รีวิว ‘Safe Jai’ เว็บแอปฯ ตัวช่วยฮีลใจในวันที่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง

สวัสดีเพื่อน ๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงบ้างคะ สบายดีกันหรือเปล่า? สำหรับใครที่สบายกายแต่ไม่สบายใจและกำลังเบื่อหน่ายชีวิตเพราะอะไร ๆ ก็ไม่เป็นดั่งใจสักอย่าง ทั้งโดนเจ้านายว่า คะแนนสอบแย่ อกหัก ทะเลาะกับแฟน เพื่อนไม่ยอมรับ หรือครอบครัวไม่เข้าใจ พี่ไปเจอเว็บไซต์นึงมา ชื่อว่า “Safe Jai” คิดว่าน่าจะเป็นอีกตัวช่วยที่น่าสนใจสำหรับใครที่ไม่อยากเล่าเรื่องทุกข์ใจให้คนใกล้ตัวฟัง แต่ก็ยังต้องการใครสักคนที่สามารถรับฟังโดยที่ไม่ตัดสินเรื่องราวของเรา 

รีวิว ‘Safe Jai’ เว็บแอปฯ ตัวช่วยฮีลใจในวันที่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง
รีวิว ‘Safe Jai’ เว็บแอปฯ ตัวช่วยฮีลใจในวันที่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง

Safe Jai คืออะไร? 

Safe Jai (เซฟใจ) เป็นเว็บแอปพลิเคชันฟรี โดย Chula Student Wellness: CUSW เพื่อให้นิสิตและบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งบุคคลทั่วไป ได้มาทำความเข้าใจอารมณ์และจิตใจเบื้องต้นจากสถานการณ์ที่เรากำลังรู้สึกถึงอารมณ์ท่วมท้น ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล เครียด หรือซึมเศร้า จากสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ทั้งจากที่ทำงาน คนรัก หรือครอบครัว

วันนี้พี่จะพาทุกคนไปทดลองใช้งาน Safe Jai โดยจะสมมติสถานการณ์ว่า เราต้องการให้ Safe Jai ช่วยฮีลใจเราเรื่องเพื่อนและความรู้สึกแปลกแยกของ ‘แม่น้องต๊อแต๊’ ที่เข้ากับเพื่อนในกลุ่มไม่ได้ ไปดูกันค่ะ ว่าจะเป็นยังไงบ้าง

4 Steps เริ่มใช้งานเพื่อ Safe Jai 

Step 1 เลือกเป้าหมาย 

เป้าหมายใน Safe Jai มี 2 อย่าง คือ ช่วยจัดการอารมณ์ ในวันเวลาที่กำลังรู้สึกท่วมท้นไม่ไหว และฝึกทักษะจัดการอารมณ์ ในวันที่เราอยากจะพัฒนาตนเองด้านจิตใจ วันนี้เราจะให้ Safe Jai ช่วยเราฝึกทักษะจัดการอารมณ์จากปัญหาที่เราเจอค่ะ

Step 2 สำรวจอารมณ์

เมื่อผ่าน Step 1 มาแล้ว Safe Jai จะให้เราเริ่มสำรวจอารมณ์ตัวเองใน Step 2 ผ่านการเลือกสีที่สื่อสารอารมณ์ของเราในขณะนั้นได้ดีที่สุด ซึ่งสีที่เราเลือกจะผสมกันและกลายเป็นสีของน้องตัวการ์ตูนที่จะทำหน้าที่เป็นภาพแทนอารมณ์ของเรา 

หน้าที่ของเรา คือ ต้องตั้งชื่อให้น้องและกดเลือกระดับขนาดของตัวการ์ตูนตัวนี้เพื่อจำลองขนาดของน้องที่อยู่ภายในใจเรา 

ตัวอย่างที่เห็นข้างล่างนี้เป็น ‘น้องต๊อแต๊’ เจ้าก้อนปัญหาที่ค้างคาอยู่ในใจ ที่พี่จัดการผสมสีและตั้งชื่อเรียบร้อย และพร้อมให้ Safe Jai ช่วยจัดการอารมณ์

Step 3 เลือกกิจกรรม

Step นี้สำคัญเพราะ Safe Jai จะให้เราเลือกกิจกรรมที่เราอยากทำเพื่อจัดการอารมณ์ของเรา ซึ่ง Step นี้มีกิจกรรมให้เลือกทำทั้งหมด 4 กิจกรรม

1.กอดปลอบใจ - ชวนเรามาอยู่กับการสัมผัสเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ และได้ให้ตนเองได้สัมผัสการมีอยู่ของตนเอง ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะกอดตุ๊กตาที่เราชอบหรือจะเป็นการกอดตนเอง 

2.วาดมันออกมาาา ! - ปล่อยใจและความกังวลไปกับการขีดเขียน กิจกรรมนี้ชวนเราขีดเขียนภาพอะไรออกมาก็ได้ตามความคิด อารมณ์ ความรู้สึกในขณะนั้นโดยไม่ต้องกังวลว่าภาพของเราจะถูกตัดสินว่าสวยหรือไม่ 

3.พาใจกลับมาสู่กาย - การกลับมารับรู้ร่างกายตนเอง ช่วยให้เราตั้งหลักทางใจได้ เพราะใจและกายเราเชื่อมโยงกัน หลังจากที่รับฟังแต่เสียงภายนอก กิจกรรมนี้ทำให้เราได้กลับมาจดจ่อตัวเอง รับฟังอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองอย่างลึกซึ้ง ถ้าลองทำกิจกรรมนี่สัก 5-10 นาที รับรองว่าลดความว้าวุ่นในใจลงไปได้มาก

4.ทำความเข้าใจปัญหา - เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยให้เราได้สำรวจภาวะที่กำลังเกิดขึ้น โดยไม่ประเมินตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยให้เราได้รู้ว่าที่มาของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเอง คลายความกังวลสงสัยที่กำลังกระทบใจลงได้

แต่ปัญหาที่ ‘แม่น้องต๊อแต๊’ กำลังเผชิญอยู่แค่วาดรูป ฝึกลมหายใจ พร้อมกอดตัวเองแค่นั้นคงจะไม่พอที่จะลดความกังวลลงไปได้ วันนี้พี่เลยเลือกวิธีทำความเข้าใจปัญหาเผื่อจะช่วยให้แม่น้องต๊อแต๊เบาใจได้มากขึ้น 

โดยวิธีนี้เราจะได้แบ่งปันเรื่องราว และตอบคำถามจาก Safe Jai ซึ่งคำถามทั้งหมดจะเป็นคำถามที่ค่อย ๆ พาเราสำรวจตัวเองตั้งแต่ที่มาของอารมณ์ภายในใจ มุมมองของเราที่มองปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ และวิธีที่เราใช้รับมือกับเรื่องนั้น ๆ 

เริ่มแรกเราจะต้องทบทวนเรื่องราวและเล่าให้ Safe Jai ฟังถึงสถานการณ์คร่าว ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ว่าเป็นยังไง และต่อมา Safe Jai จะให้เราเลือกว่าประเด็นที่เราจะมาเล่าให้ฟังในวันนี้เกี่ยวข้องกับอะไร อาจจะเป็นประเด็นเรื่องเพื่อน ครอบครัว ความรัก ค่าใช้จ่าย การงานอาชีพ หรือเรื่องการปรับตัวก็มีนะ 

ตัวอย่างบทสทนาระหว่าง ‘แม่น้องต๊อแต๊’ กับ Safe Jai ในกิจกรรม ‘ทำความเข้าใจปัญหา’ 

เมื่อตอบคำถาม Safe Jai ครบทุกข้อแล้ว เว็บไซต์จะสรุปคำตอบของเราทั้งหมดออกมาโดยเรายังสามารถเลือกเปลี่ยนแปลงคำตอบได้อีกครั้ง การสรุปคำตอบในขั้นตอนนี้ทำให้เราได้เห็นสาเหตุของความกังวล รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่คอยสนับสนุนและขัดขวางความเปลี่ยนแปลงเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Step 4 สรุปประสบการณ์วันนี้

เมื่อทำกิจกรรมเสร็จแล้ว Safe Jai จะมีฟีเจอร์ที่ให้เราปรับขนาดของตัวการ์ตูนอารมณ์ที่เราผสมสีและตั้งชื่อเอาไว้ใน Step ที่ 2 เพื่อดูว่าหลังจากสำรวจจิตใจและอารมณ์ตัวเองเบื้องต้นแล้วขนาดของอารมณ์ลดลงไปมากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้น Safe Jai จะบันทึกเรื่องราวที่เราได้บอกเล่าหรือสิ่งที่เราได้ทำเพื่อฮีลใจไว้ในสมุดบันทึกเพื่อยืนยันว่า ‘เราผ่านไปได้อีกวันแล้ว’ 

 

อย่างวันนี้ แม่น้องต๊อแต๊ ก็ได้สำรวจอารมณ์ตัวเอง ทำความเข้าใจปัญหา ผ่านกิจกรรมของ Safe Jai และลดความกังวลไปได้ถึง 3 ระดับ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้เลยนะ

ความประทับใจ

คำถามและกิจกรรมใน Safe Jai ทำให้เรารู้สึกว่าความรู้สึกของเราทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบได้รับการโอบอุ้มและให้ความสำคัญ เหมือนได้รับการจัดระเบียบจิตใจใหม่อีกรอบ

หลังทำกิจกรรมเสร็จ เราไม่ได้รู้สึกว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่มันได้ถูกคลี่คลายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เหมือนได้กลับย้อนดูไทม์ไลน์ของตัวเองที่ผ่านมาว่าจริง ๆ แล้วเรารับมือกับปัญหายังไง มีความคิดแบบไหน 

ภาษาที่ Safe Jai ใช้พูดคุยก็อ่อนโยน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับใครสักคนที่ใจดี ใจเย็น พร้อมรับและปลอบโยนเราจากเรื่องที่เจอมา ระหว่างทำกิจกรรมก็มีดนตรีเปิดคลอไปด้วยเบา ๆ ทำให้รู้สึกได้ผ่อนคลายด้วย

คำถามของ Safe Jai ทำให้เราได้เข้าใจที่มา สาเหตุของความรู้สึกต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ชัดเจนมากขึ้น แม้กับบางเรื่องจะไม่มีทางออกหรือคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหานั้น แต่เราว่า Safe Jai ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่เราจะได้ลองให้โอกาสตัวเองได้ทบทวนความรู้สึกและปัจจัยรอบข้างที่มีผลต่ออารมณ์ของเรา 

Safe Jai ถือเป็นการให้พื้นที่กับความรู้สึกที่เราพยายามปิดบังมาตลอดได้ออกมาบอกเล่าเรื่องราวของมันบ้าง อย่างน้อย ๆ ก็มีคนที่รับฟังเราโดยไม่ตัดสินว่าสิ่งเรารู้สึกหรือกำลังเผชิญอยู่มันผิดหรือถูกนะ 

ถ้าน้องๆ ชาว Dek-D คนไหนกำลังมีเรื่องไม่สบายใจ ไม่รู้จะไปคุยกับใคร ลองมาพูดคุยกับ Safe Jai ได้ที่ https://safejai.sa.chula.ac.th/

สำหรับน้องๆ ที่ลอง Safe Jai แล้ว มีความคิดเห็นอย่างไร สามารถร่วมตอบแบบสอบ-ถามเพื่อการพัฒนาระบบต่อไปได้ "ที่นี่" นะคะ ขอขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็นล่วงหน้าค่ะ  

ใครลองใช้ Safe Jai แล้วรู้สึกยังไง มาแชร์กันด้วยนะ

Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น