Spoil
  • "ไบโพลาร์" คือโรคอารมณ์สองขั้ว พบได้ในทุกวัย แต่วินิจฉัยยากในวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่อารมณ์แปรปรวนอยู่แล้ว
  • การวินิจฉัยยาก ทำให้วัยรุ่นที่เป็นไบโพลาร์ส่วนใหญ่ รู้ตัวช้าไป 11 ปี
  • บทความนี้มีเช็กลิสต์เบื้องต้น ถ้าพบว่าตรง หรือสงสัยว่าเป็น รีบพบจิตแพทย์เพื่อรักษา ยังทันนะ

______________

            น้องๆ มีเพื่อนที่อารมณ์รุนแรงกันบ้างไหมคะ อารมณ์รุนแรงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าโวยวายด่าทอตลอดเวลานะ แต่เป็นอารมณ์รุนแรงหลายๆ รูปแบบ ทั้งแฮปปี้แรง เศร้าแรง โกรธแรง เหวี่ยงแรง อิจฉาแรง ประมาณว่ากราฟพุ่งแรงไปหมดทุกทิศทาง จนเราแทบตามไม่ทัน ถ้าหากมีเพื่อนแบบนี้ อย่าเพิ่งโกรธเคือง หรือมองว่าเขานิสัยไม่ดีเลยนะคะ เพราะจริงๆ เพื่อนอาจมีอาการของ ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) ก็ได้
 

ภาพจาก pixabay.com
 
            ไบโพลาร์ (bipolar disorder) เป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ภาษาไทยเรียกว่า โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้เป็นโรคนี้จะมีอารมณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรงเป็นช่วงๆ ไป ประมาณว่าอารมณ์ดีก็แฮปปี้เวอร์ โมโหใครมาก็เหวี่ยงสุดๆ เศร้ามากๆ ก็ถึงขั้นอยากตาย หากคนปกติโกรธแค่ระดับ 5 แต่คนป่วยเป็นไบโพลาร์นั้นจะโกรธไปเลยระดับ 100 ที่สำคัญแต่ละช่วงยังมีอาการต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ – 1 เดือน เท่ากับว่าจมดิ่งนานกว่าคนปกติทั่วไป ทำให้อาการนี้ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง จนเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ หรืออาจซึมเศร้าหนักจนมีความคิดอยากฆ่าตัวตายเลยได้

            อาการไบโพลาร์ ปกติมักพบในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันวัยรุ่นก็เริ่มเป็นกันมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสารเคมีในสมองและพันธุกรรมของผู้ป่วยเอง แต่ปัจจัยภายนอกอย่างความเครียดและปัญหาต่างๆ ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติด้านอารมณ์ได้เช่นกัน ที่สำคัญคือ วัยรุ่นอย่างเรา วินิจฉัยโรคไบโพลาร์ได้ยากมาก เพราะเป็นวัยที่มีอารมณ์แปรปรวนอยู่แล้ว ทำให้ผู้ป่วยไบโพลาร์ส่วนใหญ่ ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาล่าช้าไปถึง 11 ปี (โอ้โฮ!) แบบนี้ไม่ดีแน่ๆ เลยใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นพี่กวางจะพาไปสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคโบโพลาร์ในวัยรุ่นกัน เพื่อจะได้รู้เท่าทัน และเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ
 

ภาพจาก pixabay.com
 
            วิธีสังเกตอาการไบโพลาร์เบื้องต้น : สังเกตจากช่วงอารมณ์สองขั้ว (Manic episode)
            - ใจร้อน ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ มีการระเบิดอารมณ์รุนแรงกว่าคนปกติ
            - มีความสุขมากเกินไปจนดูล้นๆ หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับอายุออกมา
            - มีปัญหาด้านการนอน หรือนอนไม่หลับ
            - เหนื่อยยาก
            - มีปัญหากับการตั้งสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
            - พูดเร็ว หรือพูดหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน
            - พูดเรื่องใต้สะดือ และหมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องเพศมากเกินพอดี
            - อารมณ์วู่วาม ชอบทำอะไรเสี่ยงอันตราย
            - เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง อีโก้มาก
 
            วิธีสังเกตอาการไบโพลาร์เบื้องต้น : สังเกตจากช่วงซึมเศร้า (Depressive episode)
            - เวลาเศร้า ดิ่งมาก จนถึงขั้นซึมเศร้า
            - ร้องไห้บ่อย
            - แยกตัวโดดเดี่ยว
            - มีอาการทางสุขภาพ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง
            - โทษตัวเองเสมอ
            - มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
            - วิตกกังวล
            - จู่ๆ ก็มีอาการโมโห หรือโกรธเคืองขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ
            - พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป เช่น กินมากไป หรือกินน้อยไป
            - นอนเยอะแต่ก็ยังอ่อนเพลียตลอดเวลา
            - ไม่ตื่นเต้นกับกิจกรรมที่เคยสนใจ
            - มองความตายเป็นเรื่องสวยงาม และมีความคิดฆ่าตัวตาย
 

ภาพจาก pixabay.com
 
            ย้ำอีกครั้งนะคะ ว่านี่เป็นเพียงการสังเกตเบื้องต้นเท่านั้น หากน้องๆ รู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเข้าข่าย ควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยผลที่ถูกต้อง และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี น้องๆ รู้ไหมว่าหากได้รับการรักษาที่ดี ผู้ป่วยอาการก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลับมาเป็นคนนิสัยน่ารักของเพื่อนๆ ได้เหมือนเดิม หรืออาจจะเป็นคนที่น่ารักมากกว่าเดิมก็ได้นะคะ

 
ข้อมูลจาก

 
พี่กวาง
พี่กวาง - Columnist พลเมืองบางบัวทอง ผู้ตามทันทุกเทรนด์ฮิต เพราะไถทวิตเตอร์ระหว่างรถติดแยกแคราย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด