คัดมาแล้ว! 10 หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ออกสอบบ่อย

ถ้าพูดถึง ‘วิชาพระพุทธศาสนา’ เชื่อว่าเรื่องที่น้องๆ ชาว Dek-D นึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คงเป็น ‘หลักธรรมคำสอน’ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในหลักสูตรมีมาตรฐานการเรียนรู้ว่า น้องๆ จะต้องวิเคราะห์หลักธรรม คติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญของศาสนา และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ หลักธรรมต่างๆ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ได้รวบรวมและสรุป 10 หลักธรรมสำคัญที่ออกสอบบ่อยมาให้ทุกคน โดยบทความนี้เราจะเน้นกันที่หลักธรรมที่สอดคล้องกับ ‘หลักอริยสัจ 4’ กันค่ะ อ่านจบกันแล้วอย่าลืมทำแบบทดสอบความรู้จากข้อสอบเข้ามหา’ลัยจริงด้านล่างกันด้วยนะคะ

คัดมาแล้ว! 10 หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ออกสอบบ่อย
คัดมาแล้ว! 10 หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ออกสอบบ่อย  

ความสำคัญของหลักธรรมทางพระพุทธศานา

หลักธรรมคำสอนเป็นสิ่งสำคัญของแต่ละศาสนา สำหรับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบและนำมาเผยแผ่ เพื่อให้เกิดความสงบสุข ดังนั้น การศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงถือเป็นสิ่งสำคัญของพุทธศาสนิกชน เพื่อที่จะได้นำหลักธรรมมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและราบรื่น  

 

จริงๆ แล้วหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายหลายคำสอน แต่เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนคงจะคุ้นเคยหรือได้ยิน “อริยสัจ 4” กันบ่อยๆ ซึ่งชาวพุทธหลายคนก็มีความเชื่อว่า อริยสัจ 4 คือ หัวใจสำคัญของพระพุทธศานา เพราะเป็นหลักธรรมที่ครอบคลุมของพระธรรมคำสอนทั้งหมดเอาไว้  

อริยสัจ 4 หลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศานา

อริยสัจ 4 คือ หลักความจริงอันประเสริฐ  4 ประการ เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ (วันวิสาขบูชา) และแสดงไว้ในวันที่ประกาศศาสนาครั้งแรก (วันอาสาฬหบูชา)  ซึ่งถือเป็นหลักธรรมแห่งการดับทุกข์ ที่สามารถนำไปปรับใช้ และเป็นวิธีแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ ประกอบด้วย…  

  • ทุกข์ - การมีอยู่ของทุกข์ คือ การสำรวจความไม่สบายกาย สบายใจของตนเอง
  • สมุทัย - เหตุแห่งทุกข์ คือ การค้นหาสาเหตุของทุกข์ว่าเกิดจากอะไร
  • นิโรธ - การดับทุกข์ คือ เป้าหมายของการดับทุกข์
  • มรรค - หนทางนำไปสู่การดับทุกข์ คือ วิธีการแก้ไขปัญหา

ตัวอย่าง การนำหลักอริยสัจ 4 ไปปรับใช้กับการเรียน  

  • ทุกข์ (ผล)       อยากสอบได้เกรดดีๆ แต่ไม่เป็นอย่างที่หวัง
  • สมุทัย (เหตุ)   ไม่เข้าใจบทเรียน ไม่ตั้งใจอ่านหนังสือ
  • นิโรธ (ผล)      สอบได้คะแนนดีขึ้น
  • มรรค (เหตุ)    ทบทวนบทเรียน อ่านหนังสือ

อริยสัจ 4 ถือเป็นศูนย์รวมหลักธรรมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ถ้าเราเปรียบอริยสัจ 4 เป็นต้นไม้ หลักธรรมนี้ก็เป็นลำต้นที่ยังมีกิ่งก้านสาขาแตกแยกย่อยออกไปอีก ซึ่งกิ่งเหล่านั้นก็เปรียบเสมือนหลักธรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับหลักอริยสัจ 4 นั่นเอง จะมีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

หลักธรรมที่สอดคล้องกับ “ทุกข์” ตามหลักอริยสัจ 4  

ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้) คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งหลักธรรมที่สอดคล้องกับทุกข์ มีดังนี้

ขันธ์ 5 - องค์ประกอบของชีวิต  

หรือเบญจขันธ์ หมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมทั้ง 5 ที่ทำให้เกิดเป็นชีวิต ถ้าพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ ส่วนประกอบ 5 อย่าง ที่รวมกันแล้วก่อให้เกิดเป็นคนและสัตว์ขึ้นมา เน้นสอนในเรื่องสังขารเป็นหลัก โดยให้มองเห็นความเป็นจริงว่าสังขารเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ไม่มีความเที่ยง และก่อให้เกิดทุกข์หลายอย่าง  ขันธ์ 5 ประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรม แยกเป็น 1 รูป 4 นาม ได้แก่  

  1. รูปขันธ์ คือ ส่วนที่เป็นรูปร่าง รูปธรรมทั้งหมดที่ต้องสลายไป เพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นร่างกาย และพฤติกรรมทั้งหมด
  2. เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกของกายและใจที่เกิดขึ้นจากประสาทสัมผัสและการรับรู้ มี 3 อย่าง คือ ความสุขกายสุขใจ, ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความรู้สึกเฉยๆ
  3. สัญญาขันธ์ คือ ความจำได้ (จำรูป จำรส จำกลิ่น จำเสียง จำสัมผัส) ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เช่น  รู้ว่าผงสีขาว รสเค็ม เรียกว่า เกลือ
  4. สังขารขันธ์ คือ การที่จิตของเราคิดปรุงแต่งไปในทางที่ดี ชั่ว หรือเป็นกลาง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมทั้งทางดีและทางชั่ว หรือเป็นแรงจูงใจ แรงผลักดันให้เรากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
  5. วิญญาณขันธ์ คือ การรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของใจ ผ่านประสาทสัมผัส 6 อย่าง หรืออาตยนะ 6 คือ
    • จักขุวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
    • โสตวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
    • ฆานวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
    • ชิวหาวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
    • กายวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)
    • มโนวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

Note : อายตนะ แปลว่า สิ่งที่เชื่อมต่อให้เกิดการรับรู้ เช่น ตาบอดจะมองไม่เห็นสิ่งต่างๆ เมื่อมองไม่เห็น ความรู้ที่เกิดการจากมองไม่เห็นก็จะไม่มี แต่ก็มีข้อดี คือ ความทุกข์ที่เกิดจากทางตาที่ได้เห็นก็จะไม่มี  

หลักธรรมที่สอดคล้องกับ “สมุทัย” ตามหลักอริยสัจ 4  

สมุทัย (ธรรมที่ควรละ) คือ เหตุแห่งความทุกข์ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ  ที่เกิดขึ้น ล้วนมีสาเหตุเกิดจากอะไรบางอย่าง โดยหลักธรรมที่ควรละ เพื่อไม่ให้เกิดทุกข์ต่างๆ มีดังนี้       

นิวรณ์ 5 - สิ่งปิดกั้นความดี

หมายถึง สิ่งที่ปิดกั้นขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี หรือปิดกั้นความดีไม่ให้เข้าถึงจิตใจของเรา  ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้ หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่ปิดกั้นขัดขวางเราไม่ให้มีสมาธิทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จ จนก่อให้เกิดความทุกข์ แบ่งเป็น 5 อย่าง ได้แก่  

  1. กามฉันทะ - ความพอใจในกาม หมายถึง กลุ่มอารมณ์ประเภทความลุ่มหลง ความรักใคร่ ความต้องการทางเพศ การติดใจ ความต้องการ ความปรารถนา ความหลงใหลใฝ่ฝัน
  2. พยาบาท - ความปองร้าย หมายถึง กลุ่มอารมณ์ประเภทความโกรธ ความเกลียด ความแค้น ความริษยา ความดูหมิ่น ความผูกใจเจ็บ ความขัดเคืองใจ
  3. ถีนมิทธะ - ความง่วงเหงาหดหู่ หมายถึง กลุ่มอารมณ์ประเภทความขี้เกียจ ท้อแท้ เศร้าซึม หมดหวัง เสียใจ ไร้กำลังใจ ไม่ฮึกเหิม เบื่อ เซ็ง
  4. อุทธัจจะกุกกุจจะ - ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ หมายถึง กลุ่มอารมณ์ประเภทวิตกกังวล ระแวง กลัว คิดมาก
  5. วิจิกิจฉา - ความลังเลสงสัย หมายถึง กลุ่มอารมณ์ประเภทความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล ไม่มั่นใจ

วิบัติ 4 - ความบกพร่อง 4 ประการ

มีอีกชื่อเรียกว่า หลักกรรม หรือกฎแห่งกรรม หมายถึง ความบกพร่องขององค์ประกอบต่างๆ ที่ไม่อำนวยให้กรรมปรากฏผลดี แต่กลับทำให้ปรากฏผลชั่ว ถ้าอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ เลยก็คือ หว่านพืชเช่นใดได้ผลเช่นนั้น หรือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นเอง แบ่งออกเป็น 4 อย่าง  

  1. คติวิบัติ คือ สถานที่หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ไม่เกื้อกูล แก่การทำให้เราเกิดความดี เช่น เกิดในภพ หรือประเทศที่ไม่เจริญ หรือมีแต่ตัวอย่างที่ไม่ดีให้เราเห็น
  2. อุปธวิบัติ คือ การมีบุคลิกบกพร่อง เช่น ร่างกายพิการ อ่อนแอ ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสดีๆ บางอย่างไป
  3. กาลวิบัติ คือ การกระทำที่ไม่ถูกเวลา ไม่ถูกจังหวะ เช่น เกิดในยุคที่ไม่ดี ยกย่องคนชั่ว ไร้ศีลธรรม หรือทำอะไรไม่ถูกที่ไม่ถูกเวลาก็อาจจะทำให้เจอสิ่งที่ไม่ดีได้
  4. ปโยควิบัติ คือ เรื่องที่ทำบกพร่อง เช่น การทำงานไม่ครบถ้วนไม่ต่อเนื่อง ทำครึ่งๆ กลางๆ ไม่ตรงกับความถนัดหรือความสามารถของตน

อกุศลกรรมบถ 10 - ทางแห่งความชั่ว

หมายถึง ทางทำความชั่ว หรือกรรมชั่ว ที่เป็นทางนำไปสู่ความทุกข์และความเดือดร้อน แก่ตนเอง ผู้อื่น และสังคม ซึ่งมีทั้งหมด 10 ประการ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

กายกรรม - การทำชั่วทางกาย  

  • ปาณาติปาตา - ฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต
  • อทินนาทานา - ลักขโมย
  • กาเมสุมิจฉาจาร - ประพฤติผิดในกาม

วจีกรรม - การทำชั่วทางวาจา  

  • มุสาวาท - พูดโกหก หลอกลวง
  • ปิสุณาวาจา - พูดส่อเสียด เหน็บแนม
  • ผรุสาวาจา - พูดหยาบคาย
  • สัมผัปปลาปะ - พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ

มโนกรรม - การทำชั่วทางใจ

  • อภิชฌา - คิดอยากได้ของผู้อื่น
  • พยาบาท- คิดร้ายกับผู้อื่น
  • มิจฉาทิฐิ - เห็นผิดจากคลองธรรม เช่น ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อบายมุข 6 - ทางแห่งความเสื่อม  

หมายถึง หนทางหรือช่องทางแห่งความเสื่อม และความพินาศของทรัพย์สมบัติและตนเอง มี 6 ประการ ดังนี้

  1. ติดสุราและของมึนเมาทุกชนิด รวมถึงบุหรี่ 
    • โทษ : เสียทรัพย์ เกิดการทะเลาะวิวาท เสียสุขภาพ เสียชื่อเสียง บั่นทอนสติ
  2. ชอบเที่ยวกลางคืน เป็นนักท่องราตรี เช่น ร้านคาราโอเกะ ร้านเหล้า ผับ บาร์
    • โทษ : ไม่รักษาตัวเอง ครอบครัว และทรัพย์ เป็นเป้าหมายโดนใส่ความ คนรอบตัวไม่ไว้ใจ
  3. ชอบเที่ยวดูการละเล่น เช่น การแสดง งานบันเทิง คอนเสิร์ต
    • โทษ : ใจจดจ่ออยู่กับการเที่ยว ไม่เป็นอันทำมาหากิจ เสียเวลา เสียเงิน คนเชื่อถือน้อยลง ถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาการเอางาน
  4. ติดการพนัน เช่น เล่นไพ่ เล่นหวย พนันบอล
    • โทษ : กลายเป็นคนลุ่มหลงเล่นแล้วไม่อยากหยุด เสียทรัพย์ ไม่มีใครเชื่อถือ คนรอบตัวดูหมิ่น ไม่มีใครอยากคบด้วย
  5. ขี้เกียจ ไม่ทำงาน
    • โทษ : ชีวิตตกต่ำไม่เจริญก้าวหน้า มีแต่ความอยากลำบาก ขัดสนในชีวิต
  6. คบคนชั่ว
    • โทษ : กลายเป็นคนชั่วตามคนที่คบ ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนตามไปด้วย

หลักธรรมที่สอดคล้องกับ “นิโรธ” ตามหลักอริยสัจ 4  

นิโรธ (ธรรมที่ควรบรรลุ) คือ การดับทุกข์หรือดับปัญหาต่างๆ   เพื่อให้เกิดความสุข ในพุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับเรื่องความสุขมากมาย โดยจุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน  ซึ่งมีหลักธรรมที่สอดคล้อง ดังนี้

นิโรธ 5 - ภาวะไร้กิเลส

หมายถึง ความดับกิเลส ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้น เป็นหลักธรรมที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งมี 5 ประการ ได้แก่

  1. วิกขัมภนนิโรธ - ดับทุกข์ด้วยการข่มไว้
  2. ตทังคนิโรธ - ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ หรือธรรมที่ตรงข้าม
  3. สมุจเฉทนิโรธ - ดับทุกข์ด้วยการตัดขาด
  4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ - ดับด้วยการระงับ
  5. นิสสรณนิโรธ - ดับด้วยปลอดโปร่งไป ดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสยั่งยืน

Note : นิโรธ 5 ยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น

  • ปหาน 5 (การละกิเลส 5 ประการ)
  • วิมุตติ 5 (ความหลุดพ้น 5 ประการ)
  • วิเวก 5 (ความสงัด ความปลีกออก 5 ประการ)
  • วิราคะ 5 (ความคลายกำหนัด ความสำรอกได้ 5 ประการ)
  • โวสสัคคะ 5 (ความสละ ความปล่อย 5 ประการ)

สุข 2 - ความสบายกาย ความใจ  

แบ่งออกเป็น 2 ประการ ได้แก่  

1.สามิสสุข - ความสุขทางกาย

หมายถึง ความสุขทางกายที่เกิดจากวัตถุภายนอก เรียกว่า กามสุข คือ ความสุขที่เกิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ทำให้เกิดความพอใจ เป็นความสุขของคนทั่วไป ที่เกิดจากการกระทำความดีในด้านต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่

  • อัตถิสุข - สุขจากการมีทรัพย์
  • โภคสุข - สุขจากการจ่ายทรัพย์
  • อนณสุข - สุขจากการไม่มีหนี้
  • อนวัชชสุข - สุขจากการประพฤติสุจริต
  • สามิสสุข เป็นความสุขที่ไม่แน่นอน เพราะความทุกข์อาจเกิดขึ้นได้เสมอถ้าประมาท

2.นิรามิสสุข - ความสุขทางใจ

หมายถึง ความสุขที่ไม่อิงอาศัยวัตถุภายนอก เรียกว่า ความสุขทางใจ ความสุขประเภทนี้มีตั้งแต่ขั้นต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด ได้แก่              

  • นิรามิสสุขขั้นต่ำ คือ การได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่ ไม่มีศัตรู ไม่มีผู้เกลียดชัง ไม่คิดร้ายต่อใคร ไม่กังวล ไม่หวาดระแวง ไม่คิดฟุ้งซ่าน
  • นิรามิสสุขขั้นกลาง คือ ความอิ่มใจที่ได้เสียสละ การมีจิตใจที่สงบ
  • นิรามิสสุขขั้นสูงสุด คือ นิพพาน

หลักธรรมที่สอดคล้องกับ “มรรค” ตามหลักอริยสัจ 4  

มรรค (หลักธรรมที่ควรเจริญ) หมายถึง หนทางที่ไม่ต้องพบความทุกข์อีก มีหลักธรรมที่สอดคล้อง ดังนี้

มรรค 8 - ข้อปฏิบัติเพื่อหมดทุกข์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรค 8 เป็น ‘ทางสายกลาง’ หรือ ‘มัชฌิมาปฏิปทา’  คือเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น ประกอบด้วย  

  1. สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดีได้
  2. สัมมาสังกัปปะ - ความคิดชอบ เช่น คิดในทางดี ไม่หลงใหลกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่คิดร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น
  3. สัมมาวาจา - การพูดชอบ  เช่น ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ
  4. สัมมากัมมันตะ - การกระทำชอบ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม หรือการเว้นจากการกิจกรรมทางเพศ
  5. สัมมาอาชีวะ - การเลี้ยงชีพชอบ เช่น ทำงานสุจริต ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม
  6. สัมมาวายามะ - ความพยายามชอบ เช่น มีความพยายามและตั้งใจลงมือทำสิ่งต่างๆ ให้ดี
  7. สัมมาสติ - ระลึกชอบ เช่น ฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน
  8. สัมมาสมาธิ - ตั้งจิตชอบ เช่น ควบคุมจิต สมาธิ และอารมณ์ของตัวเองให้ได้

มรรค 8 สามารถเทียบเคียง หรือจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ “ไตรสิกขา” ได้อีกด้วย

ไตรสิกขา - หลักการพัฒนามนุษย์

หมายถึง พัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาการที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ จะต้องพัฒนาให้ครบทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา โดยสามารถจัด มรรค 8 ให้อยู่ในหลักไตรสิกขาได้ ดังนี้  

  1. สีลสิกขา (ศีล) - การประพฤติที่ดี ทั้งกายและวาจา 
    • สัมมาวาจา/สัมมากัมมันตะ/สัมมาอาชีวะ
  2. จิตตสิกขา (สมาธิ) - การฝึกจิตที่ดี
    • สัมมาสติ/สัมมาสมาธิ/สัมมาวายามะ
  3. ปัญญาสิกขา (ปัญญา) - การคิดและมีปัญญาที่ดี
    • สัมมาทิฏฐิ (เห็น)/สัมมาสังกัปปะ (คิด)

สติปัฏฐาน 4 - ข้อปฏิบัติอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ

หมายถึง การตั้งสติพิจารณาสิ่งต่างๆ ตามความจริง โดยที่รู้เท่าทัน เพื่อให้มีสติปัญญาที่สมบูรณ์ และทำให้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต แบ่งออกเป็น 4 ประการ                      

  1. กายานุปัสสนา - พิจารณากาย เป็นเพียงกาย ไม่ใช่ของเราหรือของใคร ต้องมีแก่ เจ็บ ตาย ตามกาลเวลา
  2. เวทนานุปัสสนา - พิจารณาความสุข ความทุกข์ และความรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทันว่าเป็นอย่างไร
  3. จิตตานุปัสสนา - พิจารณาจิต เพื่อให้รู้เท่าทันว่า จิตใจขณะนั้นเป็นอย่างไร เช่น หดหู่ ฟุ้งซ่าน ขี้เกียจ หรือขยัน
  4. ธัมมานุปัสสนา - พิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นกับใจว่า สาเหตุมาจากอะไรบ้าง และจัดการด้วยวิธีไหน

สรุป 10 หลักธรรมออกสอบบ่อย  

หลักธรรมที่สอดคล้องกับ ‘หลักอริยสัจ 4’ มีดังนี้

10 หลักธรรมช่วยดับทุกข์ ออกสอบบ่อย!
10 หลักธรรมช่วยดับทุกข์ ออกสอบบ่อย!
  • ทุกข์ ได้แก่ ขันธ์ 5
  • สมุทัย ได้แก่ นิวรณ์ 5, วิบัติ 4, อกุศลกรรมบถ 10 และอบายมุข 6
  • นิโรธ ได้แก่ นิโรธ 5 และสุข 2
  • มรรค ได้แก่ มรรค 8, ไตรสิกขา และสติปัฏฐาน 4

 

มาทดสอบความรู้กัน!

เป็นยังไงกันบ้างคะกับหลักธรรมที่คัดเลือกมากันในบทความนี้ เชื่อว่าน่าจะมีหลายหลักธรรมที่น้องๆ คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คราวนี้ถึงเวลาทดสอบความรู้ ความเข้าใจเรื่องหลักธรรมแล้วค่ะ สำหรับแบบทดสอบวันนี้เป็นข้อสอบ O-NET วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ปีการศึกษา 2560

 

ข้อใดแสดงกระบวนการและผลของการศึกษาได้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

1. สีลสิกขา นำไปสู่ผลคือปัญญาที่พัฒนาแล้ว

2. จิตตสิกขา นำไปสู่ผลคือกายที่พัฒนาแล้ว

3. ปัญญาสิกขา นำไปสู่ผลคือ จิตที่พัฒนาแล้ว

4. สีลสิกขา นำไปสู่ผลคือกายและความประพฤติที่พัฒนาแล้ว

5. ปัญญาสิกขา นำไปสู่ผลคือจิตและปัญญาที่พัฒนาแล้ว

 

น้องๆ คิดว่าข้อไหนคือคำตอบที่ถูกต้อง คอมเมนต์ด้านล่างได้เลย  

 

สำหรับคอลัมน์ รู้ไว้เผื่อออกสอบ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น