ความฝันยังจำเป็นอยู่ไหม ในโลกที่ต้องการแต่คนเก่ง?

Spoil

  • ความฝันก่อตัวในวัยเด็ก เพราะเด็กสามารถคิดโดยไร้ความกลัวว่าจะล้มเหลวก่อนได้ลงมือ
  • "ความมั่นคง" ในอุดมคติของผู้ใหญ่ตัดสินความฝันของเด็กๆ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
  • ทฤษฎี "Multiple Intelligences Theory"  แต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน และถนัดได้มากกว่าด้านเดียว

ฝันในวัยเด็กของคุณคืออะไร… เป็นหมอ วิศวกร คุณครู ทหาร นักวิทยาศาสตร์ นักบินอวกาศ ศิลปิน นักร้อง นักแสดง และอีกนานาแขนงสายงานที่มีอยู่บนโลกใบนี้

ทว่าเมื่อเวลาล่วงเลยไป ใครหลายคนพบว่าฝันในวันนั้นกลับหล่นหายไประหว่างทาง อาจเพราะบริบทสังคมที่แปรผัน หรือมีสิ่งใดมากระชากมันออกไป ในโลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

แล้วในความเป็นจริงนั้น การมีความฝันยังจำเป็นอยู่ไหม หากฝันนั้นมันช่างดูไกลตัวออกไปเสียเหลือเกิน...

ความฝันกำลังก่อตัว

ความฝันของใครหลายคน เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในวัยเด็กนี่แหละ เพราะเด็กสามารถรับรู้ คิด และนำไปทดลองหรือปฏิบัติตามได้โดยไร้ความกังวลใด ๆ ไม่มีการกลัวว่าจะผิด เจ็บ หรือล้มเหลวก่อนได้ลงมือ

พอไม่ต้องคิดถึงผลกระทบที่ตามมา นั่นทำให้การลองทำสิ่งต่าง ๆ ของเด็กคนหนึ่งนั้น สามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่าวีรกรรมวัยเด็กมักเป็นที่จดจำได้ดี และส่วนมากก็มักเกิดขึ้นจากในระหว่างการลองปฏิบัติเหล่านี้

การได้ลองเรียนรู้ผ่านการกระทำ ก็เป็นหนึ่งในวิธีค้นหาตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว หากสำเร็จ ก็สามารถทุ่มเทไปกับหนทางนี้ได้ หากไม่ ก็ย่อมมีทางเลือกอีกมากมายรอให้เด็กน้อยในวันนั้นค้นพบอยู่

เวลาที่เด็กน้อยคนหนึ่งได้ลองค้นหาการเดินทางของตัวเอง สนุกกับชีวิตได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งใดให้มากมาย กลับค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา เมื่อเด็กไร้เดียงสา ได้พบว่าการเติบโตขึ้นนั้น ไม่ได้ง่ายดั่งที่คาดคิดเอาไว้

จับปลาไปแข่งบินกับนก

“ลูกของป้าข้างบ้าน มักเก่งกว่าเราเสมอ” อาจเป็นหนึ่งในเรื่องราวฝังใจของใครหลายคน เมื่อต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเป็นครั้งแรก

ค่านิยม “ความมั่นคง” ในอุดมคติของผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำพาความหวังดีของพวกเขา มาตัดสินความฝันของเด็ก ๆ เมื่อพวกเขาต้องการ “ความมั่นคง” ที่แตกต่างออกไป จากยุคสมัยที่ต่างไปจากเดิม

และเมื่อระบบการศึกษาตอกฝาโลงใส่ความฝันไปอีกชั้น ด้วยวิธีการเรียนการสอนที่มีรูปแบบไม่ต่างไปจากสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ในวันที่โลกยังต้องการสร้างคนเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเวลาก็ได้ล่วงเลยมานานกว่าหนึ่งศตวรรษแล้วด้วยกัน

จริงอยู่ที่การศึกษาในปัจจุบันเริ่มมีการเปิดกว้างยิ่งขึ้น คอร์สเรียนพิเศษ ค่ายกิจกรรม การศึกษาแลกเปลี่ยนต่างประเทศ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ทางเลือกส่วนมากยังมีราคาแพงที่ต้องจ่าย ไม่ว่าด้วยเงินทอง เวลา และการเสียสละสิ่งต่าง ๆ เพื่อแลกมาซึ่งโอกาส ณ จุดนั้น ซึ่งแน่นอนว่าเด็กอีกมากมายยังถูกทิ้งไว้อยู่ ณ ชายขอบของโอกาส ประหนึ่งจักรวาลที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และทำให้แสงจากบางส่วนไม่มีโอกาสได้เดินทางมาถึงโลกใบนี้

ระบบดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้เด็กเก่งได้เฉิดฉาย ซึ่งนั่นไม่ผิดที่ผู้มีความสามารถจะเป็นที่ยอมรับ ทว่าการตัดสินความสามารถของเด็กที่มีความหลากหลาย ด้วยกฎเกณฑ์แกนกลางตัวเดียว ย่อมไม่อาจเป็นตัวชี้วัดความสามารถของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก ไม่ต่างอะไรไปจากการนำปลาไปแข่งบินบนฟ้ากับนก ที่ทุกคนต่างทราบถึงผลลัพธ์ได้โดยไม่ต้องให้การแข่งขันเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

คนเก่งต้องเป็นแบบไหน?

หากเทียบกับตัวอย่างเอาปลาไปแข่งบินกับนก ระบบย่อมมองว่านกมีความสามารถ ในขณะที่ปลานั้นไม่เอาไหน เพราะมันไม่สามารถบินได้นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว หากโลกใบนี้จะต้องหมุนตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว สิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ก็จำต้องบินได้หมดเลยล่ะสิ และนั่นคือเหตุที่ทำไมเราถึงพบเจอความหลากหลายในธรรมชาติ เพราะแม้แต่มนุษย์ด้วยกันเองนั้น ภายในของเราทั้งด้านร่างกายและจิตใจก็ยังแตกต่างกัน

มีทฤษฎี Multiple Intelligences Theory ของ ฮาร์วาร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ระบุว่ามนุษย์นั้นมีวิธีในการประมวลข้อมูลแตกต่างกันออกไป และแต่ละคนสามารถมีความถนัดได้ไม่เหมือนกัน โดยแบ่งได้เป็น ด้านดนตรี, ภาษา, ตรรกะ, สรีระ, ทักษะสังคม, เข้าใจตนเอง, และธรรมชาติ ซึ่งแต่ละคนสามารถมีด้านที่ตนเองถนัดได้มากกว่าด้านเดียว หรือนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในนี้

ตลอดเส้นทางที่เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมา เรื่องที่เคยดูเหมือนเพ้อฝันก็อาจกลายเป็นจริงได้ อย่างถ้าย้อนเวลาไป 10 ปี แล้วกลับไปบอกผู้คนในยุคนั้น ว่าการเป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ จะสามารถหาเลี้ยงชีพได้ ก็คงได้รับเสียงหัวเราะกลับมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือถ้าไปบอกคนในช่วงเวลานั้น แล้วพูดว่างานสื่อสิ่งพิมพ์จะค่อย ๆ หายไปในไม่ช้า ก็คงไม่มีใครเชื่อเช่นกัน

แน่นอนว่าโลกใบนี้ยังคงเต็มไปด้วยการแข่งขัน เราไม่อาจเลี่ยงความจริงในส่วนนี้ได้ และเช่นกันกับความจริงที่ว่า แต่ละคนนั้นมีความถนัด ความ “เก่ง” ภายในตัว พร้อมกับความเป็น “เด็ก” คนที่กล้าคิด กล้าฝัน และไม่กลัวในการลองอะไรใหม่ ๆ อยู่ข้างในตัวเราเอง

กลับไปที่คำถามว่า แล้วความฝันยังจำเป็นอยู่ไหม กับโลกที่ต้องการแต่คนเก่ง ก็คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่าเด็กน้อยคนนั้น ที่คุณสามารถดึงเขากลับมาพูดคุย เพื่อไม่ให้การเติบโตนี้มันหม่นหมองเกินไป

เพราะสุดท้าย ไม่มีใครแก่เกินจะฝัน และไม่เด็กเกินไปที่จะลงมือทำมันขึ้นมา

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

วันวานกับวันนี้ 25 เม.ย. 64 22:38 น. 1

ความฝันมีทั้งฝันดีและฝันร้าย แต่ในวัยเยาว์ความฝันจะสวยงามมากกว่าตอนโต เพราะโลกของเขายังขาวสะอาด เด็กส่วนใหญ่คือหัวใจของพ่อแม่ ในมุมมองแม่คนหนึ่งก็วาดฝันที่สวยงามไว้ให้ลูกตั้งแต่รู้ว่ามีหัวใจน้อยๆมาอยู่ในท้องแม่ และพร้อมที่จะทุ่มเททุกอย่างที่คิดว่าดีให้กับลูก แต่ฝันของเรากับของลูกอาจไม่เหมือนกัน เด็กๆก็มีความฝันของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นฝันที่สวยงามต้องเป็นฝันดีของพวกเขาด้วย แม้ว่าท้ายที่สุดอาจจะมีบ้างที่แม่ก็แอบคิดว่าฝันของลูกเหมือนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ไปไหม แต่แม่อย่างเราก็ลองให้โอกาสเค้าเรียนรู้ ทะเลาะกันบ้างบางเวลา แต่ท้ายที่สุดเพราะความรักลูก ครอบครัวเราก็ค่อยๆประคองกันไป ใช้หลักทางสายกลาง ตอนนี้ผ่านไป 20 ปี ลูกที่เราให้ทำตามฝัน ล้มลุกคลุกคลานไปตามวัย ท้ายที่สุดเขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่เก่งในสิ่งที่เค้าถนัด เข้มแข็งเพราะล้มบ่อย มีจินตนาการไปตามวัย แต่สิ่งที่คนเป็นแม่มีความสุขที่สุดคือเห็นเขามีความสุขที่ได้ทำงานที่เขารัก เหนื่อยแค่ไหนก็ไม่บ่น

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด