ตลาดมีกี่ประเภท? ทำความรู้จัก ‘ตลาดในระบบเศรษฐกิจ’ ออกสอบบ่อย!

ถ้าพูดถึง ‘ตลาด’ ในมุมมองของน้องๆ หลายคนที่เข้าใจก็คงหมายถึง สถานที่ที่มีคนซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกัน เช่น ตลาดนัด กันใช่ไหมคะ แต่ตลาดที่คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพูดถึงในวันนี้ คือ ‘ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์’ ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภทที่ออกสอบบ่อย ได้แก่ ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ตลาดผูกขาด ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด และตลาดผู้ขายน้อยราย แต่ละประเภทต่างกันยังไง มาทำความรู้จักเพื่อใช้เตรียมสอบ A-Level ไปพร้อมกัน ท้ายบทความมีข้อสอบจริงมาให้ทุกคนลองทำ ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ไปอ่านกันเลยค่ะ

ตลาดมีกี่ประเภท? ทำความรู้จัก ‘ตลาดในระบบเศรษฐกิจ’ ออกสอบบ่อย!
ตลาดมีกี่ประเภท? ทำความรู้จัก ‘ตลาดในระบบเศรษฐกิจ’ ออกสอบบ่อย!

ตลาดทางในเศรษฐศาสตร์ คืออะไร?

คำว่า ‘ตลาด’ ในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อและตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันได้ โดยผู้ซื้อและผู้ขายจะอยู่คนละมุมโลกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ หน้าร้าน หรือต้องเจอกันแบบตัวต่อตัว โดยองค์ประกอบของตลาด มี 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ซื้อ (ผู้บริโภค), ผู้ขาย (ผู้ผลิต), สินค้าและบริการ

ดังนั้น พวกแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีการซื้อขายสินค้าและบริการ เช่น Shopee Lazada TikTok ก็นับว่าเป็นตลาดทั้งหมด ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เราจะแบ่งตลาดออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ และตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ ทั้งสองประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไร มาดูไปพร้อมๆ กันค่ะ

ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Competitive Market)

ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เป็นตลาดที่มีลักษณะผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก โดยสินค้าของผู้ผลิตแต่ละรายมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ ไม่ว่าผู้บริโภคจะซื้อของใครก็สามารถใช้แทนกันได้ ทั้งผู้ขายรายใหม่ และผู้ขายรายเก่าสามารถเข้าออกตลาดได้อย่างเสรี โดยไม่มีเงื่อนไขหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในทางตรงกันข้ามก็สามารถเลิกกิจการเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน  

โดยตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เป็นตลาดที่ราคาสินค้าเกิดขึ้นตามกลไกอุปสงค์และอุปทาน ไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มาผลักดันในเรื่องราคา ที่สำคัญผู้ซื้อและผู้ขายมีความรู้และข้อมูลในการซื้อขายสินค้าเป็นอย่างดี ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะตลาด รวมถึงราคาและปริมาณของสินค้าและบริการด้วย

ตัวอย่างสินค้าในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เช่น โลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ธัญพืช โลหะเงิน สินค้าเกษตร และทองคำ  

 

สมมติน้อง ๆ ต้องการมะม่วงเขียวเสวย ก็สามารถซื้อมะม่วงเขียวเสวยได้ง่าย ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นเจ้าไหนสินค้าก็เหมือนกัน แถมราคาก็ไม่ต่างกันมาก  

ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์  (Non-perfect competition Market)

ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ เป็นตลาดที่สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม โดยที่ผู้ซื้อหรือผู้ขายมีอิทธิพลในการกำหนดราคา หรือปริมาณซื้อสินค้า ขึ้นอยู่กับความไม่สมบูรณ์ของตลาดว่าไม่สมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ตลาดผูกขาด ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด และตลาดผู้ขายน้อยราย  

ตลาดผูกขาด (Monopoly Market)

ตลาดผูกขาด เป็นตลาดที่มีผู้ขายอยู่เพียงรายเดียว ไม่มีคู่แข่งในตลาดเลย และไม่มีสินค้าไหนมาทดแทนได้ ทำให้ผู้ขายมีอิทธิพลเหนือราคาและปริมาณสินค้า หมายความว่าผู้ขายจะเพิ่มหรือลดราคา และควบคุมจำนวนขายทั้งหมดได้ตามต้องการ

โดยส่วนใหญ่แล้วตลาดผูกขาดจะเป็นการบริหารของรัฐบาล เพื่อกำหนดราคาไม่ให้สูงเกินไป และควบคุมจำนวนการผลิตได้อย่างถูกกฎหมาย ส่วนมากจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนมาก ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กรายอื่นๆ ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้

ตัวอย่างสินค้าในตลาดผูกขาด เช่น กิจการสาธารณูปโภค ได้แก่ การรถไฟ ไฟฟ้า น้ำประปา บุหรี่ เป็นต้น  

 

ถ้าน้องๆ สังเกตกันจะเห็นว่าผู้ประกอบการของกิจการเหล่านี้มักจะมีแค่เจ้าเดียวหลักๆ ที่ดูแล ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการบริหารโดยรัฐบาล อย่างเช่นบุหรี่ที่ขายในบ้านเรา ถึงจะมีหลายแบรนด์ก็จริง แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ “การยาสูบแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลังนั่นเอง

ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition Market)

ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด เป็นตลาดที่มีผู้ขายจำนวนมาก และมีสินค้าหลากหลายยี่ห้อ อาจมีลักษณะเหมือนหรือแตกต่างกัน แต่สามารถใช้แทนกันได้ ทำให้ผู้ขายมีอำนาจในการตั้งราคาเหนือตลาดได้ในระดับที่จำกัด เพราะผู้ซื้อสามารถหนีไปใช้สินค้าอื่นทดแทนได้ เมื่อสินค้าที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกันราคาแพงเกินไป ตลาดรูปแบบนี้ผู้ขายสามารถเข้าและออกตลาดได้อย่างเสรี โดยบริษัทหรือแบรนด์ต่างๆ จะเน้นแข่งขันกันที่การโฆษณา การสร้างแบรนด์ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์

ในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด เป็นลักษณะของตลาดที่ใกล้เคียงกับโลกความจริงมากกว่าตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เนื่องจากสินค้าในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ต้องเหมือนกันทุกประการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในโลกความเป็นจริง เพราะสุดท้ายสินค้าแบบเดียวกันย่อมมีความแตกต่างกันอยู่ไม่มากก็น้อยเสมอ

ตัวอย่างสินค้าตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด เช่น เครื่องสำอาง สกินแคร์ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ฯลฯ  

 

จากตัวอย่างสินค้าจะเห็นว่าในตลาดมีสินค้าหลากหลายแบรนด์ให้เราเลือกซื้อ แต่ผู้ขายของแต่ละแบรนด์มักจะสร้างสินค้าของตัวเองให้มีจุดเด่น และแตกต่างอยู่เสมอ ทั้งโลโก้สินค้า คุณภาพผลิตภัณฑ์ หรือการโฆษณา ซึ่งทำให้ปัจจัยทางด้านราคานั้นแตกต่างไปด้วย เช่น แบรนด์ที่ดังมีชื่อเสียง ราคาสินค้าอาจจะสูงกว่าสินค้าแบรนด์อื่นที่เหมือนกัน

ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly Market)

ตลาดผู้ขายน้อยราย เป็นตลาดที่มีผู้ขายประมาณ 2-3 ราย  เนื่องจากหากผู้ขายรายใหม่ ต้องการเข้ามาในตลาดนี้จะเจอการกีดกันในการเข้าสู่ตลาด เช่น ต้องใช้เงินลงทุนสูง หรือต้องได้รับใบอนุญาตในการทำธุรกิจ ทำให้ผู้ซื้อไม่มีทางเลือกอื่น โดยลักษณะสินค้าจะเหมือนกันทุกประการ หรือต่างกันเล็กน้อย แต่สามารถใช้แทนกันได้ และผู้ขายค่อนข้างมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าและบริการ โดยทั่วไปราคาสินค้ามักจะมีระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะผู้ขายไม่มีอำนาจเหนือตลาด แต่เป็นเพราะการดำเนินกลยุทธ์ด้านราคาของผู้เล่นในตลาดจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน  

นั่นหมายความว่า ถ้าบริษัท A ลดราคา สินค้าของคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ก็จะลดราคาลงด้วย เพื่อรักษาระดับการขายไว้ ในบางครั้งอาจมีการร่วมมือกันระหว่างบริษัท เพื่อกำหนดราคา และเพิ่มผลกำไรให้สูงสุดให้แก่บริษัทตัวเองด้วย  

ตัวอย่างสินค้าในตลาดผู้ขายน้อยราย เช่น น้ำมันดิบ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ โรงภาพยนตร์ และซุปเปอร์มาร์เก็ต  

 

อย่างในประเทศไทย ธุรกิจที่มีลักษณะเป็นตลาดผู้ขายน้อยรายที่ชัดเจนอย่างมาก คือ โรงภาพยนตร์ ที่ปัจจุบันมี Major และ SF ที่เป็นผู้แข่งขันรายใหญ่ โดยที่ราคาของทั้งคู่ก็ใกล้เคียงกัน

ความแตกต่างของตลาด 4 ประเภท ออกสอบบ่อย

จากเนื้อหาด้านบนจะเห็นได้ว่าตลาดในระบบเศรษฐกิจที่สำคัญนั้นมีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้อสอบมักจะนำมาออกสอบบ่อย เพื่อให้น้องๆ เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าตลาดทั้ง 4 ประเภทต่างกันยังไง พี่แป้งสรุปเป็นตารางเปรียบเทียบมาให้แล้วค่ะ  

มารู้จักกับตลาด 4 ประเภท ออกสอบบ่อย!
มารู้จักกับตลาด 4 ประเภท ออกสอบบ่อย!

 

มาทดสอบความรู้กัน!

ทำความเข้าใจเรื่องระบบตลาดในทางเศรษฐศาสตร์กันไปแล้ว ถึงเวลามาทดสอบความรู้กันแล้วค่ะ สำหรับข้อสอบที่นำมาให้น้องๆ ฝึกทำโจทย์ เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจกันในวันนี้มี 2 ข้อด้วยกัน เป็นข้อสอบ 9 วิชาสามัญ วิชาสังคมศึกษา จากโครงการ Dek-D’s Pre Admission รอบธันวาคม 2563 และข้อสอบ A-Level วิชาสังคมศึกษา ปี 2566 ถ้าพร้อมแล้วเริ่มทำได้เลย!

 

1. พิจารณาคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (9 วิชาสามัญ โครงการ Dek-D’s Pre Admission รอบธันวาคม 2563)

ก.ผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก

ข.ผู้ผลิตรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย

ค.สินค้าราคาเหมือนกันทุกประการ

ง.ผู้บริโภคมีความรอบรู้เกี่ยวกับตลาดเป็นที่เปิดเผยทั่วไป
 

จากคุณสมบัติดังกล่าว เป็นไปตามลักษณะสำคัญของตลาดแบบใด

1) ตลาดแข่งขันสมบูรณ์

2) ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด

3) ตลาดผู้ขายน้อยราย

4) ตลาดผูกขาด

5) ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์

______________________________________________________-

2. สินค้า A เป็นสินค้าที่มีราคาเท่ากันหรือใกล้เคียง หากว่าผู้ขายรายใดรายหนึ่งเปลี่ยนแปลงราคา หรือนโยบายการขายแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายอื่น สินค้า A คือข้อใด (A-Level วิชาสังคมศึกษา ปี 2566)

1) ข้าว และ ยางพารา

2) ซิมโทรศัพท์ และ สบู่

3) รถยนต์สันดาป และ น้ำมันดีเซล

4) รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และไฟฟ้า  

5) น้ำมันพืช และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

 

น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่าข้อไหนถูกต้อง ถ้ารู้แล้วว่าก็คอมเมนต์ด้านล่างได้เลย!  

 

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาสังคมศึกษาฯ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น