พารู้จัก ‘ป่าอนุรักษ์’ ในไทย มีอะไรบ้าง! พร้อมสถานการณ์ป่าไม้ และปมส.ป.ก.กับป่าไทย

สวัสดีเพื่อน ๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ จากประเด็นเรื่องอุทยานแห่งชาติทับลานที่หลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเดี่ยวกับสถานะการเป็นป่าอนุรักษ์ของพื้นที่ดังกล่าว วันนี้เราจะมานำเสนอประเด็นเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์’ ในประเทศไทยที่หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าประเภทของป่าอนุรักษ์มีอะไรบ้าง แต่ละประเภทแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง? รวมถึงประเด็นสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย และปมส.ป.ก.กับอุทยานฯ ทับลานด้วยค่ะ 

ก่อนอื่นเรามาเริ่มจากข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ ‘ป่า’ กันก่อนดีกว่าค่ะ

ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ความหมาย 

ป่าไม้ (อังกฤษ: Forest, Jungle) 

ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ หมายถึง ที่ดินที่ไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายที่ดิน 

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า หมายถึง สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ประเภทรกร้างว่างเปล่า

โดยทั่วไป หมายถึง บริเวณที่มีต้นไม้หลายชนิด ขนาดต่าง ๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและกว้างใหญ่พอที่จะมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น เช่น ความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ มีสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ป่าอนุรักษ์ 

ป่าอนุรักษ์ หมายถึง ป่าที่รัฐได้กำหนดไว้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้อาจเป็นพื้นที่ป่าไม้ ชายฝั่งทะเล หรือลักษณะอื่น ๆ ที่มีระบบนิเวศดั้งเดิมหรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพื่อให้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ 

  กำหนดไว้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หายากหรือเสี่ยงสูญพันธุ์ และป้องกันภัยธรรมชาติ  ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยว นันทนาการ และการศึกษาวิจัย

ในการประชุม The World Congress on National Parks and Protected Areas ครั้งที่ 4 ณ กรุงคาราคัส ประเทศเวเนซุเอลา เมื่อปี ค.ศ. 1992 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ให้คำจำกัดความพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่อนุรักษ์ (Protected Areas) ในลักษณะรวมว่า “เป็นพื้นที่บกหรือพื้นที่ทางทะเลที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการคุ้มครองและบำรุงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งทรัพยากรทางวัฒนธรรม พร้อมมีระบบการจัดการที่ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายหรือวิธีการอื่นใดที่มีประสิทภาพ” 

สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute - WRI) ให้คำจัดกัดความว่า พื้นที่คุ้มครอง หมายถึง “พื้นที่ทางบกหรือทางทะเลที่ได้รับการจัดตั้งตามกฎหมายภายใต้ความเป็นเจ้าของของสาธารณชนหรือเอกชน ซึ่งถูกวางระเบียบให้และจัดการให้บรรลุวัตถุประสงค์พิเศษเฉพาะการอนุรักษ์

ประเภทของป่าอนุรักษ์ในประเทศไทย

ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติ (National Park)

อุทยานแห่งชาติ เป็นที่ดินซึ่งรวมพื้นที่ดินทั่วไป ภูเขา บึง ทะเลสาบ เกาะ หนอง ห้วย บึง คลอง และชายทะเลที่ได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นพื้นที่ที่สงวนและคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า สงวนไว้เพื่อให้คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิม

อุทยานแห่งชาติตามมาตราฐานต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 10 ตารางกิโลเมตร บริหารโดยรัฐบาลกลาง ค่าบริการสำหรับเข้าอุทยานแห่งชาติเป็นไปตามที่กรมอุทยานฯ กำหนด

7 อุทยานแห่งชาติในประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก: อุทยาน 3 แห่งในกลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน) และอุทยาน 4 แห่งในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา)  

วนอุทยาน

วนอุทยาน เป็นพื้นที่ที่มีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม เช่น ถ้ำ น้ำตก หาดทราย โดยทำการปรับปรุงตกแต่งสถานที่ให้เหมาะสมในการพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน เป็นสถานที่ซึ่งไม่อยู่ห่างไกลจากชุมชนมากนัก สะดวกแก่การเดินทางไปพักผ่อน

วนอุทยานตามมาตรฐานต้องมีพื้นที่ประมาณ 500 - 5,000 ไร่ ใช้พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพรบ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 เป็นกฏหมายหลัก มีค่าบริการ (บางแห่ง) สำหรับการเข้าวนอุทยาน

ตัวอย่างวนอุทยานในประเทศไทย: วนอุทยานแพะเมืองผี (แพร่), วนอุทยานพระแท่นดงรัง (กาญจนบุรี), วนอุทยานบึงสามพัน (พิษณุโลก) และวนอุทยานสระนางมโนราห์ (นครศรีธรรมราช) เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติ VS. วนอุทยาน

อุทยานแห่งชาติ: จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาและประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงได้ แต่ให้คงไว้ในสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ

วนอุทยาน: จัดตั้งขึ้นตามประกาศกรมอุทยาน หรือกรมป่าไม้ เป็นพื้นที่ที่สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่วนอุทยานบางส่วนได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ใช้เพื่อการพีลักผ่อนหย่อนใจ 

ภาพจาก  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจาก  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในท้องที่แหล่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 

ตัวอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ (จังหวัดสุรินทร์), เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว (จังหวัดเชียงใหม่) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ตาก) เป็นต้น

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (non-hunting area) หมายถึง พื้นที่คุ้มครองเพื่อการจัดการที่อยู่อาศัย/ชนิดพันธุ์ จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าบางชนิดหรือเป็นที่ที่สัตว์ป่าต้องการใช้สำหรับกิจกรรมบางอย่างในการดำรงชีวิต เช่น ผสมพันธ์ุ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน แหล่งอาหาร ที่พักระหว่างเดินทางย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น

ตัวอย่างเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในประเทศ: บึงบอระเพ็ด (นครสวรรค์), หมู่เกาะลิบง (ตรัง), แหลมตะลุมพุก (นครศรีธรรมราช) และคุ้งกระเบน (จันทบุรี) เป็นต้น

การเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

ต้องยื่นหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่อย่างน้อยก่อน 5 วันทำการ 

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สวนพฤษศาสตร์

สวนพฤษศาสตร์ เป็นแหล่งรวมพรรณไม้ประจำถิ่นหรือนำมาปลูกจากต่างถิ่นเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของพรรณไม้ ภายในสวนพฤษศาสตร์มีการปลูกพรรณไม้อย่างมีระบบเป็นหมวดหมู่ เช่น ด้านอนุกรมวิธาน ภูมิศาสตร์พืชพรรณ ประเภทของการจัดสวน การใช้ประโยชน์และสมุนไพร เป็นต้น มีทั้งพรรณไม้ถิ่นเดียว หายาก และใกล้สูญพันธุ์ 

ปัจจุบันประเทศไทยมีสวนพฤษศาสตร์จำนวน 18 แห่ง และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ตัวอย่างสวนพฤษศาสตร์ในประเทศไทย: สวนพฤษศาสตร์ 100 ปี (สระแก้ว), สวนพฤษศาสตร์เขาช่อง (ตรัง), สวนพฤษศาสตร์ดงฟ้าห่วน (อุบลราชธานี), สวนพฤษศาสตร์เขาหินซ้อน (ฉะเชิงเทรา) เป็นต้น

สวนรุกขชาติ

สวนรุกขชาติ เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ท้องถิ่นที่มีค่าทางเศรษฐกิจ หายาก และใกล้สูญพันธุ์ พื้นที่สวนใหญ่เป็นพื้นที่หย่อมป่าสงวนดั้งเดิม ใกล้แหล่งชุมชน มีต้นไม้เดิมหรือเป็นพื้นที่สวนป่าเดิมที่ไม่มีการบำรุงต่อไปแล้วจึงได้เปลี่ยนเป็นสวนรุกขชาติ 

ปัจจุบันประเทศไทยมีสวนรุกขชาติจำนวน 53 แห่ง และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ตัวอย่างสวนรุกขชาติในประเทศไทย: สวนรุกขชาติเขาดินไพรวัน (เชียงราย), สวนรุกขชาติกาญจนกุมาร (พิจิตร), สวนรุกขชาติผาเมือง (เพชรบูรณ์), สวนรุกขชาติภูข้าว (เลย) เป็นต้น

สวพฤษศาสตร์ VS. สวนรุกขชาติ

            สวนทั้ง 2 แบบ เหมือนกันที่เป็นสวนเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ต่างกันที่การเลือกพรรณไม้ปลูก คือ สวนพฤกษศาสตร์ ปลูกเพื่อการอนุรักษ์พรรณไม้ทั้งในและต่างประเทศ มีการจัดหมวดหมู่ตามหลักอนุกรมวิธาน ( taxonomy )เพื่อศึกษาวิจัยการปลูกพรรณไม้ในสวน ส่วนสวนรุกขชาตินั้น ปลูกเฉพาะไม้ยืนต้นขนาดใหญ่และไม้ดอกในท้องถิ่นเท่านั้น

ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย

“เพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ให้ได้ร้อยละ 25 ของพื้นที่ในประเทศ ภายในปี 2569” 

(วิสัยทัศน์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

วิสัยทัศน์ดังกล่าวของกรมอุทยานฯ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มีความต้องการให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย เพื่อการการอนุรักษ์และนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ตัวเลข 40% แบ่งออกเป็น การเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 15% และการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ 25% ของพื้นที่ประเทศไทย

ป่าอนุรักษ์ vs. ป่าเศรษฐกิจ

ป่าอนุรักษ์อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป้าหมายหลักคือเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์เดิมที่มีอยู่และพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ 

 

ป่าเศรษฐกิจอยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ เป้าหมายหลักคือ ควบคุม ดูแล จัดทำแผนกลยุทธ์ในการป้องกันการบุกรุกป่าและการกระทำผิดในพื้นที่ป่าไม้ โดยอนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแลรักษา และจัดการให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้และการอนุญาตที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ อุตสาหกรรมที่ดินป่าไม้ และผลผลิตป่าไม้

ปัจจุบัน รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า จากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่า ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ “101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%” ของพื้นที่ประเทศไทย

สาเหตุการเพิ่มขึ้นและลดลงของป่าไม้ในประเทศไทย

สาเหตุพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ได้แก่ การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ (Natural Forest Expansion) การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า (Planation) หรือการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต

สาเหตุพื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)

ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ที่ดิน ส.ป.ก. กับป่าไทย

ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร? 

ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือ เอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีหลักว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน

ที่ดิน ส.ป.ก ซื้อขายได้ไหม? 

พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 ระบุว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

หากมีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน ส.ป.ก. กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้กำหนดมาตรการหรือโทษตามกฎหมาย โดยผู้ขายต้องเสียสิทธิทำกินในที่ดินที่ได้รับอนุญาต ในขณะที่ผู้ซื้อก็ไม่อาจอ้างการซื้อขายเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.ได้ นอกจากนั้นผู้ซื้อและผู้ขายอาจต้องรับโทษอาญาถึงจำคุกด้วย

ที่ดิน ส.ป.ก. โอนให้ใครได้บ้าง?

ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถโอนสิทธิและตกทอดทางมรดกสิทธิให้ทายาท ต้องเป็นเกษตรกรหรือผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักเท่านั้น ดังนี้

  • การโอนสิทธิ เกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. ยังมีชีวิตออยู่ สามารถโอนสิทธิให้ทายาทได้ ต่อเมื่อมีเหตุผลและความจำเป็น เช่น แก่ชรา เจ็บป่วย เป็นต้น
  •  ตกทอดทางมรดกสิทธิ เกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. เสียชีวิต ทายาทสามารถยื่นคำร้องขอรับมรดกสิทธิได้

ปม ส.ป.ก กับ ป่าทับลาน

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรณี #Saveทับลาน เป็นเรื่องของการอนุรักษ์และการจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื่องมาจาก การประกาศเขตอุทยานเมื่อปี พ.ศ.2524 ซึ่งมีเขตที่ทับซ้อนกับพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อน การปรับเขตพื้นที่จึงเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยาน โดยแนวทางการในการลดความขัดแย้งนี้ คือ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งเป็นหลักการแผนที่หน่ึงแผนที่ซึ่งหน่วยงานของรัฐใช้ร่วมกันเป็นแผนที่เดียว มาตราส่วนเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นข้อถกเถียงเรื่องแนวเขตของแต่ละหน่วยงาน 

โดยกระบวนการแก้ปัญหานี้ต้องมุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ตามสิทธิของตน ทั้งฝ่ายประชาชนที่ต้องได้รับการจัดสรรพื้นที่อย่างชอบธรรม และฝ่ายกรมอุทยานแห่งชาติที่จะสามารถรักษาผืนป่าและป้องกันการหาประโยชน์ในทางมิชอบจากพื้นป่าได้

 

สถาการณ์ป่าไม้ในไทยเป็นเรื่องที่เรายังต้องจับตามองและพูดคุยกันในรายละเอียดอีกหลายประเด็น การอนุรักษ์ป่าไม่ใช่เพียงแค่การปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษา ดูแล ป้องกันเพื่อให้คงอยู่ให้มนุษย์ได้พึ่งพิงต่อไป 

ที่มาhttps://www.dnp.go.th/Research/Knowledge/B_forest1.htmlhttps://greennews.agency/?p=19202https://botany.dnp.go.th/garden/index.htmlhttps://km.dmcr.go.th/c_61/s_65https://www.facebook.com/SeubNakhasathienFD/photohttp://legacy.orst.go.th/?knowledgeshttps://www.ddproperty.com/https://www.thaipbs.or.th/now/content/1371
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น