#Saveทับลาน! สรุป Timeline ‘เพิกถอนพื้นที่ทับลาน 265,000 ไร่ ออกจากการเป็นป่าอนุรักษ์’

สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่ะ จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่งจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จนทำให้ #Saveทับลาน กำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคนจับตามอง วันนี้เราจะมาสรุปประเด็นเบื้องต้นให้ทุกคนได้อ่านและพิจารณากันดูค่ะ

นอกจากนี้ยังมีบทความที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทับลานที่เราได้เขียนไว้อีกสองบทความ คือ 

ข้อถกเถียงปมเพิกถอน ‘ทับลาน’! อีกด้านของทับลานที่สังคมต้องรับฟัง คลิก 

และ พารู้จัก ‘ป่าอนุรักษ์’ ในไทย มีอะไรบ้าง! พร้อมสถานการณ์ป่าไม้ และปมส.ป.ก.กับป่าไทย คลิก 

 

ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ความสำคัญอุทยานแห่งชาติทับลาน

อุทยานแห่งชาติทับลานตั้งอยู่ในพื้นที่สามจังหวัด คือ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ 1,397,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร เดิมประกาศเป็นป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2506 เพื่อสงวนคุ้มครองไว้ซึ่งพื้นที่ป่า ต่อมาจึงประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และมีมติในในการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2523 เห็นสมควรออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศไทย 

อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย มีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีป่าลานซึ่งหาดูได้ยากและมีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น ทับลานจัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศของป่าภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่ง ซึ่งเรียกได้ว่าป่าทับลานเป็นบ้านหลังที่สองของเสือโคร่งในประเทศไทย รองจากกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร 

เมื่อมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ อุทยานแห่งชาติทับลานจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ จากยูเนสโก (UNESCO) ในปี พ.ศ. 2548 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติทับลานที่ตั้งอยู่ใจกลางของกลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ซึ่งถือเป็น “บ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่านานาชนิด” จึงเป็นเรื่องน่ากังวลหากมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของพื้นที่ที่จะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทั้งในเรื่องของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า

ที่มาและหลักการของการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี พ.ศ. 2543

17 มีนาคม พ.ศ. 2537 - ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 2 ได้มีโครงการเสริมความมั่นคงพื้นที่ชายแดนไทยเขตจังหวัดนครราชสีมา รอยต่ำอำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี จัดที่ทำกินในราษฎรเมื่อปี พ.ศ.2526 - 2637 และโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม นำพื้นที่เสื่อมโทรมในเขตอุทยานแห่งชาติไปจัดสรรให้ราษฎร 

28 มกราคม พ.ศ.2540 - ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกากันแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เฉพาะท้องที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 20,000 ไร่ โดยมอบพื้นที่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรนำไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก 4 - 01 ให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว 

22 เมษายน พ.ศ.2540 - คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมป่าไม้) เร่งจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และดำเนินการกันพื้นที่และส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (มีเหตุให้การดำเนินการดังกล่าวล่าช้า เนื่องจากมีการต่อต้าน คัดค้าน) 

30 มิถุนายน พ.ศ.2541 - คณะรัฐมนตรีมีมติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยให้ยกเลิกมติเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2540 ที่ให้กันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อมอบพื้นที่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยมติมีสาระสำคัญ คือ ยืนยันนโยบายของรัฐที่จะไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีไปดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และให้ทำการสำรวจพื้นที่ที่มีการครอบครองให้ชัดเจน และขึ้นทะเบียนผู้ครอบครองเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลการจัดการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมตรวจสอบพิสูจน์การครอบครอง หากผลการตรวจพิสูจน์พบว่ามีราษฎรอาศัยทำกินมาก่อน ก็ให้จัดทำขอบเขตบริเวณที่อยู่อาศัยทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด

จากเนื้อหามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 จึงเป็นที่มาของการสำรวจจัดทำแนวเขตประชิดขอบป่าเพื่อป้องกันการขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเติมของราษฎร ซึ่งสำรวจแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2543 ที่มักถูกเรียกว่า เส้นสำรวจเพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2543

1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 - ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ปี พ.ศ. 2524 โดยให้ยึดถือแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางปฏิบัติของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 

29 มิถุนายน พ.ศ. 2563 - การประชุมของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ที่ได้มีการพิจารณาแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้ปรับปรุงแนวเขตฯ โดยใช้แนวเขตสำรวจ ปี 2543 ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติรับทราบประเด็นและข้อเสนอแนะแต่ไม่ได้มีมติเห็นชอบ

2 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - การประชุมของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2 มีมติยืนยันการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติในการประชุมครั้งที่ 1 

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

Timeline การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในปัจจุบัน 

16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการพิจารณาแนวเขตป่าไม้ใหม่ โดยจัดทำแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อใช้ตรวจสอบแนวเขตป่าไม้ 

มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) คือ หลักการแผนที่หนึ่งแผนที่ซึ่งหน่วยงานของรัฐใช้ร่วมกันเป็นแผนที่เดียว มาตราส่วนเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นข้อถกเถียงเรื่องแนวเขตของแต่ละหน่วยงาน 

22 กันยายน พ.ศ. 2558 - คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกที่ดินของรัฐ ปัญหาการทับซ้อนของแนวเขตที่ดิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้ได้เส้นแสดงแนวเขตที่ดินของรัฐ หรือที่เรียกว่าเส้น One Map โดยจะมีการปรับปรุงแนวเขตที่ประกาศตามกฎหมาย แนวเขตจริงและแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตามห้วงเวลา รวมทั้งสภาพข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการโดยแนวเขตทั้งหมดจะต้องต่อสนิทกัน ไม่ทับซ้อนหรือมีช่องว่าง 

การดำเนินการตามแนวทาง 1 : 4000 (One Map) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติทับลาน 

        ในส่วนของเขตจังหวัดนครราชสีมาที่เกิดปัญหาข้อถกเถียงเรื่องแนวเขตระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติทับลานกับเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ทั้งในเรื่องของสภาพพื้นที่จริงและลำดับการประกาศใช้หรือยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

         กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงยืนยันที่จะใช้แนวเขตตามแผนที่พระราชกฤษฎีกาฯ ปี พ.ศ.2524 มาโดยตลอด และยอมรับว่าหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่ที่จะถูกกันออกเพื่อส่งมอบให้สำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำนวน 58,000 ไร่ ที่เป็นแนวเขตเดิมของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว จึงทำให้ไม่สามารถหาข้อยุติและประกาศใช้แนวเขตปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมาได้

พ.ศ. 2562 - ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้หยิบยกแนวเขต ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2543 กลับมาพิจารณาใหม่ และมีมติเห็นชอบที่จะเสนอการใช้แนวเขต ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 

10 มีนาคม พ.ศ. 2566 - คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีมติเห็นชอบในการใช้แนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา 

14 มีนาคม พ.ศ. 2566 - คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เสนอ 

ภาพจาก ประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจาก ประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ผลกระทบหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่ 

หากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่จะมีผลให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ 

ถึงแม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มเข้าอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ 

นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีการเปิด 6 ผลกระทบหากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ ไว้ดังนี้

1.ผิดกฎหมาย พ.ร.บ ป่าสงวนแห่งชาติ 

หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม.เป็นแนวเขตฯ ทับลาน จะถือเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 164,960 ไร่

2.กระทบต่อรูปคดีตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 

โดยมีนายทุน / ผู้ครอบครองรายใหม่ 470 ราย และเปลี่ยนแปลงพื้นที่การใช้ประโยชน์ 23 ราย เนื้อที่รวมกว่า 11,083-3-20 ไร่ 

3.เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน 

ทำให้เกิดการซื้อ-ขาย เปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศเพิ่มขึ้น 

4.ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ผืนป่าแห่งนี้เป็นต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนโดยรวมและเป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง 

5.เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน 

ขุด ถม อัด ตัดไม้ ผิวดินขาดสิ่งปกคลุมในการรักษาความชุ่มชื้นและช่วยดูดซึมน้ำจนส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติ และอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน

6.แหล่งที่อยู่อาศัย หากิน เส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่าลดลง

เนื่องจากกิจกรรมมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าตามแนวเขตฯ ทำให้เกินความสามารถในการควบคุมพื้นที่

ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ระบุไว้ว่า 

“ในการกำหนดพื้นที่ใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ” 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566 

ข้อพิจารณาประกอบการรับฟังความคิดเห็น มีดังนี้ 

1.ท่านเห็นชอบในการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ.2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน หรือไม่ อย่างไร 

2.เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร

3.มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิม และจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีกระบวนการปรับเปลี่ยนการครอบครองไปอยู่ในมือของนายทุนหรือผู้มีฐานะดี 

4.การใช้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกป่าอนุรักษ์เพิ่ม มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี พ.ศ.2543 และมติรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่ 

5.จะเป็นแนวทางที่ใช้ขยายลุกลามให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่น ๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่น ๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือเพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน 

6.เป็นการขัดต่อนโยบายการป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร 

7.เป็นการส่งต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่

ตอนนี้กระแส #Saveทับลาน กำลังที่เป็นจับตามอง เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยต่อการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวและเห็นว่าควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อความยั่งยืนยันทางระบบนิเวศของป่าต่อไป  

สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ผ่าน 

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdOxZiTKKlqQFEBS_NHMbJ0wsBlkV9s8GNTrh9znEVsaGCnyg/viewform

 

เห็นด้วย = ยอมรับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ 

ไม่เห็นด้วย = ไม่ยอมรับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ 

ที่มา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

racc 9 ก.ค. 67 11:18 น. 1

บทความ research ละเอียดมากครับ อ่านแล้วรู้สึกหดหู่ แบบนี้พื้นที่สีเขียวในไทยก็จะยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ ????????

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด