เมื่อพ่อแม่เป็นห่วงเรามากเกินไป (Overprotective parent) ควรทำยังไงดี

spoil 

  • Overprotective Parent คือพ่อแม่ที่ปกป้องลูกสุดหัวใจ  เป็นคนคิดตัดสินใจ ไม่ยอมให้ทำอะไรเลยถ้าไม่ต้องการ จนทำให้เกิดความอึดอัดใจเพราะไม่มีพื้นที่ส่วนตัว
  • พ่อแม่มีเหตุผลที่เป็นห่วงลูก เช่น ห่วงความปลอดภัย กลัวความผิดพลาด วิตกกังวล แต่การเป็นห่วงมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลเสียได้
  • ทางที่ดีที่สุดคือการหาตรงกลางร่วมกัน ที่ไม่ทำให้ทั้งสองฝ่ายอึดอัด

สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนเลยนะคะ วันนี้เรามากับทอปปิคที่แอบเซนซิทีฟกันนิดหนึ่ง กับเรื่องความเป็นห่วงของพ่อแม่กันค่ะ พี่เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนอาจมีคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นห๊วงเป็นห่วงสุด ๆ จะขออนุญาตอะไรก็ยากหน่อย ๆ 

ต้องบอกก่อนว่าตามเกณฑ์ปกติแล้วมนุษย์เราจะเริ่มก้าวเข้าสู่วัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ 12-18 ปี ซึ่งในช่วงนี้เราจะมีความคิดบางอย่างที่เปลี่ยนไป อยากตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง ต้องการอิสระมากขึ้น ในขณะที่ธรรมชาติของพ่อแม่เองก็อยากจะปกป้องลูก อยากให้ลูกค่อย ๆ ลองใช้ชีวิตทีละเล็กทีละน้อย โดยที่พ่อแม่คอยสอดส่องอยู่ เพราะอยากให้ลูกปลอดภัยทั้งกายและใจ ซึ่งคงไม่ดีแน่ ๆ หากไม่มีการบาลานซ์ที่ดีของทั้งสองฝ่าย 

โดยความเป็นห่วงที่มากเกินไป หรือ Overprotective Parent คือการที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองปกป้องลูกสุดหัวใจ พยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับเราทุกอย่าง เป็นคนคิดตัดสินใจ ไม่ยอมให้ทำอะไรเลยถ้าพ่อแม่ไม่ต้องการ โดยไม่ใช่แค่ด้านกายภาพแต่ยังรวมถึงความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ที่อยากจะให้ลูกคิดเหมือนกัน จนทำให้เกิดความอึดอัดใจเพราะไม่มีพื้นที่ส่วนตัว

ทุกอย่างล้วนมีเหตุและผลเสมอ เราลองไปดูกันดีกว่าค่ะ ว่าทำไมพ่อแม่ถึงห๊วงห่วงเรามากขนาดนี้ 

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

มีความวิตกกังวล

พ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกทุกอย่าง ไม่ว่าลูกจะทำอะไร อยู่ที่ไหน กินอะไร มีแนวโน้มว่าพื้นฐานพ่อแม่อาจเป็นคนวิตกกังวลง่าย กลัวจะเกิดเรื่องไม่ดีกับลูกอยู่เสมอ รวมถึงไม่สามารถจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ดีเท่าไหร่ 

ข่าวรอบตัวที่เกินความจริง

ในโลกปัจจุบันที่เราถูกล้อมรอบด้วยสื่อต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด ไม่ใช่แค่เพียงข่าวที่ดีต่อใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข่าวแง่ลบ ข่าวภัยอันตรายต่าง ๆ เมื่อเสพมากเข้าก็เป็นปกติที่คนเป็นพ่อแม่จะรู้สึกห่วง ไม่สบายใจที่จะปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเองตามลำพัง อะไรที่ดูเสี่ยงก็ไม่อยากอนุญาต

กลัวความผิดพลาด 

หลายครั้งพ่อแม่เองก็กลัวความผิดพลาดมาก ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่กังวลว่าตัวเองจะทำอะไรผิดเพียงฝ่ายเดียว แต่ลามไปถึงกลัวลูกจะทำพลาด กลัวตัดสินใจผิด กลัวล้มเหลว กลัวว่าลูกจะต้องอยู่กับความรู้สึกแย่ ๆ ไปอีกนาน

คิดว่าลูกยังเด็กอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะโตแค่ไหน สำหรับพ่อแม่เรายังคงเป็นเด็กเสมอ ทำให้หลายครั้งจึงอยากเข้ามาช่วยเหลือ อยากจะช่วยตัดสินใจ ห้ามเรื่องบางอย่างที่คิดว่าอันตราย และอยากให้ลูกเชื่อฟังมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นเรื่องของอายุที่พ่อแม่มองแล้วยังไม่ถึงเวลา ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปตามความเหมาะสมด้วยเช่นกัน

แม้ความเป็นห่วงจะเป็นสิ่งที่ดีและไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่หากเกินพอดีก็อาจส่งผลเสียแบบไม่คาดคิดต่อทั้งสองฝ่ายได้ 

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

ไม่กล้าเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ 

เมื่อพ่อแม่พยายามดูแล ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง 

งานวิจัยจากคุณ Nicholas W. Affrunti และ Golda S. Ginsburg มหาวิทยาลัย The Johns Hopkins University School of Medicine กล่าวว่าพ่อแม่ที่ห่วงลูกมากจนเกินไปมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ลูกหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ไม่กล้าเริ่มต้นลองทำอะไรใหม่ ๆ เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย

เสี่ยงต่อโรคทางจิตเวช

การไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเลย อาจทำให้เกิดความเครียด เพราะอยากจะทำอะไรก็กังวลว่าพ่อแม่จะโอเคไหม พ่อแม่จะยอมรับได้หรือเปล่า พ่อแม่จะห้ามไหม

สิ่งเหล่านี้เมื่อเก็บไว้ในใจนาน ๆ ก็ย่อมส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคทางจิตเวชแบบไม่รู้ตัวได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ รวมถึงโรคกลัวการเข้าสังคมอีกด้วย

ไม่อยากพูดความจริง 

เมื่อพ่อแม่พยายามควบคุมทุกอย่างตาม หากมีอะไรผิดพลาดไป เป็นเรื่องปกติที่เราจะไม่อยากบอกเพราะกลัวเขาผิดหวัง หรือโดนตำหนิ 

นอกจากนี้หลาย ๆ ปัญหา เราก็อยากที่จะลองแก้ไขด้วยตัวเองก่อนที่พ่อแม่จะยื่นมือเข้ามาช่วย

ความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน

อยากมีพื้นที่ส่วนตัว อยากทำอะไรในแบบที่อยากทำ แต่พ่อแม่เป็นห่วงมาก ๆ จนทำให้อึดอัดใจ สิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เรากับพ่อแม่เกิดความห่างเหินกัน ลูกก็พยายามเลี่ยง มีอะไรก็ไม่อยากบอก นาน ๆ เข้าความสัมพันธ์ก็แย่ลง 

เป็น Perfectionist

แม้ว่าพ่อแม่บางครอบครัวอาจจะไม่ได้แสดงออกว่ากดดันอะไรในตัวลูกเลย แต่การไม่ปล่อยลูกให้มีพื้นที่ส่วนตัวเลย ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกกดดันแบบไม่รู้ตัว อยากจะทำทุกอย่างให้ออกมาสมบูรณ์แบบ 

เป็น Perfectionist ไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะคะ  การทำทุกอย่างให้ออกมาเรียบร้อยเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่อะไรที่มากเกินความพอดีก็อาจทำให้เรารู้สึกเครียดได้ แถมเวลาพลาดก็มูฟออนยากจมอยู่กับความรู้สึกผิดไม่รู้จบ

มาถึงตรงนี้น้อง ๆ หลายคนอาจจะถาม แล้วจะทำยังไงดีล่ะ นี่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ที่พ่อแม่จะยอมปล่อย ให้อิสระกับเราบ้าง วันนี้พี่ก็มีเคล็ดลับเล็ก ๆ ที่จะช่วยทั้งสองฝ่ายสามารถหาจุดตรงกลางร่วมกันได้ ไปดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง 

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

พูดคุยกับพ่อแม่ด้วยเหตุผลไม่ใช้อารมณ์

แม้ว่าอาจจะยากสักหน่อย แต่การได้นั่งคุยจริง ๆ จัง ๆ ว่าเราอยากมีพื้นที่ส่วนตัวบ้าง อยากลองทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะไม่ต้องผ่านการเดาใจกันไปกันมา แถมพ่อแม่ก็จะได้เข้าใจเรามากขึ้นอีกด้วย

แต่หากการพูดคุยในครั้งนั้นยังไม่ลงล็อค ยังหาตรงกลางร่วมกันไม่ได้ ก็ให้พักไปก่อนค่อยหาเวลาพูดคุยใหม่อีกครั้ง สำคัญมาก ๆ คือเราจะต้องไม่ใช้อารมณ์เถียงกับพ่อแม่จนทะเลาะกัน เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก

รับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้พ่อแม่ปล่อยวาง และไว้ใจเรามากขึ้น คือการแสดงให้เขาเห็นว่าเราสามารถรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ ได้ดี ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น รับผิดชอบทำความสะอาดบ้าน รับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียนให้ออกมาดี รวมถึงหน้าที่ใหม่ ๆ ในโรงเรียน เป็นต้น

ยอมรับหากสิ่งที่คาดหวังไม่เป็นดั่งหวัง

การจะเปลี่ยนความคิดของพ่อแม่แบบทันทีคงจะเป็นไปไม่ได้ หรืออาจจะเข้าใจบางส่วนแต่อีกส่วนอาจจะยังไม่ การยอมรับในสิ่งที่พ่อแม่ยังไม่เข้าใจถือเป็นการค่อย ๆ เปิดทางทีละเล็กทีละน้อย หากเราต่อต้านทันที พ่อแม่ก็จะต้านกลับ ซึ่งนั้นอาจยิ่งทำให้ความสัมพันธ์พังทลายลงได้ 

ทำตามกฎ และรักษาสัญญาอยู่เสมอ

การที่พ่อแม่ไม่ปล่อยเรานอกจากจะเกิดจากความเป็นห่วงแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้สึกที่ยังไม่ไว้ใจอีกด้วย เพราะฉะนั้นแล้วหากเราหมั่นทำตามกฎเกณฑ์ของพ่อแม่ รักษาสัญญาที่มีร่วมกันได้เสมอ ท้ายที่สุดความไม่ไว้ใจนั้นก็จะเริ่มเบาบางลงแปรเปลี่ยนเป็นไว้ใจมากขึ้น 

โอเค บางทีกฎเกณฑ์นี่แหละที่ทำให้เราอึดอัดใจ ซึ่งตรงนี้ก็จะย้อนกลับไปที่ข้อแรกว่าเราอาจจะลองพูดคุยกับเขาดู ขอขยับปรับเปลี่ยนกฎบางอย่างดูบ้าง

สุดท้ายนี้พี่ก็หวังว่าทุกครอบครัวจะสามารถหาจุดตรงกลางที่พอดีร่วมกันได้ หากน้อง ๆ คนไหนอยากจะแชร์ประสบการณ์ เล่าเรื่องราวของตนเอง ก็สามารถคอมเมนต์พูดคุยกันได้นะ 

 

อ้างอิงจากhttps://www.streetdirectory.com/travel_guide/202733/parenting/helicopter_parents_why_are_some_parents_so_overprotective.htmlhttps://www.parentingforbrain.com/overprotective-parents/#:~:text=Overprotective%20parents%20may%20overparent%20their,in%20them%E2%80%8B8%E2%80%8B.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3358037/#:~:text=Overcontrolling%20parents%20may%20increase%20levels,worry%20about%20his%2Fher%20abilitieshttps://bpr.berkeley.edu/2019/04/16/overprotective-parents-and-a-new-generation-of-american-children/#:~:text=As%20for%20the%20effect%20of,makes%20a%20lot%20of%20sense.https://www.youniversetherapy.com/post/8-negative-effects-of-overprotective-parentinghttps://www.healthychildren.org/English/ages-stages/Pages/default.aspx
พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น