อย่าบูลลี่! เด็ก LD ไม่ใช่คนโง่ แค่บกพร่องทางการเรียนรู้เฉพาะด้าน

มารู้จัก! LD โรคทางสมองที่รักษาไม่หาย แต่ดีขึ้นได้ ถ้าช่วยเหลือเร็ว

 โรค LD เป็นโรคเกี่ยวกับสมองที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เช่น อ่านเขียนผิดๆ ถูกๆ หรือเขียนไม่เป็นประโยค เขียนตัวหนังสือกลับด้าน สับสนเลข 9 กับเลข 6 หรือใช้เวลาในการทำแบบฝึกหัดนาน ทั้งที่พูดรู้เรื่อง เข้าใจทุกอย่าง และมีพัฒนาการด้านอื่นๆ ปกติดี โดยพบอาการเหล่านี้มากในเด็กชั้นประถมศึกษา หรือเริ่มสังเกตได้เมื่ออายุประมาณ 8 ขวบ

แต่แทนที่จะได้รับความสนใจและให้ความสำคัญ ภาวะ LD กลับถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน สติปัญญาไม่ดี สอบตกบ่อย เรียนไม่เก่ง หรือโง่ ซึ่งจริงๆ แล้ว LD หรือภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้นี้ ไม่เกี่ยวกับสติปัญญา เพียงแต่ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการเรียนเนื่องจากไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ผู้ปกครองและคุณครูควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมเด็ก เนื่องจาก LD ไม่เพียงส่งผลต่อการเรียนเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อการพัฒนาทักษะสังคม และเกิดผลกระทบไปจนถึงวัยรุ่นหรือตอนโตด้วย

 LD – ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ คืออะไร

โรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning disability หรือ Learning disorder หรือ LD) เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยที่เด็กมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติและมีความสามารถด้านอื่นๆ ปกติดี

 สาเหตุของโรคการเรียนรู้บกพร่อง (LD) 

เกิดจากโครงสร้างและการทำงานของสมองในส่วนของการรับและสื่อสารข้อมูลผิดปกติ ทำให้เกิดความบกพร่องในการทำงานของสมองในตำแหน่งที่จำเพาะกับทักษะนั้นๆ โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา โดยอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนคลอด

เกิดจากสภาวะของสังคม สภาพแวดล้อม เนื่องจากมีสารตะกั่วอยู่ในอากาศปริมาณมาก หรือสารตะกั่วเหล่านั้นปนเปื้อนอยู่ในน้ำ เมื่อแม่ตั้งครรภ์หรือเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าไปก็อาจทำให้เด็กมีปัญหาการบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน

หรือเกิดจากคุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย (14-15 ปี) คลอดลูกออกมาน้ำหนักน้อย หรือจากกรรมพันธุ์ที่มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องมีปัญหาเดียวกัน

จากสถิติพบเด็กเป็น LD 4-10% ในเด็กวัยเรียน เด็กผู้ชายพบมากว่าเด็กผู้หญิง 2-3 เท่า และพบร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้ถึง 40-50% แต่เด็กผู้ชายมักถูกส่งมาพบแพทย์มากกว่า เนื่องจากมีพฤติกรรมดื้อและซน ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะเรียบร้อย ไม่ค่อยแสดงออก ส่วนโรคร่วมอย่างสมาธิสั้นจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงอย่างชัดเจน

การสังเกตอาการและการวินิจฉัยโรคการเรียนรู้บกพร่อง (LD) 

โรค LD สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เด็กวัยประถม เนื่องจากเห็นได้ชัดในเรื่องการอ่าน การเขียน การพูด เนื่องจากปัจจุบันผู้ปกครองมักเร่งให้เด็กฝึกอ่านเขียน หากเด็กมีความพร้อมก็จะเรียนรู้ได้เร็ว แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีความพร้อมทางพัฒนาการสมอง หรือบกพร่องทางการเรียนรู้ ทำให้เรียนรู้ได้ช้า เกิดความไม่มั่นใจ กลัวและไม่ชอบไปโรงเรียน หากละเลยปัญหานี้ จะส่งผลต่อเด็กไปถึงตอนโตได้

พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถร่วมกันสังเกตอาการของโรคได้ด้วยตนเองว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านใดบ้าง ทั้งนี้การระบุว่าเป็นโรค LD หรือไม่ ต้องผ่านการวินิจฉัยโดยกุมารแพทย์พัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากพ่อแม่และคุณครู ตรวจประเมินเด็กอย่างละเอียด ร่วมกับการทดสอบระดับสติปัญญาและความสามารถทางการเรียน 

สังเกตอาการจากความบกพร่อง 3 ด้านที่พบได้บ่อย คือ

1. ความบกพร่องด้านการอ่าน

  • เป็นปัญหาที่พบมากที่สุดในเด็กที่เป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง
  • มีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ
  • มักอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ บางรายอาจมีท่าทีกังวล และหลีกเลี่ยงการอ่าน
  • มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

ตัวอย่าง ไม่เข้าใจความหมายของคำที่อ่าน ไม่เข้าใจว่าคำต้องประกอบด้วยเสียงจากตัวอักษร ต่างๆ เช่น ทำไม กอ โอะ บอ อ่านว่า กบ  เมื่อสะกดคำไม่ได้ก็นำไปสู่ปัญหาการอ่าน อ่านไม่ได้ หรืออ่านได้ช้า 

2. ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ

  • มักพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน
  • มีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง
  • มักเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออกผ่านการเขียนได้ เช่น เขียนหัวพยัญชนะสลับด้าน เขียนตามการออกเสียง เช่น สะ-หนุก บางรายมีการหลีกเลี่ยงการเขียน ไม่จดงาน
  • มีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

ตัวอย่าง  ไม่สามารถวาดรูปทรง ลายเส้นได้ จำรูปร่างของตัวอักษรไม่ได้ เขียนสับสน เช่น  ถ ภ โ ร เว้นวรรคผิด หรือไม่เว้นวรรคเลย  เขียนสิ่งที่คิดออกมาได้ยากลำบาก เพราะมีปัญหาในการเรียบเรียงความคิดและเขียน ถ้าให้พูดจะสื่อสารได้ดีกว่า 

3. ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์

  • ขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
  • ไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้
  • มีความสามารถในการคิดคำนวณต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

ตัวอย่าง  เรียน ฟัง ดูตัวอย่างแล้วไม่สามารถทำความเข้าใจได้ (คนละแบบกับยากหรือขี้เกียจ) เมื่อไม่เข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน สูตรคูณ สัญลักษณ์ ก็นำไปสู่การไม่เข้าใจเรื่องเศษส่วน เปอร์เซ็นต์ เรขาคณิต เวลา เงิน มาตราชั่ง ตวง วัด ต่างๆ 

อาจพบปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ร่วมด้วย

โดยเด็กมักรู้สึกหงุดหงิดและรู้สึกด้อยที่ตนเองทำไม่ได้ทัดเทียมเพื่อนๆ หรืออาจถูกกดดันจากชั้นเรียน หรือถูกบูลลี่ และอาจจะแสดงพฤติกรรม ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการอ่านการเขียน
  • ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จทำงานสะเพร่า
  • ความจำไม่ดี เรียนได้หน้าลืมหลัง
  • รู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้
  • ไม่มั่นใจในตนเอง มักตอบว่า “ทำไม่ได้” “ไม่รู้”
  • อารมณ์ ขึ้นๆ ลงๆ หงุดหงิดง่าย ไม่อดทน
  • ก้าวร้าวกับเพื่อน พี่น้อง ครู หรือพ่อแม่
  • ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง

นอกจากนี้ อาการ LD ยังอาจพบความบกพร่องในด้านการฟัง การมองเห็น และการใช้ภาษาหรือการตีความภาษาอีกด้วย เช่น การไม่เข้าใจคำสั่ง หรือการรับรู้ข้อมูล การสื่อสารสิ่งที่ต้องการจะพูด ตลอดจนการไม่เข้าใจสีหน้าท่าทาง หรือไม่เข้าใจเรื่องของกาลเทศะ เป็นต้น

หากพบความบกพร่องทางการเรียนรู้ดังกล่าวซึ่งอาจมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น สมาธิสั้น ซึมเศร้า ควรให้การช่วยเหลือเด็กโดยเร็วที่สุดคือรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรับการรักษาตั้งแต่ยังมีอาการน้อย 

LD รักษาไม่หาย แต่ดีขึ้นได้ถ้าช่วยเหลือเร็ว

การรักษา LD ในปัจจุบันยังไม่มียาที่กินแล้วหาย แต่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ฝึกฝนทักษะที่บกพร่อง ร่วมกับการบำบัดอื่นๆ เช่น ศิลปะบำบัด หรือให้การช่วยเหลือรักษาปัญหาทางอารมณ์ที่พบร่วม เช่น สมาธิสั้น ปัญหาการสื่อสาร ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น

การฝึกฝนทักษะที่บกพร่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากครอบครัวและโรงเรียน ร่วมกับการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ โดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้

การช่วยเหลือทางการแพทย์

เนื่องจากโรค LD สามารถเกิดรวมกับโรคอื่นๆ ได้บ่อย เช่น โรคสมาธิสั้น ดังนั้นแพทย์จึงมีบทบาทในการประเมิน วินิจฉัยภาวะต่างๆ ที่เด็กมี ร่วมถึงให้การรักษาภาวะเหล่านั้น เช่น โรคสมาธิสั้น หากได้รับยาช่วยสมาธิ อาการของโรคก็จะดีขึ้นมาก

การช่วยเหลือทางการศึกษา

โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน โดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็ก เน้นการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ อ่าน เขียนสอนเป็นกลุ่มย่อยหรือตัวต่อครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน การช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง เพื่อให้เด็กได้เนื้อหา ความรู้ ได้เร็วขึ้น การให้เวลาในการทำสอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการ อ่านโจทย์ และเขียนตอบ จะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น และควรส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

การช่วยเหลือจากครอบครัว

อธิบายให้เด็กและครอบครัวทราบถึงปัญหาและความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกของเด็กที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

เปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิ ลงโทษ เป็นความเข้าใจ และสนับสนุนในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก

ชื่นชมเมื่อเด็กทำสำเร็จแม้ในเรื่องเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

สถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบัน พบว่า มีเด็ก LD เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของโรงพยาบาลจำนวนน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองบางคนต้องทำงาน ไม่มีเวลา หรือบางคนมองว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ทั้งที่เด็กหลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม โดยการช่วยเหลือหากเริ่มตั้งแต่ยิ่งเล็กยิ่งดี

เด็ก LD ต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาไม่ได้เป็นคนโง่หรือล้มเหลว หากพบปัญหาการเรียนรู้บกพร่อง ควรรีบแก้ไขให้เขามีความมั่นใจและพัฒนาได้เร็วขึ้นนะคะ

 

ที่มา
รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์ จิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ  Bangkok Mental Health Hospital
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1907https://www.manarom.com/blog/Learning_disabilities-LD.htmlhttps://www.dek-d.com/education/25913/https://www.dek-d.com/teentrends/64158/

 
พี่จูน
พี่จูน - Columnist บ.ก.บันเทิง/ไลฟ์สไตล์ ใจดีกว่าหน้าตา รักสัตว์ รักเด็ก อยากเป็นนางเอกและนางงาม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น