‘ประโยคกำกวม’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ข้อสอบ A-Level วิชาภาษาไทย ออกสอบทุกปี ซึ่งจะอยู่ในพาร์ตหลักการใช้ภาษา แม้จะออกแค่ปีละ 1-2 ข้อ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาด เพราะถ้าน้องๆ เข้าใจว่าความบกพร่องของประโยคนั้นกำกวมเพราะอะไร ก็จะช่วยให้ตัดตัวเลือกได้ง่ายขึ้น ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจ เรื่องประโยคกำกวม และวิธีการแก้ไข เพื่อนำไปใช้ทั้งในการสอบ และสื่อสารในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องกันค่ะ
ประโยคกำกวม คืออะไร?
ประโยคกำกวม คือ ประโยคที่สามารถตีความได้มากกว่า 1 ความหมาย ทำให้การสื่อสารมีความหมายไม่ชัดเจน เป็นเหตุให้สื่อสารผิดพลาด
ประโยคกำกวม ถือเป็นข้อบกพร่องทางการใช้ภาษา เพราะเราทุกคนใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การสื่อสารของเราจะมีประสิทธิภาพได้ ประโยคที่ใช้จะต้องไม่กำกวม นั่นหมายความว่า เราต้องสื่อสารอย่างชัดเจน ในฐานะผู้ส่งสารเราต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่พูดหรือเขียนไปนั้น ผู้อ่านหรือผู้ฟังจะเข้าใจหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจหรือตีความหมายเป็นอย่างอื่น แปลว่าประโยคที่เราใช้คือประโยคกำกวมนั่นเอง แล้วประโยคสามารถกำกวมเพราะอะไรได้บ้าง? มาดูหลักการสังเกตทั้ง 4 รูปแบบไปพร้อมๆ กันค่ะ
1. กำกวมเพราะ “คำพ้อง”
ประโยคกำกวมเพราะคำพ้องเกิดจากการใช้คำพ้องรูป หรือคำพ้องเสียง ในประโยค ทำให้สามารถตีความได้หลายแบบ โดยคำพ้องรูปและคำพ้องเสียง เป็นคำที่เขียน และออกเสียงเหมือนกัน แต่เป็นคำที่มีหลายความหมาย เช่น คำว่า “มัน” ที่อาจหมายถึง…
- มัน ที่เป็น พืช เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง
- มัน ที่เป็น คำสรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้แทนผู้ที่เราพูดถึง
ตัวอย่างประโยคกำกวมเพราะ “คำพ้อง”
1) ใครตามหมอมา แปลได้ 2 อย่าง คือ
- ใครเรียกตัวมา
- ใครเดินตามหลังมา
2) ผ้าขาดตั้งเยอะ แปลได้ 2 อย่าง คือ
- ผ้าไม่พอ
- ผ้าฉีกขาด
2. กำกวมเพราะ “ส่วนขยาย”
ประโยคกำกวมเพราะการวางส่วนขยาย มักจะเกิดจากคำที่เป็นส่วนขยายของโครงสร้างหลัก ไม่ว่าจะเป็น การขยายเพื่อบอกลักษณะ เวลา หรือสถานที่ ซึ่งจะทำให้ประโยคนั้นตีความได้ต่างกันไป ถ้าวางส่วนขยายผิดที่อาจทำให้เกิดความกำกวมได้ โดยประโยคกำกวมเพราะส่วนขยาย สามารถขยายได้ 2 จุด
ตัวอย่างประโยคกำกวมเพราะ “ส่วนขยาย”
1) นิดหน่อยซื้อไก่ทอดราดซอสราคาถูก
“ราคาถูก” ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นส่วนขยายของคำใด จึงสามารถตีความได้ 2 แบบ
- “ราคาถูก” ขยาย “ไก่ทอด” = ไก่ทอดที่ซื้อมามีราคาถูก
- “ราคาถูก” ขยาย “ซอส” = ซอสที่ราดไก่ทอดมีราคาถูก
2) แจกของเด็กมากมาย
“มากมาย” ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นส่วนขยายของคำใด จึงสามารถตีความได้ 2 แบบ
- “มากมาย” ขยาย “ของ” = สิ่งของจำนวนมากที่นำไปแจก
- “มากมาย” ขยาย “เด็ก” = เด็กจำนวนมากรอรับของ
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการใช้คำขยายผิดที่
วิธีที่สังเกตง่าย ๆ ว่าประโยคนั้นเป็นประโยคกำกวมหรือไม่ ให้ดูว่า “ผู้ / ที่ / ซึ่ง / อัน / เมื่อ” อยู่หลังคำไหน เพราะเมื่อคำเหล่านี้ไปอยู่หลังคำไหนก็มักจะเป็นส่วนขยายคำนั้น แต่ถ้าไปขยายแล้วไม่เข้าใจ อ่านแล้วสับสน มีหลายความหมาย นั่นหมายความว่าวางคำขยายผิด และเป็นประโยคกำกวมนั่นเองค่ะ เช่น ประโยคกำกวมที่มีกริยาอยู่ 2 คำ และขยายประโยคด้วยคำว่า “ที่” ตามด้วย สถานที่ หรือ “เมื่อ” ตามด้วย วัน/เวลา
ตัวอย่างประโยคกำกวมเพราะ “ที่/เมื่อ”
1) พ่อไปเยี่ยมเพื่อนที่ถูกรถชนที่โรงพยาบาล
ประโยคนี้มีคำกริยาอยู่ 2 คำ คือ “ไปเยี่ยม” และ “ถูกรถชน” โดย “ที่โรงพยาบาล” ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นส่วนขยายของคำใด จึงสามารถตีความได้ 2 แบบ
- “ที่โรงพยาบาล” ขยาย “ไปเยี่ยม” = เพื่อนถูกรถชนมาจากที่ไหนไม่รู้ แต่ตอนนี้พักฟื้นที่โรงพยาบาล
- “ที่โรงพยาบาล” ขยาย “ถูกรถชน” = เยี่ยมที่ไหนไม่รู้ แต่เพื่อนถูกรถชนที่โรงพยาบาล
2) ทีมนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงเดินทางไปแข่งขันที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์
ประโยคนี้มีคำกริยาอยู่ 2 คำ คือ “เดินทาง” และ “แข่งขัน” โดย “เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ” ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นส่วนขยายของคำใด จึงสามารถตีความได้ 2 แบบ
- “เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ” ขยาย “เดินทาง” = เดินทางวันที่ 20 กุมภาพันธ์
- “เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ” ขยาย “แข่งขัน” = แข่งขันวันที่ 20 กุมภาพันธ์
3. กำกวมเพราะ “วรรคตอน”
วรรคตอน คือ การเว้นวรรค ประโยคกำกวมเพราะการเว้นวรรค จะมีความบกพร่องเกิดขึ้นเมื่อมีการอ่านแบ่งวรรคที่ไม่ถูกต้อง หรือมีการเขียนเว้นวรรคไม่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้การตีความแตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างประโยคกำกวมเพราะ “วรรคตอน”
1) ห้ามสุภาพสตรีสวมกางเกงในช่วงเวลาราชการ
จากข้อความเกิดความกำกวมเพราะการเว้นวรรคที่ไม่ชัดเจน สามารถตีความได้ 2 แบบ
- ห้ามสุภาพสตรีสวมกางเกงใน/ช่วงเวลาราชการ = ไม่อนุญาตให้สุภาพสตรี สวมกางเกงใน ในช่วงเวลาราชการ
- ห้ามสุภาพสตรีสวมกางเกง/ในช่วงเวลาราชการ = ไม่อนุญาตให้สุภาพสตรีสวมกางเกง ในช่วงเวลาราชการ (ต้องใส่กระโปรงเท่านั้น)
2) หนังสือพิมพ์หมดแล้ว
จากข้อความเกิดความกำกวมเพราะการเว้นวรรคที่ไม่ชัดเจน สามารถตีความได้ 2 แบบ
- หนังสือ/พิมพ์หมดแล้ว = หนังสือนำไปตีพิมพ์หมดแล้ว
- หนังสือพิมพ์/หมดแล้ว = หนังสือพิมพ์ขายหมดแล้ว
4. กำกวมเพราะ “คำประสมคล้ายประโยค”
ประโยคกำกวมเพราะการใช้คำประสมที่อาจเป็นกลุ่มคำ หรือประโยค มักเจอในกรณีที่ประโยคมีคำกริยา แต่ไม่สามารถระบุว่าคำกริยาในข้อความนั้น เป็นกริยาของประโยค หรือเป็นคำประสม
ตัวอย่างประโยคกำกวมเพราะ “คำประสมคล้ายประโยค”
1) รถขนขยะออกไปแล้วเมื่อเช้า
ประโยคนี้กำกวมที่ “รถขนขยะ”
- คำประสม = รถสำหรับขนขยะ (ชนิดยานพาหนะ) ได้ออกไปแล้วเมื่อเช้า
- ประโยค = ‘รถ’ ได้ขนขยะออกไปแล้วเมื่อเช้า
2) เจ้าหน้าที่เข็นรถคนไข้ออกไปแล้ว
ประโยคนี้กำกวมที่ “เจ้าหน้าที่เข็นรถคนไข้”
- คำประสม = เจ้าหน้าที่เข็นรถคนไข้ (ตำแหน่ง) เดินทางออกไปแล้ว
- ประโยค = ‘เจ้าหน้าที่’ ได้เข็นรถของคนไข้ออกไปแล้ว
วิธีแก้ประโยคกำกวม
วิธีแก้ให้รูปประโยคไม่กำกวม การสื่อสารในแต่ละครั้งก็ควรที่จะเพิ่มคำขยาย สลับส่วนขยาย หรือเว้นวรรค ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การใช้ภาษาในการสื่อสารนั้นถูกต้องครบถ้วนและสมบูรณ์มากที่สุด เช่น “เขาเหยียบแก้วจนแตก” แปลได้ 2 อย่าง คือ
- เขาเหยียบแก้วจนแตก
- แก้วแตกอยู่แล้ว แล้วเขาเดินไปเหยีบ
ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจประโยคนี้ได้ง่ายขึ้น สามารถแก้ไขตามนี้…. “เขาเหยียบแก้วจนแตก” / “เขาเหยียบเศษแก้วที่แตกบนพื้น” เป็นต้น
มาทดสอบความรู้กัน!
รู้จักรูปแบบของประโยคกำกวมกันไปแล้ว ถึงเวลาทดสอบความเข้าใจกันแล้วค่ะ โจทย์เรื่องประโยคกำกวมอาจจะต้องใช้การวิเคราะห์สักนิดนึง แนะนำว่าค่อยๆ อ่านตัวเลือกแล้วสังเกตดีๆ โดยส่วนใหญ่ประโยคกำกวมที่ข้อสอบมักจะออกสอบบ่อยก็คือ “การส่วนขยายผิดที่” วันนี้ 2 ข้อมาให้ฝึกทำ เป็นข้อสอบ A-Level วิชาภาษาไทย จากโครงการ Dek-D’s Pre-Admission รอบธันวาคม 2564 และรอบพฤศจิกายน 2566
1. ข้อใดไม่ใช้ภาษากำกวม (โครงการ Dek-D’s Pre-Admission รอบธันวาคม 2564)
1) วีรพรเรียนไม่เก่งเหมือนกับพี่ชายของเธอ
2) ขอเชิญร่วมรดน้ำใส่หน้ากากวันสงกรานต์
3) โทรทัศน์รายงานข่าวโคมลอยที่เชียงใหม่
4) เขาไม่ชอบกินอาหารที่ทำทิ้งไว้จนเย็นชืด
5) ตำรวจพบคนร้ายขณะกำลังขึ้นรถประจำทาง
______________________________________________________
2. ข้อใดเป็นประโยคกำกวม (โครงการ Dek-D’s Pre-Admission รอบพฤศจิกายน 2566)
1) เขากับแฟนไปเที่ยวกันสองต่อสอง
2) พี่สาวฉันเปิดหนังเรื่องบ้านผีปอบดู
3) เธออย่าจับพวงมาลัยแน่นดอกไม้จะช้ำ
4) พระอาทิตย์มรณภาพเมื่อวันอาทิตย์
5) ตาคนนั้นกลับบ้านเก่าไปแล้วล่ะ
น้องๆ คิดว่าแต่ละข้อคำตอบไหนถูกต้อง คอมเมนต์ด้านล่างได้เลย!
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาภาษาไทย บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
0 ความคิดเห็น