เรื่องนี้โรงเรียนไม่ได้สอน : รวมมุกเด็ดมิจฉาชีพ! ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อบ่อยที่สุด พร้อมวิธีเก็บหลักฐานแจ้งความออนไลน์

รวมมุกเด็ดมิจฉาชีพ! ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อบ่อยที่สุด พร้อมวิธีเก็บหลักฐานแจ้งความออนไลน์

เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคนจึงถูกมิจฉาชีพหลอกได้ง่ายๆ ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพไหม? ถูกหลอกแล้วเราจะทำยังไง? ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป คอลัมน์ “เรื่องนี้โรงเรียนไม่ได้สอน” รวมทักษะการเอาตัวรอดที่ต้องรู้ จะพาทุกคนไปดูว่าที่ผ่านมามิจฉาชีพหลอกเราด้วยมุกอะไรบ้าง หากโดนหลอกต้องเก็บหลักฐานแจ้งความยังไง แล้วต้องไปแจ้งความที่ไหน ทำยังไงจะมีโอกาสได้เงินคืน มาดูกันเลย!

สถิติอาชญากรรมไซเบอร์

จากสถิติอาชญากรรมไซเบอร์ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2567 พบว่า มีการแจ้งความผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด 575,507 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 65,715 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท 

เหยื่อส่วนใหญ่ของคดีอาชญากรรมไซเบอร์ร้อยละ 64 เป็นผู้หญิง และร้อยละ 36 เป็นผู้ชาย ซี่งส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน โดยจำแนกรายละเอียดตามกลุ่มอายุดังต่อไปนี้

  • กลุ่มอายุ 11 - 14 ปี : ร้อยละ 0.12
  • กลุ่มอายุ 15 - 17 ปี : ร้อยละ 0.78
  • กลุ่มอายุ 18 - 21 ปี : ร้อยละ 6.22
  • กลุ่มอายุ 22 - 29 ปี : ร้อยละ 25.33
  • กลุ่มอายุ 30 - 44 ปี : ร้อยละ 41.51
  • กลุ่มอายุ 45 - 59 ปี : ร้อยละ 19.62
  • กลุ่มอายุ 60 ปี ขั้นไป : ร้อยละ 6.42

เห็นได้ชัดว่ากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งมิจฉาชีพยังพัฒนากลโกงหลากหลายรูปแบบมาหลอกเราให้ตกเป็นเหยื่ออีกด้วย สิ่งที่จะป้องกันการถูกมิจฉาชีพหลอกได้ดีที่สุดคือการมีสติและรู้เท่าทันกลโกง มาดูกันว่าที่ผ่านมา มิจฉาชีพหลอกเราอย่างไร และควรเก็บหลักฐานแจ้งความอย่างไร

5 อันดับ คดีออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อมากที่สุด

ข้อมูลจากตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เปิดเผย 5 อันดับ คดีออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อมากที่สุด คือ

1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการ 

สินค้าและบริการที่ถูกหลอกมากที่สุด เช่น บัตรคอนเสิร์ต Art Toy ที่พักโรงแรม รีสอร์ต รวมถึงสินค้าราคาถูก โปรโมชัน ที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ตรงปก โดยมีทั้งหลอกขายสินค้าและบริการที่ไม่ตรงปก ไม่มีอยู่จริง หลอกให้โอนเงินแล้วไม่ส่งของให้ หลอกเก็บมัดจำ เป็นต้น โดยกลโกงลักษณะนี้ยังมีการสร้างความน่าเชื่อถืออื่นร่วมด้วย เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ปลอม 

ตัวอย่าง หลอกขายบัตรคอนเสิร์ต มิจฉาชีพมักหลอกเราโดยขายบัตรต่ำกว่าราคาตลาด อ้างว่าขายแทนเพื่อน หรือมีบัตรเกินอยากขายต่อ วิธีสังเกตคือ เร่งให้รีบโอนเพราะมีคนต้องการบัตรเยอะ อาจมีการส่งหน้ากิจกรรมซึ่งเป็นหน้าเว็บปลอมมาหลอกด้วย ควรตรวจสอบก่อนโอน และควรขอรับสินค้าก่อนค่อยโอนเงิน

2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน

งานที่ถูกมิจฉาชีพหลอกทางช่องทางออนไลน์มากที่สุดคือ งานคีย์ข้อมูล แอดมิน ตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊กปลอม แอปพลิเคชันปลอม มีทั้งแบบหลอกให้สมัครเพื่อเอาข้อมูลส่วนตัว หลอกให้โอนเงินมัดจำเป็นหลักประกันการทำงาน หลอกให้สต็อกสินค้า เป็นต้น

ตัวอย่าง หลอกให้ทำงานแอดมิน ดูแลระบบหลังบ้าน ตอบแชตลูกค้า มีอุปกรณ์การทำงานให้ โดยทำงานวันละไม่กี่ชั่วโมงแต่รายได้ดีมาก แต่ก่อนทำงานต้องโอนเงินประกันอุปกรณ์การทำงานก่อน ควรตรวจสอบโปรไฟล์ก่อน หากไม่มีรายละเอียดงานชัดเจน และเร่งให้มีการโอนเงินประกันใดๆ อย่าหลงเชื่อ

3. หลอกให้กู้เงิน

มิจฉาชีพมักใช้กลโกงว่าให้กู้เงินออนไลน์ วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติไว ไม่มีเอกสาร และไม่ต้องค้ำประกัน โดยหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือทำแพลตฟอร์มปลอมมาหลอก หลอกให้โอนเงินเพื่อปลดล็อกโบนัสพิเศษ อย่าหลงเชื่อ ให้ตรวจสอบกับทางธนาคารก่อน อาจถูกหลอกให้กู้เงินดอกเบี้ยสูง หรือหลอกให้โอนเงินฟรี

ตัวอย่าง ส่ง sms หลอกให้กู้เงิน  โดยมีโฆษณาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แล้วส่ง SMS หลอกให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอปฯ หรือให้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคาร ทำให้เหยื่อเริ่มเชื่อใจ ก่อนจะโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน และหลอกให้โอนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปลดล็อกการทำรายการเร็วขึ้น อย่าหลงเชื่อ ควรเอะใจตั้งแต่ให้โอนเงินรอบแรก 

4. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 

กรณีนี้มิจฉาชีพมักหลอกให้ลงทุนเทรดทอง หรือลงทุนหุ้นต่างประเทศ โดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนดีมาก ในครั้งแรกๆ ที่ร่วมลงทุนอาจได้จริงเพื่อหลอกให้ลงทุนเพิ่มอีก หากต้องการยกเลิกลงทุนและถอนทุนคืนก็ต้องโอนไปจ่ายค่ายกเลิกเพิ่ม เป็นต้น

ตัวอย่าง หลอกให้ลงทุนเทรดทอง มีคนมาตีสนิททาง Social media เช่น Facebook แล้วชวนลงทุนโดยสร้างโปรไฟล์ตัวเองให้ดูเหมือนประสบความสำเร็จจากการลงทุน น่าเชื่อถือ หลอกลงทุนระยะสั้น ผลตอบแทนดี หากเราหลงเชื่อจะให้โอนเงินลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ และจะยกเลิกไม่ได้ 

5. หลอกลวงทางโทรศัพท์ (call center)  

การหลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นอีกรูปแบบที่คนไทยถูกหลอกจำนวนมาก โดยการหลอกลวงนี้มิจฉาชีพจะมีกลลวงหลายรูปแบบมาก เพื่อหลอกให้เราหลงเชื่อ เช่น หลอกว่ามีคนแอบอ้างชื่อและข้อมูลส่วนตัวเราทำผิดกฎหมาย แอบอ้างใช้บัตรเครดิต แอบอ้างเปิดบัญชีม้า โดยจะมีการหลอกให้เชื่อแล้วให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นตำรวจปลอม หากหลงกลจะต้องโอนเงินเพื่อยืนยันความโปร่งใสของบัญชี เป็นต้น

ตัวอย่าง หลอกว่ามีการนำเงินในบัญชีไปฟอกเงิน มิจฉาชีพจะโทรเข้ามาหลอกเราว่าบัญชีของเราถูกทำไปฟอกเงินหรือเป็นบัญชีม้า มีเส้นทางการเงินผิดปกติ โดยรู้ข้อมูลส่วนตัวของเราทุกอย่าง หากไม่อยากถูกดำเนินคดีให้โอนเงินเข้าไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ และโอนคืนภายหลัง หากพบการถูกหลอกลักษณะนี้ห้ามหลงเชื่อโอนเงินเด็ดขาด ให้วางสายทันที

 นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่าง 'มุกเด็ดมิจฉาชีพ' ที่ตำรวจสอบสวน Facebook: torntan.loyprasert รวบรวมไว้เป็นตัวอย่าง ไม่อยากให้ประชาชนถูกหลอกซ้ำ มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

1. สินค้าพัสดุตกค้าง พัสดุเป็นยาเสพติด แล้วหลอกให้ไปคุยกับตำรวจปลอม

2. ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า, ประปา หลอกว่ามีเงินที่ต้องได้รับคืน ให้ไปคุยในไลน์ ให้ลงแอปฯ ดูดเงิน หรือหลอกโอนเงินเพื่อรับสิทธิต่างๆ

3. ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่จากที่ทำงานเก่า หลอกว่ามีเงินที่ต้องได้รับ หรือหลอกให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบหรือเข้าโครงการคุ้มครองเงิน 

4. โทร. มาหลอกว่าเป็นคนรู้จัก ขอให้โอนเงินให้ เพราะรถชน เงินหมด บัญชีใช้ไม่ได้ ฯลฯ

5. หลอกให้ทำงาน ทำภารกิจ รีวิว กดไลก์ ฯลฯ แต่ต้องโอนเงินก่อน แล้วหลอกให้โอนซ้ำอีก โดยอ้างว่าทำรายการไม่ถูกต้อง พิมพ์ตก บัญชีถูกล็อก เป็นต้น

6. กู้เงินออนไลน์ โดยให้โอนเงินไปเป็นค่าดำเนินการ สรุปโอนไปมากกว่าที่จะกู้! 

7. กู้เงินผ่านแอปฯ อาจได้เงินจริงแต่ดอกเบี้ยสูงมาก พอไม่มีจ่ายถูกข่มขู่ หรือนำข้อมูลบัตรประชาชนไปทำอย่างอื่น

8. โรแมนซ์สแกม หลอกให้รัก พบได้ตาม Tinder Facebook คุยสักพักบอกจะส่งของมาให้ แล้วของติดด่านศุลกากร ต้องจ่ายเงินเพื่อนำของออกมา

9. ไฮบริดสแกม อาจจะเริ่มจากหลอกให้รักเหมือนกัน แต่ชวนลงทุน เล้นหุ้น เทรดทอง วาดฝันให้ดูว่ามีกำไร หรือทำเว็บปลอมหลอกลวงว่าได้กำไร แต่พอโอนไปลงทุนแล้วถอนเงินคืนไม่ได้

10. เพจปลอมแต่ขยันยิงแอดจนนึกว่าเป็นเพจจริง และพวกหลอกให้ลงทุนทอง ลงทุนหุ้น กำไรวันละ 10 %

11. คนกลางปลอม เจอบ่อยในสายซื้อของในเกม

12. ประกาศขายของราคาถูกเกินจริงตามกลุ่ม Facebook และอาจจะมาเสนอขายให้ในราคาถูก รวมถึงมาโพสต์ตั้งรับของต่างๆ 

13. ประมูลของ แล้วเพจปลอมทักมาหลอกเป็นเพจจริง 

14. ซื้อของแล้วได้ของไม่ตรงปก อย่าเห็นแก่ของถูก

15. ปลอมเป็นเพจหน่วยงานรับแจ้งความออนไลน์ ถูกหลอกในโรงพักทั้งๆ ที่ตำรวจอยู่ด้วย แต่ไม่เชื่อตำรวจ 

16. ส่งสลิปปลอมให้ร้าน แล้วอ้างขอยกเลิกสินค้าทั้งหมด หรือบางส่วน เพื่อให้เจ้าของร้านคืนเงิน

17. หลอกตำรวจ โดยเฉพาะคดีสำคัญ อ้างว่าเป็นผู้บังคับบัญชาโทรมา ขอเบอร์ญาติผู้ต้องหา แล้วหลอกญาติผู้ต้องหาว่าสามารถช่วยเหลือคดีได้

แจ้งความให้เร็วที่สุด! ที่สายด่วน 1441 หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/
แจ้งความให้เร็วที่สุด! ที่สายด่วน 1441 หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/

เช็กก่อนโอน เก็บหลักฐานให้ครบ แจ้งความได้!

เชื่อหรือไม่ว่าขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ เพจตำรวจปลอมโผล่มาเต็มฟีดพี่จูนเลยค่ะ หัวจะปวด! ทุกคนมีโอกาสถูกมิจฉาชีพหลอก ทั้งเข้ามาหลอกเรา และล่อให้เราเข้าไปหาเอง แต่ถึงอย่างนั้น กลโกงแต่ละแบบก็ยังมีจุดสังเกตให้เอะใจไหวตัวทันก่อน ตั้งใจอ่านแล้วจำให้แม่นเลยค่ะ

1. จุดสังเกต

หลอกให้โอนเงิน 

  • เร่งให้รีบโอนเงิน
  • โอนเงินแล้วหลอกให้โอนเพิ่มอีกซ้ำๆ
  • โอนเงินแล้วถูกบล็อกหรือติดต่อไม่ได้อีกเลย

หลอกขายสินค้า

  • ขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก หรือถูกกว่าปกติมาก
  • เร่งให้รีบโอนเงินเพื่อซื้อ หรือจอง
  • หากเป็นเว็บชอปปิงออนไลน์ ควรอ่านรีวิว และตรวจสอบรายละเอียดสินค้าให้ดี โดยเฉพาะขนาดสินค้า วัตถุประสงค์การใช้งาน อย่าดูแต่รูป

คอลเซนเตอร์

  • เสียงตอบรับฟังไม่ค่อยชัด เจ้าหน้าที่พูดไม่ชัด หรือมีเสียงรบกวนเหมือนไม่ได้โทรจากสำนักงาน
  • รู้ข้อมูลเราจริง แต่อาจจะไม่รู้บางอย่างแล้วมาหลอกถามเพิ่ม เช่น รู้ชื่อ-สกุลแต่มาหลอกถามเลขบัตรประชาชน
  • ไม่มีตำรวจ ทนายที่ไหนมีเวลาว่างมานั่งวิดีโอคอลกับเรานักหรอก
  • หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความผิดพลาดทางบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต แจ้งธนาคารเท่านั้น
  • แอบอ้างเป็นคนรู้จักให้ปฏิเสธไปก่อนว่าเดี๋ยวจะโทรกลับ แล้วรีบเช็กกับคนที่เรารู้จักจริงๆ

เฟซบุ๊กเพจ หรือเว็บไซต์ ปลอม!

  • ชื่อเพจหรือเว็บสะกดผิด หรือมีตัวอักษรพิเศษ
  • URL เพจหรือลิงก์เพจชื่อแปลกๆ หรือปรากฏเป็นตัวเลขเพราะไม่ได้ตั้งชื่อไว้
  • ดูรายละเอียดของเพจ มีเว็บไซต์ เบอร์โทร ที่อยู่ชัดเจนหรือไม่
  • ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่ามีการเปิดเพจเมื่อไร มีการเปลี่ยนชื่อเพจหรือไม่
  • เพจได้รับการยืนยันหรือมีเครื่องหมายถูกใจสีฟ้าหรือไม่
  • สังเกตการตอบโต้พูดคุยในเพจแล้วผิดปกติ
  • ระวังถูกหลอกด้วยยอดไลก์ บ่อยครั้งที่เพจปลอมยอดไลก์มากกว่าเพจจริง
  • เสิร์ชหาเพจชื่อเหมือนหรือใกล้เคียงกันแล้วเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือ
  • กรณีเป็นลิงก์ให้กด ลิงก์ต้องไม่ใช่ตัวอักษรแปลกๆ ปะปนกันอ่านไม่รู้ว่าเป็นเว็บอะไร

2. ตรวจสอบก่อนโอน

ตรวจสอบชื่อบัญชี บัญชีธนาคาร พร้อมเพย์ ทรูวอลเล็ต sms และเบอร์โทร. ที่เว็บไซต์ฉลาดโอน https://www.chaladohn.com/check ก่อนทำการโอนเงิน

3. การเก็บหลักฐาน

  • แคปหน้าจอ
  • ภาพหน้าเว็บไซต์ โปรไฟล์ร้านค้า URL หน้าร้าน
  • ข้อความการซื้อขาย รายละเอียดสินค้า ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร และบัญชีร้าน
  • ใบเสร็จ หลักฐานการโอนเงิน
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้ซื้อ
  • สมุดบัญชีธนาคารผู้ซื้อ

4. อายัดบัญชี  แจ้งความ

ให้รีบติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชีปลายทาง และเก็บรวบรวมหลักฐานให้ครบทั้งการพูดคุย สนทนา ภาพ ข้อความเสียง (หากบันทึกได้) รายละเอียดการล่อลวง หลักฐานการโอนเงิน แล้วแจ้งความออนไลน์ได้ที่ สายด่วน 1441 เพื่อแจ้งอายัดเงินที่เราโดนหลอกไป และแจ้งความที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/ เพื่อรอนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

***สำคัญมาก***

อายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้ตัวผู้กระทำผิด หากรู้ตัวว่าโดนโกงให้รีบแจ้งความภายใน 3 ชั่วโมง จะมีโอกาสได้เงินคืนมากขึ้น

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังกล่าวถึงแนวโน้มรูปแบบของอาชญากรรมออนไลน์ปี 2567 ที่ต้องเฝ้าระวังคือการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการสร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย เช่น การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes) เพื่อใช้ในการฉ้อโกง, การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers) จากตัวอย่างเสียง เพื่อใช้ในการฉ้อโกง ฯลฯ เป็นต้น 

มิจฉาชีพทำทุกวิธีทางมาหลอกเราแบบนี้ เรายิ่งต้องรู้เท่าทัน รู้แล้วอย่าลืมบอกต่อไปยังคนในครอบครัวและคนรู้จัก และที่สำคัญเมื่อโดนหลอกแล้วอย่าเผลอตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ปลอมเป็นตำรวจซ้ำอีกนะคะ 

 

สถิติอาชญากรรมไซเบอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตำรวจสอบสวนกลาธนาคารแห่งประเทศไทย 
พี่จูน
พี่จูน - Columnist บ.ก.บันเทิง/ไลฟ์สไตล์ ใจดีกว่าหน้าตา รักสัตว์ รักเด็ก อยากเป็นนางเอกและนางงาม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น