สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าจะเคยได้ยินจากข่าวพยากรณ์อากาศกันบ่อย ๆ คือ "ลมมรสุม (Monsoon)” กันใช่ไหมคะ แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วลมมรสุมคืออะไรกันแน่ วันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพาไปทำความรู้จัก "ลมมรสุม" และ “ร่องมรสุม” ตัวการสำคัญในการเปลี่ยนฤดูกาลซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไทยต้องเตรียมรับมือทุกปีว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร และไทยต้องเจอกับประเภทไหนบ้าง นอกจากความรู้แล้วยังมีทริคช่วยจำฤดู และแบบฝึกหัดจากข้อสอบจริงที่นำมาฝากน้องๆ ทุกคนด้วยค่ะ
ลมมรสุม คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ลมมรสุม (monsoon) เป็นลมประจำฤดูที่พัดอย่างสม่ำเสมอ มีทิศทางแน่นอน และจะเปลี่ยนทิศทางตามฤดูกาล เกิดในบริเวณที่เป็นเขตร้อนของโลก หรือแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งประเทศไทยของเราอยู่เหนือบริเวณเส้นศูนย์สูตร จึงทำให้บางพื้นที่ของบ้านเราได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ภาคเหนือมีอากาศหนาวเย็นและแห้ง
ลมมรสุม เกิดจากความแตกต่างกันระหว่างอุณหภูมิของพื้นดินและพื้นน้ำในแต่ละฤดู เช่น ฤดูหนาวอุณหภูมิของพื้นดินจะเย็นกว่าน้ำในมหาสมุทร (ที่อยู่ใกล้เคียง) อากาศเหนือพื้นน้ำจึงมีอุณหภูมิสูงและลอยตัวขึ้น มวลอากาศเหนือทวีปซึ่งเย็นกว่าจึงไหลไปแทนที่ ทำให้เกิดเป็นลมเย็นๆ พัดออกจากทวีป พอถึงฤดูร้อนอุณหภูมิของดินภาคพื้นทวีปร้อนกว่าน้ำในมหาสมุทร ลมที่มีความชื้นสูงจึงพัดจากมหาสมุทรเข้าสู่พื้นทวีป เป็นเหตุให้เกิดลมพัดในทิศทางตรงข้ามนั่นเอง
Note : ลมมรสุมจะส่งผลกระทบต่อทวีปเอเชียมากที่สุด เนื่องจากทวีปเอเชียมีพื้นดินกว้างที่สุดในโลก ดังนั้น ความแตกต่างของอุณหภูมิพื้นทวีปกับพื้นมหาสมุทรที่อยู่รอบๆ เอเชียจึงแตกต่างกันมาก โดยลมมรสุมที่มีกำลังแรงที่สุด ได้แก่ ลมมรสุมที่เกิดในบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย
ลมมรสุมในประเทศไทย
อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าประเทศไทยของเราอยู่เหนือบริเวณเส้นศูนย์สูตร จึงทำให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมถึง 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เรามาดูกันค่ะว่าลมทั้งสองชนิดส่งผลกระทบอะไรต่อประเทศไทยบ้าง
ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ - มรสุมฤดูร้อน
ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest monsoon) จะพัดมาปกคลุมประเทศไทย ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่โลกจะเอียงขั้วโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศเหนือพื้นทวีปทางซีกโลกเหนือมีอุณภูมิสูงกว่าพื้นมหาสมุทรทางซีกโลกใต้ ทำให้อากาศเหนือพื้นทวีปเคลื่อนที่สูงขึ้น และอากาศเหนือพื้นมหาสมุทรเคลื่อนเข้ามาแทนที่เป็นลมที่นำความชื้นจากมหาสมุทรอินเดีย ผ่านทะเลอันดามัน พัดผ่านประเทศไทยไปยังซีกโลกเหนือ ทำให้ช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม เป็นฤดูฝน เกิดฝนตกชุกในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) และเทือกเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น
แต่ภูเขาของประเทศไทยมีลักษณะค่อนข้างเตี้ยจึงทำให้ลมสามารถพัดผ่านภูเขาไปได้ ก่อนที่จะไปนำความชื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทย พัดพาฝนไปตกที่บริเวณปลายภาคตะวันออกซึ่งมีเทือกเขาบรรทัดอยู่ด้วยกลายเป็นเขตปะทะลมฝน ทำให้จังหวัดจันทบุรี และตราด มีฝนตกหนักเช่นเดียวกับภาคใต้
จริงๆ แล้วลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าทุกภาคทั่วประเทศไทย แต่ประเทศไทยมีภูเขาหนึ่งลูกที่ใหญ่มากๆ คือ เทือกเขาถนนธงชัย เมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มาปะทะกับเทือกเขาถนนธงชัยปริมาณฝนจึงถูกสกัดออกไปบางส่วน ทำให้ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี เป็นเขตเงาฝน (rain shadown) มีฝนตกน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ ส่วนภาคกลางก็จะมีปริมาณฝนที่น้อยลง เพราะมีเทือกเขาช่วยสกัดฝนไปบ้างแล้ว เว้นแต่ภาคกลางตอนล่างจะมีปริมาณฝนมากกว่าตอนบน เนื่องจากมีพื้นที่ติดทะเล
เมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านภาคกลางและภาคตะวันตกไปแล้ว ต่อไปก็จะพัดไปชนกับกลุ่มภูเขาที่เป็นรูปตัว L ได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาดงพญาเย็น เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา เป็นเขตเงาฝนเหมือนกัน
ทริคจำเขตเงาฝน 7 จังหวัด
- ภาคตะวันตก ท่องว่า “ตกริบหรี่” = ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่องว่า “เขตโคตรแล้งชัด” = ขอนแก่น โคราช (นครราชสีมา) เลย ชัยภูมิ
ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ - มรสุมฤดูหนว
ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast monsoon) จะพัดมาปกคลุมประเทศไทย ระหว่างกลางเดือนตุลาคมคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่โลกจะเอียงขั้วโลกเหนือออกจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศเหนือพื้นทวีปทางซีกโลกเหนือมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นมหาสมุทรทางซีกโลกใต้ อากาศเหนือพื้นมหาสมุทรจึงเคลื่อนที่สูงขึ้นและอากาศเหนือพื้นทวีปเข้ามาแทนที่เป็นลมที่มีอุณหภูมิต่ำ และมีความชื้นน้อย เพราะมาจากแถบประเทศมองโกเลียและจีน พัดผ่านประเทศไทยไปยังพื้นมหาสมุทรซีกโลกใต้
ทำให้ช่วงปลายเดือนตุลาคม-กลางกุมภาพันธ์ ประเทศไทยเป็นฤดูหนาว มีอากาศหนาวเย็น โดยเริ่มจากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตามลำดับ ส่วนภาคใต้จะมีฝนชุกโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส) เนื่องจากมรสุมนี้จะพัดจากภาคพื้นทวีปสู่อ่าวไทย จึงนำเอาความชุ่มชื้นจากอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก
Note : อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดมรสุมทั้งสองชนิดอาจผันแปรไปจากปกติได้ในแต่ละปี
ทริคจำลมมรสุม
- ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จำว่า “ตกใต้” = ฝนตก
- ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จำว่า “ออกเหนือ” = ออกหนาว
ช่วงเปลี่ยนมรสุมส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร?
น้องๆ รู้กันแล้วว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้เกิดฤดูฝน ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เกิดฤดูหนาว แต่จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ไปยังมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งช่วงเปลี่ยนมรสุมหรือช่วงที่มรสุมลดลงนี้ ทำให้อุณหภูมิของไทยได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์เยอะ ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยจึงเป็นฤดูร้อน มีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้งแล้ง ซึ่งอยู่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ในช่วงนี้อุณหภูมิของอากาศเหนือพื้นทวีป และเหนือพื้นมหาสมุทรจะแตกต่างกันเล็กน้อย จึงไม่มีมรสุมเกิดการพัดผ่านนั่นเองค่ะ
ทริคจำฤดูกาลประเทศไทย
ถ้าพูดถึงเรื่องฤดูกาลของประเทศไทย วิธีจำง่ายๆ เลยก็คือ จำจากการเปิด-ปิดภาคเรียน
- เทอม 1 ตรงกับเดือน พฤษภาคม - กันยายน = ฤดูฝน
- ปิดเทอมเล็ก ตรงกับเดือน ตุลาคม = ปลายฝนต้นหนาว
- เทอม 2 ตรงกับเดือน พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ = ฤดูหนาว
- ปิดเทอมใหญ่ ตรงกับเดือน มีนาคม - เมษายน = ร้อน
ร่องมรสุม ตัวการที่ทำให้ฝนตกชุก
ในช่วงฤดูฝน ตัวการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกได้ นอกจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่มีกำลังแรงแล้ว ยังมีร่องมรสุมอีกด้วย
ร่องมรสุม หรือร่องความกดอากาศต่ำ คือ แนวความกดอากาศต่ำมีลักษณะเป็นแนวพาดขวางในทิศตะวันออกและตะวันตก มีกระแสอากาศไหลขึ้นและลงสลับกัน ตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์ บริเวณร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตรนี้ถ้าเคลื่อนที่ผ่านบริเวณใดจะทำให้เกิดฝนตกอย่างหนาแน่นในบริเวณนั้น
โดยปกติร่องมรสุมจะพาดผ่านประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นเดือนมิถุนายนจะเคลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ แล้วก็จะเคลื่อนขึ้นไปทางตอนใต้ของจีนและตอนเหนือของเวียดนามช่วงเดือนกรกฎาคม ทำให้ช่วงเวลานั้นบ้านเราฝนจะน้อยหรือเป็นช่วงที่เรียกว่า ‘ฝนทิ้งช่วง’ จากนั้นในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคมร่องมรสุมก็จะเคลื่อนกลับลงมาพาดผ่านประเทศไทยอีกครั้ง
ถ้าหากในช่วงที่มีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาบริเวณทะเลจีนใต้ ร่องมรสุมนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นทางเดินให้พายุเคลื่อนเข้าสู่บ้านเรามาตามแนวร่องมรสุมด้วย ซึ่งในช่วงฤดูฝนบ้านเราก็จะได้รับอิทธิพลจากทั้ง 2 ตัวการนี้มากขึ้น ทำให้ช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ประเทศไทยจะมีฝนชุกนั่นเอง
สำหรับประเทศไทยร่องมรสุมเกิดจากการปะทะกันของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีผลทำให้เกิดฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ถ้าแนวชนของร่องมรสุมทั้งสองชนกันยิ่งแคบจะเกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองได้ง่าย ดังนั้น หากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่ามีร่องมรสุม หรือร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย นั่นหมายความว่า ฝนจะตกหนัก และถ้าร่องมรสุมนี้อยู่นานก็จะทำให้ฝนตกนาน และอาจเกิดน้ำท่วมได้
มาทดสอบความรู้กัน!
ทำความรู้จักกับลมมรสุมประเภทต่างๆ ที่เป็นตัวการให้เกิดฤดูกาลกันไปแล้ว ถึงเวลาทดสอบความรู้ความเข้าใจกันแล้วค่ะ ข้อสอบที่นำมาให้น้องๆ ฝึกทำในวันนี้ มี 2 ข้อด้วยกัน เป็นข้อสอบ O-NET วิชาสังคมศึกษา ปี 2562 และตัวอย่างแนวข้อสอบ ถ้าพร้อมแล้วก็ลุยเลย!
1.ข้อใดไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงกาลอากาศและภูมิอากาศของไทย (O-NET สังคมศึกษา ปี 2562)
1) ช่วงปลายเดือนเมษายนบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน จะแผ่มาคลุมประเทศไทยตอนบน ขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อน
2) พายุฤดูร้อนจะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บตกเป็นบางพื้นที่
3) ฤดูร้อนของไทยเป็นช่วงเปลี่ยนแปลง เพราะอิทธิผลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
4) ช่วงเปลี่ยนฤดูฝนเป็นฤดูหนาวของไทย ในช่วงกลางเดือนตุลาคม อากาศแปรปรวน อากาศจะเริ่มเย็น แต่ก็อาจมีพายุฝนฟ้าคะนองได้
5) พายุฤดูร้อนมักเกิดในฤดูฝนระหว่างที่ฝนทิ้งช่วง อากาศร้อนจัด แปรปรวนมีโอกาสลมพัดรุนแรง
_______________________________________________
2. ช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จ.เลย มีอากาศหนาวเย็น และแห้ง เนื่องจากลมรสุมชนิดใด (แนวข้อสอบวิชาสังคมศึกษา)
1) ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
2) ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้
3) ลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ
4) ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
น้องๆ คิดว่าคำตอบข้อไหนถูกต้องคะ? เลือกคำตอบที่คิดว่าใช่แล้วคอมเมนต์ด้านล่างได้เลย
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ถ้าน้อง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความรู้จากวิชาอะไร ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
0 ความคิดเห็น