Pride Month หวนกลับมาอีกครั้งแล้ว!
ปีนี้พี่มี 14 ศัพท์สแลงจากคอมมู Lgbtq+ พร้อมเล่าเกร็ดความรู้ให้ได้อ่านกันเพลิน ๆ แอบแถมตัวอย่างประโยคไว้ให้น้อง ๆ ไปลองใช้ตามกันด้วยนะ
Apolo-lie - แสร้งขอโทษ
คำนี้เป็นศัพท์สแลงที่เกิดจากการรวมกันของคำว่า Apologize + Lie เป็น Apolo-lie ซึ่งมีความหมายว่า ‘แสร้งทำเป็นขอโทษ’ โดยคำนี้มีที่มาจากรายการ Rupaul’s Drag Race ซึ่งเป็นรายการที่ค้นหาสุดยอดแดร็กควีน จัดขึ้นโดย Rupaul Andre Charles (รูพอล อังเดร ชาลส์) แดร็กควีนชื่อดังของอเมริกา
คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกโดย Widow Von Du ผู้เข้าแข่งขันรายการในซีซันที่ 12 ซึ่งพูดถึงเพื่อนร่วมรายการที่พยายามยะแสร้งทำเป็นว่าขอโทษ ทั้งที่ใคร ๆ ก็ดูออกว่ารำขอโทษนั้นไม่จริงใจ
ตัวอย่างการใช้ “Please don’t apolo-lie, please apologize.”
หยุดแสร้งว่ารู้สึกผิดได้แล้ว ขอโทษจากใจจริงสักทีเถอะ
Busted - ไม่สวย อ่อม
Busted เป็นศัพท์สแลงจากรายการ Rupaul’s Drag Race เช่นเดียวกัน ความหมายจริงของคำนี้มีความหมายว่า เสียหาย พัง หรือถูกจับ แต่ในฐานะศัพท์สแลง คำนี้มีความหมายประมาณว่า ‘ไม่สวย อ่อม’ คำนี้ถูกใช้เพื่อวิจารณ์เสื้อผ้าหน้าผมที่ดูขัดแย้งกันไปหมด ดูมุมไหนก็ไม่ถูกใจคนมอง
ตัวอย่างการใช้ “Her look tonight was busted”
คืนนี้ลุคหล่อนดูอ่อมมาก
Dusted - เลิศ ไร้ที่ติ
Dusted เป็นศัพท์สแลงที่มีที่มาจากรายการ Rupaul’s Drag Race เช่นเดียวกัน โดยความหมายทั่วไปของคำนี้จะหมายถึง ปัดฝุ่น หรือทำให้เป็นฝุ่น แต่ในความหมายสแลงคำนี้ใช้เป็นคำชมเพื่อสื่อความหมายว่า ‘เพอร์เฟค ไร้ที่ติ’
ตัวอย่างการใช้ “today you look so dusted.”
วันนี้หล่อนเลิศนะยะ
Eat it / ate - กินขาด ฟาดเรียบ
Eat it และ ate เป็นศัพท์สแลงที่ถูกใช้เพื่อชื่นชมผู้เข้าแข่งขันในรายการ Rupaul’s Drag Race แต่ที่จริงนี้ถูกใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 2000 โดยกลุ่ม LGBTQ+ ผิวดำ ความหมายทั่วไปของคำนี้จะหมายถึง กิน ในความหมายของศัพท์สแลงก็มีความหมายที่คล้ายคลึงกัน คือ ‘กินขาด ฟาดเรียบ’
ตัวอย่างการใช้ “What a credible show. She ate it.”
โชว์นี้ทำถึงมาก หล่อนมาเพื่อฟาดสุดๆ
Extravaganza - อลังการ
คำนี้น่าจะเป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย มีที่มาจากคำว่า estravaganza ในภาษาอิตาลีซึ่งหมายถึงเพลงที่เขียนอย่างฟุ้งซ่านเกินความจริง แต่ในความหมายสแลงคำนี้ถูกใช้เป็นคำชม ที่สื่อความหมายประมาณว่า ‘สวยเริ่ด อลังการ’
ตัวอย่างการใช้ “The show has evolved into a extravaganza over the years.”
การแสดงนี้พัฒนาความอลังการขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดหลายปี
Reading - จี้จุด อ่านเกมส์
ความหมายทั่วไปของคำนี้ หมายถึง อ่าน แต่ในคอมมู LGBTQ+ คำนี้สื่อความหมายคล้าย ๆ กัน คือ ‘การพยายามจี้จุด อ่านเกมส์ หรือชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของบุคคล’
ตัวอย่างการใช้ “Why are you reading me?”
แล้วเธอจะมาจี้จุดฉันทำไมเอ่ย
Sickening - สวย ออร่ากลบคนอื่น
แม้ความหมายทั่วไปของคำว่า sickening จะมีความหมายว่า น่าสะอิดสะเอียน ซึ่งสื่อไปในเชิงลบ แต่ในคอมมู LGBTQ+ โดยเฉพาะกลุ่ม Drag คำนี้กลายเป็นคำชมที่ใครได้รับก็ต้องรู้สึกดี ความหมายสแลงของคำนี้สื่อความหมายว่า ‘สวยจนคนอื่นหมอง ออร่ากลบชาวบ้านชาวช่องหมด’
ตัวอย่างการใช้ “She is the sickening drag queen.”
แม่นั่นน่ะ แดรกควีนตัวท็อป ใครก็เทียบไม่ติด
Glamazon - ตัวแม่
คำนี้เป็นศัพท์สแลงที่เกิดจากการรวมตัวกันของคำว่า Glamorous + Amazon เป็น Glamazon มีความหมายคล้าย ๆ คำว่า ‘ตัวแม่’ สื่อความหมายถึงผู้หญิงที่สวยเด่ดเป็นสง่า ทั้งได้ด้านรูปลักษณ์ภายนอกที่มีลักษณะสูงเด่น มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าผู้หญิงทั่วไป มีการวางตัวที่ดี ความสามารถโดดเด่น และภาพรวมในความเป็นเธอที่มีเสน่ห์ คำนี้มักใช้เพื่อชื่นชมผู้หญิงที่มีรูปร่าง ความสวยโดดเด่น และยังมีบุคลิกเป็นหญิงแกร่ง นางพญา หรือเป็นตัวแม่ในวงการที่พวกเธออยู่
ตัวอย่างการใช้ “She’s the Glamazon”
หล่อนน่ะ นางพญาแห่งวงการเลย
Baby gay - เกย์เด็ก เกย์หน้าใหม่
คำนี้เป็นศัพท์สแลงที่ใช้เรียกคนที่เพิ่งเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ หรืออาจจะหมายถึงคนที่เพิ่งก้าวเข้าสู่คอมมู LGBTQ+ และยังไม่มีความรู้อะไรมากมายนัก เรียกง่าย ๆ ว่ายังไม่ประสีประสา ยังรวมถึงคนที่ลองเปิดประสบการณ์ไปคลับเกย์ครั้งแรก ซึ่งประสบการณ์การเดินทางนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนมุมมองและบรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับคอมมู LQBTQ+ ด้วย
Gaymer - เกย์ติดเกมส์
ศัพท์สแลงนี้เกิดจากการรวมกันของคำว่า Gay + Gamer เป็น Gaymer ซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกกลุ่มเกย์ที่ติดเกมส์หรือชอบเล่นเกมส์นั่นเอง สาเหตุของการเกิดศัพท์นี้มาจากผลสำรวจที่พบว่าในอุตสาหกรรมเกมส์ของสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษมีเกมส์เมอร์ที่อยู่ใน Lgbtq+ community ไปแล้วกว่า 21%
Mrs.King - พี่เกย์
ศัพท์สแลงนี้เกิดจากการรวมกันของคำว่า Mrs. ซึ่งใช้เรียกเป็นคำนำหน้าชื่อผู้หญิง กับคำว่า King ซึ่งเป็นคำที่โดยทั่วไปจะใช้กับผู้ชายเท่านั้น แต่เมื่อเป็นศัพท์สแลงคำว่า Mrs.King คือคำที่ใช้เรียกชายที่มีรสนิชมชอบเพศเดียวกัน คำนี้ถูกใช้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นคำที้ใช้ในการเลี่ยงการเรียกใครอย่างต้นไปต้นมาว่าเป็นเกย์ เพราะในสมัยก่อนรสนิยมชายรักชายยังไม่เป็นที่ยอมรับ และเป็นเรื่องที่สังคมมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดแผกไปจากขนบ
Twink - หนุ่มทวิงก์ร่างบาง
Twink หรือทวิงก์ เป็นศัพท์สแลงเกย์ ใช้เรียกเกย์ที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ แต่ไม่ใช่เกย์วัยรุ่นทุกคนจะได้รับการนิยามว่าเป็น Twink เหมือนกันหมด เพราะคำจำกัดความของ Twink นั้น ต้องเป็นเกย์ที่มีรูปร่างพร้อมเพรียว บอบบางน่าทะนุถนอม หน้าเนียนใสไร้ขน
มีหลายทฤษฎีที่ใช้ถูกใช้เพื่ออธิบายที่มาของคำนี้ แต่เสียงส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าคำนี้มีที่มาจากคำว่า ‘Twank’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชายรักชายที่ค้าบริการทางเพศในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ไปจนถึง ต้นศตวรรษที่ 19
แม้คำว่า Twink จะเป็นศัพท์สแลงเกย์ ปัจจุบันคำนี้ถูกนำออกมาใช้นอกคอมมู LGBTQ + โดยใช้เรียกผู้ชายที่มีลักษณะทางกายภาพเข้าข่ายนิยามของคำว่าทวิงก์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมวงการบันเทิงและแฟชั่น นายแบบหรือนักแสดงคนไหนที่มีผิวพรรณนวลผ่อง บอบบาง หุ่นลีน ก็จะถูกเรียกว่าทวิงก์
Unicorn - สาวไบเซ็กชวลแรร์ไอเทม
Unicorn หรือยูนิคอร์น เป็นสแลงที่สื่อความหมายถึงผู้หญิงที่เป็น Bisexual (รักร่วมสองเพศ) ที่ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศของคู่รัก แต่ไม่ได้ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ สันนิษฐานว่าคำนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 ปัจจุบันคำนี้เป็นที่นิยมในแอปหาคู่ ซึ่งใช้สำหรับเรียกผู้หญิงที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักแบบสามคน แต่ไม่ต้องการผูกสัมพันธ์ทางใจ
สาเหตุที่ใช้ยูนิคอร์นเป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้เป็นเพราะว่าม้ายูนิคอร์นเป็นสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อเปรียบกับบริบทกับปัจจุบัน ผู้หญิงที่พร้อมจะมีกิจกรรมทางเพศกับคู่รักและวางตัวอยู่ในขอบเขตที่คู่รักกำหนดถือเป็นแรร์ไอเทมที่หาตัวได้ยากในคอมมูนี้
Wolf - หมาป่าน่ากอด
Wolf หรือหมาป่า เป็นศัพท์สแลงที่คำนี้ถูกใช้เรียกทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่น โดยสื่อความหมายถึงเกย์ที่มีหุ่นล่ำสัน มีไรขนตามตัวให้ความรู้สึกเซ็กซี่ชวนใจเต้น มีลุคภายนอกที่ดูดุดัน บางครั้งหมาป่าก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ “เกย์หุ่นหมี” ที่หลายคนคงจะพอคุ้นหูกันมาบ้าง
การที่น้อง ๆ จะใช้ศัพท์สแลงเพื่อพูดคุยหรือนิยามตัวตนของใคร ต้องดูบริบทรอบข้างประกอบด้วย ควรถามความสมัครใจของบุคคลก่อน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจหรือสบายใจที่จะถูกแปะป้ายหรือนิยามตัวตน
ศัพท์บางคำรู้ไว้เพื่อเป็นความรู้ บางคำก็สามารถเอาไว้ใช้เพื่อชื่นชมคนรอบข้างได้ สิ่งสำคัญของการใช้ศัพท์สแลงโดยไม่ให้เกิดปัญหาคือต้องดูสถานการณ์ บริบท และกาลเทศะด้วยนะ
ที่มา Rupaul’s Drag Race - TV Serieshttps://www.mentalfloss.com/posts/drag-slang-termshttps://www.them.us/story/what-is-a-twinkhttps://www.grindr.com/blog/gay-slang
0 ความคิดเห็น