สวัสดีค่ะน้อง ๆ ชาว Dek-D มีใครเรียนภาษาจีนแล้วประสบปัญหาในการจำตัวอักษรจีนไหมคะ ความยากของภาษาจีนคงหนีไม่พ้น “ตัวอักษรจีน” ซึ่งสร้างความปวดหัวให้ผู้เรียนภาษาจีนไม่น้อยเลยทีเดียว จะอ่านก็อ่านไม่ออก เพราะไม่รู้จักตัวอักษรนี้ จะเขียนก็เขียนไม่เป็น เพราะไม่รู้ว่าเขียนยังไง ต้องเริ่มที่ขีดไหน
จำตัวจีนไม่ยาก! ด้วยวิธีการสร้างอักษรจีน 4 รูปแบบ พร้อมแจกเว็บไซต์กระดาษคัดจีน
ความแตกต่างระหว่างภาษาจีนและภาษาอื่น ๆ
จุดเด่นภาษาจีน คือ ไม่มีการนำพยัญชนะและสระมาผสมกันเพื่อสร้างเป็น “คำ” เหมือนกับภาษาอ่ื่น ๆ แต่ภาษาจีนจะใช้ระบบ “ตัวอักษร” (汉字 Hànzì) แทนเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ดังนั้นทุกตัวอักษรจีนล้วนมีเสียงและความหมายในตัวมันเอง สรุปได้ว่า เมื่อเรียนภาษาจีนเราไม่จำเป็นต้องสะกดคำ แต่จำเป็นต้อง “จำตัวอักษรจีน”
ตัวอักษรจีนมีจำนวนขีดเยอะไม่ไหว ลายตาไปหมด บางตัวก็เขียนคล้าย ๆ กันอีก ไม่รู้ว่าต้องเริ่มจำจากตรงไหนดี ยิ่งเรียนก็ยิ่งงง วันนี้พี่ ๆ ชาว Dek-D ขอนำเสนอเทคนิคการจำตัวอักษรจีนด้วยวิธีการสร้างอักษรจีน 4 รูปแบบ แล้ว 4 แบบที่ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูพร้อม ๆ กัน!
1. 象形字 (xiàngxíng zì) อักษรสร้างตามรูป
หมายถึง อักษรที่เกิดจากการเลียนแบบลักษณะของสิ่งต่าง ๆ เห็นแบบไหนก็วาดแบบนั้น อักษรประเภทดังกล่าวมีมาตั้งแต่สมัยจีนโบราณ และได้วิวัฒนาการจนกลายมาเป็นตัวอักษรจีนที่ใช้ในปัจจุบัน
อักษรประเภทนี้มีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากมักจะใช้กับสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเท่านั้นถึงจะวาดออกมาได้ จึงยากที่จะใช้กับสิ่งที่เป็นนามธรรม
ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “อักษรจีนมาจากรูปภาพ” ถือว่าเป็นความจริง เพียงแต่ไม่ถูกต้อง 100% นั่นเอง
2. 指事 (zhǐshì zì) อักษรสร้างตามเรื่อง
หมายถึง ใช้สัญลักษณ์บางอย่างเพื่อสื่อความหมายเพิ่มเติมจากอักษรที่สร้างตามรูป (象形字 )
ตัวอย่างเช่น
- ภาพต้นไม้ด้านบน: มีการเติมสัญลักษณ์ส่วนล่างของต้นไม้
- จาก 木 (mù) แปลว่า "ต้นไม้" ---> 本 (běn) เกิดความหมายใหม่ แปลว่า "ราก"
- ภาพต้นไม้ด้านล่าง: มีการเติมสัญลักษณ์ส่วนบนของต้นไม้
- จาก 木 (mù) แปลว่า "ต้นไม้" ---> 末 (mò) เกิดความหมายใหม่ แปลว่า "ปลาย/ยอด"
3. 会意字 (huìyì zì) อักษรผสมความหมาย
หมายถึง การนำเอาตัวอักษรหรือส่วนประกอบที่มีความหมายมาประกอบกันเพื่อสื่อความหมายใหม่
ตัวอย่างเช่น
亻(dān rén páng) ส่วนประกอบที่แปลว่า "คน" + 木 (mù) แปลว่า "ต้นไม้"
- ---> 休 (xiū) เกิดความหมายใหม่ แปลว่า "พักผ่อน" (คนพิงต้นไม้เพราะต้องการพัก)
หมายเหตุ
ส่วนประกอบ "亻" เรียกว่า 单人旁 (dān rén páng) เป็นอักษรข้างของคำว่า "人" (rén) ที่แปลว่า "คน"
小 (xiǎo) แปลว่า "เล็ก" + 土 (tǔ) แปลว่า "ดิน"
- ---> 尘 (chén) เกิดความหมายใหม่ แปลว่า "ฝุ่น" (ฝุ่นมีขนาดเท่ากับดินที่เล็กมาก ๆ)
ตัวอย่างอื่น ๆ
- 日 (rì) พระอาทิตย์ + 月 (yuè) พระจันทร์ ---> 明 (míng) สว่าง
- พระอาทิตย์อยู่กับพระจันทร์จะ “สว่าง”
- 木 (mù) ต้นไม้ + 木 (mù) ต้นไม้ ---> 林 (lín) ป่าไม้
- 氵(sāndiǎnshuǐ) ส่วนประกอบเกี่ยวกับ “น้ำ” + 目 (mù) ตา ---> 泪 (lèi) น้ำตา
4. 形声字 (xíngshēng zì) อักษรสร้างตามเสียงและความหมาย
หมายถึง การนำเอาส่วนแสดงความหมาย (形旁 xíng páng) และส่วนแสดงการออกเสียง (声旁 shēng páng) มาประกอบกันให้เกิดความหมายใหม่ และเป็นวิธีการสร้างอักษรจีนที่พบมากที่สุด โดยคิดเป็น 80% ขึ้นไปของตัวอักษรจีนทั้งหมด จึงเป็นหมวดหมู่ที่อยากให้น้อง ๆ โฟกัสเป็นพิเศษค่ะ
ตัวอักษร | ความหมายใหม่ | ส่วนบอกเสียง (声旁) | ส่วนบอกความหมาย (形旁) | |
清 qīng | ชำระ กระจ่าง | 青 qīng | 氵 | 三点水 (sāndiǎnshuǐ) เกี่ยวกับ “น้ำ” |
情 qíng | ความรู้สึก อารมณ์ | 青 qīng | 忄 | 竖心旁儿 (shùxīnpáng) อักษรข้างของ 心 (xīn) “ใจ” |
晴 qíng | ท้องฟ้าแจ่มใส | 青 qīng | 日 | 日字旁 (rìzìpáng) เกี่ยวกับ “พระอาทิตย์” |
请 qǐng | ขอร้อง เชิญ | 青 qīng | 讠 | 言字旁 (yánzìpáng) เกี่ยวกับ “คำพูด” |
ตัวอย่างเพิ่มเติม พร้อมส่วนบอกความหมายหมวดหมู่อื่น ๆ
ตัวอักษร | ความหมายใหม่ | ส่วนบอกเสียง (声旁) | ส่วนบอกความหมาย (形旁) | |
姑姑gūgu | ป้า/อาผู้หญิง (ญาติฝั่งพ่อ) | 古 gǔ | 女 | 女字旁 (nǚzìpáng) เกี่ยวกับ “ผู้หญิง” |
草 cǎo | หญ้า | 早 zǎo | 艹 | 草字头 (cǎozìtóu) เกี่ยวกับ “หญ้า” |
跑 pǎo | วิ่ง | 包 bāo | ⻊ | 足字旁 (zúzìpáng) อักษรข้าง 足 “ใช้เท้าเดิน” |
指 zhǐ | ชี้/นิ้วมือ | 旨 zhǐ | 扌 | 提手旁 (tíshǒupáng) เกี่ยวกับ “มือ” |
织 zhī | ทอ ถัก (ผ้า) | 只 zhǐ | 纟 | 绞丝旁 (jiǎosīpáng) เกี่ยวกับ “สิ่งทอ” |
腰 yāo | เอว | 要 yào | 月 | 肉字旁 (ròuzìpáng) เกี่ยวกับ “เนื้อ/อวัยวะ” *เมื่อวางด้านซ้าย |
期 qī | ช่วง ระยะเวลา | 其 qí | 月字旁 (yuèzìpáng) เกี่ยวกับ “พระจันทร์/เวลา/อากาศ” *เมื่อวางด้านขวา | |
饼 bǐng | ขนมเปี๊ยะ | 并 bìng | 饣 | 食字旁 (shízìpáng) เกี่ยวกับ “อาหาร” |
狮 shī | สิงโต | 师 shī | 犭 | 反犬旁 (fǎnquǎnpáng) อักษรข้างของ 犬 “สัตว์” |
箱 xiāng | หีบ กล่อง ลัง | 相 xiāng | ⺮ | 竹字头 (zhúzìtóu) เกี่ยวกับ “ต้นไผ่” |
吓 xià | ทำให้กลัว ขู่ขวัญ | 下 xià | 口 | 口字旁 (kǒuzìpáng) เกี่ยวกับ “ปาก” |
症zhèng | โรคภัยไข้เจ็บ | 正 zhèng | 疒 | 病字旁 (bìngzìpáng) เกี่ยวกับ “การเจ็บป่วย” |
煮 zhǔ | ต้ม | 者 zhě | 灬 | 四点底 (sìdiǎndǐ) เกี่ยวกับ “ไฟ” |
裤 kù | กางเกง | 库 kù | 衤 | 衣字旁 (yīzìpáng) เกี่ยวกับ “เสื้อผ้า” |
铜 tóng | ทองแดง | 同 tóng | 钅 | 金字旁 (jīnzìpáng) อักษรข้างของ 金 “โลหะ” |
ส่วนบอกความหมาย (形旁) ข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างส่วนที่พบเห็นได้บ่อยเท่านั้น ความจริงแล้วในภาษาจีนยังมีส่วนบอกความหมาย (形旁) อีกมากมาย
จะเห็นได้ว่า ส่วนบอกความหมาย (形旁) มีส่วนช่วยในการจำความหมายของตัวจีนอย่างมาก ดังนั้น หากเจอคำศัพท์ที่ไม่รู้จัก ให้ลองดูส่วนบอกความหมาย (形旁) ก่อน จะทำให้เราพอเดาความหมายของคำนั้น ๆ ได้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากเวลาไปสอบ เพราะในห้องสอบเราไม่สามารถสืบค้นความหมายได้
อยากอ่านเขียนคล่อง ต้องขยันคัดจีน
การคัดจีนบ่อย ๆ ก็มีส่วนช่วยในการจำตัวอักษรจีนนะคะ นอกจากจะทำให้จำตัวจีนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำแล้ว ยังช่วยฝึกฝนเรื่องการเขียนตามลำดับขีดอีกด้วย
วันนี้พี่ ๆ ชาว Dek-D ใจดีแจกวาร์ปเว็บไซต์กระดาษคัดจีน สามารถปรับแต่งองค์ประกอบต่าง ๆ ได้เอง ไม่ว่าจะเป็นขนาด ฟอนต์ สี เส้นตาราง ฯลฯ แถมยังมีพินอินและลำดับขีดให้อีก ปังไม่ไหว!
เว็บไซต์กระดาษคัดจีนขอบคุณข้อมูลจากhttps://sites.google.com/site/narongchailaoshi/classroom/KWS_Ch1-63/hanzihttps://pasajeen.com/chinese-radical-ep2/https://e-journal.sru.ac.th/index.php/jhsc/article/download/473/pdf_196/824https://baike.baidu.com/item/%E6%B1%89%E5%AD%97%E9%80%A0%E5%AD%97%E6%B3%95/4018743เมื่อลองเปิดใจให้ภาษาจีนดู จะรู้ว่าตัวอักษรจีนไม่ได้ยากขนาดนั้น เพียงแค่ขยันคัดและทำความเข้าใจวิธีการสร้างอักษรจีนรูปแบบต่าง ๆ หากก้าวข้ามความยากตรงนี้ไปได้ ก็ไม่มีอะไรให้กลัวแล้วค่ะ
พี่ ๆ ชาว Dek-D ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่กำลังเรียนภาษาจีนทุกคนนะคะ 加油!
0 ความคิดเห็น