สวัสดีน้อง ๆ dek68 ทุกคนค่ะ การเลือกคณะถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตเลยก็ว่าได้ เชื่อว่าน้อง ๆ บางคนอาจจะยังสับสนหรือลังเลอยู่บ้าง เพราะแต่ละคณะมีข้อมูลมากมายที่น้อง ๆ ไม่เคยรู้มาก่อน รวมถึงความเชื่อผิด ๆ ของแต่ละคณะด้วย
วันนี้พี่ ๆ ชาว Dek-D จึงถือโอกาสมาแบ่งปันเรื่องจริงเกี่ยวกับคณะที่คนมักเข้าใจผิดกันบ่อย ๆ เพื่อให้น้อง ๆ ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะได้มีความมั่นใจในการเลือกคณะกันค่ะ
ไขข้อข้องใจ! แชร์เรื่องจริงจากคณะต่าง ๆ ที่คนมักเข้าใจผิด มีคณะอะไรบ้าง เช็กเลย!
1. คณะนิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชน
ความเข้าใจผิด
- บางคนเห็นคำว่า “สื่อสาร” เลยคิดว่าเรียนแค่การสื่อสารระหว่างบุคคล การพูดในที่สาธารณะ บางคนก็นึกไปถึงต้องเรียน Acting เรียนการแสดงแบบที่ดาราทำกัน
- เรียนคณะนี้ต้องทำงานเป็นนักข่าว/ผู้ประกาศข่าว หรือเป็นดารานักแสดง/คนในวงการบันเทิงเท่านั้น
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน คณะนี้มีสาขาวิชาหลากหลายมากกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น การสื่อสารองค์กร การสื่อสารการตลาด การโฆษณา การผลิตสื่อต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ ฯลฯ
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าที่คิด นอกจากวงการข่าวและวงการบันเทิงแล้ว ยังสามารถทำอาชีพอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น
- นักประชาสัมพันธ์ นักโฆษณา นักการตลาด นักวางแผนการสื่อสารองค์กร นักเขียนบท ผู้กำกับการแสดง ผู้ผลิตสื่อ ผู้ผลิตรายการภาพยนตร์โทรทัศน์ พิธีกร ช่างแต่งหน้า ช่างถ่ายภาพ ช่างกล้อง ฯลฯ
2. คณะอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์
ความเข้าใจผิด
- เรียนภาษาอย่างเดียวไปวัน ๆ เรียนไม่ยากเพราะมีแต่ฟัง พูด อ่าน เขียน
- บางคนเห็นคำว่า “ศิลปะ” ในคำว่า “ศิลปศาสตร์” เลยคิดว่าเลยเรียนวาดรูประบายสี จึงเข้าใจผิดกันไปใหญ่ “ศิลปศาสตร์ ไม่ใช่ ศิลปกรรมศาสตร์”
- เป็นได้แค่นักแปล ล่าม อาจารย์สอนภาษา
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน คณะนี้มีสาขาวิชาหลากหลายมากกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย นอกจากสาขาภาษาแล้ว ยังมีสาขาอื่น ๆ ด้วย เช่น จิตวิทยา ปรัชญา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์ การท่องเที่ยวและการโรงแรม การสื่อสารเชิงธุรกิจ ฯลฯ
- เอกภาษาเรียนอะไรบ้าง ไม่ได้เรียนแค่ฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ต้องเรียนอย่างอื่นด้วย เช่น วรรณคดี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สัทศาสตร์ ฯลฯ
- จะเห็นได้ว่าเนื้อหาเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึง “ตัวหนังสือและความเป็นมนุษย์” จึงสอดคล้องกับชื่อคณะนั่นเอง
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าที่คิด ไม่ต้องทำงานตรงสายจ๋า ๆ อย่างนักแปล ล่ามหรืออาจารย์สอนภาษาก็ได้ เช่น
- บรรณาธิการ นักเขียน นักวิชาการ นักสารสนเทศ นักการทูต มัคคุเทศก์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานโรงแรม ฯลฯ หรือจะไปสมัครตำแหน่งงานอื่น ๆ โดยใช้ทักษะทางภาษาที่เรียนมาเป็นตัวอัปสกิลก็ได้
3. คณะศิลปกรรมศาสตร์
ความเข้าใจผิด
- เรียนเกี่ยวกับวิชาศิลปะ แค่วาดรูป ระบายสีไปวัน ๆ
- เรียนจบแล้วต้องเป็นศิลปิน/จิตรกรเท่านั้น
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน คณะนี้มีสาขามากมายกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย นอกจากสาขาศิลปะแล้ว ยังมีสาขาอื่น ๆ ด้วย เช่น การออกแบบการสื่อสาร การออกแบบแฟชัน การออกแบบเครื่องประดับ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หัตถศิลป์ ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ ฯลฯ
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าที่คิด เนื่องจากมีสาขาที่หลากหลายมาก จึงสามารถเป็นได้หลายชีพ เช่น
- ศิลปิน จิตรกร ประติมากร นักออกแบบ ผู้จัดการแสดง นักแสดง นักวางแผนกิจกรรม ช่างภาพ กราฟิกดีไซน์ เจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับงานศิลปะ อาจารย์สอนศิลปะ ฯลฯ
4. คณะ/สาขาจิตวิทยา
ความเข้าใจผิด
- เรียนจบแล้วต้องเป็นนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดเท่านั้น
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน เรียนรู้เกี่ยวกับความคิด พฤติกรรม และกระบวนการทางจิตของมนุษย์ และมีสาขาวิชาแยกย่อยไปอีก เช่น จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาพัฒนาการ ฯลฯ
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าที่คิด นอกจากนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดแล้ว ยังสามารถทำอาชีพอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น นักวิจัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล (HR) นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ นักสังคมสงเคราะห์ หรือเป็นผู้ให้คำปรึกษาในองค์กรต่าง ๆ ก็ได้
5. คณะเกษตรศาสตร์
ความเข้าใจผิด
- บางคนคิดว่าเรียนเกี่ยวกับพืชอย่างเดียว
- เรียนจบแล้วต้องเป็นเกษตรกรหรือทำงานในไร่นา/ฟาร์มเท่านั้น
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน คณะนี้มีสาขาวิชาหลากหลายมากกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น
- สาขาเกี่ยวกับวิชาพืช พืชไร่ พืชสวน พืชผัก โรคพืช ฯลฯ
- สาขาอื่น ๆ กีฏวิทยา สัตวศาสตร์ ปฐพีศาสตร์ โภชนาการ ฯลฯ
- ไม่ว่าจะเรียนสาขาอะไรก็ตาม เนื้อหาการเรียนยังครอบคลุมถึงการวิจัยและพัฒนา จึงต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ควบคู่ด้วย
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าที่คิด เช่น เกษตรกร นักกีฏวิทยา นักปฐพีศาสตร์ สัตวบาล ผู้จัดจำหน่ายสารเคมีเกษตร นักวิจัยด้านการเกษตร เจ้าของธุรกิจส่งออกสินค้าทางด้านเกษตร ผู้ประกอบการรับจัดสวนและภูมิทัศน์ ฯลฯ
6. คณะวิทยาศาสตร์
ความเข้าใจผิด
- บางคนอาจคิดว่าคณะนี้เรียนแค่วิชาวิทยาศาสตร์อย่างฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา
- เรียนจบแล้วต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยเท่านั้น
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน จะเรียนวิชาพื้นฐานอย่างฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวมถึงวิชาคณิตศาสตร์ อย่างแคลคูลัส สถิติด้วย
- คณะนี้มีสาขาวิชาหลากหลายมากกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีแค่ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เช่น คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ พฤกษศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ทางทะเล เทคโนโลยีทางอาหาร วัสดุศาสตร์ จุลชีววิทยา ฯลฯ
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าที่คิด เช่น
- นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิชาการ นักสถิติ นักธุรกิจ ฯลฯ
- นอกจากนี้ยังสามารถเป็นเจ้าของกิจการโดยนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในทางที่หลากหลายได้อีกด้วย
7. คณะกายภาพบำบัด
ความเข้าใจผิด
- บางคนอาจคิดว่าคณะนี้เรียนนวดเหมือนหมอนวด
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน กายภาพบำบัดจะเรียนการวินิจฉัยและฟื้นฟูอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูกให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ รวมถึงการใช้เครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นการนวดจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกายภาพบำบัดเท่านั้น
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถเป็นนักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลหรือตามสโมสรกีฬาต่าง ๆ ก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวไปประยุกต์ใช้เพื่อทำอาชีพอื่นได้ด้วย เช่น ครูสอนพิลาทิส (Pilates) สร้างนวัตกรรมทางกายภาพบำบัด ผู้จำหน่ายอุปกรณ์ด้านกิจกรรมบำบัด เป็นต้น
8. คณะวิทยาศาสตร์อาหาร (Food Science : Food Sci)
ความเข้าใจผิด
- บางคนอาจคิดว่าคณะนี้เรียนทำอาหารเหมือนเชฟ
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน จากชื่อหลักสูตรจะมีคำว่า “วิทยาศาสตร์” อยู่ ดังนั้นฟู้ดซายจึงเน้นไปทางเคมีและชีววิทยา จะเรียนเกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาผลิตอาหารใหม่ จะเห็นได้ว่าฟู้ดซายไม่ได้เรียนทำอาหารให้อร่อยแบบเชฟหรือคณะคหกรรมเลย
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าที่คิด
- เช่น นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร นักวิชาการอาหาร นักโภชนาการ ผู้ควบคุมการผลิตในโรงงานอาหาร นักเทคโนโลยีอาหาร ผู้ตรวจสอบกฎหมายและมาตรฐานอาหาร ฯลฯ
- นอกจากนี้ยังสามารถเป็นเจ้าของกิจการโดยนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในทางที่หลากหลายได้อีกด้วย เช่น กิจการร้านอาหาร โรงงานผลิตอาหาร บริษัทจัดจำหน่ายอาหาร ฯลฯ
4. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ความเข้าใจผิด
- บางคนอาจคิดว่าเรียนเกี่ยวกับการออกแบบอาคารบ้านเรือนอย่างเดียว
- เรียนจบแล้วต้องเป็นสถาปนิกเท่านั้น
ข้อเท็จจริง
- เนื้อหาการเรียน คณะนี้มีสาขามากมายกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย นอกจากสาขาสาขาสถาปัตยกรรมที่เรียนเกี่ยวกับการออกแบบอาคารบ้านเรือนแล้ว ยังมีสาขาอื่น ๆ ด้วย เช่น สถาปัตยกรรมภายใน สถาปัตยกรรมไทย ภูมิสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมผังเมือง การออกแบบอุตสาหกรรม เป็นต้น
- อาชีพหลังเรียนจบ สามารถทำได้หลายอาชีพมากกว่าที่คิด นอกจากอาชีพหลักอย่างสถาปนิกแล้ว ยังมีอาชีพอื่น ๆ ด้วย เช่น
- นักออกแบบ (ตามสาขาที่จบมา) กราฟิกดีไซน์เนอร์ ผู้จัดการงานก่อสร้าง ผู้จัดการงานระบบ BIM ผู้จัดงานอีเว้นท์ ผู้จัดงานนิทรรศการ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฟรีแลนซ์ ฯลฯ
- นอกจากนี้ยังสามารถเป็นเจ้าของกิจการโดยนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในทางที่หลากหลายได้อีกด้วย
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้น้อง ๆ dek68 มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคณะที่สนใจนะคะ ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะช่วยให้น้อง ๆ สามารถตัดสินใจเลือกคณะได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นคณะเดียวแต่ต่างมหา'ลัย แนะนำให้ศึกษาหลักสูตรของแต่ละที่อย่างละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจค่ะ
พี่ ๆ ชาว Dek-D ขอเป็นกำลังใจน้อง ๆ dek68 ทุกคนค่ะ
1 ความคิดเห็น
สิ่งที่ผู้เขียนเข้าใจผิดก็คือ หลายอาชีพมันก็ไม่ใช่อาชีพของคนที่จบสายนั้นมา แต่เป็นแค่การทำงานไม่ตรงสายที่เรียนเท่านั้น เช่น ช่างแต่งหน้า จบ mba มายังทำได้เลย