10 ปีแล้ว พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ไปถึงไหน?

 

Spoil

  • ประเทศไทยมีการต่อสู้เรื่องกฎหมายสมรสในเพศเดียวกันมานานกว่า 10 ปี โดยมีพ.ร.บ. เกิดขึ้นสองร่าง ได้แก่ พ.ร.บ. คู่ชีวิต และพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
  • ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันแต่ก็แตกต่างกัน จึงทำให้ยังเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบัน

เข้าสู่ช่วง Pride Month เดือนแห่ง ‘ความภาคภูมิใจ’ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศกันแล้ว เรียกได้ว่าเป็นเดือนที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เจอสีรุ้งประดับประดาเต็มไปหมด ไม่ว่าจะห้างสรรพสินค้า โลโก้ของสินค้า หรือแม้แต่ภาพโปรไฟล์ในโลกอินเทอร์เน็ต ก็ต่างมีสีรุ้งแต่งแต้มอยู่

แม้ภาพลักษณ์ของเดือน Pride Month จะดูสดใสซาบซ่าด้วยสีรุ้ง แต่จริง ๆ แล้วก็ถือเป็นอีกหนึ่งเดือนที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเดินหน้าเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมต่าง ๆ  ผ่านการเดินพาเหรดขบวนสีรุ้งบ้าง ผ่านการทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง 

โดยทราบกันไหมเอ่ย? ว่าประเทศไทยของเราเองก็ผ่านการต่อสู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของชาว LGBTQ+ กันมาอย่างยาวนานมาก ซึ่งถ้านับดูก็น่าจะเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่พยายามต่อสู้เรื่องกฎหมายสมรสของเพศเดียวกัน

การต่อสู้ที่ยาวนานนี้ทำให้เกิด พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ เกิดร่างแก้ไขเพื่อ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ขึ้น ซึ่งหากสังเกตให้ดีก็จะพบว่าร่างทั้งสองฉบับนี้ทั้งเหมือนและไม่เหมือนกันสักทีเดียว และยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าแบบไหนจะดีและเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคน 

วันนี้พี่จึงอยากชวนน้อง ๆ ไปดูกัน ว่าเจ้าพ.ร.บ. ทั้งสองนี้ แตกต่างกันยังไง เรียกร้องอะไรกันบ้าง เอ้าเริ่ม!

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

พ.ร.บ. คู่ชีวิต

พากันย้อนไปไกลสักนิด ในปี พ.ศ. 2555 นายนที และนายอรรถพล สองคู่รักได้เดินทางไปที่สำนักทะเบียนอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งครั้งนั้นทางอำเภอก็ไม่สามารถรับจดทะเบียนได้ เพราะทั้งคู่เป็นเพศเดียวกัน ซึ่งไม่ตรงกับกฎหมายสมรสที่เขียนไว้ว่า คู่สมรสจะต้องเป็นเพศชายกับเพศหญิง อายุ 17 ปีบริบูรณ์ เท่านั้น

หลังเหตุการณ์นั้น ทั้งคู่รวมถึงผู้สนับสนุนให้เพศเดียวกันสามารถสมรสได้ ก็พยายามเดินหน้าเรียกร้องกับสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะมองว่าผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 30 ที่ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายภาพหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล  ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

ทำให้ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงยุติธรรมก็ได้เป็นประธานร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นมาร่างแรก ซึ่งถือเป็นกฎหมายใหม่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายสมรสเดิมที่มีอยู่ ปัญหาอยู่ที่ว่าสิทธิที่ได้รับไม่เหมือนกับกฎหมายสมรส เช่น ไม่สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ ไม่สามารถตัดสินใจการรักษาพยาบาลของอีกฝ่ายได้ เป็นต้น 

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถูกแก้ไขปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ จนปี พ.ศ. 2563 ก็ได้มีการประกาศถึงสิทธิต่าง ๆ ที่เยอะขึ้น ไม่ว่าจะรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ฟ้องหย่าได้ รับมรดกตามกฎหมายได้หากคู่ชีวิตเสียชีวิต ฯลฯ

โดยวันที่ 7 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต โดยมีรายละเอียด

  • คู่ชีวิตมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน 
  • มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
  • มีสิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน 
  • มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม 
  • มีสิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ความสามารถ 
  • มีสิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย 
  • มีสิทธิจัดการศพ 

ซึ่งหลังจากการประกาศออกมา ก็มีเสียงแตกออกไปมากมายทั้งพอใจและไม่พอใจ เพราะแม้จะมีสิทธิมากขึ้น แต่ พ.ร.บ. คู่ชีวิตก็ไม่ได้เป็นการสมรส สิทธิบางอย่างก็ยังคงไม่เหมือนกับคู่สมรสอยู่ดี เช่น การมีบุตรร่วมกันโดยการใช้เทคโนโลยี การเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของอีกฝ่าย สิทธิในการรับสวัสดิการหากอีกฝ่ายรับราชการ เป็นต้น

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.คู่ชีวิตทำให้หลายคนมองว่า นี่อาจยิ่งทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ถูกผลักให้แตกต่างจากคนอื่นมากขึ้นหรือเปล่า ทำไมถึงต้องร่างกฎหมายใหม่แทนที่จะมุ่งเป้าไปแก้ฉบับเดิม ลดทั้งปัญหายุ่งยากของข้อกฎหมาย ลดทั้งความไม่เท่าเทียมของการสมรสในเพศเดียวกัน

ย้อนกันไปในปี พ.ศ. 2563 อีกครั้ง คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยมีรายละเอียดคร่าว ๆ ว่า

  • ขอให้แก้ไขถ้อยคำบัญญัติว่า ‘สามี-ภรรยา’ เป็น ‘คู่สมรส’
  • ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป หมั้นกันได้ รวมถึงเสนอคำศัพท์ใหม่จาก ชาย-หญิง เป็น ‘ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น’
  • บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถสมรสได้ โดยปรับถ้อยคำจาก ‘ชาย-หญิง’ เป็น ‘บุคคล’
  • คู่สมรสมีสิทธิในมรดก หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ 

จะสังเกตได้ว่าตัวสมรสเท่าเทียมจะเป็นการแก้ไขที่กฎหมายสมรสเดิม โดยเปลี่ยนถ้อยคำบางส่วนให้กลาง ๆ ไม่ระบุเพศ ส่วนสิทธิที่เคยมีอยู่ไว้ก็คงเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ซึ่งหลังจากยื่นร่างไป ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ออกมาเผยแพร่คำวินิจฉัยในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ว่า ‘การสมรสแค่ชายและหญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ให้ตรากฎหมายเพื่อรองรับสิทธิหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไปซึ่งนั่นทำให้ร่างสมรสเท่าเทียมถูกพัก ก่อนจะกลับเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 แต่ก็ยังไม่สำเร็จอีกเช่นเคย 

โดยในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 สภาได้รับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมอีกครั้ง แต่ด้วยข้อจำกัดทางเวลาทำให้ต้องเลื่อนไปพิจารณาในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 แทน ซึ่งก็น่าติดตามเป็นอย่างมากว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะผ่านหรือไม่

ฟังแล้วเป็นยังไงกันบ้างเอ่ย? น้อง ๆ ชาว Dek-D มีความคิดเห็นยังไงกันบ้าง สามารถพูดคุยคอมเมนต์บอกกันได้นะคะ

 

อ้างอิงจากhttps://www.support1448.org/documents/support-1448-draft.pdfhttps://www.bangkokbiznews.com/business/1008657https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/253/files/article/Ssenate/963_1.pdfhttps://ilaw.or.th/node/6032
พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด