สวัสดีค่ะน้องๆ แม้ว่าตอนนี้ ทปอ. ยังไม่มีการแถลงข่าวเรื่องการรับสมัคร TCAS68 ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่บางมหาวิทยาลัยก็เริ่มทยอยประกาศข้อมูล หรือเกณฑ์การคัดเลือกบางคณะ บางสาขาวิชาออกมาให้ #dek68 ได้ติดตามกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนที่น้องๆ จะเริ่มลงสนาม TCAS ของจริง น้องๆ จะต้องศึกษา และทำความเข้าใจตัวระบบก่อน ซึ่งวันนี้พี่แนนนี่รวบรวมเรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะต้องรู้ และเตรียมตัวมาฝาก 10 เรื่องด้วยกัน
รวม 10 เรื่องสำคัญ ที่ #dek68 ควรต้องรู้ ก่อนเจอ TCAS ของจริง!
1) รู้จักระบบ TCAS
ระบบ TCAS (ที-แคส) แบ่งการรับสมัครออกเป็น 4 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 Portfolio, รอบที่ 2 Quota, รอบที่ 3 Admission และรอบที่ 4 Direct Admission โดยแต่ละรอบมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป
รอบที่ 1 Portfolio : เป็นรอบที่เน้นการใช้ Portfolio หรือความสามารถพิเศษต่างๆ แต่ะอาจจะมีบางมหาวิทยาลัยที่กำหนดใช้คะแนน TGAT/TPAT ควบคู่ไปด้วย โดยแต่ละมหาวิทยาลัย จะดำเนินการรับสมัครเอง ตั้งแต่ประกาศรับสมัคร, คัดเลือก และประกาศผล ซึ่งน้องๆ จะสามารถติดตามข้อมูลได้จากมหาวิทยาลัยโดยตรง ในส่วนของการยื่นสมัครนั้น จะยื่นสมัครกี่มหาวิทยาลัยก็ได้ จะผ่านการคัดเลือกกี่มหาวิทยาลัยก็ได้ แต่จะเลือกยืนยันสิทธิ์ได้เพียงแค่ที่เดียวเท่านั้น (ใน 1 มหาวิทยาลัยจะยื่นได้กี่โครงการ/สาขา/อันดับ ขึ้นอยู่แต่ละมหาวิทยาลัยเลย)
รอบที่ 2 Quota : เป็นรอบที่ใช้คะแนน TGAT/TPAT A-Level และวิชาเฉพาะมหาวิทยาลัยในการคัดเลือก แต่จะเน้นเปิดรับนักเรียนในพื้นที่ที่กำหนดไว้ (โครงการอื่นๆ ไม่กำหนดพื้นที่ก็มี) โดยติดตามข้อมูล และการรับสมัครได้จากทางมหาวิทยาลัย และในส่วนของการยื่นสมัครเหมือนกับในรอบ Portfolio เลย
รอบที่ 3 Admission : เป็นรอบที่ใช้คะแนน TGAT/TPAT A-Level และวิชาเฉพาะมหาวิทยาลัยในการคัดเลือกเช่นกัน แต่จะทุกมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครผ่านหน่วยงานกลางอย่าง ทปอ. ที่เว็บไซต์ mytcas พร้อมกัน โดยจะยื่นสมัครได้สูงสุด 10 อันดับ
รอบที่ 4 Direct Admission : รอบสุดท้าย เป็นรอบที่คาดเดาอะไรไม่ได้ ทั้งมหาวิทยาลัยที่จะเปิดรับสมัคร สาขาวิชา จำนวนรับ และเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งในปีที่ผ่านๆ มา มีทั้งมหาวิทยาลัยที่ใช้คะแนน TGAT/TPAT A-Level วิชาเฉพาะมหาวิทยาลัยในการคัดเลือก และมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช้คะแนนสอบเลยเหมือนกัน โดยระเบียบการของแต่ละมหาวิทยาลัยจะประกาศออกมาหลังจากกระบวนการรอบ 3 เสร็จสิ้นแล้ว
2) หน่วยงานที่ดูแลระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย
1) ทปอ. : หน่วยงานกลางที่ดูแลทั้งระบบ TCAS-เว็บไซต์ mytcas โดยมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้สมัคร และข้อมูลการรับสมัครแต่ละมหาวิทยาลัย, รับสมัครสอบข้อเขียน TGAT/TPAT 2 - 5 และ A-Level, จัดการประสานงานข้อมูล และผลการสมัครต่างๆ กับมหาวิทยาลัย, รับสมัคร TCAS รอบ 3 Admission, ประกาศผลการคัดเลือกแต่ละรอบ และบริหารจัดการสิทธิ์ของผู้สมัครแต่ละคน
2) กสพท : หน่วยงานที่ดูแลการรับสมัคร และจัดสอบ TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท และดำเนินการคัดเลือก 4 กลุ่มวิชาชีพอย่าง คณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์โดยเฉพาะ
3) มหาวิทยาลัยต่างๆ : แต่ละมหาวิทยาลัยทำหน้าที่กำหนดคุณสมบัติ และเกณฑ์การคัดเลือก แต่ละสาขาวิชา ที่เปิดรับใน TCAS แต่ละรอบ และดำเนินการรับสมัคร TCAS รอบ 1 Portfolio, รอบ 2 Quota และรอบ 4 Direct Admission
3) mytcas เว็บหลักที่ต้องรู้จัก
นักเรียนม.6 ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต้องจำชื่อเว็บไซต์นี้ให้ขึ้นใจ "www.mytcas.com" เพราะไม่ว่าจะสมัครสอบข้อเขียน, การบริหารจัดการสิทธิ์ หรือการยื่นสมัคร TCAS รอบ 3 Admission ก็เบ็ดเสร็จในเว็บไซต์นี้ โดยน้องๆ จะต้องลงทะเบียน และจดจำรหัสผ่านในการเข้าระบบให้ดี เราจะได้เข้าเว็บไซต์นี้ตั้งแต่ต้น จนจบกระบวนการเข้ามหาวิทยาลัยเลย
4) คุณสมบัติ-เกณฑ์การคัดเลือกแต่ละสาขาวิชา
ก่อนที่จะยื่นสมัคร TCAS ไม่ว่าจะเป็นรอบไหน มหาวิทยาลัยอะไร น้องๆ จะต้องเช็กระเบียบการรับสมัครในปีที่ยื่นสมัครให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งคุณสมบัติ, เกณฑ์การคัดเลือก และจำนวนรับ เพราะในแต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ หรือแม้แต่ในปีเดียวกัน ระหว่างการรับสมัครอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ดังนั้นต้องหมั่นตรวจเช็กระเบียบการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะอัปโหลดระเบียบการผ่านหน้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเอง และภายในเว็บไซต์ mytcas
แจกเว็บไซต์รับสมัครแต่ละมหาวิทยาลัย5) TCAS ไม่ใช่วิชาสอบ ข้อสอบมีแต่ TGAT/TPAT และ A-Level
หลายคนมักเข้าใจว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องสอบ TCAS แต่จริงๆ แล้ว TCAS เป็นชื่อระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช้สนามสอบข้อเขียน แต่จะมีใช้การคะแนนจากสนามสอบข้อเขียน อย่าง TGAT/TPAT และ A-Level ในการคัดเลือกของระบบ TCAS โดยน้องๆ จะต้องสมัคร และเข้าสอบในรายวิชาที่ต้องการใช้คะแนน จากนั้นก็นำผลคะแนนไปใช้คัดเลือกมหาวิทยาลัยที่สนใจ
สำหรับสนามสอบ TGAT, TPAT 2 - 5 และ A-Level จะดำเนินรับสมัคร และจัดสอบโดยทปอ. ที่เว็บไซต์ mytcas แต่ถ้าเป็นสนามสอบ TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท จะรับสมัครและจัดสอบโดย กสพท ที่เว็บไซต์ https://www9.si.mahidol.ac.th/ เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีบางมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้มีการวิชาเฉพาะของบางคณะ/สาขาวิชาด้วย ซึ่งในส่วนนี้รายละเอียดและการดำเนินการต่างๆ จะอยู่ที่แต่ละมหาวิทยาลัยเลย
6) ยืนยันสิทธิ์อยู่ ไปต่อรอบอื่นไม่ได้
กฎสำคัญของระบบ TCAS คือ 1 คน = 1 สิทธิ์ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละรอบจะต้องจัดการสิทธิ์ให้เรียบร้อย ว่าจะ "ยืนยันสิทธิ์" หรือ "ไม่ใช้สิทธิ์" ในรอบนั้นๆ และเมื่อไหร่ที่ยืนยันสิทธิ์ผ่าน mytcas รอบใดรอบหนึ่งไปแล้ว จะไม่สามารถสมัครรอบต่อไปได้ แต่ระบบอนุญาตให้สละสิทธิ์ได้ 1 ครั้ง ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผ่าน mytcas เท่านั้น หากยังไม่ได้สละสิทธิ์ในระบบ mytcas สถานะก็จะยังคงเป็นผู้ที่ยืนยันสิทธิ์อยู่ แม้ว่าสละสิทธิ์กับมหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม ก็จะยังไม่สามารถสมัครรอบถัดไปได้
7) ไม่ใช้สิทธิ์ ไม่เท่ากับ สละสิทธิ์
จำไว้ให้ดีในระบบ TCAS "ไม่ใช้สิทธิ์" กับ "สละสิทธิ์" ความหมายไม่เหมือนกัน หลายคนมักจะชินว่า ถ้าไม่ต้องการมหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือกจะเรียกว่า สละสิทธิ์ แต่ในระบบ TCAS นั้น คำว่า "สละสิทธิ์" จะหมายถึง การยกเลิกสาขาวิชาที่ได้ยืนยันสิทธิ์ไปแล้วเท่านั้น ซึ่งจะมีวันให้ดำเนินการสละสิทธิ์โดยเฉพาะ (ใน 1 ปี จะมีเปิดระบบให้สละสิทธิ์ได้ไม่กี่วัน)
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ยังไม่ได้ยืนยันสิทธิ์ ถ้าไม่ต้องการสาขาวิชาที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ในระบบ TCAS จะใช้คำว่า "ไม่ใช้สิทธิ์" ซึ่งการไม่ใช้สิทธิ์นี้จะทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1. กดปุ่มไม่ใช้สิทธิ์ในวันจัดการสิทธิ์ หรือ 2. ไม่เข้าไปทำอะไรในระบบเลยในวันจัดการสิทธิ์
8) ค่าใช้จ่ายในการสมัคร
ในการเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ค่าสมัครสอบข้อเขียน และ 2) ค่าสมัครมหาวิทยาลัย โดยแต่ละค่าสมัครก็จะแตกต่างกันไป ตามรายวิชา/สาขาวิชาที่ยื่นสมัคร
1) ค่าสมัครสอบข้อเขียน : ถ้าเป็น TGAT/TPAT 2 - 5 วิชาละ 140 บาท, A-Level วิชาละ 100 บาท TPAT1 800 บาท น้องๆ ลงสมัครกี่วิชาก็จ่ายตามจำนวนนั้นไป
2) ค่าสมัครมหาวิทยาลัย : ขึ้นอยู่กับรอบ/โครงการ/มหาวิทยาลัยเลยค่ะ ถ้าเป็นรอบ 1, 2, 4 ก็มีตั้งแต่ฟรี! 100, 200, 300, 500 ถึง 1,500 บาท เลยค่ะ ตรงนี้ต้องตรวจเช็กกับมหาวิทยาลัยให้รอบคอบ แต่ถ้าเป็นรอบ 3 Admission ก็มารอลุ้นกันว่า dek68 จะได้รับเงินสนับสนุนเหมือน dek67 ไหม
9) ทำความรู้จักหลักสูตร และค่าเทอม
อีกสิ่งสำคัญที่ dek68 ห้ามละเลย ก็คือการสำรวจข้อมูลหลักสูตร/สาขาวิชาที่สนใจจะยื่นสมัครว่าเป็นอย่างไร เช่น เรียนกี่ปี เรียนวิชาอะไรบ้าง เรียนที่ไหน วุฒิการศึกษาที่จะได้รับคืออะไร จบไปแล้วต่อยอดอะไรได้บ้าง หรือทำงานเกี่ยวกับอะไร จะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพไหม เป็นต้น ตรงนี้ควรศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัย สาขาวิชาเดียวก็อาจจะเรียนแตกต่างกันก็ได้ ซึ่งจะทำให้น้องๆ รู้จักสาขาวิชาที่สนใจเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นตัวช่วยในการค้นหาตัวเองได้อีกด้วย
นอกจากนี้ แนะนำให้น้องๆ สำรวจค่าเทอม/ค่าธรรมเนียมการศึกษาให้เรียบร้อยตั้งแต่ต้น และอย่าลืมปรึกษากับผู้ปกครองด้วย เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ผิดหวัง ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือก จากความไม่พร้อมในเรื่องค่าใช้จ่าย
แจกเว็บไซต์มหาวิทยาลัย10) เกรดเฉลี่ย ยังสำคัญ
ใครว่าเกรดเฉลี่ยม.ปลายไม่สำคัญแล้ว พี่แนนนี่ขอค้านสุดตัวเลยค่ะ ส่วนใหญ่แล้วเกรดเฉลี่ยยังคงมีความสำคัญในการยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยกำหนดเกรดขั้นต่ำ (ทั้งรอบ Portfolio, Quota, Admission และ Direct Admission) ถ้าเกรดไม่ถึง ยื่นสมัครไม่ได้ หรือบางมหาวิทยาลัยกำหนดใช้ในการคัดเลือก แน่นอนว่าคนที่เกรดเยอะกว่า ก็ได้คะแนนเยอะกว่า มีสิทธิ์ผ่านการคัดเลือกก่อน ดังนั้นใครที่เตรียมตัวจะยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังคงต้องเก็บเกรดด้วยนะคะ
หมายเหตุ : บางมหาวิทยาลัยใช้เกรดเฉลี่ย 5 เทอม บางมหาวิทยาลัย 6 เทอม บางมหาวิทยาลัยใช้เกรดเฉลี่ยของบางกลุ่มสาระวิชา ตรงนี้ก็ต้องไปเช็กระเบียบการกันอีกที
เรื่องสำคัญสิ่งสุดท้ายที่อยากจะฝากน้องๆ ชาวเด็กดีเลย ก็คือ "เวลา" ไม่ว่าจะขั้นตอนไหนในการคัดเลือก เวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เปิดระบบวันไหน ปิดระบบวันไหน จดและดำเนินการต่างๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะถ้าพ้นจากเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถขอให้ขยายเวลา หรือช่วยเหลืออะไรภายหลังได้
0 ความคิดเห็น