คิดสักนิดก่อนตัดสินใจ 'สัก'
ปัจจุบันมีวัยรุ่นหรือผู้ปกครองมาปรึกษาพี่หมอแมวน้ำว่าด้วยเรื่อง "การสัก" เหตุที่ต้องมาคุยเพราะเกือบ 99.99% เกิดความขัดแย้งกันมาก จนตกลงกันเองในบ้านไม่ได้ ต้องอาศัยคนกลางเข้ามาประนีประนอม ตัววัยรุ่นเองอยากสักด้วยหลายเหตุผล เช่น ตามกระแส มองเป็นเรื่องความสวยงาม แสดงความเป็นตัวตน แต่ผู้ปกครองมีความคิดเห็นเรื่องสักในทางลบ ยิ่งมี Generation Gap (ช่องว่างระหว่างอายุ) มากเท่าไร ยิ่งเห็นต่าง เพราะคนรุ่นก่อนมักมองว่าคนที่สักเป็นคนไม่ดี เช่น เคยเข้าคุก ทำงานไม่สุจริต การสักทำให้เสียโอกาสในการรับงานราชการหรืองานอื่น ๆ ต้องยอมรับว่าความเห็นของคนต่อรอยสักบนร่างกายมีทั้งทางบวกและทางลบ รอยสักไม่ใช่แค่เรื่องของข้อความหรือภาพที่โชว์ความสวยงามความคูล แต่มีความเกี่ยวข้องในเชิงจิตวิทยาด้วย
มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ศึกษาความสัมพันธ์เรื่องรอยสักกับปัจจัยด้านจิตวิทยาที่น่าสนใจ ตัวอย่างงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2017 ผู้วิจัยเป็นนักจิตวิทยาชื่อคุณ Luzelle Naudé เธอให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีใน the University of the Free State in South Africa ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับรอยสัก จุดประสงค์หลัก คือ ทำความเข้าใจว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการตัดสินใจสักหรือไม่สัก
ผลที่ได้พบว่าร้อยละ 78 ของผู้เข้าร่วมวิจัยไม่มีรอยสัก แต่ส่วนใหญ่ก็มีเพื่อนที่มีรอยสัก และมีผู้เข้าร่วมวิจัยมากถึงร้อยละ 47 กำลังตัดสินใจที่จะสักหรือสักเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้ว
หากเป็นคนที่สัก เหตุผลที่ทำให้สัก มากสุดร้อยละ 25 คือ สักเพื่อเป็นการระลึกเตือนใจเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การเสียชีวิตของคนที่รัก ส่วนคนที่เลือกจะไม่สักเหตุผลหลัก ๆ มาจากความคิดความเชื่อและวัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังมา เช่น คนที่เป็นคริสเตียนจะไม่สักเพราะถือว่าร่างกายเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่พระเจ้ามอบให้ ต้องไม่สักให้แปดเปื้อนเพราะเป็นการทำผิดต่อพระเจ้า บางคนไม่สักเพราะกลัวจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง และอาจส่งผลทำให้ไม่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน
ส่วนมุมมองที่ผู้เข้าร่วมวิจัยต่อคนที่มีรอยสักร้อยละ 54 มีความเห็นไปในเชิงบวก เช่น มองว่าการสักเป็นเรื่องส่วนบุคคลและเป็นความกล้าหาญแบบหนึ่ง มีความสวยงามเชิงศิลปะและมีความคิดสร้างสรรค์ น่าคบหา
ส่วนคนที่มีความเห็นเชิงลบ คิดว่าคนที่สักดูเป็นคนสกปรก ด้อยค่า ราคาถูก บางคนตีความไปไกลเวอร์ว่าคนที่สักเป็นซาตาน อันตราย น่ากลัว นิสัยไม่ดี โง่ ต่อต้านกฎสังคม ขบถ เรียกร้องความสนใจ
สิ่งที่คนจะกังวลเมื่อมีการสักเกิดขึ้น เป็นเรื่องการประกอบอาชีพ (professional) ที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือ เช่น แพทย์ ทนายความ หรือหากแก่ตัวไปรอยสักอาจกลายเป็นสิ่งที่น่าเกลียดได้จากความยับย่นของผิวหนัง ดูเป็นคนสูงวัยที่ไม่น่านับถือ ตำแหน่งที่สักและจำนวนรอยสักที่ปรากฎบนผิวหนังมีผลต่อมุมมองที่คนอื่นมีต่อคนสักเช่นกัน อย่างการสักบนใบหน้าจะได้รับการยอมรับน้อยกว่าการสักที่หัวไหล่ ยิ่งสักมากคนยิ่งมองลบ
คนเราสักด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน
สักเพื่อให้กำลังใจตัวเอง
บางคนมีเป้าหมายและความฝัน เลยสักเพื่อที่จะมีสิ่งย้ำเตือนให้คงความพยายามที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ บางครั้งชีวิตมีความยับเยิน มีอุปสรรคเข้ามา หลายคนถอดใจไม่ไปต่อ แต่ถ้าเห็นความมุ่งมั่นจากรอยสัก เป็นการช่วยให้กัดฟันฮึดสู้
สักเพื่อสื่อสารบอกสิ่งที่คิดและเชื่อ
ทุกคนมีความคิดความเชื่อแตกต่างกัน หลายคนต้องการยืนหยัดบอกความคิด ความเชื่อของตนเองให้คนอื่นรู้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่รู้จักหรือไม่ก็ตาม เช่น "ฉันเป็นคนกำหนดชีวิตของตัวเอง" เพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับชะตาฟ้าลิขิต (Determinism) แต่เขาต้องการมีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองและยอมรับผลในอนาคต
สักเพื่อบอกความเป็นตัวตนและเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา
หลายคนอยากให้คนอื่นยอมรับสิ่งที่เป็นตัวเขา (Self-Expression and Identity) รูปที่ใช้ในการสักสามารถใช้ตีความหมายที่เป็นสากลได้ เช่น สิงโตตัวผู้แสดงถึงความเป็นผู้นำ คนที่ชอบดนตรีพั้งก์ร็อคสักรูปหัวกะโหลกและกระดูกไขว้สองอัน หรืออยากบันทึกเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิตโดยให้สิ่งนั้นอยู่ติดตัวไปตลอด ทำได้โดยใช้ร่างกายตัวเองแทนผืนผ้าใบหรือกระดาษแล้วสักลงไป
สักเพื่อเพิ่มความความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem)
วิธีหนึ่งที่จะทำให้เรามี Self Esteem ที่ดีได้ คือ ความกล้าที่จะยอมรับและบอกว่าฉันเป็นใคร ทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี การสักเป็นเครื่องย้ำเตือนรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้คนอื่นเห็นความเป็นเรา เช่น คนที่ติดสารเสพติดเมื่อสามารถเลิกใช้สารนั้นได้อาจสักรูปที่แสดงถึงชัยชนะ, คนที่ต้องเจอกับเรื่องที่เลวร้ายมาก เมื่อผ่านมันมาจะสักภาพที่แสดงถึงการเป็นผู้ที่รอดชีวิต
สักเพื่อให้เจ็บปวดทางกายแทนความเจ็บปวดทางใจ
คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า (Depression), PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) มีความเจ็บปวดทางใจในปริมาณมหาศาล หลายครั้งที่อยากหาทางระบายออก หนึ่งในนั้นเป็นการทำให้ตัวเองได้รับความเจ็บปวดทางกายด้วยการทำร้ายตัวเอง เช่น ใช้ของมีคมกรีดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย คนไข้บางส่วนไม่อยากให้มีรอยแผลที่คนอื่นเห็น เลยเลือกที่จะสัก เพราะได้ความรู้สึกเจ็บและผลลัพธ์เป็นงานศิลปะที่คนอื่นจะไม่มาถามว่าทำไปทำไม เหตุผลที่คนไข้ต้องการความเจ็บปวดทางกาย เช่น คิดลบมองว่าตัวเองทำตัวไม่ดี เป็นภาระ ไร้ค่า สมควรต้องได้รับการลงโทษเลยทำร้ายตัวเอง, คนไข้ PTSD กลับไปนึกถึงเรื่องที่เป็นบาดแผลทางใจ (trauma) อย่างห้ามไม่ได้ แม้เรื่องนั้นจะผ่านไปแล้วแต่กลับต้องตกนรกวังวนเดิมซ้ำ ๆ ที่ทำให้รู้สึกแย่ ต้องการจะหยุดคิดให้ได้ เลยต้องทำให้เจ็บปวดทางกายเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
สิ่งที่ต้องคิดก่อนจะไปสัก
1.อยากสักเพราะเหตุผลใด
ให้คิดทบทวนหลายรอบและลองอดทนรอคอยดูว่าหากเวลาผ่านไปสัก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีจะยังอยากสักอยู่มั้ย ด้วยเหตุผลใด เพราะบางคนอยากสักตามเพื่อน กระแสแฟชั่น ที่มาแป๊บ ๆ แล้วก็เปลี่ยนไปอย่างอื่นต่อ หากเราอยากที่จะสักจริง ๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน เรายังคงคิดเหมือนเดิม การสักไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน (emergency) ดังนั้นสามารถรอได้
2.คิดข้อดีข้อเสียและขอความเห็นจากหลายคน
ตอนที่เราอยากสักเราคิดถึงแต่ข้อดีและอยากพุ่งตัวไปสักตอนนั้นเลย แนะนำให้เขียนข้อดีข้อเสียจากมุมมองของเรา ที่สำคัญให้ลองถามกลุ่มคนที่หลากหลายหรือหาข้อมูลเพิ่ม จะตั้งข้อความถามทางโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ได้ (เช่นเว็บบอร์ด Dek-D ก็ได้นะ ^^) แต่ละคนมีความเห็นไม่เหมือนกัน ทำให้เรามองเห็นถึงผลที่จะตามมาหลังจากการสักได้หลายแง่มุมมากขึ้น ถ้าเราคิดเองคนเดียวความเห็นที่ได้จะแคบไปหน่อย ส่วนกรณีคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะบางร้านจะไม่รับสักให้เพราะการสักเป็นการทำหัตถการบนร่างกายที่มีความเสี่ยง เช่น อาจมีการบาดเจ็บหรือติดเชื้อ ถ้าสักที่ตำแหน่งหรือใช้รูปที่ล่อเป้า หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ช่างสักจะงานเข้าถูกฟ้องร้อง แจ้งความได้
3. ตำแหน่งและรูปหรือข้อความที่สัก
หากบางคนอยากสักแต่ไม่ต้องการเปิดเผย เพราะกลัวดราม่า หรือกลัวผลเสียที่ตามมาภายหลัง ต้องเลือกลายและตำแหน่งให้ดี อาจเลี่ยงไปสักใต้ร่มผ้า เริ่มจากรูปหรือข้อความขนาดเล็กที่ผ่านการไตร่ตรอง หากจะสักต้องคำถึงว่าคนอื่นที่เห็นจะคิดอย่างไร แม้เราจะโนสนโนแคร์ในตอนนี้ แต่ต้องคิดเผื่อไปถึงอนาคตด้วย เช่น สักชื่อแฟนคนปัจจุบัน หากเลิกกันไป แฟนใหม่จะโอเคมั้ย ความคิดเห็นเรื่องการเมืองที่อาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและประสบการณ์ในชีวิต อย่าลืม!!!…ว่ารอยสักเป็นรอยถาวร ต่อให้เลเซอร์ลบยังไงก็ไม่หมด แต่ถ้ามั่นใจแล้วต้องยอมรับผลที่จะตามมาทีหลังให้ได้
4. ฝีมือและประสบการณ์ของช่าง
ควรมีการรีวิวผลงาน ให้มีตัวเลือกหลายร้าน หากภาพหรือข้อความออกมาไม่สวย ไม่ถูกใจ เห็นทีไรเครียดทุกที ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้
แม้ในปัจจุบันโลกจะเปิดกว้างมากขึ้น เพราะการสักไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และเกิดจากความตั้งใจของเราเอง แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะเคารพการตัดสินใจและเข้าใจคนที่สักด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน ยังมีอคติอีกมากมายที่ส่งผลต่อคนที่สัก แม้จะดูไม่ยุติธรรม เลือกปฏิบัติและไร้เหตุผล แต่เขามีสิทธิที่จะคิดแบบนั้น บางคนที่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ เช่น ผู้จัดการบริษัทที่สัมภาษณ์เราเข้าทำงาน ต่อให้เรามีคุณสมบัติที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าเขาหัวอนุรักษนิยมรุนแรง แค่เห็นรอยสักที่ตัวเราเขาจะหน้ามืดตัดเราออกจากตัวเลือกได้เลย
ดังนั้นก่อนที่จะสัก อย่าลืมคิดทบทวนให้ดีกันก่อนนะคะ
Referencehttps://www.psychologytoday.com/why-people-get-tattooshttps://www.ufs.ac.za/https://www.theguardian.com/ink-positive-how-tattoos-can-heal-the-mind-as-well-as-adorn-the-bodyhttps://www.huffpost.com/psychology-of-tattooshttps://untamedscience.com/the-psychology-of-tattoos-what-do-they-say-about-you/
0 ความคิดเห็น