Teen Coach EP.109 : อยาก 'เจ็บกาย' แทน 'เจ็บใจ' จึงทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่เจ็บยิ่งกว่าเดิม

ในวันที่ฉันอยากเจ็บปวดกาย แทนการเจ็บทางใจ

“วิว” อายุ 15 ปี ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.3 โรงเรียนหญิงล้วนเอกชนแห่งหนึ่ง เธอเป็นเด็กเรียนเก่งเพราะที่บ้านคาดหวังไว้มาก หากทำพลาดจะโดนต่อว่า ประชด เย็นชา ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่ชอบ เพราะเหมือนไม่มีใครรัก ถูกทอดทิ้ง ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมผลการเรียนวิวได้ 4 มาโดยตลอด แต่พอชั้นมัธยมการเรียนยากขึ้น วิวต้องเรียนพิเศษหลายเพื่อสอบที่โรงเรียน และสอบเข้าชั้นมัธยมปลายโรงเรียนชื่อดัง เวลาเครียดเธอไม่ได้ปรึกษาใครเพราะไม่อยากเป็นคนอ่อนแอ อยากให้ทุกคนมีภาพจำว่าวิว “แข็งแกร่งและเก่งทุกอย่าง” ช่วงปลาย ม.2 วิวได้เลข 12/20 เธอเสียใจ โกรธตัวเองที่ทำได้แค่นี้ 

 

คืนวันที่รู้ผลวิวกลับบ้านมาแล้วขึ้นห้องเก็บตัว ไม่อยากตอบคำถามคนที่บ้านเรื่องคะแนน เธอสติแตก นั่งร้องไห้ กรี๊ดในหมอน ไถมือถือคลายเครียด อัปไอจีสตอรี่ด้วยแอคหลุมที่เปิด public ว่าเธอเจ็บปวดใจมาก อยากรู้วิธีที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น มีเพื่อนออนไลน์หลายคนเข้ามาตอบ มีคนแนะนำให้ลองกรีดแขนดูพร้อมส่งภาพประกอบมา “เจ็บที่ใจให้เอาไปลงที่ร่างกายแทนน้าาา” วิวลังเลใจแต่เห็นคนแนะนำกันหลายคน เธอเลยใช้คัตเตอร์กรีดที่ข้อมือซ้าย 1 ครั้ง ยังไม่กล้าลงน้ำหนักมากเพราะกลัวเจ็บ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความรู้สึกสบายใจ ไม่เจ็บที่แผลเลย วิวกรีดไป 3 ครั้งเป็นแผลเล็ก ๆ ไม่อยากให้ใครรู้ วันรุ่งขึ้นใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปิดแผล หลังจากนั้นเวลาที่เครียดวิวใช้วิธีการนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการผ่อนคลาย ทำแล้วผลการเรียนก็ดีขึ้น แผลเริ่มลามจากข้อมือขึ้นไปถึงแขน และหน้าขาสองข้าง พอเริ่มทำไปแล้วหยุดตัวเองยาก 

 

วันหนึ่งในคาบพละครูบอกให้เธอถอดเสื้อแขนยาวออกเพราะอากาศร้อนมาก วิวไม่ยอมเพราะกลัวคนอื่นเห็นแผล จนครูต้องพาไปคุยที่ห้องปกครอง ตอนที่ถอดเสื้อออกมาครูหลายคนตกใจ ครูประจำชั้นโทรแจ้งผู้ปกครองทันที เธอร้องไห้ขอร้องว่าไม่ต้องบอกที่บ้านเรื่องนี้ได้มั้ยเพราะจะยิ่งถูกด่า ตอนที่พ่อกับแม่มา แม่ดูเป็นห่วง แต่พ่อโกรธมาก ด่าวิวรุนแรง “เด็กโง่ คิดได้แค่นี้สอบไม่ติดหรอก” วิวอยากกรีดร้องแล้วเอาคัตเตอร์กรีดทั่วร่างกายเพื่อชดใช้กับสิ่งที่ทำผิด เธอหายใจหอบ เกร็งมือและขา (Hyperventilation syndrome) มีท่าทีเหมือนชัก ครูให้พ่อแม่รีบพาวิวไปโรงพยาบาลและเน้นย้ำว่าต้องพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษา

ทำความเข้าใจ “พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง” (self-injurious behaviors)

“พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง” (self-injurious behaviors) หมายถึง การกระทำที่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ มีอันตราย หรือเกิดผลเสียกับตัวเอง เช่น การกรีดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (cutting), การกินยาเกินขนาด (drug overdose), ใช้น้ำร้อนราดที่ตัว

พฤติกรรมทำร้ายตัวเองที่พบได้บ่อยสุดในกลุ่มวัยรุ่น คือ การกรีด (cutting) ด้วยการใช้สิ่งมีคม เช่น ใบมีดโกน กรรไกร คัตเตอร์ ลูกแม็ก คลิปหนีบกระดาษ นำมาขูดขีดกรีดตัวเองให้เกิดแผลจนบางครั้งมีเลือดไหลออกมา หรือใช้เล็บหยิกจิก บริเวณที่กรีดเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ตำแหน่งที่พบบ่อยสุด คือ ข้อมือ ต้นแขน บางคนต้องการปกปิดไม่ให้ใครรู้จะกรีดตำแหน่งในร่มผ้า สังเกตเห็นได้ยาก เช่น ต้นขา ขาหนีบ ใต้ราวนม มีการทำซ้ำเรื่อย ๆ ด้วยจุดประสงค์บางอย่าง มีงานวิจัยศึกษาเรื่องการทำร้ายตัวเองของวัยรุ่นจาก 40 ประเทศ พบว่าอายุเฉลี่ยที่เริ่มต้นทำร้ายตัวเอง คือ 13 ปี ร้อยละ 45 ใช้วิธีกรีดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  

แม้ส่วนใหญ่พฤติกรรมการกรีดทำร้ายตัวเอง มักเป็นการทำเมื่อแก้ปัญหาความเจ็บปวดทางใจ แต่มีเด็กบางส่วนที่กรีดแขนเพื่อพยายามฆ่าตัวตาย มีงานวิจัยศึกษาเรื่องพฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง (self-harm) ในวอร์ดจิตเวชเด็ก พบว่าร้อยละ 70 ทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตาย ร้อยละ 55 เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วหลายครั้ง ยิ่งทำมากครั้งเท่าไรความเจ็บปวดที่ได้รับแต่ละครั้งจะลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองที่รุนแรงขึ้น 

บางคนเข้าใจผิดว่าการกรีดตัวเองเป็นการเรียกร้องความสนใจ เป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลเพราะมนุษย์ทั่วไปการกลัวเจ็บเป็นสัญชาตญาณในการเอาชีวิตรอด แต่ถ้าหากลองเปิดใจ พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมเขาต้องทำแบบนี้ถือเป็นการช่วยเหลือเขาได้ในรูปแบบหนึ่ง เพราะทำให้เราแสดงพฤติกรรมที่เห็นอกเห็นใจ ยินดีรับฟังความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่จะทนรับไหว สาเหตุส่วนใหญ่ที่กรีดให้เกิดความเจ็บปวดทางกายเป็นเพราะว่ารู้สึกแย่ เสียใจ โกรธ หรืออารมณ์ที่ท่วมท้นต้องการการระบาย เด็กบางคนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ใจนี้อาจรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตจริงหรือทางโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีกลุ่มเด็กที่ทำร้ายตัวเองรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น #selfharm ในไอจี ถึงแม้แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะตระหนักสัญญานอันตรายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่วันรุ่นมีช่องทางอีกมากมายที่ใช้เพื่อไปรวมตัวกันไม่ให้ระบบจับได้ เช่นแปลงเป็น #selfharmmmmmmm ผู้ใหญ่รอบตัวต้องสังเกตการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กแบบเป็นห่วงอยู่ห่าง ๆ เช่น เด็กคุยกับใครอยู่ โดยการถามให้เด็กเล่า เลี่ยงการทำตัวจุ้นจ้านบังคับ เช่น เช็คมือถือ เพราะจะทำให้เด็กมองว่าผู้ใหญ่เป็นศัตรู เด็กจะยิ่งปกปิดมากขึ้น

อีกสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นกรีดตัวเอง เพราะเด็กต้องการเป็นที่ยอมรับและเลียนแบบการกระทำของเพื่อน พอมีคนหนึ่งเริ่มกรีด คนที่เหลือจะเริ่มทำตาม  (cutting contagion) เพราะการกรีดถูกทำให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา (normalizing) ที่ใช้ในการแก้ปัญหาความเจ็บปวดทางใจ “ใคร ๆ ก็ทำกัน” บางทีมีการท้าทายอีกฝ่าย ยิ่งเครียดยิ่งทำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ตอนที่กรีดแขนตัวเอง ร่างกายจะหลั่งเอ็นโดฟิน (endorphins) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดความเจ็บป่วยและช่วยให้มีความสุข ดังนั้นจะเกิดเงื่อนไขขึ้นมา (conditioning) ว่าถ้าเจ็บปวดทางใจแล้วอยากรู้สึกดี ต้องกรีดตัวเองถึงจะผ่อนคลาย

วิธีการสังเกตเด็กที่มีพฤติกรรมกรีดทำร้ายตัวเอง 

คนที่กรีดตามตัวมักจะหลบซ่อนบาดแผล มีปัจจัยเสี่ยง ความเครียดต่างๆ   เช่น  ใส่เสื้อแขนยาวตลอดเวลา หรือใส่กำไลข้อมือ ร่างกายมีแผลที่อธิบายไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร หรือเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล หลบเลี่ยงการเจอกับคนอื่น แยกตัวอยู่คนเดียว พยายามไม่แสดงอารมณ์ แต่ถ้าแสดงออกมาจะรุนแรง เช่น โวยวายอาละวาด อยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีการกรีดทำร้ายตัวเองกัน เป็นช่วงที่มีเรื่องเครียดเข้ามากระทบ เช่น พ่อแม่จะแยกทางกัน ผลการเรียนลดลง ถูกเพื่อนบูลลี่  อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครคอยช่วยเหลือหรือรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านและโรงเรียน

ผู้ใหญ่จะช่วยเหลือเด็กที่ม่ีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายตัวเองได้อย่างไร

1.สงบใจเมื่อเห็นแผลทำร้ายร่างกายของเด็ก

สิ่งแรกที่ผู้ใหญ่หรือคนอื่นที่พบเห็นบาดแผลต้องทำ คือ การสงบใจ (calm down) เพราะบางครั้งเลือดและ/หรือแผลที่เห็นชวนให้หวาดหวั่นว่าเด็กจะตายจริง หลีกเลี่ยงการโวยวาย ฟูมฟาย คุยกันในตอนที่ยังมีอารมณ์ท่วมท้น เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น ใช้วิธีการด่าว่า ทำให้เด็กยิ่งเครียด พอเครียดจะยิ่งกรีดมากกว่าเดิม ให้ผู้ใหญ่ไปจัดการอารมณ์ด้วยวิธีต่าง ๆที่คิดว่าเวิร์ก เช่น โทรไปปรึกษาเพื่อน, ร้องไห้ระบาย

2. ยอมรับอารมณ์ลบที่เกิด

แผลบนร่างกายเด็กทำให้ผู้ใหญ่รู้สึกแย่ เช่น เสียใจ, โกรธ, น้อยใจ, ผิดหวัง ผู้ใหญ่บางคนโทษตัวเองว่าดูและเด็กได้ไม่ดีพอหรือตัวเองเป็นสาเหตุทำให้เกิดเรื่องนี้ ทั้งที่จริงสิ่งที่เกิดไม่ได้มีใครผิด เพราะเกิดจากหลายเหตุปัจจัย

3. หาสาเหตุที่ทำให้เด็กทำร้ายตัวเอง

สาเหตุเกิดได้จากหลายอย่าง เช่น เด็กทำคะแนนได้น้อยกลัวพ่อแม่ต่อว่า เด็กถูกบูลลี่จากคนที่โรงเรียน แล้วเราจะช่วยเด็กได้อย่างไร ต้องมีการหาข้อมูลเพิ่ม เช่น ในกรณีที่เด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่สามารถคุยกันได้ตรง ๆ ว่าเครียดเรื่องอะไร อยากให้ช่วยอย่างไร ถามจากกลุ่มเพื่อนของเด็ก หาข้อมูลทางโซเชียลมีเดียที่เด็กมักจะทิ้งร่องรอยเอาไว้

4. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

 การสื่อสารเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ คนจำนวนมากลำบากใจในการพูดคุยเรื่องการทำร้ายตัวเองด้วยความเข้าใจผิดหลายเหตุผล เช่น หากคุยแล้วยิ่งเป็นการกระตุ้นให้กรีดหนักขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามหากผู้ใหญ่ เพื่อน ครู หรือคนที่เด็กไว้ใจเข้าไปคุยเรื่องนี้ เด็กจะได้ระบายสิ่งที่ตกค้างในใจและอารมณ์ลบที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดออกมา เมื่อการจัดการปัญหาเปลี่ยนจากการทำร้ายตัวเองมาเป็นการสื่อสารกันตรง ๆ ว่าคิดและรู้สึกอย่างไร อยากให้ช่วยเรื่องไหน จะช่วยลดการทำร้ายตัวเอง หากเด็กยังไม่พร้อมเปิดใจ เช่น กรี๊ดไล่ผู้ใหญ่ออกไปบอกไม่ต้องมายุ่ง, ตะคอกด่าคำหยาบ สิ่งที่เราทำได้ คือ บอกสิ่งที่เราเป็นห่วงและมีท่าทีว่าพร้อมเสมอที่จะให้การช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการ เมื่อเด็กพร้อมเขาจะได้มาคุย

 

วิธีสื่อสารที่ได้ผลดี คือ I-message (ฉัน+ความรู้สึก+สิ่งที่คิด+สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น) เช่น “แม่ตกใจที่เห็นรอยแผลตรงแขนหนู แม่กลัวหนูเป็นอันตราย ถ้าครั้งหน้าหนูรู้สึกไม่ดีหนูคุยกับแม่ได้นะ” พยายามเลี่ยงการตำหนิประชดหรือด่าต่อว่าเพราะจะทำให้เรื่องยิ่งพังไปใหญ่ เช่น “ทำน้อยไปมั้ย ทีหลังทำเยอะ ๆ จะได้ตายสมใจ”, “เรียกร้องความสนใจแบบโง่ ๆ”

 

นอกจากจะเป็นผู้พูดที่ดีแล้ว การเป็นผู้ฟังที่ดีสำคัญไม่แพ้กัน เพราะอารมณ์ที่ท่วมท้นต้องการหาทางระบายออก หากมีใครสักคนนั่งเคียงข้าง รับฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ต้องมาสั่งสอนแนะนำ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว

5. ผู้ใหญ่รอบข้างต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์

 เช่น หากเวลาพ่อทะเลาะกับแม่แล้วไปชกกำแพงให้มือช้ำ โวยวายสบถก่นด่า การแนะนำวิธีจัดการอารมณ์ที่ดีพอ (healthy ways) จะทำยาก เพราะพ่อเองยังทำไม่ได้เลย

6. พาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญ

 วิธีที่ดีสุดในการช่วยเด็ก คือ การพาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก, นักจิตวิทยา เพราะการทำร้ายตัวเองมักเป็นอาการปลายเหตุที่เกิดจากสาเหตุทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า (Depression), โรควิตกกังวล (Anxiety disorder); โรคสมาธิสั้น (ADHD), โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) พอรู้ว่าป่วยเป็นอะไรจะได้รับการรักษาช่วยเหลือที่ถูกวิธี เช่น การกินยา, การทำจิตบำบัดรายบุคคล, จิตบำบัดครอบครัว

7. ทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิด

 เมื่อรับรู้ว่าเด็กเริ่มที่จะใช้วิธีการกรีดตัวเองในการจัดการปัญหา ผู้ใหญ่ทำใจไว้ก่อนเลยว่าเด็กอาจไม่ได้หยุดพฤติกรรมนี้ได้ง่าย ๆ ต้องอาศัยความอดทน วิธีการที่เหมาะสมและช่วงระยะเวลาที่นานพอ เด็กบางคนไม่สามารถหยุดพฤติกรรมนี้ได้จริง ๆ อาจต้องเป้าหมายเป็นการลดความรุนแรงและความถี่บ่อยในการทำแทน

เด็กจะช่วยเหลือตัวเองให้หยุดได้อย่างไร

1. จับอารมณ์ตัวเองให้ได้

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเครียดเกิดขึ้นได้เยอะ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว จนบางครั้งไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร มีปัญหาดราม่ามาก เกิดอารมณ์ลบ เช่น เศร้า เสียใจ, โกรธ, น้อยใจ, อิจฉา หากเด็กจับอารมณ์ได้จะช่วยเรื่องการจัดการกับอารมณ์ ได้เหมาะสม เช่น โกรธเพื่อนที่ปฏิเสธการทำงานกลุ่มด้วยกัน การไปด่าต่อว่าเพื่อนจะทำให้เรื่องยิ่งพัง ดังนั้นต้องไปสงบสติก่อน แล้วคุยกับเพื่อนด้วย I-message 

2. ใช้วิธีอื่นที่ไม่ทำให้บาดเจ็บแต่รู้สึกเจ็บ

กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ในการจัดการอารมณ์ที่ท่วมท้นแล้วอยากเจ็บ ต้องมีวิธีการอย่างอื่นแทนการทำร้ายตัวเองให้บาดเจ็บ ควรมีการซ้อมวิธีทำกันก่อนว่าวิธีไหนช่วยได้บ้าง ตัวอย่างเช่น

  • หากอยากรู้สึกเจ็บ เช่น ใช้หนังสติ๊กใส่ข้อมือแล้วดีดไปเรื่อย ๆ นำมือจุ่มลงในน้ำเย็นจัดแช่ทิ้งไว้ เอายางลบมาถูแขน
  • หากอยากเห็นเลือดไหล เช่น ใช้เมจิกสีแดงเขียนที่ข้อมือเสมือนเป็นเลือดที่ไหล น้ำแดงราดข้อมือ
  • ระบายความอัดอั้นด้วยการออกแรง เช่น ชกหมอน บีบตุ๊กตา
  • ระบายความรู้สึกทนทุกข์ทรมาน เช่น เขียนเป็นตัวหนังสือหรือวาดรูประบายสี ทำงานศิลปะ

3. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

 ถ้าให้ดีเด็กควรมีผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้อย่างน้อย 1 คนที่สามารถคุยเล่าระบาย ให้คำปรึกษา โดยไม่ตัดสิน หรือมีกลุ่มเพื่อนที่ซัพพอร์ตกันด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่เกิดอันตรายกับตัวเองและผู้อื่น

4. เข้ารับการรักษา

 มีโรคทางจิตเวชหลายโรคที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการกรีดทำร้ายตัวเอง เช่น โรคซึมเศร้า (depression), โรควิตกกังวล (anxiety) โรคสมาธิสั้นที่หุนหันไม่ยั้งคิด (ADHD) ต้องรักษาหลายวิธีร่วมกัน ทั้งการกินยาและการทำจิตบำบัดเพื่อเปลี่ยนวิธีการจัดการปัญหาและวิธีคิดซึ่งจะช่วยให้มีความสัมพันธ์กับคนอื่นดีขึ้น ตระหนักรู้ตัวเอง เช่น Psychodynamic therapy, Cognitive behavioral therapy (CBT), Dialectic behaviroal Therapy (DBT) 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการหยุดกรีดต้องเป็นแรงจูงใจจากตัวเด็กเอง โดยมองเห็นว่าการทำแบบนี้ช่วยระบายอารมณ์ได้ก็จริง แต่ไม่ยั่งยืน รอยแผลเป็นตามตัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจส่งผลเสียในอนาคตได้  ทำให้เด็กอยากที่จะลดละเลิกวิธีนี้ แล้วใช้วิธีอื่นที่ไม่เป็นอันตรายแทน 

ผู้ปกครองต้องมีความหวังว่าสักวันอาการกรีดตัวเองนี้จะดีขึ้น มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู การสื่อสาร เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ดีขึ้น มากพอถึงในระดับที่ว่าเด็กมีปัญหาแล้วไว้ใจกล้าที่เดินมาพูดคุยปรึกษา

วิวเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ เธอกินยารักษาโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ส่วนพ่อที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ต้องกินยาด้วยเหมือนกัน มีการทำจิตบำบัดครอบครัว (family therapy) ปรับเรื่องการสื่อสารและความคาดหวัง วิวยังได้รับการทำจิตบำบัดรายบุคคล (CBT) เพื่อปรับวิธีการจัดการกับอารมณ์และแก้ปัญหา เมื่อรักษาไปสัก 6 เดือน วิวอาการดีขึ้น ไม่กรีดตัวเองแล้ว สามารถที่จะเข้าไปคุยปรึกษากับพ่อแม่ได้ 

พี่หมอแมวน้ำขอเป็นกำลังใจให้กับน้อง ๆ ที่ต้องเจ็บปวดทางใจแล้วยังไม่มีทางออกที่เหมาะสม ขอให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุดนะคะ หรือมีอะไรคอมเมนต์ที่ข้างใต้นี้ได้เลยค่ะ

Referencehttps://kidshealth.org/en/parents/help-cutting.htmlhttps://www.psycom.net/cutting-self-harm-teenshttps://www.parenting.org/article/Pages/understanding-teen-cutting-and-self-harm.aspxhttps://www.health.harvard.edu/blog/cutting-and-self-harm-why-it-happens-and-what-to-do-202305312940

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น