กฎหมายเป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องรู้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของเราเป็นอย่างมาก สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ก่อนหน้านี้เราได้รู้เรื่องกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายครอบครัว รวมถึงหลักกฎหมายอาญากันไปแล้ว วันนี้เราจะมาดูกันว่า คดีอาญาในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง และมีประเด็นไหนออกสอบบ่อย ๆ ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเลย อ่านจบกันแล้วอย่าลืมทำแบบทดสอบความรู้จากข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้านล่างกันด้วยนะคะ
กฎหมายอาญา (Criminal Law)
กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการกระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา เช่น ประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติการพนัน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ เป็นต้น
ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา
- เป็นกฎหมายมหาชน
- มีสภาพบังคับหรือให้โทษ
- ตีความเคร่งครัด
- ไม่มีผลย้อนหลัง ยกเว้นเป็นประโยชน์ต่อจำเลย
- ห้ามใช้จารีตประเพณีหรือกฎหมายใกล้เคียงลงโทษ
- ใช้บังคับในราชอาณาจักรไทย (บนเรือ/เครื่องบิน)
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีอาญา
- ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการก่ออาชญากรรมหรือการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง
- ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด ถูกดำเนินคดีแล้วโดยตำรวจหรือพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล
- จำเลย หมายถึง ผู้ที่ถูกฟ้องต่อศาลหรือผู้ต้องหา
- พนักงานอัยการ หมายถึง เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล
- พนักงานสอบสวน หมายถึง เจ้าพนักงานที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา
ประเภทของคดีอาญา
คดีอาญาแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ความผิดอาญาต่อแผ่นดิน คือ ผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบโดยตรง และมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ดังนั้น รัฐต้องดำเนินคดีเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และไม่สามารถยอมความได้ แม้ไม่มีการแจ้งความหรือไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์ ทางอัยการสามารถสั่งฟ้องได้
2. ความผิดอาญาต่อส่วนตัว คือ ผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่มีผลกับสังคมโดยรวม โดยผู้เสียหายต้องฟ้องร้องดำเนินคดีเอง นับเป็นความผิดที่สามารถยอมความกันได้
ความผิดอันยอมความไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา
คดีฐานมีความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ไม่สามาถยอมความได้ แม้จะมีการถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ติดใจเอาความก็ไม่มีผลในการระงับการยื่นฟ้องได้ เช่น คดีฉ้อโกง ความผิดฐานฆ่าคนตาย ทำลายหลักฐาน ทำลายศพ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น
ความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญามี 2 ประเภท
1.ความผิดอันยอมความได้โดยทั่วไป หมายถึง ความผิดที่ผู้เสียหายและผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถตกลงยอมความกันได้อย่างอิสระ ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ เช่น ความผิดฐานอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขัง ยักยอก ฉ้อโกง บุกรุก เป็นต้น
2.ความผิดอันยอมความได้โดยมีเงื่อนไข หมายถึง ความผิดที่โดยปกติจะเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือเงื่อนไขทางอัตวิสัย (subjective condition) บางประการเกิดขึ้น ความผิดดังกล่าวจะเป็นความผิดที่ยอมความได้ เงื่อนไขดังกล่าว คือ ผู้กระทำผิดและผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ในเชิงเครือชาติกัน เช่น คู่สมรส พี่น้อง บุพการีกับผู้สืบสันดานโดยชอบด้วยกฎหมาย
โทษทางคดีอาญามี 5 สถาน
- ประหารชีวิต
- จำคุก (เรือนจำ)
- กักขัง (ไม่ใช่เรือนจำ)
- ปรับ (รวมทั้งบริการสังคม)
- ริบทรัพย์ (ของกลาง)
คดีอาญาในชีวิตประจำวัน
ความผิดต่อชีวิต
(1) ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต
(2) ผู้ใด (1)ฆ่าบุพการี (2)ฆ่าเจ้าพนักงาน (3)ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน (4)ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (5)ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน (6)ฆ่าผู้อื่นเพื่อนระเตรียมการในการกระทำผิดต่อไป (7)ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์เพื่อปกปิดความผิด ต้องระวางโทษประหารชีวิต
บุพการี ในที่นี้หมายถึง ผู้บุพการีตามความเป็นจริง ได้แก่ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด
(3) ผู้ใดกระทำโดยประมาทและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ตัวอย่างเช่น นายเจมส์ขับรถแซงรถคันข้างหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวรถจักรยานยนต์ของนายเจที่แล่นสวนมาในช่องเดินรถของเจเป็นเหตุให้นายเจเสียชีวิต
(4) ทำร้ายผู้อื่นโดยเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 ระบุว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี - 15 ปี”
ตัวอย่างเช่น ขับรถไล่ทำร้ายผู้ตายในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ตายต้องขับรถด้วยความเร็วเพื่อหลบหนีจนเกิดเหตุชนรถยนต์ที่จอดอยู่เสียชีวิต
ความผิดเกี่ยวกับร่างกาย
ทำร้ายร่างกาย
(1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ระบุว่า “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อกายและจิตใจของผู้อื่น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท” กล่าวคือ ผลจากการทำร้ายนอกจากร่างกายได้รับอันตรายยังทำให้ผู้เสียหายจิตใจผิดปกติ เช่น หลอกให้เดินตกหลุม
(2) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ดังนี้
- ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
- เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
- เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
- หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
- แท้งลูก
- จิตพิการอย่างติดตัว
- ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
- ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-200,000 บาท”
กระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ
ตัวอย่างเช่น เมาสุราขับรถด้วยความเร็วสูง รถพุ่งชนคนบาดเจ็บ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
บันดาลโทสะ
เกณฑ์พิจารณาว่าความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการบันดาลโทสะหรือไม่ มีดังนี้
- ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
- การถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
- ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 ระบุว่า “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
ความผิดเกี่ยวกับเพศ
กระทำอนาจาร กระทำชำเรา ข่มขืน
กระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรในทางเพศ หรือทำให้เกิดความอับอายทางเพศ
กระทำชำเรา หมายถึง การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น
ข่มขืน หมายถึง กระทำชำเราผู้อื่นโดยที่ผู้นั้นไม่ได้สมัครใจ ไม่ว่าจะข่มขืนเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้ามล้วนถือว่ามีความผิดทั้งสิน
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ระบุว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 - 400,000 บาท”
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 -20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท”
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
- ลักทรัพย์ เอาทรัพย์ไปโดยทุจริตซึ่งเจ้าทรัพย์ไม่อยู่ เช่น เอาของในบ้านของบุคคลอื่นไปขายทอดตลาด
- วิ่งราวทรัพย์ ฉกฉวยซึ่งหน้า เช่น กระชากสร้อยทองผู้อื่น
- ชิงทรัพย์ ผู้กระทำความผิด 1-2 คน ใช้กำลังปะทุษร้าย ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าทรัพย์ เช่น ใช้มีดจี้บังคับให้ส่งให้ส่งกระเป๋าเงินให้
- ปล้นทรัพย์ ร่วมกันชิงทรัพย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ถ้าใช้อาวุธหรือทำร้ายร่างกายเจ้าของทรัพย์ด้วย โทษจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
- กรรโชกทรัพย์ เจ้าทรัพย์โดนข่มขู่ว่าจะทำร้าย เช่น ข่มขู่ให้เจ้าทรัพย์ส่งเงินให้
- ยักยอกทรัพย์ แอบเอาทรัพย์คนอื่น โดยที่เจ้าทรัพย์ไม่รู้
- ฉ้อโกงทรัพย์ หลอกลวงให้เจ้าทรัพย์เชื่อ เช่น หลอกหลวงด้วยกลอุบายหรือวิธีการต่าง ๆ ให้เจ้าทรัพย์ส่งมอบทรัพย์สินให้
- รีดเอาทรัพย์ ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับของเจ้าทรัพย์ หรือบุคคลที่ 3
- ทำให้เสียทรัพย์ ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ โดยที่เจ้าทรัพย์รู้
- รับของโจร ซ่อนเร้น จำหน่าย ซื้อ จำนำซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยกระทำผิด
- บุกรุก เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ผู้อื่น
อายุความ
“เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 กำหนดจำนวนของการขาดอายุความ ไว้ดังนี้
(1) 20 ปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(2) 15 ปี สำหรับโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี
(3) 10 ปี สำหรับโทษจำคุกกว่า 1-7 ปี
(4) 5 ปี สำหรับโทษจำคุกกว่า 1 เดือน ถึง 1 ปี
(5) 1 ปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องโทษอย่างอื่น
จบไปแล้วกับคดีอาญาในชีวิตประจำวัน ถึงเวลาทดสอบความรู้ความเข้าใจกันบ้างแล้ว ข้อสอบที่จะให้น้อง ๆ ได้ทำในวันนี้ เป็นข้อสอบ 9 วิชาสามัญ วิชาสังคมศึกษา จากโครงการ Dek-D Pre-Admission รอบธันวาคม ปี 2563
นายดำข่มขู่นางสาวแดงว่า จะเปิดเผยความลับที่ตนแอบมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาวแดงให้นายขาวซึ่งเป็นสามีของนางสาวแดง ถ้าไม่ให้เงิน 25,000 บาท นางสาวแดงจึงยอมให้เงินนายดำไปตามจำนวนดังกล่าว การกระทำของนายดำมีความผิดฐานใด
1.ชิงทรัพย์
2.ปล้นทรัพย์
3.รีดเอาทรัพย์
4.กรรโชกทรัพย์
5.ยักยอกทรัพย์
น้อง ๆ ชาว Dek-D คิดว่าคำตอบข้อไหนถูกต้องคะ มีคำตอบในบทความนี้ด้วย ถ้านึกออกแล้วลองคอมเมนต์คุยกันด้านล่างได้เลยค่ะ !
ที่มา https://law.nmu.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/002-%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%B2.pdfhttps://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/225708https://www.xn--12cfal3g4beg4clf8fkj1dxb.com/Online-lesson/law/pptสำหรับบทความคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ฝากน้อง ๆ ติดตามด้วยนะคะ ;-)
1 ความคิดเห็น
รีดเอาทรัพย์