สรุป! 5 ระดับภาษา ออกสอบบ่อย พร้อมทริคสังเกตโจทย์

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D มีใครเคยสังเกตกันไหมว่าภาษาที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันมีระดับที่แตกต่างกัน เวลาคุยกับเพื่อนเราจะใช้ภาษารูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจากตอนที่เราคุยกับพ่อแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่ โดยตามหลักแล้วเราจะเรียกความแตกต่างนี้ว่า “ระดับภาษา” นั่นเอง นอกจากจะใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังเป็นเนื้อหาที่เจอในข้อสอบเข้ามหา’ลัย อย่าง A-Level ภาษาไทยด้วย คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ในบทความนี้จะพาไปเจาะลึกเนื้อหาของระดับภาษา รวมถึงมีข้อสอบจริง พร้อมเทคนิคการสังเกตโจทย์มาฝากด้วยค่ะ

สรุป! 5 ระดับภาษา ออกสอบบ่อย พร้อมทริคสังเกตโจทย์
สรุป! 5 ระดับภาษา ออกสอบบ่อย พร้อมทริคสังเกตโจทย์

ภาษาพูด VS ภาษาเขียน  

ก่อนที่เราจะไปดูว่าระดับภาษามีอะไรบ้าง อยากให้น้องๆ ทำความเข้าใจเรื่องภาษาพูดและภาษาเขียนกันก่อนค่ะ  เพราะทั้งคู่เป็นภาษาที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน และมีส่วนสำคัญในการเลือกใช้ระดับภาษาที่จะสื่อสารอีกด้วย

ภาษาพูด หรือภาษาปาก เป็นภาษาเฉพาะกลุ่มที่ใช้พูดกันในกลุ่มคนพวกเดียวกัน  เช่น ภาษาวัยรุ่น, ภาษาถิ่น, ศัพท์ LGBTQ+ หรือภาษาลู มักใช้พูดคุยระหว่างคนที่สนิทกันมากๆ  จึงไม่เคร่งครัดเรื่องข้อบังคับ  เรียกว่า “ภาษาไม่มีแบบแผน” อาจมีคำไม่สุภาพบ้าง หยาบคายบ้าง บางครั้งภาษาพูดอาจนำไปใช้ในการเขียนได้ เช่น เป็นคำพูดตัวละครในนิยาย บทละคร บทภาพยนตร์ เพื่อความสมจริงของงานนั้นๆ  

ภาษาเขียน เป็นภาษาที่มีลักษณะเคร่งครัดในหลักภาษา เรียกว่า “ภาษาแบบแผน”  มีการเรียบเรียงประโยคถูกต้องสวยงาม ประดิษฐ์ถ้อยคำให้สละสลวย ใช้คำสุภาพ คำศัพท์วิชาการ หรือคำบัญญัติ มักใช้ในงานเขียนเชิงวิชาการ หรือ พิธีการต่าง ๆ

ตัวอย่างภาษาพูด vs ภาษาเขียน

 

ภาษาพูดภาษาเขียน
หมาสุนัข
ตังค์เงิน
ไฟไหม้เพลิงไหม้
เป็นไงเป็นอย่างไร
โรงหนังโรงภาพยนตร์

ระดับภาษาคืออะไร?  

ระดับภาษา คือ ความแตกต่างของภาษา ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน หรือแม้กระทั่งภาษากาย โดยการใช้ระดับภาษาจะพิจารณาตามโอกาสหรือกาลเทศะ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นผู้สื่อสาร น้องๆ ต้องดูว่าเรากำลังสื่อสารกับใคร และอยู่ในสถานที่ไหน เพื่อที่จะได้เลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสม ถ้าเกิดมีการใช้ระดับภาษาที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง หรือทำให้การสื่อสารผิดพลาดได้ บางภาษาอาจไม่มีระดับภาษา แต่ภาษาไทยของเรานั้นมีหลายระดับ ในหลักสูตรวิชาภาษาไทยที่น้อง ๆ ต้องเรียน จะแบ่งระดับภาษาออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

1.ภาษาระดับพิธีการ

เป็นภาษาที่มีแบบแผน ประโยคถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ มีการเลือกใช้คำสุภาพ สละสลวย ประณีต และใช้คำระดับสูง หรือคำราชาศัพท์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นภาษาเขียน ภาษาระดับนี้มักใช้ในงานพิธีการหรือโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น งานราชพิธี การประชุมสภา การกล่าวสดุดี การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญาบัตร

ตัวอย่างระดับภาษาพิธีการ : บัดนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลง และมีการเรียกประชุมรัฐสภา พุทธศักราช 2562 แล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป

2.ภาษาระดับทางการ  

เป็นภาษาที่มีแบบแผน ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เน้นการสื่อสารที่ตรงประเด็น กระชับ ไม่เวิ่นเว้อ อาจมีศัพท์เทคนิค และศัพท์วิชาการบ้างตามลักษณะของเนื้อหาที่ต้องการเขียน ในบางครั้งก็อาจมีคำราชาศัพท์อยู่บ้าง มักใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น ประกาศทางการ งานเขียนวิชาการ จดหมายราชการ จดหมายธุรกิจ บทความวิจัย การประชุม  

ตัวอย่างระดับภาษาทางการ : อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นฤดูฝนการกระจายของฝนจะไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะครึ่งหลังของฤดู และจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม แต่ในภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะยังคงมีฝนตกต่อไปอีกถึงเดือนธันวามคม จึงขอประกาศให้ประชาชนได้ทราบทั่วกัน

3.ภาษาระดับกึ่งทางการ

เป็นภาษาที่ไม่เคร่งครัดแบบแผน แต่ยังคงความสุภาพ มีลักษณะคล้ายกับภาษาระดับทางการ แต่จะลดความเป็นทางการลง รูปประโยคไม่ซับซ้อน มีคำทั่วไปที่เราคุ้นเคย เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ภาษาระดับนี้สามารถใช้ได้ทั้งภาษาเขียน และภาษาพูดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ มักจะใช้ในการประชุม การเสวนา การบรรยายในห้องเรียน การพรีเซนต์งานหน้าห้อง การเขียนข่าว หรือบทความในหนังสือพิมพ์

ตัวอย่างภาษาระดับกึ่งทางการ  : ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็ล้วนเกิดมาจากฝีมือของมนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้น เราจึงควรที่จะรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการดูแลรักษาโลกใบนี้ให้ดีดังเดิม ลองคิดดูว่าถ้าหากเราทำลายธรรมชาติแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราคงอาจต้องซื้อออกซิเจนเอาไว้หายใจ

4.ภาษาระดับไม่เป็นทางการ

หรือ ‘ภาษาระดับสนทนา’ เป็นภาษาที่ไม่มีลักษณะแบบแผน มักใช้ถ้อยคำเข้าใจง่าย แต่ยังคงความสุภาพ เนื้อหาของสารจะเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปในการดำเนินชีวิตประจำวัน การปรึกษาหารือกัน  บางครั้งอาจมีคำศัพท์หรือสำนวนเฉพาะในกลุ่มปะปนด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นภาษาพูดที่ใช้พูดกับคนที่ไม่สนิท และพบในรายการบันเทิง บทความ พาดหัวข่าว นิตยสาร  

ตัวอย่างภาษาระดับไม่เป็นทางการ : คุณทราบไหมคะ เคล็ดลับในการเลือกมะเขือนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่เลือกลูกที่มีขั้วติดแน่น ผิวตึงเป็นมัน ถ้าลูกไหนผิวด้านกระด้างแสดงว่าไม่ค่อยสด แก่เกินไป

5.ภาษาระดับกันเอง

หรือที่เรียกว่า ‘ภาษาปาก’ เป็นภาษาที่ไม่มีลักษณะแบบแผน ภาษาที่ใช้เป็นภาษาพูดใช้กับคนที่สนิทคุ้นเคย เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท  อาจมีคำสแลง คำหยาบ ภาษาถิ่น หรือศัพท์เฉพาะกลุ่มปะปน โดยทั่วไปไม่นิยมใช้ในภาษาเขียน ยกเว้นงานเขียนบางประเภท เช่น เรื่องสั้น นิยาย บทละคร เพื่อความสมจริงของงานนั้นๆ

ตัวอย่างภาษาระดับกันเอง :  

  • ตื่นมากดบัตรแฟนคอนน้องเตนล์ ตั้งแต่ 10 โมงเช้า อยากได้บัตร 6,500 มาก แต่ไม่ทัน กดชนสะบัด นอยด์มากคุณน้า คนที่กดทันเค้าใช้เน็ตอะไรกันวะ
  • เอายังไงคะซิส จะไปไม่ไปคะ สะยงสยามเนี่ย น้องรอจนยมแล้วค่ะคุณพี่ขา

ระดับภาษา 5 แบบ ต่างกันยังไง?  

เพื่อให้น้องๆ เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าภาษาแต่ละระดับมีลักษณะต่างกันยังไง พี่แป้งสรุปเป็นตารางเปรียบเทียบมาให้แล้วค่ะ  

ระดับภาษา โอกาสและสถานที่ลักษณะภาษาที่ใช้ความสุภาพ
พิธีการภาษาแบบแผน /ภาษาเขียนงานราชพิธี งานระดับชาติ การประชุมสภา การกล่าวสดุดี การกล่าวสุนทรพจน์ การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญาบัตรมีพิธีรีตอง ภาษาไพเราะ สละสลวย ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์100%
ทางการประกาศทางการ งานเขียนวิชาการ จดหมายราชการ จดหมายธุรกิจ บทความวิจัย การประชุม ใช้คำตรงไปตรงมา กระชับ มีศัพท์เทคนิค หรือศัพท์วิชาการ75%
กึ่งทางการภาษากึ่งแบบแผน/ ภาษาพูดปนเขียนการประชุมกลุ่มย่อย การอภิปราย การเสวนา การบรรยายในห้องเรียน การพรีเซนต์งานหน้าห้อง เขียนข่าว บทความคล้ายระดับทางการ แต่จะลดความเป็นทางการลง ประโยคไม่ซับซ้อน ใช้คำทั่วไปที่เราคุ้นเคย50%
ไม่เป็นทางการภาษาไม่มีแบบแผน/ภาษาพูดการปรึกษาหารือกัน รายการบันเทิง บทความ พาดหัวข่าว นิตยสาร ใช้คำทั่วไป เข้าใจง่าย มีคำศัพท์หรือสำนวนเฉพาะกลุ่ม 25%
กันเองการพูดคุยเรื่องส่วนตัวกับคนสนิท มีคำสแลง คำหยาบ ภาษาถิ่น หรือศัพท์เฉพาะกลุ่มปะปน<25%

ระวังสับสน!  ระดับที่อยู่ติดกัน ได้แก่  

  • ระดับ 2 (ทางการ) กับ ระดับ 3 (กึ่งทางการ) ให้จำว่า กึ่งทางการจะเป็นคําที่มีภาษาปาก หรือภาษาพูดปนอยู่
  • ระดับ 4 (ไม่เป็นทางการ) กับ ระดับ 5 (กันเอง) แตกต่างตรงที่ ไม่เป็นทางการใช้กับคนไมสนิท ส่วนกันเองใช้กับคนสนิท

7 ทริคสังเกตระดับภาษา

พี่แป้งได้สรุป 7 ทริคสังเกตโจทย์ที่จะเป็นตัวช่วยให้น้องๆ ได้นำไปวิเคราะห์ระดับภาษามาฝากด้วยค่ะ  

1. แยกให้ออกว่าเป็น ‘ภาษาพูด’ หรือ ‘ภาษาเขียน’ : อย่างน้อยจะได้ตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไปก่อน สมมติวิเคราะห์มาแล้วเป็นภาษาเขียนหมดเลย หมายความว่า ข้อความนั้นอาจจะอยู่ในระดับพิธีการ ทางการ หรือกึ่งทางการก็ได้ หลังจากนั้นน้องๆ ก็ค่อยมาวิเคราะห์อีกรอบว่าเป็นระดับไหน

2. การใช้สรรพนาม : สรรพนามก็มีส่วนช่วยในการแยกระดับภาษาด้วยเหมือนกัน ซึ่งมีวิธีการสังเกต ดังนี้

  • ระดับพิธีการ ทางการ และกึ่งทางการ : ใช้สรรพนามแทนตัวเอง (บุรษที่ 1) มักใช้ กระผม ผม ดิฉัน ข้าพเจ้า สรรนามแทนผู้รับสาร (บุรุษที่ 2) มักใช้ ท่าน ท่านทั้งหลาย คุณ
  • ระดับไม่เป็นทางการ และกันเอง : สรรพนามแทนตัวเอง มักใช้ ผม ฉัน หนู เรา หรือใช้คำนาม เช่น พ่อ แม่ หมอ ครู  สรรนามแทนผู้รับสาร มักใช้ แก เธอ เอ็ง หรือบางครั้งก็เรียกชื่อแทนไปเลย

3. คำขึ้นต้น - ลงท้าย : ข้อนี้ก็เป็นจุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเหมือนกัน ถ้าขึ้นต้นด้วย ‘กราบเรียน’ ‘เรียน’ หมายความว่า ข้อความนั้นมีแบบแผน อาจจะอยู่ในระดับพิธีการ หรือทางการก็ได้ แต่ถ้าลงท้ายด้วย ‘คะ’ ‘ค่ะ’ ‘ครับ’ คำพวกนี้จะเจอในภาษาพูด แปลว่า ข้อความนั้นจะอยู่ในระดับกึ่งทางการ - กันเอง

4. การซ้ำคำ : เช่น สวยๆ ต่างๆ การซ้ำคำโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับกึ่งทางการ - กันเองถ้าเป็นทางการจะมีเขียนกระชับ ชัดเจน  

5. การตัดคำ กร่อนคำ รวบเสียง : เช่น “อะไร > ไร” “อย่างไร > ยังไง” โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับกึ่งทางการ - กันเอง เพราะถ้าเป็นระดับทางการจะห้ามตัดคำ หรือกร่อนคำเด็ดขาด

6. ใช้คำอุทานเสริมบท-คำสร้อย : เช่น “หนังสือหนังหา” “กินข้าวกินปลา”  โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับกึ่งทางการ - กันเอง

7. ใช้คำแสลง คำเฉพาะกลุ่ม คำสถบ : ข้อนี้ก็เป็นจุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเหมือนกัน ถ้ามีการใช้คำเหล่านี้เยอะๆ หมายความว่า ข้อความนั้นเป็นระดับกันเองแน่นอน  

 

เมื่อทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียนแล้ว มาลองฝึกทำโจทย์เรื่องระดับภาษา กับข้อสอบ A-Level วิชาภาษาไทย ปี 2566 กันค่ะ

 

ข้อใดมีระดับภาษาต่างกับข้ออื่น

1. สธ.ประกาศยกเลิกการใส่แมสก์ในที่สาธารณะ

2. เขาจำเป็นต้องหยุดความสัมพันธ์กับคู่จิ้นไปสักระยะ

3. ละครเรื่องนี้มีพล็อตที่จำเจไม่ค่อยสร้างสรรค์

4. แหล่งข่าวจากคนวงในบอกต่อ ๆ กันมาว่าเซเลบคนนี้กำลังตกอับ

5. รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาภาษาไทย

 

น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่าข้อไหนต่างที่สุด คอมเมนต์คำตอบด้านล่างได้เลยค่ะ

 

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ถ้าน้อง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความรู้จากวิชาอะไร ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

ข้อมูลจาก https://www.altv.tv/content/altv-news/653c582507cafb5e614ebc6a  

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด