“สุขใจเสมอ เมื่อเธอเป็นทุกข์” ชวนมาเช็กลักษณะ Schadenfreude ที่หลายคนเป็น แต่ไม่รู้ตัว!

คุณกล้าปฏิเสธไหมว่าคุณไม่เคยแอบยิ้มหรือรู้สึกดีเมื่อเห็นคนที่คุณไม่ชอบ “ล้มเหลว”

สวัสดีค่ะ น้อง ๆ ชาว Dek-D.com มีใครเคยตกอยู่ในห้วงความรู้สึกสุขใจเมื่อเห็นใคร ๆ มีทุกข์บ้างไหมคะ หรืออย่างที่เราเรียกกันก็คือ “มีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น” นั่นเองค่ะ ลักษณะความรู้สึกแบบนี้มีชื่อว่า Schadenfreude ซึ่งบางคนอาจจะไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังมีความรู้สึกแบบนี้อยู่ วันนี้พี่ป๊อกกี้จะพาทุกคนมาเช็กกันค่ะ ว่าใครที่เข้าข่ายการเป็น Schadenfreude บ้าง แล้วควรที่จะแก้ไขยังไงดี

ชวนมาเช็ก ใครบ้างที่เข้าข่ายเป็น Schadenfreude
ชวนมาเช็ก ใครบ้างที่เข้าข่ายเป็น Schadenfreude

Schadenfreude คำนี้คืออะไร มีที่มาจากไหน?

Schadenfreude (ชา-เดน-ฟรอยด์) คำนี้มีที่มาจากภาษาเยอรมัน เป็นการประสมระหว่างคำว่า “Schaden” ที่แปลว่า ทำลายหรือเสียหาย และ “Freude” ที่แปลว่า ความสุข คำว่า “Schadenfreude” จึงหมายถึง การรู้สึกมีความสุขเมื่อเห็นผู้อื่นมีความทุกข์ ล้มเหลว เสียหาย ผิดพลาด หรือโดนทำลาย แต่บางหลักฐานก็บอกว่าคำนี้มีที่มาจากภาษากรีกคำว่า “Epichairekakia” และภาษาฝรั่งเศสคำว่า “Joie maligne” แต่ไม่ว่าจะมีที่มาจากประเทศอะไร ทุกคำล้วนมีสิ่งที่เหมือนกันคือความหมาย โดยคำว่า Schadenfreude ถูกรวมเข้าไปในพจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซฟอร์ด (OED) ครั้งแรกเมื่อปี 2438 หลังจากนั้นจึงถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ของ New York Times (13 มีนาคม 2441) และบทความของ The Spectator (24 กรกฎาคม 2469) โดยในปัจจุบันคำนี้ถูกใช้เป็นคำยืมภาษาอังกฤษ

เป็นสุขเสมอ เมื่อเธอเป็นทุกข์
เป็นสุขเสมอ เมื่อเธอเป็นทุกข์

เช็กเอาไว้ ใครเข้าข่ายเป็น Schadenfreude บ้าง

ทุกคนเคยได้ยินประโยคที่ว่า “มีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น” ไหมคะ ประโยคนี้แหละค่ะที่สามารถอธิบายความหมายของ Schadenfreude ได้เป็นอย่างดีเลย แล้วลักษณะแบบไหนที่เข้าข่ายว่าเราเป็น Schadenfreude วันนี้พี่ป๊อกกี้หยิบยกตัวอย่างลักษณะอารมณ์ความรู้สึกของการเป็น Schadenfreude มาให้น้อง ๆ เช็กกันค่ะ

1. อิจฉาริษยาและด้อยค่าตนเอง

ลักษณะความรู้สึกนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น Schadenfreude เลยก็ว่าได้ เพราะการด้อยค่าตนเองหรือรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย ไม่เก่ง ไม่ดีเท่าคนอื่น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด Schadenfreude ตามมา อาจเรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกอิจฉาริษยาคนที่เหนือกว่าตนเอง มีความสงสัยและคำถามวิ่งอยู่ในหัวตลอดเวลาว่าทำไมเขาดีกว่าเรา ทำไมเขามีสิ่งนั้น ทำไมเขาได้เป็นแบบนี้ จนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย

2. เป็นสุขเสมอ เมื่อเธอมีทุกข์

ลักษณะต่อมาหลังจากที่เราเริ่มมีความรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าและเริ่มอิจฉาผู้อื่นแล้ว เราจะพยายามขจัดความอิจฉานี้ออกไปแบบอ้อม ๆ คือเมื่อผู้ที่เราอิจฉาเกิดความล้มเหลว ผิดพลาด เจ็บปวด โชคร้าย หรืออะไรก็ตามที่เป็นเรื่องไม่ดีต่อตัวเขา เรากลับรู้สึกมีความสุข ดีใจ สมน้ำหน้า สะใจมากกว่าการที่เรามานั่งทุกข์ใจและเสียใจร่วมกับเขาไปด้วย เรามักคิดเสมอว่าเขาสมควรที่จะได้รับความโชคร้ายนี้ เขาควรจะเป็นทุกข์บ้างสิ และสิ่งนี้นี่แหละเป็นสิ่งที่เราต้องการ เพราะมันถือเป็นการขจัดความน่าอิจฉาของเป้าหมายที่เราเคยมองว่าเขาดีกว่าเราได้เป็นอย่างดี

3. เธอสุขเมื่อไหร่ ฉันเสียใจทันที

ลักษณะความรู้สึกนี้เกิดในบางกรณี ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เป็น Schadenfreude จะมีความรู้สึกนี้ โดยความรู้สึกนี้จะตรงข้ามกับข้อที่ผ่านมา แต่เป็นความตรงข้ามที่ยังอยู่ในวังวนของความอิจฉาริษยาผู้อื่นอยู่ดี เมื่อใดที่เราเห็นว่าใครได้ดิบได้ดี มีความสุข สมหวัง หรือโชคดี เราจะเกิดความทุกข์ เศร้า เสียใจ กดดันตนเอง และอิจฉา มากกว่าการที่เราจะไปยินดีกับความสุขของเขา เราจะคิดว่าเขาไม่สมควรได้รับความสุขนั้น เขาไม่เหมาะสมกับความโชคดี ต้องเป็นเราสิ ที่ได้รับความรู้สึกแบบนั้น เกิดการเปรียบเทียบจนชีวิตไม่มีความสุข

เห็นได้ว่าสาเหตุหลักของการเป็น Schadenfreude เกิดมาจากการที่เราด้อยค่าและไม่เห็นคุณค่าในตนเองมากพอ ซึ่งนักวิจัยเคยอธิบายไว้ด้วยว่า “ผู้ที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ มักจะรู้สึกดีและมีความสุขเมื่อเห็นผู้อื่นล้มเหลว นี่เป็นเพราะความสำเร็จของผู้อื่นอาจเป็นภัยคุกคามต่อความรู้สึกของตนเอง และการได้เห็นความล้มเหลวอันยิ่งใหญ่อาจเป็นเรื่องสบายใจ” บางทีลักษณะต่าง ๆ เช่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตด้วยนะ ใครที่รู้สึกว่าตนเองเข้าข่ายการเป็น Schadenfreude และต้องการที่จะออกมาจากห้วงความรู้สึกนี้ พี่ป๊อกกี้มีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากด้วยค่ะ

คิดว่าตัวเองเป็น Schadenfreude จัดการอารมณ์ความรู้สึกยังไงดี?
คิดว่าตัวเองเป็น Schadenfreude จัดการอารมณ์ความรู้สึกยังไงดี?

วิธีจัดการความรู้สึกตนเองสำหรับผู้ที่เป็น Schadenfreude

1. พอใจในสิ่งที่ได้ มั่นใจในสิ่งที่มี

วิธีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจัดการกับความรู้สึกตนเอง อย่างที่บอกไปว่าสาเหตุหลักของการเป็น Schadenfreude เกิดมาจากการด้อยค่าตนเอง ไม่พอใจในสิ่งที่มี หากเราเกิดความอิจฉาผู้อื่น ให้เราคิดเสมอว่า เราอยากได้สิ่งนั้น อยากเป็นแบบนั้นจริงเหรอ สิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้มันดีมากพอแล้วหรือเปล่า ดังนั้นหากเรามั่นใจในตนเอง รู้สึกพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ ที่มีอยู่ เราจะสามารถเอาชนะความอิจฉาริษยาได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราจะไม่เอาตนเองไปเปรียบเทียบกับใคร

2. หัดดีใจที่ใคร ๆ เขาได้ดี

เมื่อเราเห็นผู้อื่นมีความสุขหรือประสบความสำเร็จ สิ่งแรกที่ควรทำคือการยินดีกับเขาอย่างจริงใจ ให้มองเขาเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่เรารักและหวังดีด้วย หากเราไม่สามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกด้วยวิธีนี้ได้ ให้ลองคิดดูว่า สิ่งที่เขากำลังมีความสุข การที่เขาประสบความสำเร็จ มันมาทำลายอะไรชีวิตเราหรือไม่ หรือว่าเราเองที่เป็นคนพยายามให้สิ่งนี้เข้ามามีอิทธิพลแง่ลบในความคิดของเรา การยินดีกับผู้อื่นจะไม่ทำให้เราดูด้อยกว่า แต่กลับกันจะยิ่งทำให้เราดูเป็นผู้หวังดีและจริงใจ

3. นำสิ่งที่คนอื่นมี ที่คนอื่นได้ มาเป็นไฟผลักดันตนเอง

สิ่งที่เราควรทำมากกว่าอิจฉาคือการวิเคราะห์ความสำเร็จของผู้อื่น เพื่อนำมาเป็นแรงผลักดันและพัฒนาตนเองไปสู้เป้าหมายที่ต้องการจริง ๆ ซึ่งการพัฒนาตนเองไม่จำเป็นว่าต้องทำเพียงลำพัง เราสามารถถามและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เราเห็นว่าเขาประสบความสำเร็จ วิธีนี้นอกจากจะช่วยขจัดความอิจฉาริษยาได้แล้ว ยังเป็นการพาตนเองไปสู่จุดหมายที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

วิธีจัดการอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ที่เป็น Schadenfreude สามารถมองความสำเร็จของผู้อื่นเป็นสิ่งที่น่ายินดีได้ไม่มากก็น้อย หากได้ทำตามวิธีเหล่านี้ ความอิจฉาริษยาที่มีในตัวเราจะถูกขจัดไป และกลายมาเป็นแบบอย่างความสำเร็จให้เราแทน ต่อจากนี้เราคงจะเป็นคนที่ยินดีและรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่เห็นผู้อื่นได้ดี

ไม่จำเป็นว่าคนที่เข้าข่ายการเป็น Schadenfreude จะแสดงออกมาให้เราเห็น เพราะบางทีมันสามารถเกิดขึ้นแบบเก็บซ่อนไว้ในใจได้ค่ะ ดังนั้นเมื่อรู้แล้วว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในห้วงของ Schadenfreude การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกตนเองสามารถทำให้เราหลุดพ้นจากความรู้สึกนี้ได้ จากที่น้อง ๆ ชาว Dek-D.com ได้ลองเช็กอาการตัวเองแล้ว มีใครเข้าข่ายการเป็น Schadenfreude บ้างไหมคะ? หรือใครเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ สามารถคอมเมนต์คุยกันได้เลยน้า

ข้อมูลจาก :https://assets.cambridge.org/97811070/17504/excerpt/9781107017504_excerpt.pdfhttps://wellcomecollection.org/articles/W7YrTxAAANOL14kohttps://embolden.world/the-neuropsychology-of-schadenfreude/https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-red-light-district/201908/10-unsettling-facts-about-schadenfreudehttps://www.ie.edu/insights/articles/from-envy-to-inspiration/รูปภาพจาก :https://www.freepik.com/free-vector/envyhttps://www.freepik.com/free-vector/envy-concepthttps://www.freepik.com/free-vector/young-peoplehttps://www.freepik.com/free-photo/mature-mother-sad-adult
พี่ป๊อกกี้
พี่ป๊อกกี้ - Columnist Tiktok ไม่ขาด หงายการ์ดคอนเทนต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น