Teen Coach EP.31 : อ้วนก็ถูกล้อ ผอมก็ถูกล้อ มันยังไงกันนะสังคม? (Skinny Shaming)

Spoil

  • Skinny Shaming มักถูกมองข้าม เพราะทุกคนคิดว่า "ผอม = สวย" ทั้งที่จริงแล้วบางครั้งคนผอมก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเสียความมั่นใจไม่ต่างจากคนอ้วนเลย
  • ความผอมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ โครงสร้างเล็ก ความเครียด และโรคทางสุขภาพ ดังนั้นคนผอมจึงไ่ม่ใช่คนที่ไดเอท หรือกินน้อยเสมอไป
  • ทุกคนล้วนมีความสวยงามในแบบของตนเอง ที่ไม่เกี่ยวกับความอ้วนหรือผอม ความสวยงามนี้รวมถึงสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตที่ดีด้วย

“รู้จักหมูกระทะบ้างมั้ย”

“นี่ขาหรือตะเกียบ”

“กินเยอะๆ หน่อย ผอมเหลือแต่กระดูกแล้ว”

คำพูดแซวเล่นที่ฟังดูเหมือนขำๆ แบบนี้ เชื่อไหมว่าสำหรับคนที่ผอม เขาฟังมาแล้วเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ฟังจนเริ่มไม่ขำ และเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูก make fun จากรูปร่าง ไม่ต่างกับที่คนอ้วนรู้สึกเลย

ในเมื่อมันเป็นคำพูดที่ทำให้ผู้ฟังได้ยินแล้วรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ สิ่งนี้จึงเรียกว่า Skinny Shaming ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Body Shaming นั่นเองค่ะ

พี่นักเก็ตคิดว่าหลายคนคงรู้จัก Body Shaming เป็นอย่างดี เพราะมันคือ การเหยียดหรือวิจารณ์ร่างกายผู้อื่น รวมถึงการล้อเลียน make fun หรือเปรียบเทียบจนทำให้คนนั้นรู้สึกอับอายและสูญเสียความมั่นใจ เชื่อไหมว่าส่วนใหญ่คำพูดเหล่านี้มักมาจากคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนสนิท ครูอาจารย์ พ่อแม่ หรือแม้แต่ญาติสนิท ป้าข้างบ้าน ที่คิดว่าพวกเขาสนิทกับเราแล้วจึงพูดแซวเล่นๆ โดยไม่ตระหนักว่าเราก็ไม่ได้ขำกับคำพูดของเขาเสมอไป แถมในบางรายยังถูกทำลายความมั่นใจลงอย่างย่อยยับเลยด้วย

คนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยกับการ Body Shaming สีผิว ส่วนสูง ความอ้วน แต่ที่จริงแล้วแม้แต่คนผอมก็ยังถูกวิจารณ์และ make fun เช่นกัน ไม่เชื่อลองเช็กดูสิว่าเราเคยพูดคำเหล่านี้ หรือเคยได้ยินใครพูดคำเหล่านี้หรือไม่

“ดูสิ! ผอมจนเหลือแต่กระดูกแล้ว”

“กินข้าวบ้างนะ วันๆ น่ะ”

“ใส่เสื้อคนหรือเสื้อหมาเนี่ย”

ซึ่งการ Body Shaming เหล่านี้ก็ล้วนเกิดจาก มาตรฐานความงาม หรือ Beauty Standard นั่นเอง (อยากรู้จัก Beauty Standard มากขึ้น คลิกไปที่นี่ได้เลย)

ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยแล้ววว่า ในเมื่อมาตรฐานความงามคือ “ความผอม” แล้วทำไมคนที่ผอมจึงยังรู้สึกว่าถูก make fun หรือ Body Shaming อีก?

ก่อนอื่น พี่นักเก็ตต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า Shaming นั้นแปลว่า “ทำให้อับอาย” ดังนั้นคำพูดไหนที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอาย อึดอัด และเสียความมั่นใจ จึงถือเป็นการ Body Shaming ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการพูดให้อับอายในเรื่องสีผิว ส่วนสูง อวัยวะต่างๆ รวมถึงรูปร่างไม่ว่าจะอ้วนหรือผอม

ที่สำคัญ คนผอมส่วนใหญ่มักมีภาพจำในสายตาคนทั่วไปว่า เป็นคนที่ไดเอต อดอาหาร กินน้อย หนำซ้ำในบางรายยังถูกมองว่าเป็น “โรคคลั่งผอม” หรือ Anorexia (ที่กินแล้วล้วงคอตัวเองให้อาเจียนออกมา เพื่อจะได้ผอมอยู่เสมอ) ดังนั้นคนผอมหลายคนจึงรู้สึกไม่ดีใจกับการถูกแปะป้าย (label) ว่าเป็นเช่นนั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนผอมหลายคนกินเก่งมากๆ แต่มีระบบการเผาผลาญที่ดี จึงทำให้กินเท่าไหร่ก็ยังผอม หรือคนผอมบางคนก็กินได้น้อยจริงๆ เนื่องจากร่างกายสามารถรับอาหารได้เพียงเท่านั้น ไม่ใช่เพราะเขาตั้งใจไดเอท อดอาหาร หรือคลั่งความผอมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ความผอมยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์, โครงสร้างกระดูก, ความเครียด และโรคทางสุขภาพ ได้แก่ โรคไทรอยด์ และโรคความผิดปกติในการกิน (Eating Disorders) ความผอมนี้จึงไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของพวกเขา และไม่สมควรที่จะถูกใครนำมา make fun เลยค่ะ

เรื่องน่าเศร้าก็คือ Skinny Shaming มักเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม และถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะหลายคนยึดติดกับ Beauty Standard ที่ว่า “ผอม = สวย”  จึงถูกมองว่าไม่น่าเป็นปัญหาเท่ากับการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นว่า “อ้วน” ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ว่าใครจะมีรูปร่างแบบไหน สีผิวอะไร หรือมีลักษณะทางกายภาพแบบไหนก็ตาม ก็ไม่ควรถูกนำมา make fun หรือวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสิ้น เพราะแค่คำพูดที่เราไม่คิดอะไร จริงๆ แล้วสามารถส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพจิตใจและความมั่นใจในตัวคนๆ นั้นได้อย่างมากจนแทบคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ดังนั้น สำหรับใครที่มักถูก Body Shaming บ่อยๆ ไม่ว่าจะอ้วน ผอม สูง เตี้ย ผิวขาว ผิวคล้ำ ฯลฯ พี่นักเก็ตก็มีวิธีรับมือมาให้น้องๆ ได้ลองทำตามกัน โดยหวังว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบนั้น น้องๆ จะสามารถรับมือได้โดยไม่ปล่อยให้ตัวเองรู้สึกแย่จนเกินไปค่ะ

  • มองหาเรื่องราวดีๆ ในตนเอง ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นได้ ก็ต้องหันมาเริ่มจัดการที่ตัวเองด้วยการปล่อยผ่าน และรักตัวเองให้มากๆ มองหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบในตนเอง เช่น บางคนอาจจะชอบมือของตัวเอง ชอบแขน ชอบดวงตา หรือต่อให้เราไม่ได้ชอบอวัยวะส่วนไหนในร่างกายเลย เราก็ยังมีข้อดีอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัยที่น่ารักของเรา ความสามารถของเรา หรือแม้กระทั่งทัศนคติของเรา ที่เราสามารถชื่นชมและ cheer up ตัวเอง ให้รู้สึกดีขึ้นได้
  • ตัดคนนิสัยไม่ดีออกไปจากชีวิต หากเขาเกินเยียวยาจริงๆ เจอกันทีไรมีแต่จะพูดให้เรารู้สึกแย่ เฟล เจ็บช้ำน้ำใจ ก็ค่อยๆ ถอยห่างจากเขาดีกว่า พยายามคุยกับเขาเท่าที่จำเป็น ไม่ต่อล้อต่อเถียง ไม่ทำให้เขารู้สึกสนุกกับการได้ make fun เรา และกลับมาอยู่ใน safe zone กับคนที่รัก เข้าใจ และทำให้เรารักตัวเองนะคะ
  • ปรึกษานักจิตวิทยา หากไม่สามารถก้าวผ่านคำพูดบั่นทอนจิตใจของคนอื่นได้ จนกระทบความมั่นใจ การใช้ชีวิต และส่งผลต่อร่างกาย เช่น กินได้น้อยลง นอนไม่หลับ หรือรู้สึกวิตกกังวลจนเกินไป อย่าปล่อยทิ้งไว้นะคะ ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดู อาจจะได้พบกับทางออกที่ดีและทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตนเองมากกว่าเดิมค่ะ

พี่นักเก็ตเชื่อว่าวัยรุ่นหลายคนเคยเป็นเหยื่อของ Body Shaming และบางคนก็เคยเป็นฝ่ายที่ Body Shaming คนอื่นโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ตั้งใจ ถ้าอย่างนั้นหลังจากนี้เรามาเอาใหม่กันนะคะ ลองช่วยกันตระหนักถึงปัญหาเรื่องนี้ให้มากขึ้น และรณรงค์ไม่เผยแพร่ค่านิยมที่ผิดๆ ถ้าหากอยู่กับเพื่อนแล้วไม่รู้จะพูดอะไร ก็ลองมองเพื่อนแล้วหาว่าสิ่งไหนของเขาในวันนี้ที่เราชอบที่สุดก็ได้ค่ะ เช่น ทรงผมสวยๆ สีลิปสติกปังๆ กำไลข้อมือน่ารักๆ หรือรอยยิ้มสดใส การชื่นชมกันแม้จะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ย่อมนำมาซึ่งความสุขใจของผู้ฟัง มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์กันแน่นอนค่ะ

อย่าลืมนะคะ ทุกคนล้วนมีความสวยงามในรูปแบบของตัวเองโดยไม่ต้องยึดติดกับมาตรฐานของสังคม ความสวยงามนี้รวมถึงสุขภาพกายที่แข็งแรง และสุขภาพจิตที่ดีด้วย ดังนั้นอย่าลืมรักและใส่ใจตัวเองให้มากๆ นะคะ

ก่อนไป ใครเคยได้รับคำพูดที่ดีๆ แล้วรู้สึกประทับใจกับคำพูดแบบไหนกันบ้าง ลองมาแชร์กันดูได้ค่ะ เผื่อว่าจะเก็บเป็นไอเดียไว้ใช้พูดคุยกัน สังคมนี้จะได้น่าอยู่ขึ้นค่ะ

 

 

รายการอ้างอิงhttps://www.psychologytoday.com/skinny-shaming-is-not-a-complimenthttps://verdemagazine.com/
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น