5 วิธีรับมือ เมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า เราควรทำยังไง?


          “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตคนเราเช่นเดียวกับโรคทางกายอื่นๆ โดยมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น การสูญเสีย ความผิดหวัง ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา รักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างควบคู่กัน แต่ทีนี้ระหว่างที่เพื่อน คนรัก หรือคนรู้จักของเรากำลังป่วยและรักษาตัวอยู่นั้น คนใกล้ชิดอย่างเราจะต้องทำตัวอย่างไร จะต้องเอาใจใส่ หรือปลีกตัวออกมาแค่ไหน ตามไปดูกันค่ะ
 


ทำตัวตามสบาย ไม่ต้องเอาใจเยอะ
          เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้า เราไม่ต้องไปโอ๋ เอาอกเอาใจ หรือทำอะไรให้เป็นพิเศษค่ะ อย่าทำเหมือนเขาเป็นคนป่วยและเป็นภาระใคร หากยิ่งตามใจ คนอื่นที่ไม่รู้และไม่เข้าใจก็จะไม่พอใจได้ และหากเรายิ่งดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อนของเราอาจจะว่าตัวเองอ่อนแอ และเป็นภาระคนอื่น ก็จะยิ่งรู้สึกไม่ดีไปอีก ดังนั้น เราก็เฮฮาปาร์ตี้กันไปตามปกตินี่แหละค่ะ พอแล้ว!
 
ไม่ต้องกดดัน หรือพยายามเปลี่ยนแปลงอะไร
          ตามปกติแล้วพอเรารู้ว่ามีใครสักคนป่วย เราก็มักจะอดไม่ได้ที่จะไปเจ้ากี้เจ้าการ ลองทำแบบนั้นสิ ทำแบบนี้สิ ไปหาอะไรทำสิ อันนั้นไม่ดี อันนี้ห้ามทำ...!!! โอ๊ย กดดันกันเข้าไปจนงงว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ทั้งที่รู้ว่าเป็นห่วงมากมายนั่นแหละ แต่การกดดันหรือบีบบังคับให้ทำอะไรต่อมิอะไร จะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัด ลองเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ นั่งลงข้างๆ อยู่เป็นเพื่อนเวลาที่เค้ารู้สึกอ่อนแอ แค่นี้ก็พอแล้วค่ะ
 


หลีกเลี่ยงถ้อยคำประชดประชัน
          การใช้คำพูดรุนแรงที่จะทำให้รู้สึกแย่และไร้ค่านั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลยค่ะ ไม่ว่าจะกับคนป่วยหรือคนปกติก็ตาม เช่น ทำไมทำไม่ได้อะ แค่นี้เอง ไร้สาระ ทำอะไรก็คิดถึงคนอื่นบ้าง เป็นต้น บางครั้งหลายคนคิดว่าการใช้คำพูดแรงๆ นั้นจะช่วยเตือนสติได้ แต่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้ว ผลที่ได้อาจต่างออกไป คำพูดประชดประชัน อาจจะยิ่งเร่งความรู้สึกให้จมดิ่งลงไปมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ทำอะไรก็ไม่ดี ทางที่ดีควรเปลี่ยนมาใช้คำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจ เช่น มีอะไรคุยกันได้ เราอยู่ตรงนี้ พร้อมเมื่อไหร่เล่ามาได้เสมอ แบบนี้ดีกว่าค่ะ
 
อย่าตัดสินแทนใคร แค่รับฟังอย่างเข้าใจก็พอ
          เราไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน คนเราจะตัดสินใจทำอะไรเหมือนกันมั้ย เช่นการที่เรามองว่า เรื่องเล็กน้อยแค่นี้เอง ทำไมเพื่อนถึงต้องคิดมาก หรือรู้สึกแย่ขนาดนั้นด้วย ไม่เข้าท่า! นั่นเพราะว่าเราไม่มีวันเข้าใจในจุดนั้น เรื่องเดียวกัน คนทั่วไปอาจมีความคิดแบบหนึ่ง ขณะที่คนเป็นโรคซึมเศร้าอาจจะคิดอีกแบบ เพราะฉะนั้นไม่ควรไปเปรียบเทียบและเอาความคิดตนเองไปตัดสิน ควรช่วยแนะแนวทางให้เค้าเห็นทางออกไปพร้อมกับเรา หรือเพียงแค่รับฟัง โอบกอดอย่าเข้าใจ โดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ เลย 
 


โรคซึมเศร้ารักษาได้ แต่อย่าใจร้อน
         ทุกๆ อาการต้องใช้เวลาค่ะ ใครมีเพื่อนหรือคนสนิทที่กำลังรักษาอาการจากโรคซึมเศร้า อย่าคิดว่าการปรึกษาจิตแพทย์แล้วจะหายทันที โรคนี้รักษาได้แต่ต้องใช้เวลา ต้องใช้ยารักษา ต้องรักษาเยียวยาจิตใจ หรือทั้งสองอย่างควบคู่กัน อย่าคาดหวังว่ายาจะช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นในเร็ววัน ผู้ป่วยต้องใช้ความพยายามอย่างมาก คนใกล้ชิดก็ต้องใช้ความเข้าใจและอดทนเช่นกัน แล้วในที่สุดก็จะดีขึ้นเองค่ะ อย่าลืมให้กำลังใจกันด้วยนะ

 
          ใครที่อยากรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามั้ย สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพิ่มเติม พร้อมทั้งตรวจสอบอาการเบื้องต้นโดยใช้แบบคัดกรองของกรมสุขภาพจิต คลิกที่นี่ค่ะ 
          สุดท้ายนี้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังป่วยหรือมีเพื่อนป่วยเป็นโรคซึมเศร้านะคะ มาทำความเข้าใจโรคนี้ด้วยกัน และเราจะผ่านมันไปด้วยกันนะคะ

 

โรคซึมเศร้ากำลังเป็นปัญหาระดับโลก!

  • ผลการวิจัยของธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด

  • มีผู้ที่ฆ่าตัวตายมากถึงร้อยละ 60 ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 

  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ประสบกับความผิดหวังหรือปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ความรัก หรือการศึกษา จะเกิดความคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายกว่าคนปกติถึง 3 เท่า

  • โรคซึมเศร้ารักษาหายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้ด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด