สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D ในบทความที่แล้วพี่แป้งพาทุกคนไปทำความรู้จักกับระบบเศรษฐกิจกันไปแล้ว ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ก็ได้หยิบยกเรื่อง “ระบบการปกครอง และรูปแบบของรัฐ” ซึ่งเป็นหัวข้อที่อยู่ในข้อสอบ A-Level พาร์ตรัฐศาสตร์ มาให้น้องๆ ได้เข้าใจเรื่องระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบันมากขึ้น พร้อมแบบฝึกหัดจากข้อสอบจริงมาให้ได้ทดสอบความรู้ด้านล่างกันค่ะ
ก่อนที่จะไปรู้จักระบอบการปกครอง น้องๆ ต้องรู้ก่อนว่าองค์ประกอบของรัฐนั้นมีอะไรบ้าง เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องระบอบการปกครองค่ะ ซึ่งหัวข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่น้องๆ สามารถเก็บคะแนนได้ง่ายมากๆ เช่นกัน
องค์ประกอบของรัฐ มีอะไรบ้าง?
รัฐ หมายถึง ประเทศที่มีรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือประชากร ภายใต้ดินแดนของตนอย่างอิสระโดยไม่ขึ้นอยู่กับใคร โดยทั่วไปแล้วรัฐจะมีสภาพเป็นรัฐที่สมบูรณ์ได้ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ ดังนี้
1. ประชากร - เป็นกลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายและมีประโยชน์ร่วมกัน จำนวนประชากรของแต่ละรัฐอาจมีมากน้อยต่างกันไป แบ่งเป็น ผู้ที่มีสัญชาติของรัฐนั้น, คนต่างด้าว เป็นต่างด้าวที่มาพักอาศัย เป็นชนกลุ่มน้อยที่เป็นเผ่าเร่รอนในรัฐไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น ชาวเขา เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเชื้อชาติเดียว
2. ดินแดน - รัฐต้องมีอาณาเขตหรือดินแดนที่ตั้งแน่นอน หมายความว่า ต้องมีเส้นเขตแดนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ทั้งโดยข้อเท็จจริงและโดยสนธิสัญญา ได้แก่ แผ่นดิน น่านน้ำ และน่านฟ้า ซึ่งจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ได้
3. รัฐบาล - ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาความสงบภายในรัฐ ป้องกันการรุกรานจากภายนอก จัดการทางเศรษฐกิจ และการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชากร รวมทั้งดำเนินกิจกรรมของรัฐในทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย
4. อำนาจอธิปไตย - อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ทำให้รัฐสามารถดำเนินการทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองภายในและภายนอก โดยอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจที่ถาวรจะคงอยู่คู่กับรัฐตลอดไป ถือเป็นอำนาจที่เด็ดขาด และบริบูรณ์ในตัวเอง ไม่มีอำนาจใดมาลบล้างได้ แม้จะมีการปฏิรูปการปกครองก็ตาม ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
รูปแบบของรัฐ มีกี่แบบ?
รูปแบบของรัฐจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการใช้อำนาจอธิปไตยภายในประเทศว่าใช้ในลักษณะใด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีรัฐบาลเดียว หรือมีรัฐบาลซ้ำซ้อนกัน โดยรูปแบบรัฐแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รัฐเดี่ยว และรัฐรวม
รัฐเดี่ยว (Unitary State)
มีอีกชื่อเรียกว่า "เอกรัฐ" เป็นรัฐที่มีศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองรวมกันเป็นหนึ่งเดียว มีรัฐบาลเดียวในการบริหารประเทศ โดยที่รัฐบาลกลางอยู่ที่เมืองหลวง ไม่มีรัฐบาลท้องถิ่น ทุกคนจะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครอง และกฎหมายเดียวกัน
จุดเด่นของรัฐเดี่ยว คือ มีความเป็นเอกภาพและมีความเป็นปึกแผ่นสูง เพราะรัฐบาลกลางสามารถรวมอำนาจเข้ามาได้ทั้งหมด และสามารถบริหารกิจการต่างๆ ได้ในภาพรวม ทำให้ประหยัดงบประมาณในการบริหารประเทศ เพราะรัฐบาลกลางสามารถมองเห็นภาพรวมของทั้งประเทศ รู้ว่างบประมาณมีเท่าไหร่ จะจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ เท่าไหร่ ทำให้ไม่เกิดการบริหารงานที่ซ้ำซ้อนกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐเดี่ยวก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียวที่บริหารประเทศ อาจมีการกระจายอำนาจไปให้หน่วยงานท้องถิ่นบ้าง เช่น อบต. อบจ. แต่การบริหารงานส่วนท้องถิ่นต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐบาลกลางเท่านั้น
ตัวอย่างประเทศรัฐเดี่ยว : ไทย จีน ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ อังกฤษ สวีเดน สิงคโปร์ ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์
หมายเหตุ : รูปแบบรัฐเดี่ยวไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกันและติดกันเท่านั้น อย่าง ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ที่มีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ หรือประเทศที่ดินแดนอยู่ห่างจากกัน โดยมีประเทศอื่นคั่นอยู่ เช่น ปากีสถาน และตุรกี ก็เป็นรัฐเดี่ยวได้เช่นกัน
รัฐรวม (Federal State)
มีอีกชื่อเรียกว่า "สหพันธรัฐ" เป็นรัฐที่มีรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น โดยที่ทั้งสองรัฐต่างก็มีอำนาจโดยตรงจากรัฐธรรมนูญของตัวเอง เป็นอำนาจที่ไม่ก้าวก่ายกัน รัฐบาลท้องถิ่นจะมีอำนาจควบคุมดูแลประชากรภายในรัฐของตน แต่อำนาจนั้นจะต้องไม่ขัดต่อความต้องการและสวัสดิภาพของชาติโดยส่วนรวม ซึ่งภาพรวมหน้าที่ของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นต่างกัน ดังนี้
- รัฐบาลกลาง อยู่ที่เมืองหลวง มีหน้าที่ดูแลกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เช่น การทหาร การคลัง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- รัฐบาลท้องถิ่น (มลรัฐ) อยู่ตามท้องถิ่น มีอำนาจในการดูแลกิจการที่เกี่ยวกับท้องถิ่นโดยเฉพาะ เช่น การศึกษา การแพทย์ ตำรวจ สาธารณูปโภค ตัวอย่างเช่น บางรัฐในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนพกปืน หรือสามารถเล่นการพนันอย่างถูกกฎหมายได้ ในขณะที่บางรัฐทำไม่ได้
จุดเด่นของรัฐรวม คือ การปกครองเป็นไปอย่างทั่วถึง เพราะโดยส่วนใหญ่ประเทศที่เป็นรูปแบบรัฐรวมจะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ รัฐบาลกลางจึงไม่สามารถดูแลทุกพื้นที่ได้ ดังนั้น การมีรัฐบาลท้องถิ่นจึงทำให้รับทราบปัญหาภายในพื้นที่นั้นๆ ได้ดีกว่า ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งยังช่วยลดภาระของรัฐบาลกลางได้อีกด้วย
ตัวอย่างประเทศรัฐรวม : สหรัฐอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย บราซิล สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี แคนาดา รัสเซีย
เกร็ดความรู้ : มาเลเซียเป็นรัฐรวมแห่งเดียวในอาเซียน และจีนเป็นรัฐเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ระบอบการปกครอง คืออะไร?
ระบอบการปกครอง (Regime of Government) คือ เป็นแบบแผนในการดำเนินการปกครองประเทศที่ก่อให้เกิดข้อตกลงมีผลบังคับใช้กับสมาชิกในสังคม เพื่อความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั่วโลกมีรูปแบบการปกครองอยู่ 2 ระบอบใหญ่ๆ คือ ระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการ โดยทั้งสองระบอบนี้จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ระบอบประชาธิปไตย (Democracy)
รูปแบบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง และเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ โดยเน้นสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน ซึ่ง “หัวใจของประชาธิปไตย” ต้องครอบคลุมหลักการทั้ง 5 ประการ ดังนี้
1.หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Popular Sovereignty) ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คืออำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่ประชาชน ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ จึงมีสิทธิตั้งรัฐบาลได้โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งเป็นสำคัญ
2.หลักความเสมอภาค (Equality) เน้นความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทั้งในด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และโอกาส
3.หลักสิทธิและเสรีภาพ (Bill of Rights) ประชาชนต้องได้รับความคุ้มครอง รัฐบาลต้องไม่ก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพ หรือกระทำการใดๆ ที่รบกวนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งในด้านบุคคล การเมือง และเศรษฐกิจ
4.หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ยึดกฎหมายเป็นสำคัญ เพราะกฎหมายมีการบัญญัติอย่างชัดแจ้งเปิดเผย และใช้กระบวนการพิสูจน์ที่มีเหตุผลที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงสามารถนำ ไปใช้เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล
5.หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) การปกครองโดยเสียงข้างมากเป็นเครื่องยืนยันว่าการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะต้องให้ความเคารพและคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย
รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
โดยรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบ่งเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่
1.หลักประมุขของประเทศ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ
- พระมหากษัตริย์เป็นประมุข : โดยอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตย แยกเป็น 3 ทาง คือ ใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านศาล ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (เช่น ประเทศไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น)
- ประธานาธิบดีเป็นประมุข : แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขฝ่ายบริหาร (เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย)
2.จำแนกตามสถาบันการปกครอง แบ่งเป็น 3 รูปแบบ
- ระบบรัฐสภา : เป็นการปกครองที่รัฐบาลได้รับเลือกจากความเห็นชอบของรัฐสภา โดยประมุขแห่งรัฐ อาจเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีก็ได้ และประมุขฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี (เช่น ไทย อังกฤษ)
- ระบบประธานาธิบดี : เป็นการปกครองที่มีอํานาจนิติบัญญัติ และอํานาจบริหารแยกออกจากกัน ต่างจากระบบรัฐสภาตรงที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ทําหน้าที่บริหารประเทศและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อบริหารประเทศร่วมกัน ส่วนอํานาจนิติบัญญัติจะอยู่ที่รัฐสภา ในขณะที่อํานาจตุลาการยังคงเป็นอิสระ (เช่น สหรัฐอเมริกา)
- ระบบกึ่งสภากึ่งประธานาธิบดี : เป็นรูปแบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับนายกรัฐมนตรี หมายความว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจทางการเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหาร แต่อำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ และการลงนามในกฎหมายยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี ระบบนี้แตกต่างจากประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดีตรงที่เขาจะกุมอำนาจบริหารไว้หมด (เช่น ฝรั่งเศส)
ระบอบเผด็จการ (Dictatorship)
รูปแบบการปกครองที่อำนาจทางการเมืองเป็นของผู้นำเพียงคนเดียว หรือกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว โดยคนกลุ่มนี้จะควบคุมบังคับประชาชนได้โดยเด็ดขาด ทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศ จริงๆ แล้วระบอบเผด็จการอาจจะมีรูปแบบที่ไม่ตายตัวแน่นอน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครองของประเทศนั้น ๆ แต่ก็พอจะสรุปหลักการพื้นฐานของระบอบเผด็จการได้ดังนี้
1.ผู้นำผูกขาดอำนาจทางการเมือง : ผู้นำมีอำนาจสูงสุด และสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในประเทศ และประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำได้อย่างเปิดเผย
2.จํากัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน : ระบอบการปกครองนี้ ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพน้อยมากหรือไม่มีเลย ทั้งในการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
3.ประชาชนต้องเชื่อฟังผู้นำ : ยึดถือเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศเป็นหลัก ประชาชนต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นําอย่างเคร่งครัด ไม่มีสิทธิโต้แย้ง ในบางครั้งอาจมีการใช้กำลัง การบังคับ และความรุนแรง เพื่อควบคุมประชาชนด้วย
4.ยกย่องอำนาจ และความสำคัญของรัฐ : ยึดหลักความมั่นคง ความเข้มแข็ง และความปลอดภัยของชาติเป็นหลัก รวมถึงนโบบาย และหลักการที่ผู้นำกำหนดถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด ไม่มีเหตุผลอื่นมาคัดค้านได้
รูปแบบการปกครองในระบอบเผด็จการ
โดยรูปแบบการปกครองในระบอบเผด็จการ แบ่งเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม และระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (หมายเหตุ : ระบอบที่มีดอกจันทน์ *เป็นเรื่องที่ออกสอบบ่อย)
1. ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม : เป็นระบบการปกครองที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนเฉพาะด้านการเมือง โดยจำกัดสิทธิ์และผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้เฉพาะในกลุ่มผู้นำ แต่ยอมให้ประชาชนมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม อื่น ๆ ได้บ้าง เช่น การประกอบธุรกิจ การศึกษา การนับถือศาสนา การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี แบ่งเป็น 3 รูปแบบย่อย ได้แก่
- ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (อัตตาธิปไตย) : มีผู้นำเป็นพระมหากษัตริย์ โดยที่มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว (เช่น ประเทศบรูไน และซาอุดิอาระเบีย)
- *ระบอบเผด็จการทหาร (คณาธิปไตย) : เป็นระบอบเผด็จการที่คณะผู้นำฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการ ในการปกครองโดยตรงหรือโดยอ้อม และมักจะใช้กฎอัยการศึก หรือรัฐธรรมนูญที่คณะของตนสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการปกครอง
- ระบอบอภิชนาประชาธิปไตย : มีคณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นกลุ่มชนชั้นสูงในสังคม เช่น กลุ่มผู้มีอำนาจ กลุ่มอภิสิทธิ์ชน
2. ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ : เป็นระบบการปกครองที่รัฐมีอำนาจมากที่สุด ควบคุมและจำกัดเสรีภาพของประชาชนทุกด้าน ทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม แบ่งเป็น 2 รูปแบบบ่อย ได้แก่
- *ระบอบคอมมิวนิสต์ : มีพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวที่ได้รับการยอมรับ หรือสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลต่างๆ รวมทั้งกองทัพ ให้เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ และสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีวิต อยู่ได้นานเท่าที่กองทัพยังให้การสนับสนุน ประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนผู้นำได้เลย และรัฐธรรมนูญไม่มีความสำคัญ เขียนขึ้นมาเพื่อรองรับอำนาจของผู้นำและคณะเท่านั้น (เช่น ประเทศจีน ลาว เกาหลีเหนือ คิวบา เวียดนาม)
- *ระบอบฟาสซิสต์ หรือเผด็จการชาตินิยม : ผู้นำได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจ และกองทัพ ให้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ มักจะมีลัทธิการเมืองที่เรียกกันว่า ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นลัทธิที่มีความเชื่อว่า เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของตัวเองมีความสูงส่งมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ จะเน้นชาตินิยมหัวรุนแรง โฆษณาชวนเชื่อ และต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งในปัจจุบันไม่มีประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองลักษณะนี้แล้ว
เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ
เพื่อให้น้องๆ เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จเผด็จการต่างกันยังไง พี่แป้งสรุปเป็นตารางเปรียบเทียบมาให้แล้วค่ะ
มาทดสอบความรู้กัน!
สำหรับข้อสอบที่นำมาให้น้องๆ ฝึกทำโจทย์ เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจกันในวันนี้ เป็นข้อสอบ A-Level วิชาสังคมศึกษา ปี 2566 และข้อสอบ A-Level วิชาสังคมศึกษา จากโครงการ Dek-D’s Pre Admission รอบพฤศจิกายน 2566 ถ้าพร้อมแล้วเริ่มทำได้เลย!
1.ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับลักษณะของอำนาจอธิปไตยภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย (A-Level วิชาสังคมศึกษา ปี 2566)
1) อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน
2) ขอบเขตของอำนาจอธิปไตยครอบคลุมทั่วอาณาเขตของรัฐ
3) รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารงานประเทศที่เป็นหนึ่งเดียวกัน
4) อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในรัฐที่ไม่มีอำนาจอื่นใดเสมือน
5) อำนาจอธิปไตยเกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเกิดการปฏิรูปการปกครอง
____________________________________________
2. ข้อใดต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบของรัฐ (โครงการ Dek-D’s Pre Admission รอบพฤศจิกายน 2566)
1) ประชากร อาณาเขต รัฐธรรมนููญ รัฐบาล
2) อาณาเขต รัฐบาล กฎหมาย อธิปไตย
3) รัฐบาล รัฐสภา ศาล อธิปไตย
4) ประชากร อาณาจักร รัฐธรรมนููญ หน่วยการปกครอง
5) อธิปไตย ดินแดน ประชากร รัฐบาล
น้อง ๆ คิดว่าทั้ง 2 ข้อ ตอบข้อไหนบ้าง รู้แล้วมาคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยค่ะ!
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาสังคมศึกษาฯ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
0 ความคิดเห็น