สวัสดีน้อง ๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาภาษาไทย ก่อนหน้านี้ เราก็ได้เรียนเรื่อง กลวิธีวรรณศิลป์การสรรคำ 5 แบบ ไปแล้ว วันนี้พี่เลยอยากพาชาว Dek-D มาเคาะฝุ่นความรู้ในรายวิชาภาษาไทย พาร์ทวรรณคดีไทยกันต่อ กับเรื่อง ‘ภาพพจน์’ ค่ะ
ภาพพจน์หมายถึงอะไร ?
การใช้ภาพพจน์ คือ การใช้ถ้อยคำให้เกิดภาพ เกิดการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ภาพพจน์ที่สำคัญมี 9 ชนิด คือ อุปมา อัปลักษณ์ บุคคลวัต อติพจน์ สัทพจน์ นามนัย ปฏิพากย์ สัญลักษณ์ และปฏิปุจฉา กลวิธีการใช้โวหารภาพพจน์จะก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจผู้อ่านได้มากกว่าการกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาภาษาไทย วันนีได้สรุป ‘ภาพพจน์สำคัญ 9 ชนิดในภาษาไทย’ พร้อมตัวอย่างจากวรรณคดีไทยที่เราได้เรียนตอนมัธยมและเนื้อเพลงมาให้น้อง ๆ ได้ทบทวนเพื่อเตรียมตัวสอบกัน ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยค่ะ
อุปมา (Simile)
อุปมา คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งเพื่อสื่อความหมายว่าสองสิ่งมีความคล้ายกัน โดยใช้คำเชื่อมเหล่านี้ “เหมือน ราว ราวกับ ดุจ ประดุจ เปรียบ ดัง ดั่ง เฉก เช่น เพียง เพี้ยง ประหนึ่ง อย่าง ถนัด กล เล่ห์ ปาน พ่าง เสมือน เสมอ ฯลฯ”
ตัวอย่างเช่น
ไม่คลาดเคลื่อนเหมือนองค์พระทรงเดช แต่ดวงเนตรแดงดูดังสุรีย์ฉาย
ทรงกำลังดังพระยาคชาพลาย มีเขี้ยวคล้ายชนนีมีศักดา
(พระอภัยมณี ตอน หนีนางผีเสื้อ)
พิศฟันรันเรียบเรียบ เป็นระเบียบเปรียบแสงนิล
พาทีพี่ได้ยิน ลิ้นกระด้างช่างเจรจาฯ
(กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก)
รูปดังองค์อินทร์ หยาดฟ้ามาสู่ดิน โสภินดังเดือนดวง
(ยอยศพระลอ - ชินกร ไกรลาศ)
แกลองมองในตาเขา
ถ้ามีสายตาแบบเดียวกับฉันที่มองแกตลอดมา
ก็แปลว่ารักหมดหัวใจ
(ดูดี - Polycat)
ข้อสังเกต
1.อุปมาจะต้องแสดงการเปรียบเหมือน ถ้ามีความหมายว่า เหมือนจริง จะไม่ใช่อุปมา เช่น เธอเหมือนแม่มาก เช่นนี้จะไม่ถือว่าเป็นอุปมา
2.“ดัง” ที่แสดงอุปมา จะต้องใช้ความหมายว่าเปรียบเหมือน เช่น เธองามดังนางอัปสร ถ้ามีความหมายว่า เสียงดัง เช่น ดังตรลบโลกแล้ หมายถึง เสียงดังไปทั่วโลก เช่นนี้จะไม่ถือว่าเป็นอุปมา แต่เป็นอติพจน์ (กล่าวเกินจริง)
อุปลักษณ์ (Metaphor)
อุปลักษณ์ คือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักใช้คำว่า “คือ” “เท่า” และ “เป็น”
ตัวอย่างเช่น
อันเทวัญนั้นคือมัจจุราช จะหมายมาดเอาชีวิตริศยา
แล้วเสแสร้งแกล้งทำบีบน้ำตา อนิจจาใจหายเจียวสายใจ
(พระอภัยมณี)
ความรู้คู่เปรียบด้วย กำลัง กายแฮ
สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง
ปัญญาประดุจดัง อาวุธ
สติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม
(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
หมายเหตุ
1.บางครั้งอุปลักษณ์อาจจะเป็นการเปรียบเทียบโดยนัย ไม่กล่าวเปรียบตรง ๆ (ไม่มีคำเชื่อม “เป็น” หรือ “คือ” ให้เป็นที่สังเกต) แต่ผู้อ่านจะเข้าใจได้ด้วยการตีความจากข้อความหรือบทประพันธ์
ตัวอย่างเช่น
หิ่งห้อยจะแข่งสุริยะไหน จะมิน่าชิวาลาญ
(สามัคคีเภทคำฉันท์ - ชิต บุรทัต)
จากบทประพันธ์ข้างต้นผู้อ่านจะเข้าใจได้ว่า คำว่า “หิ่งห้อย” นี้ผู้แต่งใช้เป็นสื่อแทนผู้ที่มีกำลังน้อย ส่วนคำว่า “สุริยะ” ใช้เป็นสื่อแทนผู้ที่มีกำลัง อำนาจ หรืออิทธิพลมากกว่า
2.การใช้คำว่า “คือ, เท่า, เป็น” แสดงอุปลักษณ์ ต้องมีความหมายว่าเปรียบเป็น ถ้าแสดงสภาพความเป็นจริงจะไม่ถือว่าเป็นอุปลักษณ์ เช่น น้ำเป็นของเหลว น้าคือน้องชายหรือน้องสาวของแม่
บุคคลวัต (Personification)
บุคคลวัต คือ การสมมติให้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิตให้มีกิริยาอาการ ความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
1.การใช้กิริยาอาการของคนกับสิ่งที่ไม่ใช่คน
ตัวอย่างเช่น
บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง เตียงสมร
เตียงช่วยเตือนนุชนอน แท่นน้อง
ฉุกโฉมแม่จักจร จากม่าน มาแฮ
ม่านอย่างเบิกบังห้อง หับให้คอยหนฯ
(นิราศนรินทร์คำโคลง)
2.การสร้างให้นามธรรม หรือธรรมชาติเป็นบุคคล
ตัวอย่างเช่น
มองซิ…มองทะเล เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน
บางครั้งมันบ้าบิ่น กระแทกหินดังครืนครืน
ทะเลไม่เคยหลับไหล ใครตอบได้ไหมไฉนจึงตื่น
บางครั้งยังสะอื้น ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป
(ทะเลไม่เคยหลับ - ดิอิมพอสซิเบิล)
เจ้าช่อมาลีดึกดื่นอย่างนี้เจ้านอนไม่หลับ
อีกนานก็ยังไม่กลับ คงตาต่อตากับใครต่อใคร
(เจ้าช่อมาลี - มิสเตอร์ทีม)
พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง แก้มแด๊ง แดง แต่งตัวทาแป้งโผล่มา ยามเช้าตรู่
(พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง)
3.การสร้างตัวละครในนิทานนิยายเป็นสัตว์ พืช วัตถุ แสดงบทบาทคล้ายคน
ตัวอย่างเช่น นวนิยายชื่อดังเรื่อง Animal Farm โดย จอร์จ ออร์เวลล์ นิยายเสียดสีการเมืองยุคการปฏิวัติของรัสเซีย ที่ใช้ตัวละครที่เป็นสัตว์ เช่น หมู ม้า ลา เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว แสดงบทบาทของคน
อติพจน์ (Hyperbole)
อติพจน์ หรือ อธิพจน์ คือ การเปรียบเทียบโดยการกล่าวข้อความที่เกินจริง มักเปรียบเทียบในเรื่องปริมาณว่ามีมากเหลือเกิน มีเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวมานั้นให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
ตัออย่างเช่น
ร้อนตับแตก, เหนื่อยสายตัวแทบขาด, รักคุณเท่าฟ้า, มารอตั้งโกฏิปีแล้ว
เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม
พาเทพเจ้าจ่อมจม ชีพม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม ทบท่าวลงนา
หากอกนิฏฐ์พรหมฉ้วย พี่ไว้จึงคง
(ศรีปราชญ์)
ทำไมน่ารักขนาดนั้น เธอหลุดจากฝันมาหรือไง
นี่แหละที่หามานาน ประมาณอย่างนี้แหละโดนใจ
ไม่คิดว่าจะมาเจอะแถวนี้ พึ่งหล่นจากฟ้าหรือไงนะ
หล่นใส่ใจฉันเข้าพอดี จะมองมุมไหนก็โดน
ไม่ธรรมดาอย่างนี้ ไม่ค่อนมี อย่างนี้พึ่งลงมาชัด ๆ เลย
(นางฟ้า - ดิว The Star 5)
สัทพจน์ (Onomatopoeia)
สัทพจน์ คือ การใช้ถ้อยคำที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงดนตรี เสียงร้องของสัตว์ หรือเลียนเสียงกิริยาอาการต่าง ๆ ของคน
ตัวอย่างเช่น
ยามเอ๋ย ยามนี้ ปถพีมืดมัวทั่วสถาน
อากาศเย็นเยือกหนาวคราววิกาล สงัดปานป่าใหญ่ไร้สำเนียง
มีก็แต่เสียงจังหรีดกระกรีดกริ่ง! เรไรหริ่ง! ร้องขรมระงมเสียง
คอกควายวัวรัวเกราะเปาะแปะ! เพียง รู้ว่าเสียงเกราะแว่วแผ่วแผ่วเอย
(กลอนดอกสร้อย ‘รำพึงในป่าช้า’)
สรวลเสียงพระสมุทรครื้น ครวญคะนอง
คลื่นก็คลี่คลายฟอง เฟื่องฟื้น
(นิราศนริทร์คำโคลง)
บ้างขึ้นบนขนส่งคนลงข้างล่าง เสียงโฉ่งฉ่างชามแตกกระแทกขัน
จนคนบนสัปคับรับไม่ทัน หม้อข้าวขันตกแตกกระจายราย
(นิราศพระบาท)
นามนัย (Metonymy)
นามนัย คือ การใช้คำหรือวลีที่บ่งบอกลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงความหมายแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น
- เขารักเก้าอี้ยิ่งกว่าชื่อเสียง (เก้าอี้ เป็นนามนัยแทนตำแหน่ง)
- น้ำตาและรอยยิ้มอยู่คู่ชีวิตมนุษย์เสมอมา (น้ำตา เป็นนามนัยแทนความทุกข์ รอยยิ้ม เป็นนามนัยแทนความสุข)
รวยรินกลิ่นรำเพย คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง
นั่งแนบแอบเอวบาง ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน
(กาพย์เห่เรือ - เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)
จากบทประพันธ์ข้างต้น คำว่า “เอวบาง” เป็นนามนัยแทนนางอันเป็นที่รัก กล่าวคือ เอวบาง เป็นลักษณะสำคัญของหญิงสาว ในที่นี้ใช้คำว่า “เอวบาง” ให้หมายถึงนางอันเป็นที่รักของกวี)
ข้อสังเกต
นามนัย อาจหมายถึง การกล่าวถึงชื่อสิ่งหนึ่งให้มีความหมายเป็นอย่างอื่น เช่น
“ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” เป็นการกล่าวถึงชื่อบุคคลแต่หมายถึงลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมของบุคคลนั้น ประโยคข้างต้น ใช้ “อิเหนา” เป็น นามนัย หมายถึง พฤติกรรมที่ทำสิ่งที่อิเหนาเคยติเตียนคนอื่นเสียเอง
สัญลักษณ์ (Symbol)
สัญลักษณ์ คือ การใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะบางประการร่วมกัน เป็นการสร้างจินตภาพไปสู่ความหมายอีกขึ้นหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่เข้าใจในสังคม
ตัวอย่างเช่น
ใช้ ดอกไม้ แทน ผู้หญิง เพราะมีคุณสมบัติร่วมกัน คือ ความสวยงามและความบอบบาง
ใช้ ราชสีห์ แทน ผู้มีอำนาจ เพราะราชสีห์และผู้มีอำนาจต่างมีคุณสมบัติร่วมกัน คือ ความน่าเกรงขาม
ตัวอย่างสัญลักษณ์ที่อาจพบเห็นกันเสมอ ๆ เช่น
สีขาว แทน ความบริสุทธิ์
นกพิราบ แทน สันติภาพ
ดอกหญ้า แทน ความต้อยต่ำ
เมฆหมอก แทน อุปสรรค
ดอกกุหลาบ แทน ความรัก
เพชร แทน ความเป็นเลิศ ความแข็งแกร่ง
ปากกา แทน นักเขียน
ข้อสังเกต
นามนัย ใ้ช้ชื่อส่วนประกอบสำคัญ ของสิ่งนั้นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
สัญลักษณ์ ใช้สิ่งที่มีคุณสมบัติร่วมกัน หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกันแทนสิ่งนั้น
ปฏิพากย์ (Paradox)
ปฏิพากย์ คือ การนำเอาคำและความหมายที่ไม่สอดคล้องกันและดูเหมือนจะขัดแย้งกันมารวมกันไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลการสื่อสารเป็นพิเศษ
ตัวอย่างเช่น
ก้าวเล็กเล็กของคนคนหนึ่ง เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
(คำกล่าวของ นีล อาร์มสตรอง)
แทบฝั่งธารที่เราเฝ้าฝันถึง เสียงน้ำซึ่งกระซิบสาดปราศจากเสียง
จักรวาลวุ่นวายไร้สำเนียง โลกนี้มีเพียงแผ่นภพสงบเย็น
(วารีดุริยางค์ - เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
จากความชั่วสู่ความดีที่เป็นสุข จากร้อนรุกเร้ารบเป็นสบศานติ์
เมื่อสู่ความเป็นพระชนะมาร เพื่อวัยวารสู่สันติตราบนิรันดร์
เกร็ดความรู้
ชื่อเพลงต่าง ๆ ของวงดนตรี Getsunova ก็ใช้กลวิธีภาพพจน์ ปฏิพากย์ในการตั้งชื่อด้วยนะ เช่น เพลงไกลแค่ไหนคือใกล้, แตกต่างเหมือนกัน, ปลาบนฟ้า, เหตุผลที่ไม่มีเหตุผล เป็นต้น
ปฏิปุจฉา (Rhetorical Question)
ปฏิปุจฉา หรือ คำถามเชิงวาทศิลป์ คือ การตั้งคำถามแต่ไม่ได้หวังคำตอบ หรือถ้ามีคำตอบก็เป็นคำตอบที่ทั้งผู้ที่ถามและผู้ตอบรู้ดีอยู่แล้ว กว่มักจะใช้คำถามเชิงวาทศิลป์เพื่อเร้าอารมณ์ผู้อ่าน หรือสื่อความหมายและข้อคิดที่ต้องการ
ตัวอย่างเช่น
แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
(อิเหนา)
อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ
ไม่ใช่ของตลาดที่อาจซื้อ ฤาแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
(ท้าวแสนปม - รับกาลที่ ๖)
พี่ว่าคำถามนี้มันน่าตอบไหมคะ เป็นหนู หนูไม่ถามนะ มารยาทนิดนึงอะค่ะ
(คำกล่าวของ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ)
มาลองทดสอบความรู้กัน!
รู้เรื่องภาพพจน์ 9 ชนิดที่สำคัญไปแล้ว เรามาลองทำข้อสอบจริงกันดีกว่าค่ะ สำหรับโจทย์วันนี้มาจากข้อสอบ O-NET วิชาภาษาไทย ม.6 ปี 2565
คำประพันธ์ข้างต้นใช้ภาพพจน์ตามข้อใด
อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์ เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า
ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา เขาจะพากันเย้อให้อับอาย
๑.อุปมา
๒.อุปลักษณ์
๓.สัญลักษณ์
๔.สัทพจน์
๕.บุคคลวัต
น้อง ๆ ชาว Dek-D คิดว่าคำตอบข้อไหนถูกต้องลองคอมเมนต์คำตอบไว้ด้านล่างได้เลยค่ะ!
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาภาษาไทย บทความต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ถ้าน้อง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความรู้จากวิชาอะไรที่อยากให้นำมาเล่า สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย
ที่มาhttps://wiki.m-culture.go.th/index.php/วรรณศิลป์https://curadio.chula.ac.th/Images/Class-Onair/th/2009/th-2010-02-10.pdf
1 ความคิดเห็น
ใครแต่งเรื่องพวกนี้ขึ้นมาอ่า