สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ครั้งที่แล้วพี่ ๆ ชาว Dek-D ได้พูดถึงความร้ายแรงของการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ไปแล้ว หากใครยังไม่อ่าน คลิก ครั้งนี้เรามาต่อด้วย “การใส่อ้างอิง (Citation)” หนึ่งในแนวทางการหลีกเลี่ยง Plagiarism กันค่ะ พร้อมบอก How to การใช้ฟังก์ชันการใส่อ้างอิงใน Microsoft Word และ Google Docs รับรองว่าใช้ง่าย ไม่ต้องมานั่งพิมพ์เองทีละตัวจนมือหงิก
เช็กให้ชัวร์! ใส่อ้างอิงยังไง ให้ปลอด Plagiarism พร้อมบอกฟังก์ชันการอ้างอิงใน Word & Google Docs
การใส่อ้างอิง (Citation) คืออะไร
การใส่อ้างอิง (Citation) หมายถึง การระบุแหล่งที่มาของข้อมูลที่เราใช้ในงานเขียนเพื่อแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลหรือแนวคิดเหล่านั้นมาจากแหล่งใด และเพื่อให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบข้อมูลได้
ประกอบด้วยอะไรบ้าง ข้อมูลหลัก ๆ ที่ปรากฏในอ้างอิงจะมีดังนี้
- ชื่อผู้เขียน ระบุชื่อผู้ที่เขียนงานหรือข้อมูลที่เรานำมาใช้
- ปีที่เผยแพร่ ระบุปีที่ข้อมูลหรือเอกสารนั้นถูกเผยแพร่
- ชื่อเรื่อง ระบุชื่อของหนังสือ, บทความ, หรือเอกสารที่ใช้
- แหล่งที่มา ระบุข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของเอกสาร เช่น ชื่อหนังสือพิมพ์, วารสาร, URL ของเว็บไซต์
- หน้า ระบุหน้าที่ข้อมูลนั้นปรากฏ (หากมี)
ทำไมต้องใส่อ้างอิง
- เพิ่มความน่าเชื่อถือ ช่วยแสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่ใช้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับ
- ให้เครดิตแก่ผู้เขียนต้นฉบับ เป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพต่อผลงานของผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการลอกเลียนแบบ สามารถป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์และการลอกเลียนแบบ (plagiarism)
- ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้อ่าน ผู้อ่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือศึกษารายละเอียดในแหล่งข้อมูลเดิมจากรายการอ้างอิงได้
- มีความรู้และการวิจัยที่ครอบคลุม แสดงให้เห็นว่าเราได้ศึกษาค้นคว้าและศึกษาเรื่องนั้น ๆ อย่างละเอียด มีการใช้แหล่งข้อมูลที่หลากหลายและมีคุณภาพ
อะไรบ้างที่ไม่ต้องใส่อ้างอิง
- ความรู้ทั่วไป ข้อเท็จจริงทั่วไป (เช่น กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย)
- ความเห็นส่วนตัว ประสบการณ์ส่วนตัว
- ภาพถ่าย วิดีโอ เสียงหรือสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นของเรา
- ผลการวิจัย ศึกษา ทดลองของเรา
หมายเหตุ หากไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่เรานำมาใช้จำเป็นต้องใส่อ้างอิงหรือไม่ แนะนำให้ใส่อ้างอิงไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย กันไว้ดีกว่าแก้ค่ะ
การอ้างอิงรูปแบบ APA
การอ้างอิงมีหลายรูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบมีกฎและแพทเทิร์นการเขียนที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของข้อมูลที่เราต้องการอ้างอิง รูปแบบการอ้างอิงที่พบบ่อย เช่น
- APA (American Psychological Association)
- MLA (Modern Language Association)
- Chicago
- Harvard style
การอ้างอิงรูปแบบที่เราจะโฟกัสกันในวันนี้ คือ รูปแบบ “APA (American Psychological Association)” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และนิยมใช้ในสาขาวิชาจิตวิทยา การศึกษาและสาขาสังคมศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้
- การอ้างอิงในตัว (in-text citation)
- 1.1 แบบเชิงอรรถ (footnote)
- 1.2 แบบแทรกในเนื้อหา (ระบบนาม-ปี)
- รายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม (reference lists)
1.1 การอ้างอิงแบบเชิงอรรถ (footnote)
เป็นการระบุรายละเอียดที่ด้านล่างของหน้ากระดาษ โดยใช้ตัวเลขกำกับเพื่อลิงก์กับเนื้อหาในบทความหรือหนังสือ ทำให้อ่านเนื้อหาได้ต่อเนื่องโดยไม่มีการขัดจังหวะของอ้างอิง มักใช้ในงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ กฎหมาย หรือในงานวิชาการที่ต้องการอธิบายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามยังมีข้อเสีย เพราะการอ้างอิงแบบเชิงอรรถ (footnote) เหมาะสำหรับเนื้อหาที่ต้องการใส่รายละเอียดเยอะ ๆ ทำให้มีความซับซ้อนกว่าแบบแทรกในเนื้อหามาก จึงอาจไม่เหมาะสำหรับน้อง ๆ ที่เป็นมือใหม่
ด้วยเหตุนี้จึงขอโฟกัสที่ “การอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหา (ระบบนาม-ปี)” เป็นหลักแทน เพราะง่ายและสะดวกต่อการใช้งานมากกว่าแบบเชิงอรรถ โดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มต้นค่ะ
1.2 การอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหา (ระบบนาม-ปี)
- ผู้แต่งชาวไทย: ใส่แค่ชื่อ-นามสกุล ไม่ต้องใส่คำนำหน้า/คำเรียกทางวิชาชีพ
- เช่น ศาสตราจารย์ ดร.โชคดี มีชัย ---> โชคดี มีชัย
- ผู้แต่งชาวต่างชาติ: ใส่แค่นามสกุล
- เช่น John Aaron Smith ---> Smith
1. (ผู้แต่ง, ปีพิมพ์, เลขหน้า) ไว้ท้ายข้อความที่อ้างอิง เช่น
- ................................ (สุนีย์ มัลลิกะมาลย์, 2549, น. 200-205)
- หากไม่มีเลขหน้า (สุนีย์ มัลลิกะมาลย์, 2549)
- ................................ (McCartney & Phillips, 2006, pp. 498-499)
- ................................ (Murphy, 1999, p. 85)
2. ผู้แต่ง (ปีพิมพ์, เลขหน้า)
- ลดาพร บุญฤทธิ์ (2539, น. 49) ได้ศึกษาถึง................................
- หากไม่มีเลขหน้า ลดาพร บุญฤทธิ์ (2539)
- Kanokon Boonsarngsuk (2002, p. 14) studied………………………………….
3. ปีพิมพ์ ผู้แต่ง (เลขหน้า)
- ในปี 2556 นันทนา วงษ์ไทย ได้อธิบายว่า “การผลิตซ้ำและตอกย้ำค่านิยมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสื่อโฆษณาและประชาชนผู้รับสาร โดยสื่อโฆษณาจัดเป็นฝ่ายที่มีอำนาจทางสังคมสูงกว่า” (น. 104)
ใส่ “……” ตอนไหนบ้าง?
- ข้อความที่คัดลอกมายาวไม่เกิน 3 บรรทัด
- ให้พิมพ์ต่อเนื่องกับเนื้อหา
- ไม่ต้องขึ้นย่อหน้าใหม่
- ใส่ “……”
- ยาวกว่า 3 บรรทัด
- ให้ขึ้นบรรทัดใหม่แล้วย่อหน้า (กด tab 1 ครั้ง)
- ส่วนที่คัดลอก/ถอดความมา ก็ให้ย่อเข้ามาอีก (กด tab 2 ครั้ง) โดยไม่ต้องใส่ “……”
ข้อความจากอินเทอร์เน็ต/ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์: ถ้ามีเลขหน้า ใส่เลขหน้าตามปกติ แต่ถ้าไม่มีเลขหน้า ให้ใส่ย่อหน้าแทน เช่น
- สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (2554) ได้อธิบายความหมายของความเครียดไว้ว่า “ความเครียด หมายถึง ลักษณะอาการที่สมองไม่ได้ผ่อนคลายเพราะคร่ำเคร่งอยู่กับงานจนเกินไป, ลักษณะอาการที่จิตใจมีอารมณ์ บางอย่างมากดดันความรู้สึกอย่างรุนแรง” (ย่อหน้าที่ 2)
- “Stress is our body’s response to pressure. Many different situations or life events can cause stress.” (Mental Health Foundation, 2021, para. 1)
2. รายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม (reference lists)
- ผู้แต่งชาวไทย: ใส่แค่ชื่อ-นามสกุล ไม่ต้องใส่คำนำหน้า/คำเรียกทางวิชาชีพ
- เช่น ศาสตราจารย์ ดร.โชคดี มีชัย ---> โชคดี มีชัย
- ผู้แต่งชาวต่างชาติ: นามสกุล, ชื่อย่อของชื่อแรก. ชื่อย่อของชื่อกลาง.(ถ้ามี)
- เช่น John Aaron Smith ---> Smith, J. A.
หมายเหตุ
- เมื่ออ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหาแล้ว ให้เพิ่มในรายการอ้างอิงท้ายเล่มด้วย
- ตัวอักษรสีเขียว หมายถึง ใช้ตัวเอียง (มักเป็นชื่อเรื่อง)
2.1 หนังสือ
ชื่อผู้เขียน. (ปีพิมพ์). ชื่อหนังสือ. สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์.
- กาญจนา แก้วเทพ. (2544). ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมศึกษา. กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรสโปรดักส์.
- Shotton, M. A. (1989). Computer addiction? A study of computer dependency. London: Taylor & Francis.
2.2 บทความในวารสาร
ชื่อผู้แต่ง. (ปีพิมพ์). ชื่อบทความ. ชื่อวารสาร, เลขของปีที่(เลขของฉบับที่), เลขหน้า. URL (ถ้ามี)
- กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์. (2561). โฆษณาหลอกเด็ก? พฤษภาคม-สิงหาคม ฉบับ: "เรื่องเก่าๆ กับมุมมองใหม่", 11(2), 238. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jcmag/article/view/155438/112914
- Light, M. A., & Light, I. H. (2008). The geographic expansion of Mexican immigration in the United States and its implication for local new enforcement. Law Enforcement Executive Forum Journal, 8(1), 73-82.
2.3 เว็บไซต์
ชื่อ นามสกุลผู้เขียน. (วัน เดือน ปีที่เผยแพร่). ชื่อบทความ. ชื่อเว็บไซต์. URL
- เสาวนีย์ สังฆโสภณ. (6 ตุลาคม 2553). ดนตรีเพื่อสุขภาพ (ตอนที่ 1). คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=119
- Buckles, S. (1 July 2024). Innovation centers spur new biotherapeutics for patients. Mayo Clinic. https://newsnetwork.mayoclinic.org/discussion/innovation-centers-spur-new-biotherapeutics-for-patients/
การใส่อ้างอิงใน Microsoft Word และ Google Docs
รายการอ้างอิงมีหลายรูปแบบมาก ๆ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของข้อมูล ทำให้มีแพทเทิร์นที่แตกต่างกันออกไป จะให้มาพิมพ์ทีละตัวก็คงไม่ไหว ไม่มีงานส่งอาจารย์กันพอดี แถมยังเสี่ยงทำผิดรูปแบบด้วย
รู้หรือไม่ว่า โปรแกรมจัดทำเอกสารอย่าง Microsoft Word และ Google Docs มีฟังก์ชัน “การอ้างอิง” เพียงแค่ใส่ข้อมูลลงไป โปรแกรมก็จะจัดรายการอ้างอิงมาให้ ช่วยลดข้อผิดพลาดและประหยัดเวลาไปได้เยอะเลย
Microsoft Word
- เลือกแท็บ “การอ้างอิง” บนแถบเมนูด้านบน
- เลือก “สไตล์” เช่น APA, MLA, Chicago
- คลิกที่ “แทรกข้อมูลอ้างอิง” แล้วเลือก “เพิ่มแหล่งที่มาใหม่”
- กรอกข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา เช่น ผู้เขียน ชื่อหนังสือ ปีพิมพ์
- เพิ่มการอ้างอิงในเนื้อหา ให้คลิกที่ “แทรกอ้างอิง” แล้วเลือกแหล่งที่มาที่เราเพิ่มไว้ก่อนหน้า
- สร้างรายการอ้างอิง (บรรณานุกรม) ให้คลิกที่ “บรรณานุกรม”
Google Docs
- เลือก “เครื่องมือ” บนแถบเมนูด้านบน
- เลือก “การอ้างอิง”
- เลือกสไตล์การอ้างอิง เช่น APA, MLA, Chicago
- คลิก “เพิ่มแหล่งอ้างอิง” แล้วเลือกประเภทแหล่งอ้างอิง
- กรอกข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา เช่น ผู้เขียน ชื่อหนังสือ ปีพิมพ์
- เพิ่มการอ้างอิงในเนื้อหา ให้คลิก “อ้างอิง” ซึ่งอยู่ข้าง ๆ แหล่งที่มาที่เราได้เพิ่มไว้ก่อนหน้า
- สร้างรายการอ้างอิง (บรรณานุกรม) ให้คลิก “แทรกส่วนอ้างอิง”
คำแนะนำ ทำงานไป ใส่อ้างอิงไปจะดีกว่าการใส่ย้อนหลัง เพราะอาจทำให้ข้อมูลตกหล่นได้ แม้จะมีตัวช่วยอย่างฟังก์ชันการอ้างอิงก็ควรตรวจสอบด้วยตนเองอีกทีเพื่อความชัวร์ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.nupress.grad.nu.ac.th/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1/#hd-6682302fac80bhttp://www.jba.tbs.tu.ac.th/////////files/APA_Style.pdfhttps://www.lib.cmru.ac.th/web62/core/FILE/1565321805.pdfhttps://op.mahidol.ac.th/la/wp-content/uploads/2023/09/TULIBS_APA.pdfทั้งหมดนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น การอ้างอิงแบบ APA ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมากมายที่ยังไม่ได้พูดถึงในครั้งนี้ น้อง ๆ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยการค้นหาคำว่า “การอ้างอิงแบบ APA” ค่ะ
1 ความคิดเห็น
เราทำแบบใส่บรรณานุกรมในหน้าสุดท้ายของรายงาน บทความวิชาการ