Spoil

  • "อกหักทิพย์" เรียกว่า Sadness Paradox เป็นความเศร้าแบบย้อนแย้ง เพราะบางคนรู้สึกอิ่มเอมเมื่อได้ฟังเพลงเศร้า
  • เพลงเศร้าหลอกสมองให้ปล่อยฮอร์โมนปลอบใจเราออกมา แต่ในเมื่อเราไม่ได้เศร้าจริงๆ มันจึงกลายเป็นกำไร ทำให้เรารู้สึกปลอดโปร่ง สบายใจ
  • แต่บางคนก็ถูกเพลงเศร้ากระตุ้นความรู้สึกด้านลบ คือทำให้คิดถึงความเจ็บปวดจากการสูญเสียต่างๆ จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะฟังเพลงเศร้าแล้วฟิน

อกหักทิพย์ อาการนี้ใครเคยเป็นบ้าง?

มันเป็นฟีลลิ่งที่ไม่ได้อกหัก ไม่ได้ดราม่า ไม่มีปัญหาหนักหนาอะไรในชีวิต แต่ก็ไม่รู้ทำไมถึงฟังเพลงเศร้าแล้วอินจัดๆ จนต้องฟังซ้ำๆ แชร์เพลง แชร์เนื้อเพลงท่อนกระชากวิญญาณวนไป จนเพื่อนส่ง dm มาถามรัวๆ ว่า “ดราม่าอะไรเนี่ย!?” แล้วเราก็จะตอบว่า “อ๋อ ไม่มีอะไร ฟังเพลงเฉยๆ”

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

 Sadness Paradox หรือ Paradox of Pleasurable Sadness คือคำตอบของเรื่องนี้ค่ะ เป็น ความเศร้าย้อนแย้ง ที่เกิดขึ้นเมื่อคนเรารู้สึกอิ่มเอมเมื่อได้ฟังเพลงเศร้า Shahram Heshmat นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ได้กล่าวไว้บนเว็บไซต์ Psychology Today ว่า ดนตรีเศร้านั้นมีอิทธิพลในการกระตุ้นความทรงจำเก่าๆ บางอย่างของเราขึ้นมา โดยเฉพาะความทรงจำที่มีความหมายเป็นพิเศษ จึงส่งผลต่ออารมณ์ของเรา

เพลงเศร้ายังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Prolactin ออกมา ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเศร้าและการบรรเทาความเศร้า ดังนั้นเมื่อความเศร้านี้เกิดจากเพลง ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ของเราจริงๆ ฮอร์โมนช่วยบรรเทาความเศร้าที่สมองปล่อยมาให้จึงกลายเป็นกำไรของเรา ทำให้เรารู้สึกดีและปลอดโปร่งใจ 

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

อีกเรื่องที่น่าแปลกใจก็คือ สำหรับบางคนเพลงเศร้ากลายเป็นสิ่งที่ใช้ปลอบใจได้ เพราะเพลงเศร้าเปรียบเสมือนเพื่อนที่รู้สึกแบบเดียวกันและเข้าใจกัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบด้วยว่าคนที่มีอาการเศร้าเรื้อรัง เช่นผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะชื่นชอบเพลงเศร้าเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์ แต่เป็นเพราะเพลงเศร้านั้นมีจังหวะเนิบช้า ช่วยลดระดับการใช้พลังงานของร่างกาย จึงรู้สึกผ่อนคลาย เกิดเป็น เสียงเพลงบำบัด หรือ Music Therapy ซึ่งสามารถช่วยลดระดับความดันเลือด คลายความวิตกกังวล และสื่อสารกับสมองในวิธีที่ต่างจากการบำบัดรูปแบบอื่นๆ ได้

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรู้สึกดีขึ้นได้ด้วยเพลงเศร้า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,500 คนโดยนักวิจัยจากประเทศอังกฤษและฟินแลนด์ พบว่ามีจำนวนถึง 10-17% ที่เพลงเศร้าไปกระตุ้นความทรงจำเลวร้ายบางอย่าง เช่น การจบความสัมพันธ์ และความตายของคนที่รัก ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด อ่อนเพลีย และวิตกกังวล โดยส่วนใหญ่กลุ่มที่เกิดความรู้สึกแบบนี้มักเป็นเพศหญิง และมีอายุน้อย ซึ่งยังต้องทำการวิจัยหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไป ที่น่าแปลกใจคือ คนกลุ่มนี้บางส่วนก็ยังเลือกฟังเพลงเศร้า ทั้งที่รู้ว่ามีผลลบกับตนเอง เพื่อกระตุ้นให้เศร้าถึงขีดสุดจะได้หายจากความเศร้า แต่นอกจากไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้ว ยังทำให้ความรู้สึกแย่ๆ นั้นอยู่ทนยิ่งขึ้นด้วย 

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

ชาว Dek-D ล่ะ ฟังเพลงเศร้าแล้วรู้สึกแบบไหนกันบ้าง? สบายใจ สะใจ หรือยิ่งฟังยิ่งเสียใจ มาบอกกันได้ แนะนำเพลงเศร้าที่ชอบฟังด้วยก็ดีนะ พี่กวางจะไปตามฟังเลยจ้า

 

ที่มาhttps://theswaddle.com/https://www.psychologytoday.com/https://daily.jstor.org/

 

พี่กวาง
พี่กวาง - Columnist พลเมืองบางบัวทอง ผู้ตามทันทุกเทรนด์ฮิต เพราะไถทวิตเตอร์ระหว่างรถติดแยกแคราย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น