Thai Literature : รู้จัก ‘กลวิธีการสรรคำ 5 แบบ’ เรียนวรรณคดีไทยให้ง่ายขึ้น! (ออกสอบบ่อย)

สวัสดีน้อง ๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ หลายคนคงจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘คุณค่าทางวรรณศิลป์’ ในคาบวิชาภาษาไทยกันใช่มั้ยคะ? พี่เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ต้องเคยผ่านการเรียนพิจารณาคุณค่าทางวรรณคดีและวรรณกรรมกันมาบ้างแล้ว วันนี้พี่เลยอยากพาชาว Dek-D มาเคาะฝุ่นความรู้ในรายวิชาภาษาไทยกันดีกว่าค่ะ 

วรรณศิลป์หมายถึงอะไร ?

วรรณศิลป์ หมายถึง ศิลปะในการประพันธ์หนังสือ ศิลปะทางวรรณกรรม คือ การเลือกใช้ถ้อยคำ สำนวน ลีลา ประโยค ความเรียงอย่างสละสลวย เพื่อสื่อสารอารมณ์ของผู้ประพันธ์

กลวิธีทางวรรณศิลป์ มี 8 กลวิธี ดังนี้ การเล่นคำ การหลากคำ การซ้ำคำ  การใช้คำซ้ำ การเล่นเสียง การใช้ภาพพจน์ ลีลาวรรณคดี และจินตภาพ

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาภาษาไทย วันนีได้สรุป 5 กลวิธีการสรรคำทางวรรณศิลป์ ได้แก่ การเล่นคำ การหลากคำ การซ้ำคำ การใช้คำซ้ำ การเล่นเสียง พร้อมตัวอย่างจากวรรณคดีไทยที่เราได้เรียนตอนมัธยมและเนื้อเพลงมาให้น้อง ๆ ได้ทบทวนเพื่อเตรียมตัวสอบกัน ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยค่ะ

Thai Literature : รู้จัก ‘กลวิธีการสรรคำ 5 แบบ’ เรียนวรรณคดีไทยให้ง่ายขึ้น! (ออกสอบบ่อย)
Thai Literature : รู้จัก ‘กลวิธีการสรรคำ 5 แบบ’ เรียนวรรณคดีไทยให้ง่ายขึ้น! (ออกสอบบ่อย)

การสรรคำ

การสรรคำ คือ การเลือกใช้คำให้สื่อความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจ และอารมณ์โดยคำนึงถึงความงามด้านเสียง โวหาร และรูปแบบคำประพันธ์ การสรรคำสามารถทำได้ดังนี้

1.การเล่นคำ 

การเล่นคำ คือ การใช้คำเดียวกันซ้ำหลายแห่งในบทประพันธ์หนึ่งบท แต่คำที่ซ้ำกันนั้นมีความหมายต่างกัน การเล่นคำมีหลายวิธี เช่น 

1.เล่นคำอัพภาส คือ คำซ้ำประเภทหนึ่งที่กร่อนเสียงพยางค์หน้าเป็นสระอะ คำอัพภาสจะมีพยางค์แรกเป็นลหุ พยางค์หลังเป็นครุ เช่น ระริก (ริกริก) ระรื่น (รื่นรื่น) ยะเยือก (เยือกเยือก)  

ครุ คือ พยางค์ที่มีเสียงหนัก ประกอบด้วยสระเสียงยาว และสระเกินทั้ง 4 ได้แก่ สระอำ ไอ ใอ เอา และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น เขียน รำ พา

ลหุ คือ พยางค์ที่มีเสียงเบา ประกอบด้วยสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด เช่น แพะ พลุ พระ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ยะแย้มยิ้มพิมพ์ใจให้วาบหวาม วะวาววับตางามทรามสงวน

ภาพจาก https://stock.adobe.com
ภาพจาก https://stock.adobe.com

2.เล่นคำพ้อง (พ้องรูป/พ้องเสียง) 

พ้องรูป หมายถึง คำที่เขียนเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกันและต่างความหมาย

พ้องเสียง หมายถึง คำที่อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่สะกดต่างกันตามความหมาย

ตัวอย่างคำประพันธ์

เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา

นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา

(อิเหนา - รัชกาลที่ ๒)

บทประพันธ์นี้เล่นคำพ้อง 2 ชุด คือ

บาทแรก เล่นคำที่ออกเสียง “วัน” คือ เบญจวรรณ, วัลย์ชาลี และวัน (พี่ไกลสามสุดามา)

บาทที่สอง เล่นคำพ้องรูปและพ้องเสียงว่า “นวล” ในความหมายว่า นกนางนวล, ต้นนางนวล และนวลน้อง

2.การหลากคำ

การหลากคำ คือ การใช้คำไวพจน์หรือคำพ้องความหมาย เป็นกลวิธีที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำคำเดียวซ้ำ ๆ เช่น เลือกใช้คำว่า บุปผา บุษบา โกสุม มาลี ผกา ในความหมายว่า “ดอกไม้” 

ตัวอย่างคำประพันธ์ 

พาทีมีสติรั้ง           รอคิด

รอบคอบชอบแลผิด         ก่อนพร้อง

คำพูดพ่างลิขิต                เขียนร่าง เรียงแฮ

ฟังเพราะเสนาะต้อง         โสตทั้งห่างภัย

 

(โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ - รัชกาลที่ ๒)

 

บทประพันธ์ข้างต้นใช้คำไวพจน์ที่แปลว่า “พูด” คือคำว่า พาที พร้อง และพูด

ตัวอย่างบทเพลงที่มีการใช้คำไวพจน์ 

ดวงฤทัยพี่ทุกข์ตรมระบมเศร้า เฝ้าโหยหวน 

ดวงกมลพี่ร้องครวญ ชวนเพรียก เรียกโฉมศรี 

ด้นดั้นหา น้องพี่ ไม่มีสร่างซา นิทราไม่ลง 

(นิราศนุช - ชรินทร์ นันทนาคร)

 

บทเพลงข้างต้นใช้คำไวพจน์ที่แปลว่า หัวใจ ดวงใจ คือคำว่า ดวงฤทัย ดวงกมล

ภาพจาก https://stock.adobe.com
ภาพจาก https://stock.adobe.com

3.การซ้ำคำ 

การซ้ำคำ คือ การใช้คำเดียวกันซ้ำหลายแห่งในบทประพันธ์หนึ่งบทในความหมายเดียวกัน เพื่อย้ำน้ำหนักเนื้อความให้หนักแน่นขึ้น 

ตัวอย่างคำประพันธ์ 

คุณแม่หนาหนักเพี้ยง พสุธา

คุณบิดรดุจอา- กาศกว้าง

คุณพี่พ่างศิขรา เมรุมาศ

คุณพระอาจารย์อ้าง อาจสู้สาคร

( โคลงโลกนิติ - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร)

 

บทประพันธ์ข้างต้นซ้ำคำว่า “คุณ” เพื่อเน้นความหมายและความสำคัญของคำนี้

ตัวอย่างคำประพันธ์ 

สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล 

สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟังสำเนียง 

สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง 

สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื่องย่องยกย่างลงเหยียบดิน 

ก็สุดสิ้นสุดปัญหาสุดปัญญาสุดหาสุดค้นสุดคิด

(มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี)

ตัวอย่างบทเพลงที่มีการซ้ำคำ

จะไม่รัก ก็ไม่บอก หลอกให้ฉันต้องมาใฝ่ฝันละเมอ 

หลอกให้หัวปั่น หลอกกันให้นั่งเหม่อ

หลอกให้ฉันงมงายกับเธอทุกวัน

(พลิกล็อค - คริสติน่า อากีล่าร์)

ข้อสังเกต

การซ้ำคำในบทประพันธ์อาจวางติดกันแบบคำซ้ำหรือวางไว้แยกจากกัน แต่ความหมายของคำที่ซ้ำนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงและมีความหมายเหมือนกันทุกคำ 

4.การใช้คำซ้ำ

คำซ้ำ คือ เกิดจากการนำคำมูลมาเรียงต่อกัน ปกติจะใช้ไม้ยมก (ๆ) แทนคำมูลคำหลัง แต่ในการแต่งคำประพันธ์นิยมเขียนเต็มทั้งสองคำ ไม่ใช้ไม้ยมก

ตัวอย่างคำประพันธ์

เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียงไปทั้งหมู่

ตัวเดียวมาพลัดคู่ เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย 

(กาพย์เห่เรือ - เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)

ข้อสังเกต

คำซ้ำจะต้องอยู่ติดกันและทำหน้าที่สื่อความหมายเดียวกัน

ตัวอย่างบทเพลงไทยที่ใช้กลวิธีคำซ้ำและซ้ำคำ

คิดคิดแล้วแค้นสุดขีด สุดฤทธิ์สุดเดช

ว่าทำไมทำไม ต้องทำร้ายกันอย่างนี้

เพราะรักสุดขีดสุดชีวิตสุดกู่ ก็เคยดูดูนึกว่าเป็นคนดี 

(สุดฤทธิ์ สุดเดช - ใหม่ เจริญปุระ) 

 

คำซ้ำ -> คิดคิด, ทำไมทำไม, ดูดู

ซ้ำคำ -> สุดขีด-สุดฤทธิ์-สุดเดช, สุดขีด-สุดชีวิต-สุดกู่ 

ภาพจาก https://stock.adobe.com
ภาพจาก https://stock.adobe.com

5.การเล่นเสียง

การเล่นเสียง คือ การเลือกสรรคำที่มีเสียงสัมผัสกัน ซึ่งในกวีนิพนธ์ไทยถือเรื่องเสียงเสนาะเป็นเรื่องสำคัญ วิธีสร้างความงามทางเสียงที่นิยมมาก ได้แก่ การเล่นเสียงวรรณยุกต์ การเล่นเสียงสัมผัสใน มีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะ 

1.การเล่นเสียงวรรณยุกต์ ได้แก่ การใ้ช้เสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน ในคำที่มีพยัญชนะต้น สระ และตัวสะกดเหมือนกัน โดยไล่เรียงไปตามระดับเสียงวรรณยุกต์ 

ตัวอย่างคำประพันธ์

จิบจับเจาเจ่าเจ้า          รังมา

จอกจาบจั่นจรรเจา      จ่าจ้า

เค้าค้อยค่อยคอยหา     เห็นโทษ

ซอนซ่อนซ้อนสริ้วหน้า  นิ่งเร้าเอาขวัญ

(โคลงอักษรสามหมู่ ของ พระศรีมโหสถ)

2.การเล่นเสียงสัมผัสสระ ได้แก่ คำที่มีเสียงคล้องจองกันด้วยเสียงสระและพยัญชนะท้ายพยางค์(ตัวสะกด)

ตัวอย่างคำประพันธ์

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก

สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ 

(นิราศอิเหนา - สุนทรภู่)

ข้อสังเกต 

ไม่นับสัมผัสสระ หัก-นัก-รัก เป็นการเล่นสัมผัสสระ เพราะเป็นสัมผัสที่บังคับให้มีในการแต่งกลอน

ตัวอย่างบทเพลงไทยที่มีสัมผัสสระ
ฉันนี่มันนักเลงเพลงแร็ปไง ใครตีกันให้ตายก็ตีไป

แต่ถ้าฉันอยากได้ความรักจากเธอ ละมันจะเป็นไปได้ไหม

เธอไม่ชินกับฟีลเด็กแร็ปไทย ไม่รู้จะทำยังไงดีให้เธอประทับใจ 

แต่ถ้าเราได้คบกันจริง แล้วมันจะเป็นไปได้ไหม 

(สายน้ำผึ้ง - ยังโอม)

3.การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะ (สัมผัสอักษร) ได้แก่ คำที่คล้องจองกันด้วยเสียงพยัญชนะต้น 

ตัวอย่างคำประพันธ์

แลลิงลิงลอดไม้ ลางลิง

แลลูกลิงลงชิง ลูกไม้

ลิงลมไล่ลมติง ลิงโลด หนีนา

แลลูกลิงลางไหล้ ลอดเลี้ยวลางลิง

(ลิลิตพระลอ)

 

ทรงฟังคำอำอึ้งตะลึงคิด          จะเบือนบิดป้องปัดก็ขัดขวาง

สงสารลูกเจ้าลังกาจึงว่าพลาง          เราเหมือนช้างงางอกไม่หลอกลวง

ถึงเลือดเนื้อเมื่อน้องต้องประสงค์      พี่ก็คงยอมให้มิได้หวง

แต่ลูกเต้าเขาไม่เหมือนคนทั้งปวง      จะได้ช่วงชิงไปให้กระนั้น

(พระอภัยมณี)

มาลองทดสอบความรู้กัน! 

         รู้เรื่องกลวิธีวรรณศิลป์การสรรคำทั้ง 5 แบบไปแล้ว เรามาลองทำข้อสอบจริงกันดีกว่าค่ะ สำหรับโจทย์วันนี้มาจากข้อสอบ O-NET วิชาภาษาไทย ม.6 ปี 2565

 

ศิลปะการประพันธ์ตามข้อใดไม่ปรากฏในคำประพันธ์ต่อไปนี้

ปลาทูชื่อดูชวน หวนคำนึงถึงเคหา

คำนึงถึงแก้วตา พธูน้อยผู้กลอยใจ

๑.การซ้ำคำ

๒.การหลากคำ

๓.การเล่นสัมผัส

๔.การใช้ภาพพจน์

๕.การเล่นเสียงหนักเบา

 

น้อง ๆ ชาว Dek-D คิดว่าคำตอบข้อไหนถูกต้องคะ  ลองคอมเมนต์คำตอบไว้ด้านล่างได้เลยค่ะ! 

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาภาษาไทย บทความต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ 

ถ้าน้อง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความรู้จากวิชาอะไรที่อยากให้นำมาเล่า สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย

ที่มาhttps://curadio.chula.ac.th/Images/Class-Onair/th/2009/th-2010-02-10.pdfhttps://wiki.m-culture.go.th/index.php/%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น