Teen Coach EP.88 : "การปรับตัว" เคล็ดลับการสู้ชีวิตแบบไม่ให้ชีวิตสู้กลับ

สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอด ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวได้ดี

น้อง ๆ เคยได้ยินประโยคอมตะของคุณชาร์ล ดาร์วินกันมั้ยคะ ที่บอกว่า “สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้” หลายคนเชื่อตามนี้ แต่บางคนเถียงในใจว่า “ถ้าเราเก่ง” ไปอยู่ที่ไหนเราต้องรอดและได้เป็นจ่าฝูงด้วย งั้นเรามาสำรวจไขปริศนานี้กันค่ะว่าตกลงมันยังไงกันแน่นะ?

ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาทุกคนต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เราคาดไว้ล่วงหน้าหรือเกิดแบบไม่คาดฝัน การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนเรื่องใหญ่ เช่น เด็กขึ้นชั้นใหม่ ต้องเปลี่ยนโรงเรียน ต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม หรือเด็กม.ปลายที่ต้องเจอกับการแก้ไขข้อกำหนดและข้อสอบในการเข้ามหาวิทยาลัยจนงงไปหมด พอสอบติดก็ต้องเปลี่ยนจากระบบการเรียนแบบครูป้อนให้ในตอนมัธยม มาขวนขวายเรียนรู้ด้วยตัวเองตอนเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อโตขึ้นก็เริ่มเจอเหตุการณ์คนในครอบครัวจากไปกระทันหันทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม รวมไปถึงการถูกเพื่อนเทและบูลลี่ใส่อย่างไร้เหตุผล เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเราไม่สามารถทำตัวเหมือนที่เคยอยู่ใน Comfort Zone มาตลอดได้ ถ้ายังฝืนทำตัวเหมือนที่เคยเป็นน่าจะเอาชีวิตไม่รอด ดังนั้นความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) จัดการแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลทั้งทางด้านสุขภาพกายและจิตใจ

ในกรณีคนที่ปรับตัวยากจะมีความเครียดได้ง่าย ซึ่งความเครียดทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว คลื่นไส้ ขับถ่ายผิดปกติ บางครั้งอาจป่วยเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด เช่น โรคกรดไหลย้อน (GERD), โรคกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer), โรคปวดหัวไมเกรน (Migraine Headache) และภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานแย่ลงติดเชื้อได้ง่าย ส่วนทางด้านจิตใจเมื่อต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นความเครียดมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง สมองจะมีการหลั่งสารเคมีผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล, ปัญหานอนไม่หลับ, อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย

“ความสามารถในการปรับตัว” (Adaptability) 

มีคนให้นิยามที่หลายหลาย ในที่นี้ขอยึดตาม The American Psychological Association (APA) หมายถึง ความสามารถในการที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด ผิดแผน หรือเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนได้อย่างเหมาะสม ถูกจังหวะและกาลเทศะ 

ตัวอย่างงานวิจัยของ Martin และคณะ (ปี 2013-2017) ที่ศึกษาเรื่องนี้แบ่ง Adaptability ออกเป็น 3 ประเภท คือ 

1. ด้านสติปัญญา (Cognitive Regulation) 

คือ ความสามารถในการที่จะปรับเปลี่ยนชุดความคิด วิธีคิด ให้เหมาะกับสถานการณ์นั้น

2. ด้านพฤติกรรม (Behavioral Regulation) 

คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ต่างจากพื้นเดิมที่ติดตัวมา (Nature) หรือที่เคยเรียนรู้มาก่อน ให้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ได้

3. ด้านอารมณ์ (emotional regulation) 

คือ ความสามารถในการปรับอารมณ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

มีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้วัดความสามารถในการปรับตัว (The Adaptability Scale) เพื่อประเมินความสัมพันธ์ว่าคนที่ปรับตัวได้ดีและไม่ดีมีผลต่อเรื่องอะไรบ้าง พบว่าคนที่ปรับตัวได้ดีจะมีสุขภาพจิตที่ดีแม้ต้องไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ เพิ่มโอกาสในการทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้แม้เจอปัญหาอุปสรรค และมีความสัมพันธ์กับการประสบความสำเร็จด้านการเรียน

วิธีฝึกเด็กให้มีการปรับตัวที่ดีมากขึ้น (Boosting adaptability):

1. การให้ข้อมูลสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเจอ (General Level)

ผู้ใหญ่ต้องบอกสอนและให้คำแนะนำว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านในชีวิต (The Cycle of Adaptability) จะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง มีวิธีการจัดการรับมืออย่างไร หน้าที่ที่ต้องทำในช่วงวัยนั้น (Tasks) หากมีปัญหาให้มาเล่าและขอความช่วยเหลือได้ เช่น เด็กที่กำลังออกจากบ้านไปเข้าชั้นอนุบาล เด็กอนุบาลที่ขึ้นชั้นประถม การเปลี่ยนจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น ชีวิตมัธยมปลายที่ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย วิธีเอาชีวิตรอดตอนเรียนปริญญาตรี-เอก ไปจนถึงวิธีการสมัครงานและใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่

2. การปรับตัวกับสถานการณ์ที่จำเพาะเจาะจง (Situational Level)

เป็นการสอนที่เจาะลึกสำหรับเรื่องที่บางคนอาจเจอหรือไม่ก็ได้  เช่น เมื่อถูกแกล้งจะทำอย่างไร, how to เอาชีวิตรอดจากการอกหัก  เพื่อที่จะตั้งสติและจัดการได้อย่างเหมาะสม เราไม่สามารถปรับจัดการกับปัจจัยนอกตัวเรา แต่เราปรับตัวเองได้

 

ปรับวิธีการคิด (Adjustments to Thinking): ตัวอย่างความคิดลบที่เกิดขึ้น เช่น “เราปรับตัวไม่ได้ ต้องแย่แน่” ให้ลองคิดในอีกแง่มุม เช่น เรื่องใหม่ที่เกิดถือเป็นโอกาสที่เราจะได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ชี้ชวนให้เห็นข้อดีของสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เจอ

 

ปรับพฤติกรรม (Adjustments to Behavior): ตัวอย่างพฤติกรรมที่เกิดเมื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น กังวลมากเลยนิ่งเฉยหลบซ่อนตัวจากผู้คน ให้ปรับเป็นการพยายามขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หาข้อมูลเพิ่มเพื่อเสริมความมั่นใจ ปรับเปลี่ยนตารางกิจกรรมให้เหมาะสมตามสถานการณ์

 

ปรับอารมณ์ (Adjustments to Emotions): การเจอกับเรื่องที่ไม่คาดคิด บางครั้งอาจทำให้เกิดอารมณ์ลบ เช่น ผิดหวัง หวาดกลัว โกรธ หงุดหงิด ผู้ใหญ่ต้องให้คำแนะนำในการจัดการกับอารมณ์ เช่น หากไม่มั่นใจในการขึ้นชั้นประถม 1 ให้แอบพกตุ๊กตาตัวเล็กๆ ไว้ในกระเป๋า ถ้าไม่มั่นใจจะได้สัมผัสลดความกังวล

 3. เรียนรู้ว่าแต่ละคนมีความต่างกัน

การปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ซึ่งฝึกได้ด้วยการลองคิดดูว่าหากเราต้องอยู่ในสถานการณ์แบบที่คนนั้นเจอ เราจะรู้สึกอย่างไรและอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราแบบไหน หากเราต้องการความช่วยเหลือ คนอื่นที่กำลังเดือดร้อนก็ต้องการใครสักคนที่เข้าไปช่วยเช่นเดียวกัน ลองหัดคิดมองในมุมของคนอื่นแทนที่จะหมกมุ่นแต่กับความคิดของตัวเอง

4 .ยอมรับความผิดพลาดและพร้อมที่จะแก้ไข

 ปรับความคิดเมื่อเราทำสิ่งที่ผิดพลาดไปว่า “เป็นความล้มเหลว” เปลี่ยนเป็น “การได้เรียนรู้ว่าวิธีไหนไม่ได้ผลจะได้หาวิธีใหม่” 

5. กล้าที่จะตั้งคำถามและหาคำตอบ 

กลั้นใจออกจาก Comfort Zone เพื่อหาคำตอบใหม่ให้กับตัวเอง เมื่อเราตั้งคำถามเราจะได้คำตอบที่หลากหลาย เป็นการแตกยอดทางความคิด และเพิ่มทักษะการจัดการแก้ปัญหา

6. ยอมที่จะรู้สึกไม่ดีหากออกจาก Comfort Zone

การออกนอกกรอบที่เราคุ้นชินย่อมมีบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี กังวล ไม่ปลอดภัยได้ ซึ่งเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่นำไปสู่การมีแนวคิดที่ดีกว่าเดิม จะได้นำไปปฏิบัติพัฒนาตนเอง

7. ดูแลตัวเองให้ดี

การปรับตัวต้องใช้พลังกายพลังใจมากมาย ดังนั้นเราต้องกินอิ่มนอนหลับ มีสุขภาพที่แข็งแรงมากพอ เพื่อเก็บแรงไว้สู้ต่อ 

8. หากสภาพใจพังให้พบผู้เชี่ยวชาญ

บางครั้งถ้าเราพยายามปรับตัวเต็มที่แล้วแต่มันยังไม่มากพอเสียที  เราอาจมีปัญหาทางใจที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัว เช่น คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า/วิตกกังวล จะตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ลบ มองว่าตัวเองไม่มีความสามารถ เลยถอดใจเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย, โรคออทิสติกสเปกตรัม (autistic spectrum disorder) เป็นโรคที่ทำให้คนไข้มีความบกพร่องด้านการสื่อสาร การเข้าสังคม และการปรับตัว หากได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา จะได้สามารถปรับตัวได้ดีมากขึ้น

จากข้อมูลที่ให้มา…เมื่อต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่หรือเรื่องที่ไม่คาดคิด ใครเลือกที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หรือจะยังไม่ปรับอะไรแม้ต้องเสียหายก็ตาม พี่หมอแมวน้ำคิดว่าคำตอบของแต่ละคนและแต่ละสถานการณ์ก็ไม่เหมือนกัน ต่างคนมีความคิดเป็นของตัวเองซึ่งเราต้องเคารพในการตัดสินใจของคนอื่น ส่วนคนที่เป็นผู้เลือกนั้นต้องยอมรับผลที่จะตามมาจากการเลือกของตัวเอง

ขอให้กำลังใจกับทุกคนที่กำลังปรับตัวกันอยู่นะคะ

 

ข้อมูลจากhttps://psychology.org.au/https://www.futurelearn.com/adaptability-emotional-intelligence-skills https://www.psychologytoday.com/learn-how-adaptation-is-key-embracing-change-and-growthhttps://exploringyourmind.com/the-importance-of-being-adaptable-to-change/https://psychcentral.com/adapting-to-change

 

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น