ต่างกันตรงไหน... ชวนวิวาทะ 3 เจ้าพ่อแห่งวงการเทพนิยายโลก

 

ต่างกันตรงไหน...
ชวนวิวาทะ
3 เจ้าพ่อแห่งวงการเทพนิยายโลก  
 

ชาร์ลส์ แปร์โรต์ 
ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน
พี่น้องกริมม์


นักเขียนสามคนนี้เหมือนหรือต่างกันตรงไหน ยังไง...?
 
สวัสดีค่ะชาวนักเขียนนักอ่านเด็กดีทุกท่าน แอดมินในฐานะทีมงานนักเขียนเด็กดีกลับมาพบกับทุกคนอีกแล้ว พร้อมกับบทความชวนคุยเรื่องเทพนิยาย โดยวันนี้ เราเลือกที่จะพูดถึง 3 เจ้าพ่อเทพนิยายที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก คนแรกคือชาร์ลส์ แปรโรต์ คนที่สอง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน และคนที่สาม พี่น้องกริมม์
 
แอดมินกล้าพูดเลยว่าทั้งสามคนที่พูดมานี้คือผู้มีอิทธิพลสูงสุดในวงการเทพนิยายระดับโลก และเป็นต้นแบบการเขียนเทพนิยายให้กับนักเขียนรุ่นหลังๆ ทั้งหลาย ผลงานของทั้งสามติดหู เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ชนิดที่แค่พูดชื่อมา คนทั่วไปต้องพยักหน้ารับ (ต่อให้ไม่ได้อ่านหนังสือหรืออยู่ในวงการ ก็ต้องรู้จักผลงานของพวกเขา!) และแม้พวกเขาจะเขียนถึงเทพนิยายเหมือนๆ กัน แต่แอดมินมั่นใจว่า แนวการเขียนและวิธีการเล่าเรื่องของทั้งสามนั้นแตกต่าง แต่ว่าจะแตกต่างยังไง ตรงไหน ชวนไปคุยกันค่ะ
 
เครดิตภาพ : commons.wikimedia.org

 

คนแรก ชาร์ลส์ แปร์โรต์

ผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนนี้คือ “เจ้าหญิงนิทรา” “หนูน้อยหมวกแดง” และ “ซินเดอเรลล่า” ซึ่งแน่นอนว่าต้นฉบับของแปร์โรต์นั้นไม่เหมือนที่ดิสนี่ย์นำเสนอแม้แต่น้อย ถ้าให้เรียงลำดับแล้ว เนื้อหาที่ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุดคือ หนูน้อยหมวกแดงก่อน ตามมาด้วยซินเดอเรลล่า ส่วนเจ้าหญิงนิทรานั้น เรียกว่าแตกต่างมากที่สุด จะว่าไม่เหมือนต้นฉบับเลยก็ว่าได้
 
ประวัติคร่าวๆ ของแปร์โรต์ เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1628 พ่อแม่เป็นชนชั้นสูงของฝรั่งเศส อาชีพแรกในชีวิตคือนักเก็บภาษีและทนายความ แปร์โรต์ยังใกล้ชิดกับเชื้อพระวงศ์และมีโอกาสได้สนทนากับชนชั้นสูงบ่อยครั้ง และแม้จะมีผลงานเทพนิยายมากมาย ทว่าแปร์โรต์ตีพิมพ์ผลงานครั้งแรกเมื่ออายุ 70! (เขาเริ่มเขียนหนังสือหลังจากภรรยาที่อ่อนกว่าถึง 25 ปีเสียชีวิต) หนังสือเรื่อง Stories or Tales from Times Past, with Morals: Tales of Mother Goose ประกอบด้วยเรื่องสั้น 8 เรื่อง รวมผลงานดังๆ อย่างหนูน้อยหมวกแดง ซินเดอเรลล่าและเจ้าหญิงนิทราเอาไว้แล้ว และแม้จะเป็นหนังสือเรื่องแรก แต่มันก็ดังไปทั่วยุโรป และกลายเป็นนิทานก่อนนอนที่พ่อแม่นิยมเล่าให้ลูกๆ ฟัง
 
ผลงานสร้างชื่อ
หนูน้อยหมวกแดง, ซินเดอเรลล่า, เจ้าหญิงนิทรา, แม่ห่าน, แมวในรองเท้าบู้ต ฯลฯ
 
ลักษณะเด่นของเทพนิยายสไตล์แปร์โรต์คือ
  • นำเสนอแนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับศีลธรรมและการวางตัวในผลงาน หลายครั้งก็อาจจะยากเกินไป จนเด็กๆ ที่อ่านไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ เช่น หนูน้อยหมวกแดง เจ้าตัวต้องการเตือนผู้หญิง ไม่ให้พูดคุยกับชายหนุ่มแปลกหน้า เพราะอาจพลาดท่าแก่ผู้ชายเจ้าเล่ห์เหมือนหมาป่าและต้องเสียชีวิตในตอนท้าย (ต้นฉบับของเขาเป็นแบบนั้น)
  • ส่งสารถึงผู้หญิงว่าความสวยนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ควรหลงใหล มันก็แค่ความเชื่อและความคาดหวังของสังคม แน่นอนการอยากสวยไม่ผิด แต่การจะไปหลงยึดติดกับความสวยความงามไม่ใช่เรื่องดี
  • มีความรุนแรง โหดร้ายแบบเถื่อนๆ ที่อ่านแล้วอาจหวาดสยองอยู่มาก เช่น เจ้าหญิงนิทรา ต้นฉบับถูกข่มขืนโดยพ่อของเธอเอง หรือหนูน้อยหมวกแดงก็โดนหมาป่าจับกินตอนท้ายเรื่อง เป็นต้น
      

เครดิตภาพ : en.wikipedia.org

คนที่สอง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน

ผลงานที่จะว่าไปก็ดังมากที่สุดของแอนเดอร์สันคือ “เงือกน้อย” และแน่นอนว่าเวอร์ชั่นต้นฉบับไม่ใช่แบบที่ดิสนี่ย์นำเสนอ ของจริงมันทั้งร้ายและโหดกว่านั้นเยอะ แอนเดอร์สันเป็นนักเขียนที่เคร่งครัดเรื่องศาสนามาก เขาเป็นชาวคริสเตียนตัวจริง (แนะนำให้อ่านเรื่องสาวน้อยรองเท้าแดง เรื่องนั้นเต็มไปด้วยแนวคิดเกี่ยวกับศาสนา) เนื้อหาในเทพนิยายของแอนเดอร์สันส่วนใหญ่แล้วจะโหดร้ายและรุนแรง พูดง่ายๆ ว่าสายดาร์คมาเอง แต่ก็มีบางเรื่องที่สร้างความหวังและให้กำลังใจ
 
ประวัติคร่าวๆ ของแอนเดอร์สัน เขาเกิดที่เดนมาร์ก ในเดือนเมษายน เมื่อปี ค.ศ. 1805 (ถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจงก็คือวันที่ 2 เมษายน ปัจจุบัน เป็นวันหนังสือเด็กสากล (International Children’s Book Day)) ฐานะทางบ้านไม่ดีนัก และยังเป็นโรคพูดไม่ชัด มีปัญหาการออกเสียง รวมถึงลายมือแย่มาก แถมยังใช้ไวยากรณ์ผิดๆ ด้วย (อย่างไรก็ตาม ทางสนพ. ไม่ได้แก้ไขรูปประโยคของเขาเลย และปัจจุบัน สำนวนสไตล์แอนเดอร์สันก็ถือว่าเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมมากทีเดียว) ต่อมาเจ้าตัวเดินทางไปโคเปนเฮเกนด้วยหน้าที่การงาน จากนั้นก็เริ่มต้นเขียนหนังสือในที่สุด ผลงานตีพิมพ์เรื่องแรกของเขาปรากฎในปี ค.ศ. 1829 เป็นเรื่องสั้นที่ไม่มีชื่อเสียงอะไรนัก และไม่เกี่ยวข้องกับเทพนิยายแต่อย่างใด ต่อมาในปี ค.ศ. 1835 แอนเดอร์สันตัดสินใจเบนเข็มมาที่การเขียนเทพนิยายแทน ทว่าก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แม้กระทั่ง “เงือกน้อย” และ “ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา” ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จนกระทั่งต่อมา ในปี ค.ศ. 1845 ผลงานของเขาถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและวางจำหน่ายที่นั่น แอนเดอร์สันมีโอกาสได้ทำความรู้จักนักเขียนชื่อดังในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ลส์ ดิกเกนส์, เอ. เอ. มินน์ (ผู้เขียนวินนี่เดอะพูห์) และ เบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ นั่นแหละผลงานของเขาจึงเริ่มมั่นคงและชัดเจนมากขึ้น และเริ่มเป็นที่รู้จักในที่สุด
 
ผลงานสร้างชื่อ
เงือกน้อย, ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา, ลูกเป็ดขี้เหร่, ไนติงเกล, สาวน้อยขายไม้ขีดไฟ, เจ้าหญิงกับเม็ดถั่ว, ราชินีหิมะ, ธัมเบลิน่า, ตุ๊กตาทหารดีบุกและสาวน้อยนักบัลเล่ต์ ฯลฯ
 
ลักษณะเด่นของเทพนิยายสไตล์แอนเดอร์สันคือ
  • แฝงคุณธรรมและแนวคิดในเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของศาสนา แต่ก็ไม่ได้จริงจังกับมันมาก หลายครั้ง แอนเดอร์สันทำให้ผู้อ่านสงสัยและไขว้เขวว่า ถ้าเราทำดีแล้วจะได้ดีจริงหรือ...?
  • เทพนิยายของแอนเดอร์สันมักสอนบทเรียนดีๆ ผ่านเรื่องราวของชาวบ้านที่ยากจน มีชีวิตลำบาก ส่วนใหญ่แล้ว คนพวกนี้จะมีโอกาสได้เจอกับสถานการณ์บางอย่างและได้พบจุดเปลี่ยนแปลง อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต ต้องเลือกทั้งๆ ไม่อยากเลือก แต่การเลือกนั้นก็จะกลายเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าในทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ 
  • เรทของเทพนิยายแอนเดอร์สันคือ pg-13 หลายเรื่องที่ฉากรุนแรงอยู่บ้าง ซึ่งถ้าไม่กลัวว่าจะหวาดเสียวเกินไป ก็น่าจะลองเล่าให้ลูกๆ ฟังดู เผื่อพวกเขาจะได้รู้ว่า... ถ้าไม่ทำตัวให้เหมาะสม เราอาจเจอเรื่องเลวร้ายถึงขีดสุดได้
     

เครดิตภาพ : en.wikipedia.org

คนที่สาม พี่น้องกริมม์

คู่พี่น้องที่เป็นที่รู้จักจากเทพนิยายหฤโหด พวกเขามีชื่อมากเรื่องนำตำนานพื้นบ้านเก่ามาเล่าใหม่ ซินเดอเรลล่า หนูน้อยหมวกแดง และเจ้าหญิงนิทรา ของแปร์โรต์ก็ถูกพวกเขานำมาพูดถึง โดยเนื้อหามีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ซ้ำกัน เช่น หนูน้อยหมวกแดง มีคุณยายที่ชาญฉลาด ช่วยชีวิตเธอ ไม่ให้ถูกหมาป่าจับกิน (เวอร์ชั่นของแปร์โรต์ หนูน้อยหมวกแดงและคุณยายตายคู่ค่ะ)
 
เทพนิยายสไตล์กริมม์มีความคล้ายกับแอนเดอร์สันอยู่บ้าง ในแง่ของการให้ความสำคัญกับศาสนา นักเขียนทั้งสองจริงจังกับเรื่องนี้มาก แต่กริมม์จะตอบแทนตัวละครที่ทำความดีของเขาด้วย การแต่งงาน ฐานะที่ร่ำรวยหรือแม้แต่ปาฎิหาริย์ต่างๆ ผิดกับแอนเดอร์สัน ที่ไม่ค่อยเน้นสิ่งนี้มากนัก (ตัวอย่างเช่น ในราพันเซล ฉบับของกริมม์ เจ้าชายที่ตาบอดกลับมามองเห็นอีกครั้ง หลังสัมผัสน้ำตาของราพันเซล หรือ เรื่องสาวใช้ไม่มีมือ ก็ได้มือกลับคืน หลังจากถูกตัดทิ้งโดยพ่อของตัวเอง)
 
พี่น้องกริมม์มีสองคนคือ เจค็อบและวิลเฮล์ม พวกเขาเกิดที่เยอรมนีในช่วง ค.ศ. 1780 เทพนิยายของสองพี่น้องเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก ทว่าจะมีสักกี่คนที่รู้ว่า... ทั้งคู่ไม่ได้เขียนเอง พวกเขาไม่ใช่นักเขียนแต่เป็นนักรวบรวมต่างหาก สองพี่น้องรวบรวมเรื่องเล่าที่เคยได้ฟัง ตำนานพื้นบ้าน เทพนิยายปรัมปรา แล้วนำมาเขียนเป็นเล่ม ด้วยความตั้งใจที่ไม่อยากให้เรื่องราวดังกล่าวสาบสูญไป ผลงานชิ้นแรกของทั้งคู่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1812 ในชื่อ Nursery and Household Tales หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม เทพนิยายกริมม์นั่นเอง
 
ทว่าแม้จะได้ชื่อว่าเป็นเทพนิยาย ความจริงแล้ว พี่น้องกริมม์บอกว่าพวกเขาไม่ได้เขียนหนังสือให้เด็กอ่าน! เพราะเนื้อหานั้นมีทั้งเซ็กส์ ความรุนแรง ฆาตกรรม แก้แค้น อกตัญญู ฯลฯ ที่ไม่เหมาะกับเด็กแม้แต่น้อย ตามต้นฉบับ ราพันเซลท้องกับเจ้าชายตั้งแต่พระองค์ปีนเข้าหา พี่เลี้ยงของซินเดอเรลล่าก็ถูกนกจิกตาและต้องตัดนิ้วเท้ากับส้นเท้า เพราะอยากใส่รองเท้าแก้วให้พอดี แต่ก็นั่นแหละ ทั้งที่เรื่องมันดาร์คขนาดนี้ เด็กๆ กลับชอบฟังเป็นชีวิตจิตใจ และเทพนิยายกริมม์ก็ขายดีสุดๆ ในวันตายของวิลเฮล์ม กริมม์ มันถูกพิมพ์ซ้ำถึง 7 ครั้ง และยอดขายก็ถูกนำไปเปรียบเทียบกับคัมภีร์ไบเบิ้ลเลยทีเดียว ปัจจุบัน เทพนิยายกริมม์ถูกแปลกว่า 100 ภาษา เป็นที่รู้จักทั่วโลก 
 
ผลงานสร้างชื่อ
ฮันเซลกับเกรเทล, รัมเปิลสติลสกิน, คนเป่าปี่แห่งเฮล์มลิน, ราพันเซล, ซินเดอเรลล่า, สโนไวท์, เจ้าหญิงนิทรา ฯลฯ 
 
ลักษณะเด่นของเทพนิยายสไตล์กริมม์คือ
  • มีการพูดถึงศีลธรรมจรรยาและเชื่อมโยงกับการทำความดี การเชื่อฟังผู้มีพระคุณ เช่น สาวใช้ที่ถูกพ่อตัดมือออก และสุดท้ายการทำความดีก็ทำให้เธอได้รับสิ่งดีๆ ตอบแทน บทเรียนหลักๆ ในเทพนิยายกริมม์คือ ถ้าหากว่าเราทำความดี เราจะได้รับสิ่งดีๆ ตอบแทน
  • ส่วนใหญ่ถ้าทำเรื่องเลวร้าย ตัวละครของกริมม์จะต้องตาย เป็นบทลงโทษประจำในเทพนิยายของเขา
     

ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://christiestratos.com/2016/01/13/perrault-vs-andersen-vs-grimm/
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

~โรตีกล้วยหอม~ Member 9 ก.ย. 59 05:31 น. 1

นิยายพี่น้องกริมม์ต้นฉบับยืนยันว่าเป็นอะไรที่โหดจริงไรจริง ต้องขอบคุณดิสนีย์ต่างหากที่ทำให้นิยายเจ้าหญิงฟรุ้งฟรุ้ง จากต้นฉบับสายดาร์ก 555

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

~โรตีกล้วยหอม~ Member 9 ก.ย. 59 05:31 น. 1

นิยายพี่น้องกริมม์ต้นฉบับยืนยันว่าเป็นอะไรที่โหดจริงไรจริง ต้องขอบคุณดิสนีย์ต่างหากที่ทำให้นิยายเจ้าหญิงฟรุ้งฟรุ้ง จากต้นฉบับสายดาร์ก 555

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด