ทดสอบความรู้วรรณคดีไทย! กลอนคุ้นหูนี้ มาจากเรื่องอะไร...?



รู้จักวรรณคดีจาก 10 วรรคทองที่คุ้นตา! (ภาค2)
 


สวัสดีค่ะน้องๆ เด็กดีไรท์เตอร์ทุกคน พี่หวานกลับมาอีกแล้วในคอลัมน์ “สาระวรรณกรรม” หลายคนอาจจะเบื่อพี่หวานกันแล้วใช่มั้ยคะ แต่ว่าอย่าเพิ่งเบื่อสาระดีๆ เกี่ยวกับวรรณคดีไทยที่พี่หวานนำมาเสนอเลยน้าา เพราะว่ายังมีเรื่องราวน่าสนใจและประเด็นน่ารู้อีกมากมายเลยที่พี่หวานยังไม่ได้นำมาเล่าให้ฟัง

สำหรับวันนี้พี่หวานก็ไม่พลาดหยิบวรรคทองที่คุ้นตามาพูดถึงอีกแล้วค่ะ เมื่อบทความก่อนหน้าเป็นรวมวรรคทองในเรื่องของความรัก แต่วรรณคดีก็ไม่ได้แฝงข้อคิดแต่เรื่องความรักอย่างเดียวนะคะ ในแง่ของการดำเนินชีวิต ข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ และสะท้อนสัจธรรมของชีวิตก็มีแอบแฝงไว้เยอะเหมือนกัน มาลองดูกันดีกว่าค่ะว่าน้องๆ จะรู้จักวรรคทองเหล่านี้ดีแค่ไหน

 


       “ แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก                   คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน                     จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว”



(รูปภาพจาก : https://sites.google.com/site/wrrnkhdii/khun-chang-khunphaen)

มาเริ่มกันที่วรรคทองแรกคงคุ้นหน้าคุ้นตากันบ้างนะคะ เพราะวรรคทองนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นวรรคทองที่เข้าถึงจิตใจคนอ่านได้ดีที่สุดวรรคหนึ่งเลยค่ะ ที่มาของบทนี้พี่หวานยกมาจากเรื่อง เสภาขุนช้างขุนแผน เป็นตอนที่พลายงามจำต้องกล่าวลานางวันทองด้วยความอาลัยค่ะ ความโดดเด่นของวรรคทองบทนี้แสดงอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งของแม่กับลูกที่จะต้องแยกจากกันและไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกเมื่อไหร่ มีใจความว่าความรักของแม่ที่มีต่อลูกนั้นลูกรู้ดี ไม่มีใครที่จะรักลูกได้เหมือนที่แม่รักอีกแล้ว ถึงต้องแยกกันไป แต่ก็ไปแต่ตัวเท่านั้นใจลูกยังรักและอยู่กับแม่เสมอ พี่หวานอ่านบทเต็มแล้วก็เหมือนมีก้อนมาจุกอยู่ที่คอเลยค่ะT^T เพราะท่านสุนทรภู่ยังคงโดดเด่นในด้านการเลือกใช้คำ การมีสัมผัส ทำให้เข้าใจง่าย ส่งผลให้วรรคทองบทนี้ไพเราะทั้งเรื่องของเสียง คำและความหมายเลยทีเดียว
 



       “ อันชนกชนนีนี้รักเจ้า                    เทียมเท่าชีวาก็ว่าได้
ใช่จะแสร้งสลัดซัดเสียไกล                       เพราะเป็นความจำใจของบิดา 


วรรคทองที่สองที่พี่หวานยกมานี้ก็ยังอยู่ในเรื่องสัจธรรมความจริงที่ว่าไม่มีใครรักเรามากกว่าพ่อแม่ของเราแล้วค่ะ โดยวรรคทองนี้ยกมาจากเรื่อง อิเหนา ผลงานบทประพันธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นตอนที่ระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงันได้กล่าวแก่โอรสธิดาก่อนจะลาจากกัน ซึ่งได้สั่งสอนว่าพ่อแม่นั้นรักเจ้าเท่าชีวิต พ่อกับแม่นั้นไม่ได้เต็มใจที่จะทำแบบนี้ แต่ต้องทำเพราะมีความจำเป็น พี่หวานคุ้นๆ กับวรรคทองบทนี้แต่จำไม่ได้ว่าใครพูดกับใคร พอได้หาข้อมูลก็เลยยิ่งเข้าใจว่าความรักของพ่อกับแม่นั้นถึงไม่ได้แสดงออกมากมายแต่ไม่มีใครจะรักเรามากไปกว่าพ่อกับแม่ของเราแล้วล่ะค่ะ วรรคทองตอนนี้เป็นตอนที่ระตูทั้งสองต้องส่งลูกไปเป็นบรรณาการแก่ผู้อื่น ถ้าน้องๆ อ่านตรงวรรคที่ 3 4 จะเห็นว่าที่ต้องทำแบบนี้คือแสร้งทำเท่านั้น ไม่มีพ่อแม่คนไหนต้องการส่งลูกไปห่างไกลอย่างแน่นอนค่ะ 

 


            “ ก้านบัวบอกลึกตื้น                     ชลธาร
     มารยาทส่อสันดาน                              ชาติเชื้อ
     โฉดฉลาดเพราะคำขาน                         ควรทราบ
     หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ                        บอกร้ายแสลงดิน”


(รูปภาพจาก : http://www.borongaja.com/631083-pink-lotus.html)

มากันที่วรรคทองต่อมาเลยดีกว่าค่ะ เป็นวรรคทองจาก ประชุมโคลงโลกนิติ ที่เป็นวรรณคดีมุ่งเน้นแสดงปรัชญาดำเนินชีวิต และข้อ ที่ถือว่าดีเด่นในด้านการนำเสนอความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ที่ว่า คนเราก็เหมือนกับดอกบัว กิริยามารยาทและคำพูดที่แสดงออกมาสามารถสะท้อนให้เป็นภูมิหลัง ทั้งชาติตระกูล อุปนิสัย และสติปัญญาได้ทั้งหมด โดยเปรียบเทียบกับธรรมชาติที่ปรากฏอยู่อย่างดอกบัวหรือหย่อมหญ้านั่นเอง ถ้าที่ไหนหญ้าเกิดแห้งเหี่ยวก็สามารถบอกได้ว่าที่ดินตรงนั้นขาดความอุดมสมบูรณ์ ความลึกของสระน้ำก็อาจวัดได้จากก้านบัวเป็นต้นค่ะ แต่ถ้าน้องๆ เคยได้ยินคำสอนในเรื่อง บัวสี่เหล่า วรรคทองนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับคำสอนนั้นเลยค่ะ ระดับของก้านบัวนอกจากจะบอกลึกตื้นของระดับน้ำได้แล้ว ถ้ามองในเชิงเปรียบเทียบก็สามารถพูดถึงลักษณะของคนได้เช่นกัน 

 

        “ พระสมุทรสุดลึกล้น                      คณนา
    สายดิ่งทิ้งทอดมา                              หยั่งได้
    เขาสูงอาจวัดวา                                กำหนด
    จิตมนุษย์นี้ไซร้                                  ยากแท้หยั่งถึง”


ต่อมายังคงว่ากันด้วยเรื่องของจิตใจมนุษย์ค่ะ พี่หวานรู้สึกว่าจากการอ่าน ประชุมโคลงโลกนิติ จะทำให้ได้เจอวรรคทองที่ทั้งน่าสนใจและอธิบายภาพชีวิตคนเราได้อย่างชัดเจนหลายเรื่องเลยค่ะ สำหรับวรรคทองบทนี้ก็ยังพูดถึงเรื่องความตื้นลึกของใจคนค่ะ ซึ่งเรามักจะได้ยินการเปรียบเทียบว่า รู้หน้าไม่รู้ใจ อยู่บ่อยๆ นั่นก็เพราะว่าสิ่งที่วัดยากยิ่งกว่าความลึกของมหาสมุทรก็คือความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์เรานี่เองค่ะ ถึงมหาสมุทรจะลึกแต่อาจจะใช้สายวัดทอดวัดดูได้ ภูเขาสูงใหญ่ก็เช่นกันเรายังสามารถวัดได้แต่จิตใจของคนเราจะใช้อะไรมาวัดก็ไม่มีทางวัดได้ จึงถือได้ว่าวรรคทองบทนี้แอบแฝงการใช้ชีวิตที่สอนให้เราอย่าไว้ใจคนอย่างง่ายดาย เพราะสิ่งที่อยู่ข้างในมีแค่เราผู้เป็นเจ้าของใจตัวเองเท่านั้นที่รู้ และแน่นอนว่าบางครั้งเราเองยังไม่เข้าใจตัวเองเลยใช่มั้ยคะ จิตใจมนุษย์นี่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และคาดเดาได้ยากมากที่สุดแล้วล่ะค่ะ

 


          “ แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์        มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
     ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด            ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
     มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน                บิดามารดารักมักเป็นผล
     ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน                เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
     แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ              ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
     รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา                           รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ”



(รูปภาพจาก : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=skybeach&month=06-2012&date=26&group=2&gblog=258)

ถ้าจะให้พูดถึงวรรคทองเรื่องความลึกของจิตใจมนุษย์ พี่หวานคิดว่าน้องๆ อีกหลายคนต้องแย้งว่าวรรคทองบทนี้ได้ยินบ่อยกว่าบทข้างบนแน่นอน เพราะวรรคทองบทนี้พี่หวานยกมาจากเรื่อง พระอภัยมณี ค่ะ เป็นตอนที่พระฤๅษีตามมาช่วยสุดสาครจากการล่อลวงของชีเปลือยหลังจากโดนหลอกเอาไม้เท้ากับม้านิลมังกรไปนั่นเอง ด้วยสุดสาครนั้นยังเป็นเด็กอาจจะรู้ไม่ทันความคิดชั่วร้ายของชีเปลือย เมื่อพระฤๅษีตามมาช่วยจึงสั่งสอนว่า อย่าคิดไว้ใจใครง่ายๆ อีก เพราะจิตใจมนุษย์ลึกเกินจะหยั่งถึงได้ เปรียบกับเถาวัลย์ที่พันกันยุ่งเหยิง แต่จิตใจของคนเรานั้นยุ่งเหยิงยิ่งกว่าเถาวัลย์ซะอีก คนที่จะรักและหวังดีกับเราจริงๆ มีแค่ผู้เป็นพ่อแม่เท่านั้น ให้รู้จักพึ่งตนเองให้มาก ใช้ชีวิตอย่างรอบคอบและรู้จักใช้ความคิดในการดำเนินชีวิต ถึงการเรียนวิชาความรู้จะเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต แต่ก็ควรมีปัญญาในการเอาตัวรอดด้วยเช่นกัน 


 

          “ ความรู้คู่เปรียบด้วย                   กำลัง กายแฮ
     สุจริตคือเกราะบัง                             ศาสตร์พ้อง
     ปัญญาประดุจดัง                             อาวุธ
     กุมสติต่างโล่ป้อง                             อาจแกล้วกลางสนาม”



(รูปภาพจาก : http://www.oknation.net/blog/19/2007/10/23/entry-1)


วรรคทองต่อมานี้เป็นวรรคทองที่พี่หวานเคยเจอในคาบเรียนค่ะ แล้วอาจารย์ให้เขียนบทพูดสุนทรพจน์จากบทนี้ ซึ่งตอนนั้นก็คิดไม่ตกเลยทีเดียว55555 ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ตีความก็ไม่ออกก็เลยเขียนไปตามความเข้าใจ แต่ตอนนี้พี่หวานเข้าใจแล้วค่ะถึงความหมายที่แฝงอยู่ในวรรคทองบทนี้  ที่มาของโคลงบทนี้เป็นบทพระราชนิพนธ์ที่รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ ประชุมโคลงสุภาษิต พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ได้แต่งเพื่อพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ถึงเรื่องการดำเนินชีวิต เปรียบว่าเราจะสามารถต่อสู้ในสนามชีวิตได้อย่างกล้าหาญก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ เป็นเหมือนกำลังกาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเกราะกำบังความชั่วร้าย มีปัญญาความรู้เป็นอาวุธไว้ตอบโต้ปัญหาต่างๆ และสิ่งสุดท้ายคือต้องมีสติเป็นเหมือนโล่ป้องกันตัวเราจากอันตรายต่างๆ พี่หวานคิดว่าข้อคิดการใช้ชีวิตบทนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยเลยค่ะ เพราะคนเราควรจะดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาทและใช้สติในการดำเนินชีวิตนะคะน้องๆ ^^

 

          “ ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์            มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
     แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร                 จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา ”



(รูปภาพจาก : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=skybeach&month=06-2012&date=26&group=2&gblog=258)
 

วรรคทองนี้เรามักจะได้ยินกันบ่อยไม่แพ้บทอื่นเลยค่ะ เพราะเป็นวรรคทองจากนิราศเรื่องดังฝีมือการประพันธ์ของท่านกวีเอกสุนทรภู่อีกแล้ว ชื่อเรื่อง นิราศภูเขาทอง เป็นนิราศที่น้องๆ น่าจะเคยเรียนกันเกือบทุกคนเลยเนอะ โดยวรรคทองบทนี้เป็นตอนที่สุนทรภู่ล่องเรือไปถึงตำบลบางพูด ก็เลยแต่งบทนี้ขึ้นมาให้สอดคล้องกับชื่อสถานที่ที่ไป โดยบทนี้สอนเรื่องการพูดจา เป็นใครก็ต้องชอบคนที่พูดจาไพเราะน่าฟัง รู้จักพูดดี ถูกกาลเทศะมากกว่าคนที่มีคำพูดไว้ทำร้ายผู้อื่นใช่มั้ยล่ะคะ เพราะการใช้คำพูดดีๆ ต่อผู้อื่น คนที่ได้ฟังก็จะรู้สึกสบายใจ มีความรู้สึกดีๆ ตอบรับกับการพูดแบบนั้น แต่ถ้าพูดจาไม่ดีสิ่งที่ได้รับก็คงจะกลับกันเลยล่ะค่ะ บางทีถ้ารุนแรงอาจจะทำให้คนเราต้องผิดใจกันเพราะคำพูดนี่ก็มีให้เห็นมากมายเลยทีเดียว วรรคทองบทนี้จึงสอนในเรื่องการใช้ชีวิตที่ดีว่าควรจะเลือกใช้คำพูดดีๆ ในการดำเนินชีวิตค่ะ ถ้าพูดดี คิดดี ทำดี ชีวิตต้องได้เจอคนดีๆ และเรื่องดีๆ อย่างแน่นอน
 


          “ อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก       แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
     แม้เจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย               เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ”



(รูปภาพจาก : http://yellowthai.yellowpages.co.th/business/sugarcane-price-high/)


และเราก็ยังคงอยู่กันที่วรรคทองช่วยเตือนใจเกี่ยวกับเรื่องคำพูดคำจานี่แหละค่ะ(เห็นมั้ยคะว่าการพูดนี่เป็นสิ่งที่ควรระวังจริงๆ น้าา นอกจากพูดดีเเล้วต้องพูดเป็นด้วย) วรรคทองบทนี้เป็นบทหนึ่งจาก เพลงยาวถวายโอวาท ผลงานอีกเรื่องของสุนทรภู่ ซึ่งท่านก็ยังคงให้แง่คิดเกี่ยวกับการใช้คำพูดโดยมีความหมายโดยนัยว่า ความหวานจากอ้อยหรือน้ำตาลนั้นหวานได้ไม่นานเดี๋ยวก็หมดไป แต่ความหวานจากลมปากของคนนั้นเป็นสิ่งที่ชื่นใจและตราตรึง ทำให้คนเรามักติดอยู่กับคำหวาน จนอาจจะไม่ทันระวังใจโดนคนอื่นใช้คำหวานนี้มาทำร้ายได้ ดังที่วรรคต่อมาพูดถึงว่า ถึงจะเจ็บจากอะไรมากมาย แต่สิ่งที่จะเป็นบาดแผลในใจคนเราได้นานที่สุดก็คือบาดแผลจากคำพูดนั่นเองค่ะ บางทีเป็นแผลที่ร่างกายแปบเดียวก็ตกสะเก็ดแล้วหายไป แต่ถ้าเป็นแผลที่ใจ พี่หวานก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่าต้องใช้เวลารักษานานแค่ไหน เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางรู้เลยว่าคำพูดของเราจะไปทำร้ายใจของใครรึเปล่า ทางที่ดีควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังคำพูด รักษาน้ำใจคนฟัง และพูดถึงกันแต่เรื่องดีๆ จะดีกว่านะคะ


 

          “ชนใดไม่มีดนตรีกาล                   ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
    อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ                  เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
    หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก                     มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี    
    และดวงใจย่อมดำสกปรก                     ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี่       
    ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้                        เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ”

 


(รูปภาพจาก : http://www.publicdomainpictures.net/view-image.php?image=49094&picture=musical-notes-tree)


วรรคทองต่อมาเป็นอีกวรรคทองที่พี่หวานได้ยินบ่อยมากเลยค่ะ แต่ก็เพิ่งจะมารู้เดี๋ยวนี้เองว่าเป็นบทหนึ่งจากเรื่อง เวนิสวาณิช ในตอนที่ลอเร็นโซได้บรรยายให้เจสสิกาเห็นพลังของเสียงดนตรีที่มีต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งใจความก็มีว่า คนที่มีนิสัยไม่ชื่นชอบในดนตรีจะต้องเป็นคนที่แปลกประหลาดมากแน่ๆ จิตใจคงจะเงียบสงัดและดำมืดเหมือนยามราตรี อีกทั้งรัชกาลที่ 6 ผู้ประพันธ์ได้แสดงให้เห็นความหยาบกระด้างของจิตใจคนที่ฟังดนตรีแล้วรู้สึกไม่เพราะ หรือ ไม่ชอบการฟังดนตรี ว่าเป็นจิตใจที่ขาดการรับรู้ถึงความงดงามของศิลปะที่มาในรูปแบบของดนตรี เพราะเสียงเพลงนี้จะช่วยขัดเกลาจิตใจของเราได้ ถ้าใครอ่านมาจนถึงวรรคสุดท้ายจึงมีบอกเอาไว้ว่า เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ เป็นการให้ข้อคิดผ่านวรรคทองที่พี่หวานเห็นด้วยอย่างมากอีกข้อหนึ่งเลยล่ะค่ะ เพราะพี่หวานเชื่อว่าดนตรีสามารถเยียวยาทุกอย่างได้ ขนาดเวลารถน้ำต้นไม้ยังมีวิจัยออกมาเลยนะคะ ถ้าพืชได้รับคลื่นเสียงที่เหมาะสมก็จะทำให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย เห็นอานุภาพจากเสียงดนตรีรึยังคะทุกคนนน *O*

 

            “ หากสยามยังอยู่ยั้ง                  ยืนยง
       เราก็เหมือนอยู่คง                            ชีพด้วย
       หากสยามพินาศ                             ไทยอยู่ ได้ฤา
       เราก็เหมือนมอดม้วย                       หมดสิ้นสกุลไทย”



 

และก็มาถึงวรรคทองบทสุดท้ายที่พี่หวานจะยกมาพูดให้น้องๆ ดูแล้วค่ะ แค่อ่านโคลงข้างบนตั้งแต่วรรคแรกก็คงบอกได้เลยว่าทุกคนอาจจะคุ้นเคยเมื่อปรากฏเป็นเนื้อเพลงในเพลงสยามานุสสติ มากกว่าจะคุ้นว่ามาจาก โคลงสยามานุสสติ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ใช่มั้ยคะ พี่หวานยกวรรคทองบทนี้มาเพราะเห็นถึงความหมายอันลึกซึ้งที่อยู่ในโคลงบทนี้ค่ะ จุดประสงค์ของโคลงสยามานุสสติก็เพื่อปลุกใจทหาร และสร้างสำนึกรักในชาติบ้านเกิดของตนเอง เปรียบกับการที่ว่า ถ้าสยามยังคงอยู่ คนในชาติที่เป็นเหมือนส่วนประกอบของประเทศสยามในสมัยนั้นก็ยังคงอยู่เช่นกัน ถ้าเมื่อใดที่สยามต้องล่มลง เราซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ในผืนดินสยามจะไม่ล่มไปด้วยหรือ ด้วยความต้องการอยากให้คนในชาติมีความรักและสามัคคีกัน นารถ ถาวรบุตรก็ได้นำเนื้อหาจากโคลงบทนี้ไปประพันธ์เป็นเพลงสยามานุสสติขึ้นเพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่องบางระจันในปี พ.ศ.2482 และได้กลายมาเป็นเพลงที่ทุกคนรู้จักกันมาจนถึงปัจจุบันนั่นเองค่ะ
 


เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ คุ้นเคยวรรคทองอันไหนกันบ้างเอ่ย? ^^ ถ้าน้องๆ สังเกตจะเห็นว่าคำสอนยอดนิยมที่มักพบมากในวรรณคดีก็คือเรื่องความรักของพ่อแม่ที่ยิ่งใหญ่ยากจะหาอะไรมาเปรียบ ความลึกลับซับซ้อนของใจคน ไปจนถึงการใช้คำพูดให้ถูกกาลเทศะ โดยเฉพาะคำสอนของท่านสุนทรภู่ที่พี่หวานเห็นด้วยมากๆ ในเรื่องของการพูดค่ะ แม้ว่าหลายๆ บท จะเป็นบทประพันธ์ที่มีมานานแล้วแต่ต้องยอมรับเลยนะคะว่ายังสามารถใช้ได้จริงในปัจจุบันแทบทุกบทเลยล่ะค่ะ หวังว่าน้องๆ คงจะสนุกไปกับการรู้จักวรรคทองที่พี่หวานนำมาเสนอกันนะคะ แล้วคราวหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ต้องติดตามน้าา ^__^
 


พี่หวาน
 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

หนังสือกวีวัจน์วรรณนา : ราชบัณฑิตยสถาน, 2557
หนังสือสารานุกรมวรรณคดี : ประพัฒน์ ตรีณรงค์และสงวน อั้นคง, 2516

 



 

พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

fang27 Member 1 พ.ย. 59 18:42 น. 1

   แล้วว่าอนิจจาความรัก                                     พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล

ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป                                  ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา

สตรีใดในพิภพจบแดน                                        ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า

ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา                                       จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์

โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก                                           เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต

จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ                                    เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร

นี่ก็วรรคทองค่ะ ของอิเหนา ชอบมากกกกกกกก  จำได้ว่าอยู่ที่ปกหลังหนังสือวรรณคดีวิจักษ์ด้วย

2
กำลังโหลด

9 ความคิดเห็น

fang27 Member 1 พ.ย. 59 18:42 น. 1

   แล้วว่าอนิจจาความรัก                                     พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล

ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป                                  ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา

สตรีใดในพิภพจบแดน                                        ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า

ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา                                       จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์

โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก                                           เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต

จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ                                    เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร

นี่ก็วรรคทองค่ะ ของอิเหนา ชอบมากกกกกกกก  จำได้ว่าอยู่ที่ปกหลังหนังสือวรรณคดีวิจักษ์ด้วย

2
กำลังโหลด
กำลังโหลด
blue_99 3 พ.ย. 59 15:36 น. 3
งระหงทรงเพรียวเรียวรูด งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ หูกลวงดวงพักตร์หักงอ ลำคอโตตันสั้นกลม สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว โคนเ-่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม มันน่าเชยน่าชมนางเทวี เข้า ไอดีไม่ได้
2
กำลังโหลด
กำลังโหลด
9011090115 Member 12 พ.ย. 59 15:42 น. 5
อะแฮ่ม เทโพเนื้อพื้นท้อง เป็นมันย่องล่องลอยมัน น่าซดรสครามครัน ของสวรรค์เสวยรมย์ ความรักยักเปลี่ยนท่า ทำน้ำยาอย่างแกงขม กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม ชมไม่วายคลับคล้ายเห็น ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น ใครหุงปรุงไม่เป็น เช่นเชิงมิตรประดิษฐ์ทำ มาจากไหนเอ่ย ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก อิอิ
0
กำลังโหลด
9011090115 Member 12 พ.ย. 59 15:42 น. 6
อะแฮ่ม เทโพเนื้อพื้นท้อง เป็นมันย่องล่องลอยมัน น่าซดรสครามครัน ของสวรรค์เสวยรมย์ ความรักยักเปลี่ยนท่า ทำน้ำยาอย่างแกงขม กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม ชมไม่วายคลับคล้ายเห็น ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น ใครหุงปรุงไม่เป็น เช่นเชิงมิตรประดิษฐ์ทำ มาจากไหนเอ่ย ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก อิอิ
0
กำลังโหลด
9011090115 Member 12 พ.ย. 59 15:42 น. 7
อะแฮ่ม เทโพเนื้อพื้นท้อง เป็นมันย่องล่องลอยมัน น่าซดรสครามครัน ของสวรรค์เสวยรมย์ ความรักยักเปลี่ยนท่า ทำน้ำยาอย่างแกงขม กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม ชมไม่วายคลับคล้ายเห็น ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น ใครหุงปรุงไม่เป็น เช่นเชิงมิตรประดิษฐ์ทำ มาจากไหนเอ่ย ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก อิอิ
0
กำลังโหลด
Yukionna Member 10 ม.ค. 60 10:05 น. 8

มีแค่เพลงยาวถวายโอวาทกับประชุมโคลงสุภาษิตที่ยังไม่ได้เรียน ชอบวรรคก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร ที่สุดแล้ว(^_^) วรรณคดีไทยยิ่งเรียนยิ่งหลงใหลในความไพเราะ สัมผัส ภาษา ยิ่งโคลงนิราศนรินทร์ บทฝากนาง เรียนไปหมั่นไส้ไป มิน่าล่ะ เขาถึงบอกว่า กวีปากหวาน.. 

ตราบขุนคิริขัน...................ขาดสลายแลแม่
รักบ่หายตราบหาย..............หกฟ้า
สุริยจันทรขจาย.................จากโลก  ไปฤา
ไฟแล่นล้างสี่หล้า...............ห่อนล้างอาลัย

0
กำลังโหลด
ตัวโกง` Member 15 เม.ย. 60 16:36 น. 9

เราจำได้แค่เรื่องพระลออ่ะค่ะ 555

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย

เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า

#แล้วก็ไปต่อไม่ได้แล้ว 555555

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด