มีใครเคยเป็นบ้างไหมคะ จะพรีเซนต์งานทีไรก็เป็นเรื่องใหญ่ตลอด พูดนานไปก็ไม่ดี สไลด์เยอะไปก็ไม่ดี ไหนจะสไลด์ไม่ดึงดูดผู้ฟังอีก ความกังวลเหล่านี้จะหมดไป เพราะวัันนี้พวกเราชาว Dek-D จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “เทคนิคการพรีเซนต์งานด้วยกฎ 10 20 30” บอกเลยว่าเด็กมัธยมใช้ได้ เด็กมหา'ลัยใช้ดี ถูกใจพี่ ๆ วัยทำงานแน่นอน
พรีเซนต์งานผ่านฉลุย! ด้วยกฎ 10 20 30
อะไรคือ “กฎ 10 20 30”
“กฎ 10 20 30” เป็นแนวคิดในการนำเสนองานที่ถูกเสนอโดย Guy Kawasaki อดีตนักการตลาดของ Apple เป็นกฎที่ทำให้การพรีเซนต์งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถมัดใจผู้ฟังได้อยู่หมัด โดยมีหลักการง่าย ๆ ดังนี้
10 : 10 slides (ย่อยข้อมูลทั้งหมดภายใน 10 สไลด์)
“ยิ่งมีสไลด์เยอะ ยิ่งดี” เป็นความเชื่อผิด ๆ ที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ใครที่ชอบยัดข้อมูลลงในสไลด์เยอะ ๆ ขอให้หยุดไว้ก่อน เพราะมนุษย์มีขีดจำกัดในการรับรู้และประมวลผลข้อมูลในเวลาเดียวกัน ดังนั้นถ้ามีเนื้อหามากเกินไป ผู้ฟังอาจจะหลุดโฟกัสไปก่อน แถมยังจำสิ่งที่เราพูดไปไม่ได้ด้วย
สิ่งที่ควรทำ
- เน้นประเด็นสำคัญ: จำนวนสไลด์ไม่เกิน 10 ช่วยให้เราสามารถคัดกรองข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น การพรีเซนต์จะได้ไม่ยืดยาวจนเกินไป
- การจัดเรียงเนื้อหา: เพียงแค่ 10 สไลด์ก็สามารถครอบคลุมหัวข้อหลัก ๆ ได้ เช่น
- บทนำ/เกริ่น
- เนื้อหา
- ข้อเสนอแนะ/ข้อสรุป
หมายเหตุ: สามารถปรับจำนวนสไลด์และหัวข้อได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามควรแบ่งประเด็นให้ชัดเจน โดยอาจใช้ 1 สไลด์ต่อ 1 ประเด็นเป็นต้น
20 : 20 minutes (พูดให้จบภายใน 20 นาที)
การพรีเซนต์นานเกินไปอาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดสมาธิได้ง่าย ๆ เวลาฟังใครพูดนาน ๆ เป็นชั่วโมงแล้วยังไม่จบสักที คนพูดยังไม่ทันพูดจบ แต่คนฟังสมองล้า สติหลุดกันไปก่อนแล้ว เช่นเดียวกับการดูซีรีส์ที่ตอนนึงยาวเกินไปแล้วเราไม่มีอารมณ์จะดูต่อนั่นเอง
สิ่งที่ควรทำ
- การเตรียมตัว: การพรีเซนต์ภายในเวลา 20 นาทีต้องมีการฝึกซ้อมและเตรียมเนื้อหามาอย่างดี เนื้อหาที่กระชับและชัดเจนจะช่วยลดการพูดนอกประเด็นได้
30 : 30 point font (ขนาดฟอนต์ไม่เล็กกว่า 30 พอยต์)
ขนาดฟอนต์สามารถส่งผลต่อการอ่านและการรับรู้เนื้อหาได้ ผู้ฟังคงเสียอารมณ์ไม่ใช่น้อยเวลาที่ต้องเพ่งข้อความขนาดเล็ก ดังนั้นการเลือกขนาดฟอนต์ที่เหมาะสมสามารถช่วยเน้นข้อมูลสำคัญและทำให้เนื้อหาดูน่าสนใจมากขึ้น
สิ่งที่ควรทำ
- ทำให้อ่านง่าย: ใช้ขนาดตัวอักษร 30 พอยต์หรือใหญ่กว่าจะทำให้ผู้ฟังสามารถอ่านข้อมูลในสไลด์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในห้องขนาดใหญ่หรือในสภาพแวดล้อมแสงที่ไม่ดี
- เลือกขนาดฟอนต์ให้เป็น:
- ฟอนต์ใหญ่: หัวข้อหลัก/หัวข้อรองที่ต้องการเน้นให้ชัดเจน
- ฟอนต์ขนาดกลาง: เนื้อหาหลักที่ต้องการให้ผู้ฟังอ่านได้อย่างสะดวก
- ฟอนต์ขนาดเล็ก: รายละเอียดเพิ่มเติม/หมายเหตุที่ไม่จำเป็นต้องเน้นมาก
ขอบคุณข้อมูลจากhttps://guykawasaki.com/the_102030_rule/https://humanos.biz/2023/05/18/%E0%B8%81%E0%B8%8E-10-20-30%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9B/?cn-reloaded=1กฎ 10 20 30 ไม่ใช่กฎตายตัว แต่เป็นเพียงแนวทางคร่าว ๆ เท่านั้น ทุกอย่างสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม หัวใจสำคัญของการพรีเซนต์คือ “เน้นประเด็นสำคัญ ไม่พูดยืดเยื้อ ขนาดฟอนต์ต้องอ่านง่าย” รวมถึงพยายามทำความเข้าใจผู้ฟังเพื่อให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลองนำเทคนิคนี้ไปใช้กันดูนะคะ จะดูมีความเป็นมืออาชีพขึ้นมาเลย
0 ความคิดเห็น