เพื่อนน้อยไม่ต้องเสียใจ! นักวิจัยบอก คนเราต้องการเพื่อนแค่ 3-5 คน



 
Spoil
  • สมองส่วน  Neocortex ของคนเราสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ประมาณ 148 คน
  • แต่จะมีคนที่เรายกให้เป็นเพื่อนแท้แค่ 3-5 คน
    • การมีเพื่อนแท้จะทำให้เรารู้สึกพึงพอใจในชีวิต และจะยิ่งพอใจมากขึ้นอีก เมื่อมีใครสักคนเรียกเราว่า "เพื่อนแท้" เช่นกัน

______________


            - สุดคุ้ม! โปรโมชั่นมาเป็นแก๊ง 10 คน ฟรี 1 คน
            - บ้านพักพูลวิลล่าสุดหรู พักได้ 20 คน ตกคนละ 500 บาทเท่านั้น
            - แท็กเพื่อน 8 คน รับของสมนาคุณฟรี!

 
            น้องๆ เคยเจอข้อความโปรโมชั่นแบบนี้ แล้วรู้สึกสตั๊นท์ไหมคะ ไม่ใช่สตั๊นท์ว่าโปรโมชั่นพวกนี้มันคุ้มมากเลยนะ แต่สตั๊นท์ว่า ฉันจะหาเพื่อนที่ไหนมาให้ครบจำนวนเนี่ยยยย ยิ่งพอเห็นเข้าบ่อยๆ ก็ชักสงสัยว่าคนอื่นเขามีเพื่อนกันมากแค่ไหน? อย่างเราที่มีเพื่อนจำนวนน้อยนิด ใช้มือข้างเดียวก็นับได้นี่ถือว่าเพื่อนน้อยหรือเปล่า...มาค่ะ เดี๋ยวพี่กวางจะไปค้นหาความจริงให้
 

ภาพจาก unsplash.com
 
            จากการสำรวจของ Gallup Poll ในปี 2004 พบว่าจริงๆ คนส่วนใหญ่มีเพื่อนสนิทประมาณ 8-9 คนเท่านั้น    โดยแบ่งได้เป็น

            คน 2% ไม่มีเพื่อนสนิทเลย
            คน 14% มีเพื่อนสนิท 1-2 คน
            คน 39% มีเพื่อนสนิท 3-5 คน
            คน 18% มีเพื่อนสนิท 6-9 คน
            คน 27% มีเพื่อนมากกว่า 10 คน
 
            ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยของ Dr.Robin Dunbar นักมานุษยวิทยาแห่ง Oxford University ที่พบว่าปกติแล้ว สมองส่วน Neocortex ของคนเราสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ประมาณ 148 คนเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปเช่าบ้าน Pool Villa 8 หลังเพื่อเที่ยวกับเพื่อนทั้ง 148 คนนี้นะ เพราะ 148 คนที่ว่านี้รวมหมดแล้วทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก ดังนั้นมันจึงยังมี Dunbar’s Layers เอาไว้แยกย่อยลงไปอีก ว่าเราสามารถให้ความใกล้ชิดกับผู้อื่นได้มากเท่าไหร่
 

ภาพจาก   GoodTherapy
 
                     ใน Dunbar’s Layers นี้แบ่งเป็น 4 Layer ด้วยกันค่ะ ได้แก่

            Layer 1 : Casual Friends – คนรู้จัก (เฉลี่ย 150 คน)
            กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่เราคุ้นเคยประมาณหนึ่ง สามารถพูดคุยทักทายได้ ชวนให้มางานปาร์ตี้ใหญ่ๆ ด้วยกันได้ แต่จะไม่มีความรู้สึกอยากเจอบ่อยๆ หรือมีความผูกพันกัน
 
            Layer 2 : Friends – เพื่อนทั่วไป (เฉลี่ย 50 คน)
            กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เรารู้สึกสนิทใจมากขึ้น สามารถไปไหนมาไหน ทำกิจกรรมต่างๆ ใช้เวลาร่วมกันได้ เช่น นัดกินข้าว หรือร่วมปาร์ตี้ที่ค่อนข้างส่วนตัวของเราอย่างงานวันเกิด งานแต่งงาน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราสามารถบอกคนอื่นได้เลยว่า “คนนี้เพื่อนฉันเอง”
 
            Layer 3 : Close Friends – เพื่อนสนิท (เฉลี่ย 15 คน)
            กลุ่มนี้เป็นเพื่อนสนิทที่ใกล้ชิดกันจนสามารถเปิดใจแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ ให้ฟังได้ แม้แต่เรื่องที่เป็นความลับ! และยังเป็นกลุ่มเพื่อนที่สามารถทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ในเวลาเศร้าหรือเหนื่อย เป็นคนที่เราสามารถไปนั่งเศร้าด้วยได้ หรือโทรไปเวิ่นเว้อตอนตีสองก็ยังได้
 
            Layer 4 : Intimate Bonds – เพื่อนแท้ (เฉลี่ย 5 คน)
            กลุ่มนี้เราจะรู้สึกผูกพันที่สุด รักที่สุด เพราะเป็นคนที่รู้จักเราดีมากๆ ชนิดหมดไส้หมดพุง และยังเป็นคนที่เราไว้ใจมาก รวมถึงเชื่อใจว่าเขาจะไม่ทอดทิ้งหรือทรยศกัน กลุ่มนี้อาจรวมถึงคนรักได้ด้วย หรือหากไม่ใช่คนรัก ก็คือคนที่แฟนของเราจะต้องรักและให้ความเคารพเสมือนเป็นครอบครัวของเราอีกคนเลย
 
            ตัวเลขของ Layer ทั้ง 4 ที่ Danbar วิจัยนี้ยังสอดคล้องกับผลสำรวจของเฟซบุ๊กด้วยนะ เพราะทางเฟซบุ๊กเองก็สำรวจพบว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกมี Friends เฉลี่ยที่ 155 คน (ผู้หญิงเฉลี่ย 166 คน ผู้ชายเฉลี่ย 145 คน) แต่ว่าแต่ละคนมีเพื่อนที่พูดคุยด้วยบ่อยๆ หรือเพื่อนสนิทแค่เพียง 28% เท่านั้น แถมในบางคนยังมีแค่ 4% อีกด้วย
 

ภาพจาก unsplash.com
 
            ทั้งนี้ “เพื่อน” ก็ยังมีอีกหลายรูปแบบเช่นกันนะ ตามที่อริสโตเติลแบ่งไว้ได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

Friendships of utility – เพื่อนที่มีประโยชน์ต่อกัน
            เป็นเพื่อนที่เราคบไว้เพื่อความสะดวกสบายบางอย่าง เช่น คนที่หารเน็ตฟลิกซ์กัน หรือคนที่เราช่วยจดเลคเชอร์ เพื่อที่เขาจะได้จดให้เราบ้างในวันขาดเรียน เพื่อนกลุ่มนี้เราจะรู้สึกว่าเขาพึ่งพาได้ และช่วยเหลือได้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นความสัมพันธ์ที่อาจจางหายไป ในวันที่ไม่ต้องพึ่งพากันและกันอีกต่อไปแล้ว
 
Friendships of pleasure – เพื่อนบันเทิง
            เป็นเพื่อนที่เราคบไว้เพื่อความบันเทิง ไปทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน อาจจะเป็นเพื่อนสายติ่งที่เมาท์ถูกคอกัน ไปคอนด้วยกัน หรือเพื่อนที่ชอบเที่ยวเหมือนกัน ออกทริปถ่ายรูปด้วยกัน มีงานอดิเรกร่วมกัน คนเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกแฮปปี้ ถึงแม้เวลาอยู่ด้วยกันอาจจะไม่ได้คุยเรื่องส่วนตัวอะไรมากมาย แต่ก็ยังเป็นกลุ่มที่เราเก็บไว้ในชีวิตไปเรื่อยๆ ได้ ตราบใดที่ยังรู้สึกมีความสุขอยู่
 
Friendships of the good – เพื่อนแสนดี
            เป็นเพื่อนที่ต่างให้ความเคารพและชื่นชมกันและกัน พูดคุยเล่าเรื่องในชีวิต แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เป็นเพื่อนที่รู้จักกันดี รู้ว่าอีกฝ่ายอ่อนไหวเรื่องอะไร จึงเป็นความสัมพันธ์ที่มีแต่ความเชื่อใจ ทำให้ไม่ว่าจะห่างกันแค่ไหนก็ยังมีความเป็นเพื่อนแท้หลงเหลืออยู่
 

ภาพจาก unsplash.com
 
            ที่สำคัญคืองานวิจัยล่าสุดของ Degges-White ยืนยันว่า คนเราจะรู้สึกพึงพอใจในชีวิตเมื่อมีเพื่อน 3-5 คน และจะยิ่งพึงพอใจมากขึ้นไปอีก เมื่อถูกคนอื่นนิยามเราว่า “เพื่อน” ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการมีเพื่อนมากหรือน้อยจริงๆ แล้วไม่สำคัญเลยค่ะ เพียงแต่มีเพื่อนที่จริงใจต่อกัน เราก็จะมีชีวิตที่มีความสุขไม่แพ้คนที่มีเพื่อนเยอะๆ เลย


 
ที่มา
พี่กวาง
พี่กวาง - Columnist พลเมืองบางบัวทอง ผู้ตามทันทุกเทรนด์ฮิต เพราะไถทวิตเตอร์ระหว่างรถติดแยกแคราย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด