Teen Coach EP.117 : ชีวิตเราเคยรู้สึก 'แค้น' ใครบ้างไหม?

แค้นอย่างไรให้ใจไม่ทุกข์

พี่หมอแมวน้ำอยากถามว่ามีใครเคยเจอกับเรื่องแบบนี้บ้าง ยกมือตอบในใจ แล้วนับดูว่ามีกี่เรื่องกันนะ?

  • เพื่อนมาขอดูการบ้านที่เราตั้งใจทำ แต่พอเราเอางานไปส่งครู ครูหักคะแนนเนื่องจากเข้าใจว่าเราไปลอกผลงานเพื่อน
  • เพื่อนอยากเข้าคณะเดียวกันรอบ portfolio มาขอให้เราช่วยเขียนผลงาน ขอรูปที่เคยทำร่วมกันจะได้ใส่ในประวัติ ปรากฏว่าตอนประกาศผล เพื่อนสอบติดเพราะ portfolio อลังการเนื่องจากไปจ้างคนทำ ส่วนเราสอบไม่ติด ทั้งที่เนื้อหาก็เหมือนกันและเกรดเรามากกว่า
  • มีครูพูดจาไม่ดีใส่ และดูถูกว่าเราไม่มีทางสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีได้ เพราะเราโง่
  • ครูลำเอียงชอบเด็กบางคนในห้องที่ขี้ประจบเลยให้คะแนนเยอะ ส่วนเราไม่ได้เข้าหาครูทำให้ได้คะแนนน้อย
  • เราถูกเพื่อนบุลลี่ เสียใจร้องไห้หนักมาก ไม่รู้จะจัดการอย่างไร พอไปขอความช่วยเหลือจากครูหรือพ่อแม่ ทุกคนบอกเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็โดน ให้เราอดทนมากกว่านี้
  • มีคนในโรงเรียนไม่ชอบเรา เลยปล่อยข่าวลือที่ไม่จริง และเอาเราไปแขวนผ่าน IG ทำให้ทัวร์ลงไปถล่มด่าใน IG เรา
  • เราแอบชอบรุ่นพี่ อยากได้สถานะเป็นคนคุยหรือแฟน ไปปรึกษาขอความช่วยจากเพื่อนสนิท เพื่อนบอกจะช่วยเต็มที่ อีกไม่กี่วันต่อมาเพื่อนลงรูปคู่กับรุ่นพร้อมกับสเตตัส “แฟน”
  • คนที่เราคิดว่าเป็นเพื่อนเพราะเราติวหนังสอบให้ ไม่ยอมให้ไปเที่ยวด้วย เพราะเหตุผลว่าเราดู “ต่ำ” ใช้ของราคาถูก ไม่มีไอเท็มเหมือนเพื่อน ถ้าใครเห็นว่าเพื่อนอยู่กับเราที่สยาม เดี๋ยวเพื่อนจะถูกดาวน์เกรดไปด้วย เค้าบอกว่าเป็นเพื่อนกันได้ แต่ต้องไม่แสดงออกในที่สาธารณะ
  • เราหยุดเรียนเพราะเป็นโควิด เลยโทรไปถามงานเพื่อนเรื่องพรีเซนต์วิชาสังคม เพื่อนบอกหัวข้อที่เราต้องทำเพราะครูกำหนดมาให้ พอถึงวันจริงเราถูกครูต่อว่าที่นำเสนอเนื้อหาไม่ตรงกับหัวข้อที่มอบหมายให้ เพื่อนนั่งหัวเราะคิกคัก
  • เพื่อนชอบมาขอยืมเงิน ยืมของ แล้วไม่คืน ตอนไปทวงเพื่อนดราม่าใส่ร้องไห้เสมือนว่าเป็นเหยื่อ ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าเราเป็นคนก้าวร้าว
  • ถูกญาติมาแทะโลม แตะสัมผัสตามตัว ทำให้รู้สึกแย่มาก กลัวที่จะโดนแบบนี้อีก พอไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง กลับไม่มีใครเชื่อ บอกเราคิดมากไปเอง

หลาย ๆ เรื่องที่เกิดในชีวิตประจำวันทำให้เรา “แค้น” โกรธ เสียใจ น้อยใจ ผิดหวัง ความคิดที่เกิดขึ้นแว้บแรก คือ “มันไม่ยุติธรรม“ “ถูกหักหลัง” ปฏิกิริยาที่เราแสดงออกมา เช่น ร้องไห้ฟูมฟาย เก็บตัว  ทำร้ายตัวเอง และ “ต้องการแก้แค้น” เราใช้เวลานั่งคิดแผนและลงมือทำในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องเจ็บเหมือนที่เราเจ็บ เราผิดปกติมั้ยที่เราไม่สามารถให้อภัยได้? แล้วเราควรจะจัดการกับความคิดความรู้สึกเคียดแค้นอย่างไรดี? เพราะเราก็อยากใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเหมือนกัน พี่หมอแมวน้ำขอเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ละกัน

ว่าด้วยเรื่องการแก้แค้น (revenge)

“การแก้แค้น” (revenge) เป็นหนึ่งในสัญชาตญาณที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพื่อช่วยในการอยู่รอดและปกป้องตัวเองของมนุษย์ สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าถูกทรยศหักหลัง (betrayed) สูญเสียความไว้วางใจอีกฝ่าย (mistrust) การแก้แค้นที่เกิดขึ้นทำให้สบายใจ โล่ง กลับมามีความเชื่อมั่นว่าเราคุมชีวิตตัวเองได้ (back autonomy and power) และปัญหาที่เกิดได้รับการจัดการ โดยลืมไปว่าทุกอย่างที่เราตัดสินใจทำลงไปมีผลลัพธ์ที่ตามมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง

มีงานศึกษาวิจัยการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับความความแค้น พบว่าเมื่อเรารู้สึกโกรธแค้น สมองส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ วงจรการได้รับความพึงพอใจ (reward-related regions) มีการทำงานของดอซอลสะตายเอตัม (dorsal striatum) เพิ่มขึ้น วงจรนี้เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) เมื่อเราได้รับสิ่งที่เราต้องการ สิ่งนั้นเสมือนรางวัลที่ทำให้เรามีความสุข โดปามีนจำนวนมากจะหลั่งออกมาในเวลาสั้น ๆ การแก้แค้นก็เช่นเดียวกัน ตอนที่เราลงมือแล้วอีกฝ่ายได้รับความเสียหาย เราจะสะใจ มีความสุขชั่วคราว เพราะโดปามีนที่หลั่ง แต่หลังจากนั้นอาจต้องรับความทุกข์จากผลลัพธ์ เช่น  อีกฝ่ายล้างแค้นกลับไปกลับมาไม่จบไม่สิ้น

วิธีรับมือเมื่อเรารู้สึกแค้น

1.มีสติยอมรับว่าเราแค้น

การจัดการความแค้นที้ที่เกิดขึ้นให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ต้องเริ่มจากการยอมรับอารมณ์และความคิดของตัวเองก่อนว่าเรา “กำลังแค้น” บางคนยอมรับไม่ได้จากหลายสาเหตุ เช่น เชื่อว่าเรา “ต้องไม่โกรธแค้นและให้อภัย” ไม่อย่างนั้นเราจะผิดหลักความเชื่อศาสนาที่เรานับถือ เลยพยายามกดมันเอาไว้ว่าเราอภัยได้ สุดท้ายเมื่อเราสะสมความแค้นโดยไม่จัดการมัน ทั้งร่างกายและจิตใจเราจะพังไปด้วย เช่น มีอาการปวดหัวที่หาสาเหตุไม่ได้, ผุดคิดเรื่องแค้นขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเสียสมาธิในการเรียน รู้สึกหดหู่ หม่น ๆ ดิ่ง ๆ

 

วิธีสังเกตความแค้นอย่างง่าย ๆ คือ ดูปฏิกิริยาของร่างกายที่แสดงออกว่าโกรธ ไม่พอใจ เช่น ใจสั่น หน้าร้อนผ่าว หายใจติดขัด คลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้อง ร่วมกับการที่คิดวกวนเรื่องความแค้นนั้น ไม่มีความสุข นึกถึงวิธีที่จะแก้แค้นเอาคืน หรือความคิดลบทั้งกับตัวเองเอง หรือฝ่ายตรงข้าม เช่น เราเป็นคนอ่อนแอ สมควรแล้วที่ถูกกระทำ

 

การเขียนระบาย หรือได้พูดคุยกับคนที่เราสนิทและรับฟัง จะช่วยให้เราได้ระบายก้อนความทุกข์ออกมา ตอนแรกเราอาจไม่เข้าใจตัวเองแต่เมื่อเราพูดออกมาเรื่อย ๆ และมีคนรับฟัง ฟีดแบ็ค เราจะยอมรับและเข้าใจตัวเองมากขึ้น

2. โฟกัสกับสิ่งที่เราควบคุมได้

บางครั้งการที่เราคิดว่าตัวเองถูกกระทำ อาจเกิดจากความเข้าใจผิดที่ไม่ได้สื่อสารกันให้รู้เรื่อง (miscommunication) เช่น เรากับเพื่อนแอบชอบคนเดียวกัน ซึ่งความสัมพันธ์ของเพื่อนกับคนนั้นไปไกลกว่าที่เรารู้ แต่เพื่อนไม่กล้าบอกกลัวเราเสียใจ การพูดกับอีกฝ่ายเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ หากเราคุยเคลียร์กับเพื่อนด้วย I-message ว่าเรารู้สึกและคิดอย่างไร สิ่งที่เราอยากให้เป็นคืออะไร ความแค้นจะเบาบางลงและปัญหาจะได้รับการแก้ไข  

 

“เราเสียใจมากที่แกเปิดตัวกับพี่กอล์ฟว่าเป็นแฟนกัน ทั้งที่เราเล่าให้แกฟังมาตลอดว่าเราชอบพี่เค้าแค่ไหน ที่จริงถ้าแกบอกเราตั้งแต่แรก แม้เราจะเสียใจ แต่เดี๋ยวก็ตัดใจได้ ดีกว่ามารู้จาก IG มันเหมือนถูกทรยศเลย“

 

เพื่อนร้องไห้ขอโทษแล้วบอกว่าทำไมถึงตัดสินใจทำแบบนี้ จากการคุยกันตรง ๆ ได้ข้อสรุปว่าเราจะยังเป็นเพื่อนกันอยู่แต่ไม่สนิทเหมือนเดิม ต่างฝ่ายจะได้วางตัวถูก

 

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เรามั่นใจว่าเรายังคุมสิ่งต่าง ๆ ได้อยู่ เพราะความแค้นทำให้เราสติแตก คิดว่าทุกอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม คือ การพูดให้กำลังใจตัวเอง (self-affirmation) สิ่งนี้จะทำให้ใจเราสงบลงเพราะอย่างน้อยแม้เราจะคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้ แต่เราคุมการตอบสนองทางอารมณ์ของตัวเองได้ เช่น “เรามีความสามารถมากพอที่จะผ่านเรื่องเฮงซวยไปได้” “มันไม่โอเคแต่เราทำให้โอเคขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง”

3. เลือกใช้วิธีที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น

บางคนเมื่อมีใครทำให้โกรธอาจจะหมกมุ่นกับการแก้แค้น จนไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องทำ เช่น แค้นที่เพื่อนได้คะแนนมากกว่า ทำให้เสียเวลาไปกับการนั่งคิดแผนที่จะทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ดี แทนที่จะเอาเวลาไปอ่านหนังสือ ทำโจทย์เพิ่ม 

 

จะเป็นการที่ดีกว่ามั้ยที่คิดว่า “ช่างแม่ง” ทั้งที่ใจยังโกรธ แต่เปลี่ยนความโกรธเป็นแรงขับให้เราตั้งใจอ่านหนังสือมากขึ้นเพื่อที่จะทำคะแนนได้ดีในการสอบครั้งหน้า

 

การคิดวิธีจัดการรับมือกับปัญหาที่ทำให้เราแค้น ช่วยให้เรารู้สึกกังวลลดลงเพราะรู้ว่าต้องทำอย่างไร เช่น เมื่อถูกคนรู้จักคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ครั้งต่อไปให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้และบอกกับคนรอบตัวให้รู้ว่าเรากลัวมาก หากเกิดเหตุอีกจะได้ขอความช่วยเหลือได้

กรณีที่เรามีศัตรูคู่แข่งที่พร้อมจะบดขยี้ให้ชีวิตเราแย่ การล้างแค้นที่สะใจที่สุด คือ การที่เรามีความสุข มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้อีกฝ่ายอกแตกตายไปเอง

4. ยอมรับอย่างที่มันเป็น

ความแค้นไม่ใช่สิ่งที่หายไปได้ง่าย ๆ ด้วยการบอกตัวเองว่า “ฉันให้อภัย” เพื่อทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองหรือทำให้เราดูดีในสายตาคนอื่น เพราะบางเรื่องที่คนอื่นกระทำกับเรามันหนักหนาสาหัสจริง ๆ 

 

หากวันนี้ยังให้อภัยไม่ได้ก็ไม่เป็นไร “แค้นได้หากใจเราไม่ได้เป็นทุกข์”

 

เวลาที่ผ่านไป เรายังมีโอกาสได้เราเจอกับประสบการณ์อีกหลายอย่างที่จะช่วยให้มุมมองที่มีต่อความแค้นเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราแค้นลดลงหรือไม่แค้นอีกต่อไป

5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

“ความแค้น“ มีความรู้สึกด้านลบหลายอย่างผสมกัน เช่น เศร้า โกรธ เสียใจ บางครั้งความแค้นที่เกิดขึ้นอยู่ในสถานะการณ์ที่วางตัวลำบาก เช่น ถูกพ่อเลี้ยงลงโทษใช้กำลังตบตี แต่ยังต้องทนอยู่ในบ้านนี้ เพราะพ่อเลี้ยงเป็นคนที่หาเงินเข้าบ้าน หากใช้ความเชื่อทางศาสนาเข้ามาจับ “พ่อเลี้ยง“ เป็นคนที่มีพระคุณ เราต้องกตัญญูตอบแทน การที่จะไปแจ้งตำรวจหรือบอกคนอื่นว่าถูกทำร้าย เราจะกลายเป็นคนไม่ดี เพราะทำให้พ่อเลี้ยงลำบากได้ 

 

ดังนั้น ถ้ารู้สึกสับสน ไม่แน่ใจว่าตัวเองคิดและรู้สึกอย่างไร การพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ หรือผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ จะช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น รู้ว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไรและได้รับความช่วยเหลือ เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขโดยทุกข์น้อยที่สุด

อ่านเรื่องความแค้นแล้ว น่าจะพอเป็นแนวทางให้น้อง ๆ นำไปปรับใช้กันดูถ้าใครมีข้อสงสัยหรืออะไรอยากแชร์ ก็คอมเมนต์กันได้เลยค่าาาา

 

Referencehttps://www.forbes.com/councils/forbescoachescouncil/https://eymtherapy.com/blog/seeking-revenge-do-this-instead/https://medium.com/invisible-illness/

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น