ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 วรรค 1 บัญญัติไว้ว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มเมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”
เมื่อมีสถานภาพเป็นบุคคล บุคคลย่อมมีสิทธิทางกฎหมาย หากแต่สิทธิบางอย่างจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วันนี้พี่จะพาไปรู้จักสิทธิตามกฎหมายแต่ละช่วงวัย เริ่มตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงอายุ 20 ปีบริบูรณ์ พร้อม Keyword ทางกฎหมายที่มักจำสับสน แล้วก็บทลงโทษเมื่อเด็กและเยาวชนกระทำความผิดด้วยนะ ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันได้เลย!
สิทธิตามกฎหมายแต่ละช่วงวัย
แรกเกิด
• สิทธิในการได้รับหลักประกันสุขภาพ 30 บาท หรือบัตรทอง (ยกเว้นเด็กที่ได้รับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ)
อายุ 7 ปี
- สิทธิในการทำบัตรประชาชน
อายุ 15 ปี
- สิทธิในการทำพินัยกรรม โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม
- สิทธิในการทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว
- สิทธิในการทำงานพิเศษ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 44 ระบุไว้ว่า
“ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์”
อายุ 17 - 19 ปี
สิทธิในการหมั้น โดยต้องได้รับการยินยอมจากบุคคลในข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- บิดาและมารดา *ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
- ผู้รับบุตรบุญธรรม *ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
- ผู้ปกครอง *ในกรณีที่ไม่มีบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือบุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว
*หากชาย-หญิงมีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์การหมั้นถือเป็นโมฆะ
สิทธิในการสมรส โดยต้องได้รับการยินยอมจากบุคคลในข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- บิดาและมารดา *ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
- ผู้รับบุตรบุญธรรม *ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
- ผู้ปกครอง *ในกรณีที่ไม่มีบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือบุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัติไว้ว่า
“การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร (ตั้งครรภ์) ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้”
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1456 บัญญัติไว้ว่า
“ถ้าไม่มีผู้ไม่มีอำนาจให้ความยินยอม หรือมีแต่ไม่ให้ความยินยอม
หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมได้
ผู้เยาว์อาจต้องร้องขอต่อศาลเพื่ออนุญาตให้ทำการสมรส
*เมื่อสมรสแล้ว ผู้เยาว์จะพ้นภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ
จากกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เพิ่งผ่านชั้นสภาผู้แทนราษฏร เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ส่งผลให้อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์อายุสำหรับบุคคลที่สามารถสมรส-หมั้นได้ โดยมีการเสนอให้พิจารณากำหนดอายุบุคคลที่สามารถสมรสและหมั้นได้ไว้ที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์แทน จากเดิมที่กำหนดอายุไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ผู้ที่จะทำการหมั้นและสมรส มีอายุพ้นจากความเป็นผู้เยาว์ *อัปเดตข้อมูลล่าสุด 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567
อายุ 18 ปี
- สิทธิในการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2560 กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
ต้อง “มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง”
- สิทธิในการทำใบขับขี่จักรยานยนต์และรถยนต์
- สิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศ (Gender Affirmation Surgery) โดยต้องมีจดหมายรับรองจากผู้ปกครองเพื่อยินยอมการผ่าตัด
อายุ 20 ปี
- เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
เงื่อนไขการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์
• บรรลุนิติภาวะโดยอายุ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”
• บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20 ระบุไว้ว่า “ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448”
- สามารถซื้อ - ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ตามพระราชบัญญัติควมคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พุทธศักราช 2551 มาตรา 29 ระบุไว้ว่า
“ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์”
- เข้าสถานบริการกลางคืนได้
- ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พุทธศักราช 2509 มาตรา 16 ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการรับผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าทำงานในสถานบริการ”
- มาตรา 16 วรรค 1 ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการยินยอมหรือปล่อยปะละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้นเข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ”
• สิทธิในการทำนิติกรรม
นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งผลต่อในกฎหมายที่จะเกิดขึ้น เพื่อการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ และระงับสิทธิ เช่น สัญญากู้เงิน สัญญาซื้อขาย สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาให้ และพินัยกรรม เป็นต้น
Keyword สำคัญที่มักสับสน
เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุยังไม่เกิน 15 ปี บริบูรณ์
เยาวชน คือ บุคคลที่มีอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์
ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และถูกจำกัดสิทธิบางประการเนื่องจากอ่อนอายุ สติปัญญา ความคิด และร่างกาย และผู้เยาวน์ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ตามลำพัง
โมฆะ คือ นิติกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตั้งแต่แรก ซึ่งจะไม่มีผลทางกฎหมาย
โมฆียะ คือ นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์จนกว่าจะถูกบอกล้าง เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาวน์กระทำโดยไม่ได้รับการยินยอนจากผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อมีการบอกล้างแล้ว โมฆียะกรรมจะกลายเป็นโมฆะ
ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยบทลงโทษต่อเด็กและเยาวชนเมื่อกระทำความผิด
โทษของเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี
มาตรา 73 ระบุไว้ว่า “เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ”
โทษของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี
มาตรา 74 ระบุไว้ว่า “เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้
• ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัว ถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
• ถ้าศาลเห็นว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นให้ไม่ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปี และจะกำหนดเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา ผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท
• ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ด้วย ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้
• หากเด็กนั้นไม่ได้อาศัยอยู่กับบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้กับบุคลหรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม สั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
โทษของเด็กอายุ 15 - 18 ปี
มาตรา 75 ระบุว่า “เด็กอายุสิบห้าปี แต่ไม่เกินสิบแปดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษก็ให้จัดการตามมาตรา 74”
โทษของเด็กอายุ 18 - 20 ปี
มาตรา 76 ระบุว่า “ผู้ใดอายุสิบแปดปี แต่ไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ศาลอาจมีการลดโทษลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้”
รู้เรื่องสิทธิตามกฎหมายของแต่ละช่วยวัยกันไปแล้ว มาลองทดสอบความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้ กับข้อสอบ A-Level วิชาสังคมศึกษา ปี 2566 กันค่ะ
ผู้เยาว์สามารถทำพินัยกรรมได้ตามกฎหมายเมื่ออายุเท่าใด
1.10 ปีบริบูรณ์
2.12 ปีบริบูรณ์
3.13 ปีบริบูรณ์
4.14 ปีบริบูรณ์
5.15 ปีบริบูรณ์
น้องๆ คิดว่าคำตอบข้อไหนถูกต้องคะ แอบกระซิบว่ามีอยู่ในเนื้อหาด้านบนแน่นอน ถ้ารู้แล้วมาคอมเมนต์คำตอบกันด้านล่างได้เลย!
ที่มา https://www.parliament.go.thhttps://www.srakaeo.go.thhttps://www.peesirilaw.comhttps://www.drthawip.com/civilandcommercialcode/010https://justicechannel.org/read/teenagers-contractสำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่ออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามด้วยนะคะ
0 ความคิดเห็น