เฟรชชี่ปรับตัวด่วน! รู้จักกับรูปแบบการสอบในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีในมัธยม

สวัสดีน้อง ๆ เฟรชชี่หน้าใหม่ทุกคนค่ะ   ช่วงมหาวิทยาลัยเป็นวัยที่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือกิจกรรม แม้แต่การสอบก็ไม่เว้น จัดหนักจัดเต็มตลอดทั้งมิดเทอมและไฟนอล  มาดูกันค่ะว่า รูปแบบการสอบของมหา'ลัยมีอะไรบ้าง จะโหดกว่ามัธยมอย่างที่เขาว่ากันจริงหรือเปล่า

เฟรชชี่ปรับตัวด่วน! รู้จักกับรูปแบบการสอบในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีในมัธยม
เฟรชชี่ปรับตัวด่วน! รู้จักกับรูปแบบการสอบในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีในมัธยม

เฟรชชี่ปรับตัวด่วน! รู้จักกับรูปแบบการสอบในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีในมัธยม

การสอบสมัยมัธยม VS มหาลัย

สมัยมัธยมจะสอบกี่วิชาก็ไม่หวั่น ขนาดสอบวันละ 7-8 วิชายังผ่านมาได้ แถมสอบเสร็จยังมีแรงเหลือด้วยซ้ำ  สอบเสร็จคือจบ  ไม่มีการบ้าน ไม่มีงานอะไรให้ทำแล้ว

แต่พอขึ้นมหาลัยแล้วกลับไม่ใช่แบบนั้นเลย ถึงวันนั้นจะมีสอบแค่วิชาเดียว แต่กลับดูดพลังสุด ๆ  วันไหนมีสอบทั้งวันยิ่งแล้วใหญ่ บางคนสอบเสร็จก็ใช่ว่าจะได้พัก  เพราะยังมีงานต้องทำส่งอาจารย์อีก  คงไม่แปลกที่จะเห็นเด็กมหา'ลัยสภาพเหมือนซอมบี้กันช่วงสอบ เพราะต้องเตรียมสอบกับทำงานส่งกันแทบตายนี่แหละ

ความลึกของเนื้อหา

มัธยม   เรียนตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ (คณิต วิทย์ ไทย อังกฤษ สังคม ฯลฯ) ถึงจะเรียนหลายวิชา แต่ก็เป็นเพียงแค่ความรู้พื้นฐานเท่านั้น ดังนั้นการสอบจึงเป็นการวัดความรู้พื้นฐานซึ่งเนื้อหาก็ไม่ได้ซับซ้อนมากเท่าไหร่  สอบหลายวิชาในวันเดียวก็ยังไหว

มหา'ลัย   เนื้อหาที่เรียนจะมีความลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าระดับมัธยมมาก ต้องวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ให้เป็น รู้จักการเชื่อมโยงความรู้จากหลาย ๆ ด้าน รวมถึงจำเป็นต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมนอกชั้นเรียนด้วย ทำให้เด็กมหา'ลัยไปสอบทีไรก็เหมือนไปรบทุกที (แม้วันนั้นจะมีสอบแค่วิชาเดียว)

  • มีบางวิชาที่ใช้คะแนนสอบ 100%  ในการคิดเกรด (มีแค่สอบมิดเทอม-ไฟนอล ไม่มีชิ้นงานอื่น) ทำให้ต้องตั้งใจอ่านหนังสือสอบกว่าเดิมมาก ๆ เพราะการสอบคือทุกอย่างของวิชานี้

รูปแบบการสอบในมหาวิทยาลัย 

  • อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคณะที่เรียนและอาจารย์ผู้สอนค่ะ

1. การสอบข้อเขียน (Written Exams)  เป็นรูปแบบที่น้อง ๆ คุ้นเคยมากที่สุดเพราะใคร ๆ ก็เคยสอบสมัยมัธยม  แต่ก็จะมีบางรูปแบบที่แตกต่างจากสมัยมัธยมโดยสิ้นเชิงเลย 

1.1 ข้อสอบถูก-ผิด: ตัดสินว่าข้อความที่ให้มาถูกหรือผิด  (เจอน้อยมาก)

1.2 ข้อสอบเติมคำ: เติมคำในช่องว่าง 

  • แต่ก็ไม่ง่ายเสมอไป เพราะบางทีอาจารย์ก็กำหนดคำมาให้เยอะมาก ๆ (20 กว่าคำเลยก็มี)

1.3 ข้อสอบปรนัย: ขึ้นมหา'ลัยแล้วก็ยังเจอการสอบแบบข้อกาอยู่นะ 

  • อาจารย์บางคนออกจำนวนข้อเยอะมาก ๆ ตอนทำต้องบริหารเวลาดี ๆ เลย (ส่วนตัวพี่เคยเจอ 100 ข้อ 1 ชม.ค่ะ) หรือบางคนเจอตัวเลือกเป็นสิบ ๆ เลยก็มี

1.4 ข้อสอบอัตนัย: เด็กมหาลัยไม่ว่าจะคณะไหน ยังไงก็ต้องเจอกับการสอบเขียนสุดโหด

  • สมัยมัธยมอาจจะเขียนตอบสั้น ๆ ได้ แต่พอขึ้นมหา'ลัยแล้ว ถ้าเขียนสั้น ๆ หรือแถจนสีข้างถลอกมีหวังสอบตกแน่นอน เสี่ยงเรียนซ้ำอีก ร้ายแรงสุดก็ติด F ค่ะ ถ้ารู้ว่าอาจารย์จะออกข้อเขียน น้อง ๆ ต้องตั้งใจอ่านหนังสืือเตรียมตัวสอบกันดี ๆ  ห้ามเทเด็ดขาด
  • เจอข้อเขียนเฉย ๆ ว่าโหดแล้ว อาจารย์บางคนก็ให้เขียนหนึ่งหน้ากระดาษ A4 หรือให้กระดาษมาเป็นปึก ๆ หรือเป็นสมุดคำตอบก็มี  นั่งเขียนกันมือหงิกเลยทีเดียว

1.5 การสอบ Open Book/Take Home: การสอบที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้

  • ถึงจะเปิดหนังสือหรือใช้อินเทอร์เน็ตได้ในระหว่างการสอบ ก็ไม่ได้แปลว่าจะง่ายกว่าการสอบแบบปกติ เพราะข้อสอบรูปแบบนี้อาจารย์ต้องการให้น้อง ๆ ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากภายนอก  รู้จักการคิดวิเคราะห์และการนำเนื้อหาในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้  รวมถึงต้องจัดทำรายการอ้างอิงด้วย ห้ามลอกมาเด็ดขาด

2. การสอบปฏิบัติ (Practical Exams) มีหลายแบบที่น้อง ๆ บางคณะต้องเจอ เช่น

  • การทดลองในห้องปฏิบัติการ: คณะสายวิทย์ที่ต้องทำแล็บ (Lab)
  • การสอบคลินิก:  คณะสายสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตะ เป็นต้น
  • การแสดง: เช่น การแสดงดนตรี การแสดงละคร การเต้นรำ  เป็นต้น

3. การสอบปากเปล่า (Oral Exams) เหมือนการสัมภาษณ์กับอาจารย์ มักเป็นการทดสอบการคิดวิเคราะห์ และการนำเนื้อหาที่เรียนไปต่อยอด ตอนสอบต้องหัวไวมาก ๆ เชื่อมโยงข้อมูลให้เป็น

  • สอบข้อเขียนว่ายากแล้ว สอบพูดยากกว่าเยอะ เพราะมีเวลาเตรียมตัวน้อยกว่ามาก ๆ คิดอะไรได้ก็ต้องตอบตอนนั้นเลย ไม่ควรเงียบจนเดดแอร์ ไม่มีเวลามาเรียบเรียงคำพูดให้สวยหรูแบบการสอบข้อเขียน
  • บรรยากาศการสอบก็กดดันกว่าด้วย เพราะในห้องสอบจะมีแค่เรากับอาจารย์  (อาจจะมีอาจารย์คนเดียวหรือมากกว่านั้น) บางทีก็สอบเป็นคู่/กลุ่ม (ซึ่งน้อยครั้งมาก)

4. การสอบโปรเจกต์ (Project-Based Exams) ต้องใช้ความรู้จากวิชาที่เรียนมาทำโครงงาน ผลงาน หรือโปกเจกต์แล้วจึงมานำเสนออาจารย์หน้าชั้นเรียน  เช่น

  • วิชาแฟชั่น: ต้องออกแบบชุดตามโจทย์ที่อาจารย์กำหนด  (ต้องลงมือตัดเย็บเองจริง ๆ)
  • วิชาสถาปัตย์: ต้องสร้างแบบจำลองตามโจทย์ที่อาจารย์กำหนด (นั่งตัดโมกันทั้งคืน)

คำเตือน ไม่ว่าจะสอบแบบไหน ก็ไม่ควรคัดลอกผลงานผู้อื่นนะคะ  เสี่ยงโดนไล่ออกด้วย

ถ้าอยากรู้ว่าการคัดลอกผลงานผู้อื่นร้ายแรงยังไง คลิก

ตั้งแต่ขึ้นมหา'ลัย การสอบสมัยมัธยมก็ดูเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ ไปเลย เพราะเหล่าเฟรชชี่ได้ผันตัวมาเป็น  #นักรบมิดเทอม #นักรบไฟนอล  กันแล้ว  ถึงการสอบจะหนักหน่วงแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็จะผ่านไปได้เสมอเหมือนที่เคยผ่านมาค่ะ 

 

พี่ ๆ ชาว Dek-D ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่กำลังสอบทุกคนนะคะ

Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น