฤษ กำหนดไว้ที่ 35 คะแนน
- คณะแพทยศาสตร์ ม.พะเยา โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ วิชาภาษาอังกฤษ มีค่าน้ำหนัก 20% และยังต้องได้คะแนนขั้นต่ำ 40 คะแนนขึ้นไปอีกด้วย
- คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ก็ใช้คะแนน A-Level แต่เลือกใช้เป็นชุดคะแนน T-Score เมื่อดูเกณฑ์ขั้นต่ำก็พบว่า กำหนด T-Score A-Level ภาษาอังกฤษมากที่สุด ที่ 60 คะแนน
รอบ Portfolio หลายโครงการใช้ภาษาอังกฤษมาตรฐาน พร้อมกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ
ภาษาอังกฤษ A-Level อาจจะดูธรรมดาไปแล้วสำหรับคณะแพทยศาสตร์รอบ Portfolio เพราะหากใครอยากติดรอบนี้ ก็จะต้องพยายามและลงทุนมากขึ้นอีกหน่อย ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยเปิดรับโครงการความสามารถด้านวิชาการหรือด้านภาษาอังกฤษ หรืออาจจะเป็นโครงการชื่ออื่นๆ แต่ใช้คะแนนสอบมาตรฐาน เช่น TOEFL, IELTS, TOEIC หรือผลสอบภาษาอังกฤษที่จัดสอบโดยมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น CU-TEP, TU-GET, KU-EPT, MU-ELT เป็นต้น และมีกำหนดขั้นต่ำอีกด้วย
ตัวอย่างการกำหนดขั้นต่ำวิชาภาษาอังกฤษมาตรฐาน คณะแพทยศาสตร์
ด้านล่างนี้คือตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่มีการใช้คะแนนภาษาอังกฤษมาตรฐาน แม้ว่าจะไม่ใช่หลักสูตรอินเตอร์ก็ตาม! เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ ต่อให้ไม่ได้นำมาคิดคะแนน แต่ถ้าได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษไม่ถึงขั้นต่ำที่กำหนดก็สมัครไม่ได้เช่นกัน ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้และไม่ได้สอบภาษาอังกฤษไว้ก่อน ก็อาจเสียโอกาสในรอบนี้ (แต่ก็ยังมีรอบอื่นๆ ให้สมัครนะ)
เห็นแบบนี้แล้วก็อย่าเพิ่งท้อ ยังมีเวลาเตรียมตัวอีกเยอะค่ะ และที่สำคัญอย่าลืมแบ่งเวลาให้ดี โดยวิชาที่ยังต้องเน้นหลักๆ คือ วิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 1 ภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาไทยและสังคมศึกษา ก็ยังต้องใช้อยู่ในหลายมหาวิทยาลัย และใครที่จะเข้าผ่าน กสพท ก็จะต้องเตรียมตัวสอบวิชาเฉพาะ กสพท เพิ่มอีก 1 วิชาค่ะ พี่มิ้นท์ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนนะคะ :)
1 ความคิดเห็น
ไม่ว่าจะเป็นสนามสอบใดก็ตาม วิชาภาษาอังกฤษสำคัญมาก
ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้าม.1 กับม.4 การสอบเข้ามหาวิทยาลัย
การเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไปมีวิชาภาษาอังกฤษด้วย
การสอบภาค ก. ของข้าราชการ ครูผู้ช่วย