Teen Perfection : แค่ทำตามความฝันหรือเป็น Perfect Hidden Depression กันแน่?

แค่ทำตามความฝัน หรือเป็น Perfect Hidden Depression 

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D.Com ทุกคน ในที่นี้มีใครที่อยากเป็นหนุ่มฮอตหรืออยากเป็นดาวโรงเรียนกันบ้างเอ่ย? ยกมือให้พี่เมลดูหน่อยเร็ว ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่าการได้รับสิทธิประโยชน์จากความ perfect เป็นอะไรที่ดูจะคุ้มค่าเอามากๆ  ลองคิดดูสิว่าถ้าเราเกิดมาหน้าตาดี เรียนก็เก่ง กิจกรรมก็เลิศเราจะเป็นจุดสนใจของคนรอบข้างขนาดไหน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่มีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลาอย่างกรุงเทพฯ นี่แหละ ทำให้หลายคนต้องดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อให้ไปถึงความฝันที่ตัวเองต้องการ ยิ่งทำให้การไล่ตามความฝันบีบให้เราต้องเอาความพยายามและคุณสมบัติในความ Perfect ทางกายภาพของตัวเราออกมาใช้ให้ได้มากถึงมากที่สุด จนบางทีก็ลืมนึกถึงความ Perfect ของสุขภาพทางจิตใจ และอาจทำให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าจากการเสพติดความ Perfect หรือทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า Perfect Hidden Depression  (PHD) ในที่สุด

 

Perfect Hidden Depression  (PHD) มีจริงหรอ?

ถึงแม้โรคนี้จะค่อนข้างดูไม่น่าเชื่อว่ามีจริง แต่ทางการแพทย์มีการวินิจฉัยและพัฒนาตัวยาเพื่อมารักษาโรคนี้กันอย่างจริงจัง โดยในเว็บไซต์ต่างๆ บนโลกโซเชียลมีเดียก็มี Case study ของโรค Perfect Hidden Depression (PHD) ให้เห็นกันบ่อยๆ โดยพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคนี้เกิดขึ้นเนื่องด้วยภาวะซึมเศร้าจากการบีบคั้นของสังคมและการคาดหวังจากครอบครัว 

ยกตัวอย่างเช่น Case study ของ ดร.มากาเรต รูเธอร์ฟอร์ด ที่ได้รักษาโรค Perfect Hidden Depression (PHD) ให้กับบริทานีหญิงสาวที่ถูกแม่ของเธอกดดันให้แต่งงานกับคนที่เธอไม่ได้รัก เพียงเพื่อให้เธอได้มีชีวิตอย่าง perfect จนทำให้เธอเข้าสู่สภาวะซึมเศร้าในที่สุด

 จะรู้ได้ยังไงว่าเราเป็น Perfect Hidden Depression  (PHD) ?

เนื่องจาก Perfect Hidden Depression  (PHD) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะซึมเศร้า จึงจะไม่มีอาการทางกายที่สามารถตรวจพบได้อย่างชัดเจน แต่พี่เมลนำแนวโน้มของพฤติกรรมที่อาจบ่งบอกได้ว่าเรากำลังมีอาการเสพติดความ Perfect มาให้น้องๆ ชาว Dek-D.Com ลองเช็คตัวเองกันดูนะคะ ถ้าอยากรู้แล้วว่าตัวเองเข้าข่ายจะเป็น Perfect Hidden Depression (PHD) รึเปล่า? งั้นเราไปอ่านพร้อมกันเลย

1.สายเป๊ะ!

เอาล่ะ! ไหนใครเป็นคนเนี้ยบๆ ชอบสั่ง ชอบจัดการ และถ้ามีอะไรไม่ชอบใจก็มักจะโกรธหรือวิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาและค่อนข้างรุนแรงอยู่บ้าง พี่เมลบอกเลยว่าถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้เป็นครั้งคราวก็รอดตัวไป แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ จนถึงเป็นประจำล่ะก็ แปลว่าเราเริ่มเสี่ยงจะเป็นโรคเสพติดความ Perfect แล้ว

2.พยายามรับผิดชอบงานจนมากเกินไป 

พี่เมลเชื่อว่าน้องๆ ชาว Dek-D.Com หลายคนที่เคยเป็นหัวหน้าห้องหรือประธานนักเรียนน่าจะมีประสบการณ์แบบนี้กันบ่อยๆ เลยใช่มั้ยล่ะคะ แต่การหักโหมเป็นอะไรที่ค่อนข้างทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจเลยนะ  ก็ใช่! ที่เวลาเราพยายามทำงานหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์ที่สุดถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราคิดเพียงแต่จะรับงานเข้ามาเพราะต้องการแสดงความเป็นผู้นำ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมและระยะเวลาที่เราสามารถทำงานได้ทัน ก็จะยิ่งมีโอกาสจะทำให้งานทั้งหมดพังซะมากกว่า

3.มีปัญหาในการยอมรับความเจ็บปวด 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองกำลังโกรธหรือกำลังเศร้า แต่คนที่เสพติดความ Perfect มักจะพยายามซ่อนความโกรธหรือความเศร้านั้นเอาไว้ภายใต้รอยยิ้ม เพื่อให้คนรอบข้างเห็นว่าเราเข้มแข็งขนาดไหน 

4.Safe Zone Lover 

ถ้าน้องๆ ชาว Dek-D.Com คนไหนยังเอาแต่ยึดติดอยู่กับ safe zone เดิมๆ แบบที่ว่าต่อให้เอาช้างเอาม้ามาลากก็ไม่มีทางออกไปเผชิญกับอะไรที่ไม่เคยเจอแน่นอน แปลว่าเรากำลังเสี่ยงจะเป็นโรคเสพติดความ Perfect แล้วล่ะค่ะ เพราะว่าคนที่เป็น Perfect Hidden Depression (PHD) ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะไม่อยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ เพราะฉะนั้นลองออกมาทำอะไรที่ไม่เคยกล้าทำบ้าง อาจจะทำให้เราพบเจอตัวตนที่แท้จริงก็ได้

5.ยิ่งทำสำเร็จยิ่งจดจ่อมากกว่าเดิม 

หลายครั้งที่คนที่เสพติดความ Perfect มักจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขเหมือนตัวจะลอยขึ้นไปให้ได้ เวลาที่ถูกชม และยิ่งมีคนชมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพยายามทำงานให้หนักและละเอียดขึ้นมากเป็นเท่าตัว เพราะคาดหวังคำชมในการส่งงานครั้งต่อไป 

6.ห่วงใยผู้อื่นก่อนตัวเองเสมอ 

คนที่เสพติดความ Perfect มักจะชอบสังเกต และดูแลคนรอบข้างได้ดีมากๆ จนน่าทึ่ง แต่กลับไม่สนใจตนเองเลยแม้แต่น้อย จึงเป็นสาเหตุให้เมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าแล้ว คนเหล่านี้มักจะซ่อนความเจ็บปวดเอาไว้ แล้วระเบิดมันออกมาด้วยการฆ่าตัวตายแทนการระบายให้เพื่อนๆ ฟัง

7.เพิกเฉยกับความเจ็บปวด 

ไม่ว่าความเจ็บปวดนั้นจะมาจากความทรงจำหรือประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีต หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันก็แล้วแต่ คนที่เสพติดความ Perfect มักจะพยายามมองข้ามความเจ็บปวดเหล่านั้นไป แล้วค่อยกลับมาจัดการเมื่อพบว่าสถานการณ์ดังกล่าวกลับมาอยู่ในความควบคุมแล้ว ก็คงเหมือนกับเวลาที่เราทะเลาะกับเพื่อนๆ แล้วเลือกที่จะเงียบ จนกว่าจะถึงเวลาที่เราสามารถจัดการกับความรู้สึกโกรธ เศร้า หรือผิดหวังของตัวเองไปได้แล้ว จึงค่อยกลับมาปรับความเข้าใจกันใหม่ตอนอารมณ์ดีนั่นแหละค่ะ ถึงแม้การทำแบบนี้จะเป็นเรื่องดีในการรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ แต่ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ พี่เมลว่ามันจะไม่ดีต่อตัวเราเอาได้นะ 

8.ขี้กังวล 

ส่วนใหญ่ของคนที่เป็น Perfect Hidden Depression  (PHD) มักจะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมและการจัดการที่เป็นระบบจนมักจะทำให้เกิดความวิตกกังวล เมื่อตนเองไม่สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ตามที่วางแผนเอาไว้ได้

9.ขอพรเป็นเรื่องปกติ 

สายมูมีสะดุ้งกันเป็นแถบแน่ๆ เพราะว่าคนที่เสพติดความสมบูรณ์แบบมักจะเชื่อเรื่องโชคราง และคาดหวังว่าการขอพรจะช่วยทำให้สิ่งที่เราปรารถนาสำเร็จได้ จึงมักจะขอพรบ่อยๆ จนเทวดาก็ยังแอบสับสนว่าเราอยากประสบความสำเร็จเรื่องไหนก่อนกันแน่เลยทีเดียว

10.Perfect เกินจะมีแฟน 

ถึงแม้คนที่เสพติดความ Perfect จะมีผลการเรียนหรือหน้าที่การงานที่ดี แต่ก็มีสิ่งที่ไม่ Perfect อยู่บ้างก็คือการพัฒนาความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งคนเหล่านี้มองว่าเป็นเรื่องยากมากที่เราจะหาคนสมบูรณ์แบบอย่างที่วาดเอาไว้มาเป็นคู่ครอง คนที่เสพติดความ Perfect ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่มีแฟนแล้วไปซัพพอร์ตศิลปินหรือคนไทป์ที่ตัวเองชื่นชอบแทน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วน้องๆ ชาว Dek-D.Com ลองเช็กกันดูสิคะว่าตัวเองมีแนวโน้มจะเป็นโรคเสพติดความ Perfect มั้ย? ถ้าเช็กแล้วตรงกับเราไม่เกิน 5 ข้อก็ถือว่ายังอยู่ในกลุ่มที่ไม่ค่อยเสี่ยงเท่าไหร่ แต่ถ้าตรงกัน 8-10 ข้อแล้วละก็ ยินดีด้วยค่ะ! คุณได้เสพติดความสมบูรณ์แบบเข้าให้แล้ว 

แต่อย่างไรก็ตามอาการของ Perfect Hidden Depression  (PHD) ก็จะยังไม่รุนแรงมาก ตราบใดที่เรายังไม่มีความคิดจะฆ่าตัวตาย การพบจิตแพทย์และทานยาตามที่แพทย์จัดให้ในช่วงนี้อาจจะช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง และสร้างทัศนคติของเราให้ลดความคาดหวังในตัวเองลง เข้าใจความสมบูรณ์แบบในทางที่ดีขึ้น และไม่ไปยึดติดกับมันมากเกินไป แต่พี่เมลเชื่อว่ายังไงก็ต้องมีคนที่ดื้อไม่ยอมไปพบแพทย์แล้วพยายามบอกว่า

 “ เราไม่ได้เป็นอะไร เราสบายดี”

คนที่พูดแบบนี้น่าจับมาตีก้นซักทีให้หายดื้อนะคะ พี่เมลอยากบอกว่าใครที่กลัวหมอจิตแพทย์ก็ไม่ต้องกลัว แอบกระซิบว่าบางทีพี่หมอจิตแพทย์ใจดีกว่าพี่หมอปกติอีกนะ เชื่อพี่ๆ 

แต่ถ้าโน้มน้าวขนาดนี้แล้วยังไม่ยอมไป เพื่อนๆหรือคนรอบข้างก็สามารถช่วยดูแลกันได้นะคะ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆอาจจะยากหน่อยเพราะว่าคนกลุ่มนี้มักจะมีกำแพง เวลาที่มีคนอยากเข้ามาดูแล แต่ถ้าเราพยายามเข้าหาเขาบ่อยๆ พี่เมลว่ายังไงก็ต้องเปิดใจให้บ้างแหละค่ะ

 ควรรับมือกับตนเอง หรือคนรอบข้างที่มีอาการ PHD อย่างไร ?

  • ถามความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วยความห่วงใย
  • ฟังโดยไม่ตัดสินหรือแสดงความคิดเห็นมากเกินไป
  • ไม่พูดประโยคปลอบใจที่ซ้ำซากจำเจ หรือ แสดงความร่าเริงเกินไป เช่น โอ๋ๆ ไม่ร้องนะ,                   สู้ๆ นะเป็นกำลังใจ หรือบอกว่าไม่เป็นไรคนอื่นยังทำได้แย่กว่านี้อีก ฯลฯ เพราะนอกจากจะ               ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแล้วยังทำให้คนฟังรู้สึกถึงความไม่จริงใจของเราด้วย
  • พาออกไปเดินเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ

อย่างไรก็ตามอาการซึมเศร้าจากภาวะยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfect Hidden Depression  (PHD) ก็คล้ายๆ กับโรคซึมเศร้าปกติ ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการรับมือกับคนเป็นโรคนี้ก็คือพยายามอย่าคาดคั้นให้พูดแต่เน้นถามให้เขาระบายสิ่งที่อึดอัดใจออกมาให้เราฟังเองจะดีกว่า ส่วนเราเมื่อถามแล้วก็ควรรับฟังอย่างจริงใจ ถ้าไม่รู้จะปลอบอะไรก็ฟังเฉยๆ ก็ได้ เพราะคนเป็นซึมเศร้าบางคนเขาอาจจะไม่ได้ต้องการคำปลอบใจ แค่ต้องการคนรับฟังเท่านั้น

อย่างไรก็ตามคนเราเกิดมาสมหวังได้ก็ผิดหวังได้ ถึงแม้ว่าความสมบูรณ์แบบในการทำตามความฝันอาจจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนใฝ่หา แต่ลองคิดตามพี่เมลดูนะคะว่าถ้าเราต้องรักษาภาพลักษณ์ความสวยงาม ความเก่งครบรอบด้านเอาไว้ตลอดเวลามันก็เหมือนการที่เราแบกถังน้ำที่มีคนมาคอยเติมมันอยู่เรื่อยๆ เอาไว้ พอแบกไปทุกวันทุกวันคนที่เติมน้ำอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนที่กำลังแบกมันไว้อย่างเราก็จะยิ่งหนักขึ้นๆ

ถ้าเราหนักก็วางมันบ้างเถอะ พี่เมลว่าการทำตามความฝันไม่สำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องแย่นะ เพราะงั้นใครที่กำลังผิดหวังจากการความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองก็อย่าไปคิดมากเลยค่ะ ถ้าเราสมหวังตลอด แล้วชีวิตจะไปสนุกอะไรล่ะ เนาะๆ 

 

แหล่งที่มา  https://www.psychologytoday.com/intl/blog/perfectly-hidden-depression/201909/the-10-core-traits-perfectly-hidden-depressionhttps://www.healthline.com/health/depression/hidden-depressionรูปภาพจาก : freepik

 

พี่เมล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น