​ภาพสะท้อนสังคม! หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ วรรณกรรมวันคริสต์มาสที่เลือดเย็นและเจ็บแสบที่สุด


ภาพสะท้อนสังคม! หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ
วรรณกรรมวันคริสต์มาสที่เลือดเย็นและเจ็บแสบที่สุด
 
 
สวัสดีชาวนักอ่านและนักเขียนเด็กดีทุกท่าน สำหรับวันนี้เราไม่ต้องอ้อมค้อมกันมาก เข้าประเด็นเลยดีกว่าค่ะ เทพนิยายที่แอดมินหยิบยกมาพูดถึงเพื่อต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสอันสวยงามนี้ คือ “หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ” Little Match Girl ผลงานที่โด่งดังระดับโลก ถูกนำไปดัดแปลงผ่านสื่ออื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกม การ์ตูน ภาพยนตร์ แฟชั่น ฯลฯ แต่ต้นฉบับที่แท้จริง เป็นหนังสือ (คิดว่าทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว) ที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนตัวพ่ออย่าง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ผู้เป็นเจ้าของผลงานดาร์คๆ จำนวนหลายต่อหลายเรื่อง ที่เด่นๆ แอดมินจำแม่นติดหูก็คือ เงือกน้อย ค่ะ (ยกตัวอย่างเรื่องเดียวน่าจะเห็นภาพแล้วว่าผลงานของเขาดาร์คแค่ไหน) 
 
และ “หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ” นี้ ก็เป็นวรรณกรรมที่ดาร์คมากพอๆ กัน ถ้าใครจำเรื่องราวได้ ก็จะรู้ว่าแอดมินพูดถึงอะไร แต่ถ้าจำไม่ได้ เดี๋ยวเท้าความให้สั้นๆ ก่อนแล้วกันค่ะ ผลงานเรื่องนี้เล่าถึงเด็กหญิงที่เร่ขายไม้ขีดไฟในช่วงวันคริสต์มาสที่หนาวเหน็บ ทว่าโชคร้าย ไม่มีใครยอมสละเศษสตางค์มาอุดหนุนไม้ขีดไฟของเธอเลย สุดท้าย อากาศหนาวจนทนไม่ไหว เด็กหญิงจึงจุดไม้ขีดไฟทีละก้านๆ จนหมด และในที่สุด วิญญาณของเธอก็ลอยออกจากร่างและได้พบกับทูตสวรรค์ ผลงานเรื่องนี้ แอนเดอร์สันบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนของ Johan Thomas Lundbye ผสมผสานกับชีวิตวัยเด็กของแม่เขาเอง เหตุผลที่เขียนหนังสือเล่มนี้ เขาบอกว่าอยากให้มันเป็นเหมือนเสียงเล็กๆ จากบรรดาเด็กยากไร้ในยุโรป ที่ต้องการแสงไฟแสงจากก้านไม้ขีดมาต่อเติมพลังชีวิต
 

 
ภาพสะท้อนสังคมช่วงศตวรรษที่ 19 : ความแตกต่างทางสังคมและชนชั้น
 
หนูน้อยขายไม้ขีดไฟถูกเขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 นักวิจารณ์และผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนได้สรุปว่า... ฉากที่ปรากฎในผลงานเรื่องนี้ เป็นเหมือนกระจกสะท้อนสังคมที่ชัดเจนที่สุด ในยุคนั้น เป็นยุคที่สถานะทางสังคมสำคัญมาก วัฒนธรรมหรูหราและถูกต้องตามแบบแผนตามประเพณี เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย ความเจริญทางสังคมเติบโตต่อเนื่อง ในวันคริสต์มาสทุกคนจะต้องไปโบสถ์ แต่งตัวสะสวยงดงาม มีการแลกของขวัญ มีการสวดมนต์ ทุกคนต้องรู้จักให้โอกาสกันและกัน ต้องรู้จักให้ และแบ่งปัน  
 
ทว่า... เมื่อมองย้อนกลับมาที่หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ แอนเดอร์สันเล่าเรื่องราวของเธอ เด็กสาวในชุดขาดวิ่น เดินถือไม้ขีดไฟเร่ขายท่ามกลางหิมะที่ตกไม่หยุด เหน็บหนาว เจ็บปวด ภาพนี้ช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับภาพด้านบน วันคริสต์มาสควรเป็นวันที่ทุกคนช่วยเหลือกัน ดูแลกันและกัน ไม่ใช่หรือ... แต่หนูน้อยของเรากลับขายไม้ขีดไม่ได้แม้สักกล่อง และยังไม่มีใครสนใจ ทุกคนปล่อยให้เธอตายอย่างโดดเดี่ยว ในวันคริสต์มาส ที่ได้ชื่อว่าเป็นวันแห่งการให้นั่นแหละ! ยิ่งเมื่อถึงตอนจบ เมื่อทูตสวรรค์โผล่มาต้อนรับเธอขึ้นสวรรค์นั้น เรายิ่งรู้สึกเจ็บปวดแทนเธอเข้าไปใหญ่ ทั้งๆ มนุษย์ใกล้ตัวช่วยเหลือเธอได้ แบ่งปันให้เธอได้ อาจจะแบ่งปันที่พักอันอบอุ่นให้ หรืออุดหนุนไม้ขีดเธอสักเล็กน้อย พวกเขากลับไม่สนใจ ปล่อยให้เธอทนทุกข์ทรมานไปคนเดียว ส่วนพวกเขามีความสุขอยู่ในโบสถ์ ในโลกของตน ที่เต็มไปด้วยแสงสี เทศกาลคริสต์มาสอันงดงาม ไฟหลากสีประดับประดา ของขวัญกล่องใหญ่ อาหารเลิศรส งานเฉลิมฉลองกันยิ่งใหญ่หรูหรา... ทว่ารอบๆ ตัว คนอื่นๆ จะทุกข์หรือเศร้าแค่ไหน ไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาต้องเหลียวแลหรือสนใจ 
 
ฉากที่เกิดขึ้นบอกอะไรได้บ้าง เราคงไม่ต้องสรุปออกมาเป็นถ้อยคำที่ชัดเจน แต่หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ เป็นตัวแทนของเด็กยากไร้ สังคมชั้นล่าง ที่แตกต่างจากสังคมชั้นสูงโดยสิ้นเชิง งานเขียนเรื่องนี้ ทำให้เราได้รู้ว่าทั้งสองสังคมนั้นแตกต่างกันมากแค่ไหน และมีระยะห่างกันมากมายเพียงใด นอกจากนี้ มันยังบอกว่าเราว่าถ้าหากเรายังไม่เคยเหลียวแลหรือมองเห็นคนแบบ “หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ” ก็แปลได้ว่า ทั้งสองสังคมที่แตกต่างนี้ไม่มีวันที่จะประสานเข้าหากันได้สนิท เผลอๆ จะมีแต่เป็นการเพิ่มช่องว่างให้ห่างออกไปทุกทีด้วยซ้ำไป 
 
นักเขียนผู้เรียกร้องและใฝ่หาความยุติธรรม  
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า งานเขียนของแอนเดอร์สันนั้น เป็นสไตล์งานวิพากษ์วิจารณ์สังคมและสะท้อนแง่คิดที่ละเอียดอ่อน บวกกับแฝงมุมมองต่างๆ ให้คนอ่านได้คิด ในตอนเด็กๆ เราอ่านหรือฟังเทพนิยายของเขาอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อเติบใหญ่ เราย่อมจดจำและได้คิดว่า เทพนิยายเหล่านี้ เต็มไปด้วยภาพสะท้อนสังคม และหลายเรื่องมีเจตนาเรียกร้อง หรือแสวงหาบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ใน “หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ” แอนเดอร์สันสร้างตัวละครเด็กหญิงและสร้างเรื่องเล่าที่ชวนให้คนฉุกคิดว่า... การกระทำของตัวเองถูกต้องแล้วหรือ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เขาตั้งใจจะเป็นกระบอกเสียงที่บอกเล่าให้ชนชั้นสูงเหลียวมองรอบตัวบ้าง ไม่ใช่หลงอยู่แค่ในโลกของตัวเอง และผลงานของเขา ล้วนแต่มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งอย่างเทพนิยายบางเรื่องที่เราได้อ่าน แน่นอนมันมีอารมณ์ขันแฝงอยู่บ้าง แต่ก็เป็นแบบเสียดสี และเมื่อเขาเขียนถึงความรัก นักเขียนคนนี้ก็ยังใส่เทคนิคสะท้อนสังคมนิดๆ เสียดสีหน่อยๆ ลงไปด้วย เพื่อให้คนอ่านได้คิดว่าแท้จริงแล้ว ความรักที่ตัวเองเผชิญอยู่นี้ จะนำพาเราไปยังทิศทางไหนกัน
 
อ่านเทพนิยายแล้วย้อนดูตัว 
ความหวังอย่างหนึ่งของแอนเดอร์สัน และเจตนาสำคัญที่เขาสร้างสรรค์ผลงานเรื่องนี้ขึ้นมา ก็คงเป็นสิ่งนี้เอง มันอาจเป็นแค่เสียงเล็กๆ เสียงหนึ่ง แต่เจ้าตัวก็คงอยากเห็นคนอ่านของเขาฉุกคิดได้ และมองเห็นมุมมองใหม่ๆ จากเรื่องเล่าที่เขานำเสนอ วันคริสต์มาสนั้น เป็นเทศกาลที่ขึ้นชื่อเรื่อง การให้โอกาส การรู้จักเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน และการห่วงใยใส่ใจผู้อื่น และ ณ ขณะนี้วันคริสต์มาสก็ใกล้เข้ามาเต็มที แอดมินในฐานะผู้ทำบทความ ขอเป็นคนแรกที่รับสารสำคัญนี้จากแอนเดอร์สันค่ะ สัญญาว่าจะลองเหลียวมองหา “หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ” รอบๆ ตัวให้มากขึ้น และหาโอกาสที่จะช่วยเหลือ หรือทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมให้มากขึ้นด้วย  
 
สุขสันต์วันคริสต์มาสชาวนักเขียนนักอ่านเด็กดีทุกคน ขอให้ทุกคนมีความสุขนะคะ ^ ^   
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี 
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
https://www.dek-d.com/writer/39475/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Little_Match_Girl 
http://www.lelluteatris.lv/en/177-meitene-ar-serkociniem 
http://web.mit.edu/comm-forum/mit4/papers/Lassen.pdf 
http://storytellingx10.blogspot.com/2009/07/little-match-girl-reflection.html 
https://pearlofthoughts.wordpress.com/tag/little-match-girl/ 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
นายรอเฉด 29 ส.ค. 62 08:27 น. 4

ในอีกแง่มุมที่แฝงไว้ หนูน้อยจุดไม้ขีดไฟไม่เพียงเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แต่เพื่อลืมภาพความเป็นจริง ทุกครั้งที่จุดไม้ขีดไฟเด็กน้อยจะพบภาพสวยงาม แต่ทุกครั้งที่ำฟดับลง ความหนาวเย็นเยือกทำให้ตื่นสู่ความจริงที่ข่มขื่น ดั่งนั้นเด็กน้อยจึงจุดไม้ขีดไฟ ก้านแล้วก้านแล้วเพื่อที่จะหนีภาพความเป็นจริงสู่ความสุขความสวยงามในความฝัน...ตลอดกาล

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด