ทำไมเดนมาร์กถึงเรียนฟรี พร้อมมีเงินเดือนให้ใช้จนจบการศึกษา?

ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 คริสเตียน อีริคเซ่น นักฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก ล้มหมดสติลงกลางสนาม จากอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จนต้องได้รับการทำ CPR อย่างเร่งด่วน

นอกจากทีมแพทย์ที่ได้รับการชื่นชมอย่างล้นหลามแล้ว ผู้เล่นของเดนมาร์กเองก็ได้รับคำชมด้วยเช่นกัน จากการเข้าไปถึงตัวของ อีริคเซ่น และช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าตัวลิ้นจุกปาก ที่อาจทำให้อาการถึงขั้นวิกฤติได้

ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณระบบการศึกษาของเดนมาร์ก ที่บังคับให้มีการสอน CPR กับเด็กในวัยมัธยมมาตั้งแต่ปี 2005 จนมีส่วนช่วยให้ตัวเลขผู้รอดชีวิตจากอาการหัวใจหยุดเต้นในเดนมาร์กนั้น เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่าด้วยกัน

มาดูเรื่องราวเบื้องหลังระบบการศึกษาของเดนมาร์ก ที่นอกจากการบรรจุเรื่อง CPR เข้ามาในหลักสูตรแล้ว ยังมีประเด็นไหนที่น่าสนใจอีกบ้าง?

ระบบการศึกษาของประเทศเดนมาร์ก
ระบบการศึกษาของประเทศเดนมาร์ก

การศึกษาภาคบังคับของเดนมาร์ก หรือ Folkeskole กินระยะเวลารวม 10 ปี ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่อายุ 6 ถึง 16 ปี หรือเทียบกับไทย ก็คือช่วงประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3

ที่น่าสนใจเป็นอย่างแรก คือพวกเขาแทบไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนในระบบการศึกษาเลย ซึ่งงบที่สนับสนุนส่วนนี้ ก็มาจากภาษีที่ประชาชนจ่ายกันสูงถึงเฉลี่ย 45% ของรายได้เลยทีเดียว

และต่อให้เลือกเรียนกับโรงเรียนของเอกชน อาจด้วยเหตุผลด้านภาษา ศาสนา หรือความสามารถเฉพาะทาง แต่รัฐบาลก็ยังจ่ายเงินสนับสนุนให้ปีละประมาณ 170,000 บาท/คน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่อปีของแต่ละคนนั้น เหลือไม่ถึง 35,000 บาท

เรื่องต่อมาคือวิชาที่เปิดสอน นอกจากบรรดาวิชาพื้นฐานที่เราคุ้นเคยอย่าง คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, และสังคมศึกษาแล้ว ยังมีวิชาอย่าง ความปลอดภัยในการจราจร, เพศศึกษา, คหกรรมศาสตร์, การวางแผนครอบครัว กับวิชาอย่าง การงานอาชีพ และ สุขศึกษา ที่เน้นปฏิบัติจริง เป็นส่วนหนึ่งในวิชาภาคบังคับที่เด็กเดนมาร์กทุกคนต้องเรียน

เมื่อจบช่วงวัยประถมศึกษา จะมีการสอบวัดความพร้อม เพื่อช่วยเลือกเส้นทางศึกษาต่อในระดับมัธยม ตั้งแต่การเรียนในโรงเรียนสายสามัญ, สายธุรกิจ, สายวิชาชีพ, และบางคนที่มีความสามารถเฉพาะทาง ก็สามารถเลือก Efterskole ที่เด็กแต่ละคนสามารถต่อยอดความถนัดของตัวเอง พร้อมกับศึกษาควบคู่กันไปด้วยได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อเด็กเหล่านี้มีอายุแค่ 13-14 ปีเท่านั้น

โดยหนึ่งในประเด็นที่สำคัญ คือเดนมาร์กไม่มีการให้เกรดกับนักเรียนในช่วง 8 ปีแรกของการศึกษาเลย นั่นเพราะตามกฎหมายของพวกเขา เด็กทุกคนต้องได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียน ให้มีพัฒนาการที่ดีในด้านต่าง ๆ เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

นั่นจึงทำให้การประมวลผลในช่วงประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้นนั้น เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้สอนกับนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง และเป็นเรื่องปกติระหว่างการศึกษาเลย

เมื่อไม่ต้องศึกษาเพื่อมุ่งทำเกรดให้ดี จึงทำให้เด็กในเดนมาร์กสามารถค้นหาตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลกับผลคะแนนที่อาจตามมา และนั่นก็เสริมให้แต่ละคนสามารถเลือกเส้นทางที่เหมาะกับตัวเองที่สุดได้เช่นกัน

และแม้จะจบจากการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว แต่การสนับสนุนของรัฐบาลก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย นอกจากจะเข้าศึกษาได้อย่างไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีโอกาสได้รับเงินเดือนละ 30,000 บาทเลยด้วย

เงินในส่วนนี้คือ Statens Uddannelsestøtte หรือ SU ที่มอบเงินกินเปล่าให้กับเด็กอายุ 18 ปี ขึ้นไป นำไปใช้จ่ายระหว่างกำลังศึกษาอยู่ โดยมีโอกาสได้รับเงินส่วนนี้นานถึง 6 ปี หรือจนกว่าจะจบจากมหาวิทยาลัย และไม่จำเป็นต้องใช้คืนทุนดังกล่าวด้วย แม้ว่าจะตัดสินใจดรอปออกมาก่อนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เงินส่วนดังกล่าวนั้นจะมอบให้กับเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับครอบครัวเท่านั้น เนื่องจากว่าพวกเขาจำเป็นต้องดูแลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเอง แต่ถ้ายังอยู่กับครอบครัวหรือผู้ปกครอง ก็ยังได้รับงบสนับสนุนอยู่ แต่จะเหลือเพียงแค่ 5,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

นอกจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว หลายคนก็เริ่มหารายได้เสริมเพิ่มเติม จากการเข้าฝึกงานในสายที่ตัวเองต้องการ ซึ่งมักเริ่มฝึกงานกันตั้งแต่ยังเรียนในมหาวิทยาลัยอยู่เลยด้วยซ้ำ

และต่อให้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว มากถึง 1 ใน 3 ของประชากรผู้ใหญ่ในเดนมาร์ก ยังตัดสินใจกลับมาศึกษาต่อ ด้วยแนวคิดของการศึกษาตลอดชีวิต ที่อาจเป็นการเข้ามาพัฒนาทักษะในหน้าที่การงาน หรือหาประสบการณ์ชีวิตในด้านอื่นเพิ่มเติมด้วยก็เป็นได้

ด้วยการที่รัฐสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการศึกษา จึงทำให้การศึกษาต่อหลังจบจากมหาวิทยาลัย มีราคาที่จับต้องได้ รวมทั้งบ่อยครั้งที่บริษัทต่าง ๆ ก็เป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายให้ เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นอีกด้วย

อาจฟังดูเป็นอะไรที่ดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้ แต่เพราะชาวเดนมาร์กนั้นเชื่อว่า การศึกษาโดยไม่มีข้อจำกัดด้านการเงินมาเป็นอุปสรรคนั้น คือความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ต้องมอบให้กับเด็กทุกคน โดยไม่สำคัญว่าผู้ปกครองของพวกเขานั้นมีรายได้เท่าไหร่

และแม้การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลนี้ อาจถูกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอ้างว่า นี่อาจเป็นการสร้างบุคลากรที่ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน หรือจนถึงขั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กมีอัตราว่างงานอยู่เพียงแค่ 11% เท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในยุโรป และน้อยกว่าของสหรัฐอเมริกาเสียอีก โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเรียนจบเยอะที่สุดในโลก พร้อมกับมีอัตราอ่านออกเขียนได้สูงถึง 99% ของประชากรด้วยกัน

นั่นคือหนึ่งในเหตุผล ที่ทำไมแทบไม่มีใครในเดนมาร์กถึงไม่พึงพอใจกับอัตราภาษีที่สูงถึง 45% ของรายได้ เมื่อเขาทราบดีว่าเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้พัฒนาการศึกษา ตั้งแต่วินาทีแรกที่เด็กคนหนึ่งเริ่มเรียนรู้ ไปจนเกือบถึงช่วยสุดท้ายของชีวิตคน ๆ หนึ่งได้เลย

เรื่องดังกล่าวอาจมองขึ้นไปได้ถึงระบบการบริหารประเทศของเดนมาร์ก เพราะผู้คนในระดับบริหารนั้น ก็ต่างต้องเริ่มต้นระบบการศึกษาขึ้นมาก่อนอยู่แล้ว เช่น อัตราการเกิดอุบัติเหตุในประเทศที่ลดลง จากนโยบายที่สนับสนุนการปั่นจักรยาน ลดขนาดของถนน และเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากลดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยให้การเดินทางที่จำเป็นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายด้วย เช่นในกรณีของ คริสเตียน อีริคเซ่น ที่นอกจากจะได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทีม และแพทย์ที่เคยเป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติแล้ว การเดินทางเพียงแค่ 4 นาทีจากสนามแข่งสู่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของประเทศ ก็ต่างเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เขารอดชีวิตจากเหตุไม่คาดฝันนี้ได้เช่นกัน

เมื่อย้อนกลับมามองดู เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากระบบในบ้านเรา สนับสนุนให้เด็กและบุคลากรในการศึกษาสามารถพัฒนาประสิทธิภาพของตนไปได้มากกว่านี้ หลายสิ่งหลายอย่างคงดียิ่งขึ้นได้ไม่น้อยเลย

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

มัณทนา [ถึงวันสิ้นโลกเพราะโควิด] Member 19 มิ.ย. 64 14:58 น. 1

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเด็กไทยรุ่นใหม่ๆอยากย้ายประเทศกัน

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด