Teen Coach EP.4 : "ภาวะหมดไฟ" เมื่อใจเราเหนื่อย จนไม่อยากทำอะไร

มีมั้ย? วิชาที่เคยชอบ การเรียนที่เคยสนุก อยู่ดีๆ วันหนึ่ง มันก็ไม่สนุกขึ้นมา

       รู้ตัวอีกทีก็ไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว... 

       เรื่องนี้พี่นักเก็ตเชื่อว่าต้องเคยเกิดขึ้นกับน้องๆ วัยมัธยมและมหาวิทยาลัยหลายๆ คน รวมไปถึงวัยทำงานก็เช่นกัน ที่จะเกิดความรู้สึกเหนื่อย ไม่มีสมาธิ ขาด Passion และแรงบันดาลใจในการเรียนหนังสือ หรือทำสิ่งที่เคยทำเป็นกิจวัตร ไม่ว่าเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือเรื่องกิจกรรมก็ตาม

      สิ่งที่น้องๆ กำลังเผชิญอยู่นี้เรียกว่า ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome

 ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) คือภาวะอารมณ์ทางลบที่ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดจากความเครียดที่ค่อยๆ สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เรารู้สึกทั้งเหนื่อย ทั้งหดหู่ จนไม่อยากทำสิ่งต่างๆ ส่งผลให้เกิดอาการเครียด วิตกกังวล ประสิทธิภาพในการเรียนและทำงานลดต่ำลง

        ความเครียดเรื้อรังที่นำไปสู่ Burnout Syndrome ได้นั้นมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากสภาพแวดล้อมในการเรียน, ความกดดัน, ความยากของเนื้อหาที่เรียน หรือการขาดแรงจูงใจในการเรียน แม้แต่พฤติกรรมที่เราใช้ในชีวิตประจำวันก็มีส่วนทำให้ Burnout ได้ ถ้าเราเป็นคนที่ชอบคาดหวังในตัวเองสูงเกินไป หรือมักถูกกดดันจากคนรอบข้าง

ในวัยเรียน ยิ่งเราเรียนสูงขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเจอเนื้อหายากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มไม่เข้าใจ เหนื่อย ท้อ วัยรุ่นไทยหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องเรียนหนักขนาดนี้ไปเพื่ออะไร เพราะไม่มีแรงจูงใจและเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ยิ่งหมดไฟได้ง่าย บวกกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ หรือ Covid-19 ก็ล้วนแต่จะเพิ่มความเครียดและกังวล ส่งผลให้เหนื่อยล้าได้มากขึ้น ลองคิดดูสิว่าเรียนก็ยาก การบ้านก็เยอะ แล้วยังเจอแต่เรื่องที่ทำให้เครียดอีก หัวใจดวงน้อยๆ ของเราจะทนไหวสักแค่ไหนเชียว

ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่าหมดไฟ ก็อย่ารอช้าที่จะหาสาเหตุและแก้ไขมันค่ะ

สิ่งแรกที่ต้องทำเลยก็คือ เอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกเครียดก่อน เรียนเหนื่อยก็พัก นอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำปล่าเยอะๆ อาจจะดูไม่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อสุขภาพกายของเราแข็งแรงขึ้น ความเครียดก็จะน้อยลง ที่สำคัญ เมื่อดูแลสุขภาพกายแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพใจด้วย วางหนังสือเรียนลงบ้างเมื่อรู้สึกว่าไม่ไหว แล้วเปิดหนัง ดูซีรีส์ ฟังเพลง ทำงานอดิเรกที่ชอบไปตามเรื่อง อย่ามัวแต่กดดันตัวเองว่าฉันต้องทำให้ได้ตอนนี้ ต้องอ่านจนกว่าจะเข้าใจภายในคืนนี้ การยอมรับว่ามันยาก ขอเวลาให้ตัวเองพักสมองบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เลยค่ะ

เมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้ว เราอาจจะลองจับเข่าคุยกับตัวเองเพื่อหาสาเหตุ ว่าที่หมดไฟแบบนี้เป็นเพราะอะไร เรียนหนัก? การบ้านเยอะ? เนื้อหายากเกินไป? แล้วค่อยๆ แก้ไขไปทีละอย่าง เช่น ถ้าการบ้านเยอะก็ List ทั้งหมดออกมาจัดลำดับความเร่งด่วน หรือถ้ามีหนังสือที่ต้องอ่านกองเท่าภูเขา ก็ค่อยๆ ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ให้ไม่ไกลตัวเกินไป เช่น อ่านบทนี้จบ จะไปนอนดูซีรีส์ 1 ตอน หรือถ้าเทอมนี้ไม่โดดเรียนเลย จะซื้อของขวัญให้ตัวเอง 1 อย่าง แต่ย้ำอีกว่าต้องไม่กดดันตัวเองจนเกินไป เน้นตั้งเป้าหมายที่ไม่ยากแล้วทำให้เต็มที่ก็พอค่ะ

สุดท้ายที่พี่นักเก็ตรู้สึกว่าสำคัญสุดๆ ก็คือการปรับทัศนคติที่มีต่อตนเอง ในบางครั้งเราอาจจะคาดหวังในตัวเองมากเกินไป คิดว่าเราต้องทำได้ เราต้องทำให้ดี แต่จริงๆ แล้วทุกคนก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง ที่ทำพลาดได้ หรือมีเรื่องที่ทำไม่ได้บ้างเป็นธรรมดา ดังนั้นอย่าเพิ่งมองตัวเองในแง่ลบ อย่าเพิ่งตัดสินว่าตัวเองไม่เก่ง อ่อนแอ แค่นี้ทำไมถึงทำไม่ไหว แต่พี่นักเก็ตขอให้น้องๆ หันมาใจดีกับตัวเองบ้าง ทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ทุกอย่าง เราต้องมีเหนื่อย มีท้อเป็นธรรมดา ขอแค่ลองเปลี่ยนมุมมอง แล้วตั้งเป้าหมายหมายหรือหาแรงบันดาลใจเพื่อยึดเหนี่ยวไว้ ก็จะช่วยให้เรามีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อการเรียนได้ค่ะ

แน่นอนว่าที่พี่นักเก็ตยกตัวอย่างมา เป็นการแก้ปัญหาจากปัจจัยที่เราพอจะควบคุมได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งปัญหาก็เกิดจากสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพแวดล้อม ความยากง่ายและความเร่งด่วนของงาน หรือแรงกดดันจากคนรอบข้าง ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับความอดทนและขีดจำกัดของตัวเราแล้วล่ะค่ะ ว่าจะไหวสักแค่ไหน แต่ขอย้ำอีกทีนะว่า ควรพักเมื่อรู้สึกเหนื่อยจนทนไม่ไหว แล้วไปหาอะไรทำที่จะชาร์จพลังให้ตัวเองได้ ค่อยกลับไปเผชิญหน้ากับมันต่อด้วยเอเนอร์จี้แบบปังๆ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวแล้วจริงๆ ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญค่ะ

พี่นักเก็ตก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้น้องๆ ผ่านความรู้สึกที่หมดไฟไปได้ และอย่าลืมใจดีกับตัวเองเยอะๆ นะคะ ใครที่กำลังอยู่ในฟีลลิ่งแบบนี้และอยากระบาย สามารถใช้กล่องคอมเมนต์เล่าเรื่องราวของตัวเองได้เต็มที่เลยค่ะ

 

แหล่งอ้างอิงhttps://www.uopeople.edu/blog/what-is-academic-burnout/https://www.helpguide.org/articles/stress/burnout-prevention-and-recovery.htmhttps://www.bangkokhospital.com/content/burnout-syndrome

 

 

โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น