เขียนนิยายยังไงให้ได้เป็นนักเขียนหน้าใส (ภาคจบ) #นักเขียนหน้าใสปี9


 

เขียนนิยายยังไง
ให้ได้เป็นนักเขียนหน้าใส (ภาคจบ)


สวัสดีชาวไรเตอร์ทุกคนค่ะ กลับมาพบกับแอดมินอีกแล้วนะคะ หลังจากเมื่อครั้งที่แล้วได้นำเสนอเทคนิคการเขียนนิยายในส่วนของการสร้างแรงบันดาลใจ การวางพล็อตและการสร้างตัวละครไปในบทความ “เขียนนิยายยังไงให้ได้เป็นนักเขียนหน้าใส (ภาคแรก)” ในวันนี้แอดมินก็มาพร้อมกับเทคนิคที่เหลือ เรียกได้ว่าในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่งานเขียน แต่ยังมีการตลาดพ่วงมาด้วย

เมื่อครั้งที่แล้วได้บอกไปว่ากิจกรรมได้แบ่งออกเป็น หัวข้อคือ “เขียนนิยายอย่างไรให้มีเสน่ห์” และ “เขียนนิยายอย่างไรให้ขายดี” ซึ่งในพาร์ทของการเขียนนิยายให้มีเสน่ห์นี่แหละที่แอดมินแอบติดค้างไว้ และในครั้งนี้ก็จะมีเรื่องใหม่ด้วยค่ะ


ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูภาพบรรยากาศในวันงานก็สามารถไปดูได้ในบทความ  รวมภาพบรรยากาศสุดฟินในงาน Workshop นักเขียนหน้าใสปี 9” ที่พี่หญิงนำมาฝากน้องๆ กันนะคะ

เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา มาดูเคล็ดลับรุ่นพี่นักเขียนกันเถอะค่ะ
 



 

เขียนนิยายอย่างไรให้มีเสน่ห์

สำหรับพาร์ทนี้นะคะ ได้นักเขียนรุ่นพี่ที่ชนะโครงการนักเขียนหน้าใสมาร่วมกันแชร์เคล็ดลับนักเขียนค่ะ ได้แก่ “นางร้าย” เจ้าของรางวัลนักเขียนหน้าใสปี 2, Oh_nana” เจ้าของรางวัลนักเขียนหน้าใสปี และ Porshenocchio” เจ้าของรางวัลนักเขียนหน้าใสปี 8 จะมีเทคนิคอะไรบ้างนั้น ตามมาเลยค่ะ
 

เทคนิคการเขียนบทสนทนาให้ดึงดูด

นางร้ายบอกว่า...

นี่คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสะท้อนตัวตนของตัวละครเราเลยค่ะ โดยหลักในการเขียนบทสนาที่ดีตามสไตล์นางร้ายก็มี ข้อด้วยกัน ดังนี้

  • บทสนทนาต้องสะท้อนคาแรกเตอร์ให้มากที่สุด
  • ทุกครั้งที่เขียนบทสนทนาควรอ่านออกเสียงแล้วค่อยดูว่าลื่นมั้ย
  • กรณีที่เป็นตัวละครผู้ชาย อย่าลืมเช็คบทสนทนากับเพื่อนผู้ชายด้วยว่าเนียนมั้ย ผู้ชายเขาพูดประมาณนี้กันหรือเปล่า
  • ระวังการใช้ภาษาเขียนในบทสนทนา
  • ระวังการคุยกันเยอะๆ โดยไม่ทำให้เรื่องเดินหน้า หรือไม่เกี่ยวข้องกับพล็อตเรื่อง
  • เวลาคิดประโยคเด็ดๆ คมๆ แล้วอยากใส่ในนิยาย ควรดูว่าเหมาะสมกับบริบทนั้นๆ หรือไม่ ถ้าไม่ก็ควรหาสถานการณ์เหมาะๆ ใส่ไป
  • ถ้ามีเวลาก็ควรจะจับตัวละครทุกตัวมารวมกันในสถานการณ์เดียวกัน แล้วดูการตอบโต้ของแต่ละตัวละครว่าสามารถดึงเอกลักษณ์ออกมาได้มั้ย มีตัวไหนที่นิสัยใกล้เคียงจนแยกกันไม่ออกหรือเปล่า ถ้ามีก็ควรปรับให้แตกต่างกันค่ะ
  • ในทุกบทสนทนาและทุกช่วงของสถานการณ์สามารถบอกได้เลยว่าตัวละครแต่ละตัวมีนิสัยอย่างไร 

     

Oh_nana บอกว่า

เคล็ดลับของ oh_nana มี ข้อด้วยกัน นั่นก็คือ

  • เวลาสร้างบทสนทนาให้ถามตัวเองเสมอว่า “ถ้าเป็นเราจะตอบโต้ยังไง?” 
  • ให้ระวังการใช้คำศัพท์ในกลุ่มเฉพาะ เช่นคำว่าติ่ง เพราะถ้าคนอ่านไม่ได้อยู่ในวงการนั้นๆ ก็จะไม่มีทางรู้เลย
  • ระวังอย่าให้นิสัยของเรากลบนิสัยของตัวละคร
     

Porshenocchio บอกว่า...

สำหรับเทคนิคของพี่พอร์ช Porshenocchio ได้มากจากพี่ลูกชุบและพี่โม Mimoza ทีมโค้ชให้คำปรึกษาสำหรับนักเขียนหน้าใสปี ค่ะ ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ดีมากๆ และใช้ได้ผลดีด้วย มาดูกันที่เทคนิคทีได้จากพี่ลูกชุบกันก่อนดีกว่านะคะ

เทคนิคการสร้างบทสนทนาที่ได้จากพี่ลูกชุบ

  • ในสถานการณ์เดียวกัน ตัวละครมีการตอบสนองที่ต่างกัน เช่นถ้าเกิดการไล่ล่ากันของตัวละคร หากตัวละครเป็นพวกใจร้อนก็อาจจะต่อสู้เดี๋ยวนั้นเลย แต่ถ้าตัวละครเป็นพวกใจเย็นก็อาจจะตั้งสติก่อนจู่โจมดื้อๆ ค่ะ
  • ถ้าว่างก็ให้สร้างสถานการณ์หนึ่งขึ้นมาแล้วดูว่าถ้าตัวละครแต่ละตัวมาอยู่ในสถานการณ์นี้จะมีพฤติกรรมยังไง ตอบโต้แบบไหน วิธีนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้บทสนทนาไหลลื่นมากขึ้น แต่ยังทำให้เราเข้าใจตัวละครได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ
  • เพื่อความสมจริงของบทสนทนา นักเขียนควรพูดออกมาเลย

เทคนิคการสร้างบทสนทนาที่ได้จากพี่โม Mimoza

จริงๆ แล้วบทสนทนาสามารถเล่าเรื่องได้โดยไม่ต้องบรรยายค่ะ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการบรรยายเยอะๆ ให้นักอ่านเบื่อ ก็ควรใช้บทสนทนาแทน เช่น ถ้าต้องการจะบอกนักอ่านว่านางเอกตื่นสาย ก็จะใช้เป็นการที่นางเอกคุยกับเพื่อนแล้วเล่าประมาณว่า “เฮ้ย เมื่อคืนฉันนอนดึก วันนี้เลยตื่นสาย” เป็นต้นค่ะ

 

เทคนิคการบรรยาย

การบรรยายนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานเขียน แล้วสำหรับนิยายแจ่มใสล่ะ สำคัญมากมั้ยนะ? ถ้าอยากรู้ต้องตามมาดูเลยค่ะ

นางร้ายบอกว่า…

Show me, don’t tell me

เป็นหลักการที่บรรดานักเขียนทั่วโลกต่างรู้ดี นั่นก็คือหลีกเลี่ยงการบอกนักอ่านตรงๆ แต่จะใช้วิธีการแสดงออกผ่านการกระทำในแต่ละสถานการณ์ต่างๆ เช่น แทนที่จะบอกว่าเขาเป็นคนขี้หึงมากๆ ก็ให้ใช้วิธีการโชว์ไปเลยว่าขี้หึงมากๆ นี่ยังไง อุ้มหมาก็ไม่ได้เลยใช่มั้ย เป็นต้น

เปรียบเปรย

ใช้การเปรียบเทียบหรือเปรียบเปรยกับสิ่งต่างๆ แทนการบอกตรงๆ เช่น ผิวขาวดุจหิมะ เป็นต้น

ขีดไฮไลท์

ถ้าหากยังนึกบทบรรยายไม่ออกให้ทำไฮไลท์เอาไว้ นึกออกเมื่อไรค่อยเอามาใส่ แบบนี้ดีมากเลยเพราะไม่ทำให้เราเสียเวลา

Simple is the best

ในบางสถานการณ์แค่ใช้คำเบสิกๆ หรือคำง่ายๆ ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้คำเวิ่นเว้อให้สวยหรูเพราะยังไงความหมายก็มีค่าเท่ากันเช่น เขาก้าวย่างไปข้างหน้า ก็ควรจะเป็น เขาเดินไปข้างหน้าพอ เห็นมั้ยว่าอ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้นเยอะ!

 

Oh_nana บอกว่า...

แต่ก่อน oh_nana เป็นคนที่ชอบเขียนบรรยายเยอะๆ บรรยายสวยหรู เวลานักอ่านชมก็จะรู้สึกดี รู้สึกว่าเรามีสกิล แต่พอได้อ่านหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ ก็พบว่านิยายสามารถสนุกได้โดยไม่จำเป็นต้องมีบทบรรยายเยอะ เพราะการบรรยายไม่ได้เป็นทุกอย่างของนิยายค่ะ โดยเทคนิคของ oh_nana ก็มีดังนี้

  • อย่าบรรยายทุกอย่าง บรรยายแต่จำเป็นพอ
  • ระวังคำซ้ำ
  • ศึกษาคำเชื่อมเยอะๆ เพื่อความไหลลื่นของการอ่าน
  • เวลาบรรยายเยอะๆ ให้เคาะบรรทัดด้วยเพื่อความสบายตาของนักอ่าน
  • ถ้าถึงจุดที่เราคิดไม่ออก นั่นแปลว่าเราบรรยายเยอะเกินไปแล้ว ให้รีบตัดเข้าบทสนทนาเลย
  • ควรบรรยายเชิงกายภาพด้วย เช่น บรรยายท่าทางของตัวละครที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆ เป็นต้น
     

Porshenocchio บอกว่า...

เขียนไม่น่าเบื่อ

ควรเขียนบทบรรยายให้ดึงดูด ไม่น่าเบื่อ หรือถ้าเจอบางสถานการณ์ที่ไม่สามารถบรรยายให้คนอ่านอินได้ก็ควรตัดเข้าบทสนทนา โดยให้บทสนทนานี่แหละบรรยายแทนเช่น ฉากตลกโปกฮา เป็นต้น

ระวังคำซ้ำ

คำซ้ำถือเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับนักเขียน หากไม่อยากเผชิญหน้ากับคำซ้ำก็ควรอ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อเก็บสะสมคลัง

โลเคชั่นนั้นสำคัญ

ระวังบทพูดในแต่ละโลเคชั่น โดยแต่ละประเทศจะมีวิธีการพูดไม่เหมือนกัน ควรทำการบ้านให้ดีเช่น ใช้คำว่าเฟี้ยวฟ้าวในนิยายที่ตัวละครเป็นเป็นต่างชาติ โลเคชั่นอยู่อเมริกาอย่างนี้ก็ไม่เนียน อ่านแล้วขัดๆ ค่ะ

นอกจากนี้ควรอ่านบทสนทนาแล้วตรวจสอบดูว่าลื่นไหลหรือไม่ และถ้านึกคำบรรยายไม่ออกให้ตัดเข้าบทสนทนาเลยค่ะ

 



ลูกชุบ- The LittleFinger- ปุยฝ้าย

 

นอกจากนี้นะคะในวันเวิร์คช็อปก็ยังได้นักเขียนตัวแม่ของแจ่มใสอย่างพี่ลูกชุบ เจ้าของนามปากกา “ลูกชุบ” พี่ก้อย เจ้าของนามปากกา “The LittleFinger” และพี่ฝ้าย เจ้าของนามปากกา “ปุยฝ้าย” มาร่วมแชร์เทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทำยังไงให้นักอ่านติดใจในงานเขียน กระบวนการส่งสำนักพิมพ์เป็นยังไง การเป็นนักเขียนที่ดีคืออะไร รวมทั้งเด็ดสุดๆ คือการทำการตลาดให้กับน้องๆ ท่านเข้าร่วมโครงการนักเขียนหน้าใสปี ค่ะ

ถ้าอย่างนั้นเรามาเริ่มกันที่นักเขียนแต่ละคนกันเลยดีกว่าค่ะ
 

ลูกชุบบอกว่า... 

How to เขียนอย่างไรให้โดนใจนักอ่าน

อ่านเยอะๆ
ที่จริงแล้วการเขียนให้นักอ่านติดหนึบเนี่ยเป็นความสามารถส่วนบุคคลที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ แต่เราสามารถพัฒนาได้จากการอ่านเยอะๆ อ่านหลากหลายแนว

ใช้มุกเดิมได้
ถ้าเกิดตันไม่รู้จะเขียนอะไรเพราะเขียนมาหมดแล้ว มุกนี้ก็ใช้ มุกนั้นก็ใช้ อันที่จริงเราสามารถนำมุกเดิมนี่แหละมาเขียนซ้ำได้เพราะมันอยู่ที่ตัวละครและไดอะล็อก บทสนทนานั่นเองค่ะ

เขียนเยอะๆ
นอกจากอ่านเยอะๆ แล้ว การเขียนเยอะๆ ก็คือสิ่งสำคัญสำหรับนักเขียน เพราะยิ่งเขียนเยอะ เราก็จะยิ่งรู้จักเทคนิคตัวเองค่ะ

คาแร็กเตอร์แน่น
ถ้ามีคาแรกเตอร์แน่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวละครมากมายก็สามารถทำให้คนอ่านสนุกได้

ฉากระหว่างพระนาง
พี่ลูกชุบมองว่าการนำฉากจูบหรือฉากมี sex ระหว่างพระนางมาล่อนักอ่านนั้นเป็นอะไรที่เก่าแล้ว มันทำให้นักอ่านไม่อิน สิ่งสำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างพระนางต่างหากที่ทำให้นักอ่านฟิน

กระบวนการผลิตหนังสือ 1 เล่มของแจ่มใส

เริ่มจากการเขียนเรื่องแล้วจึงส่งบรรณาธิการ จากนั้นบ.ก.ก็จะอ่านและถ้ามีติดขัดตรงไหนก็จะส่งกลับมาให้นักเขียนแก้ เมื่อผ่านแล้วนักเขียนจำเป็นต้องทำบรีฟส่ง ได้แก่ รายละเอียดตัวละครคำนำนักเขียน และเรื่องย่อ หลังจากนั้นทางบ.ก.ก็จะส่งไปยังกอง rewriter เพื่อตรวจสอบระดับนึง ก่อนจะไปยังนักพิสูจน์อักษรเพื่อตรวจสอบและแก้ไขคำผิด เมื่อกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำเข้าโรงพิมพ์เพื่อจัดพิมพ์ต่อไปค่ะ

ในส่วนของกระบวนการวาดภาพนะคะ ก็ขึ้นอยู่กับนักวาดโดยใช้เวลาประมาณ อาทิตย์ค่ะ

ที่สำคัญคือการสะกดให้ถูกเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะจะช่วยลดเวลาของทางพิสูจน์อักษรได้มากขึ้นค่ะ

 



 

The LittleFinger บอกว่า... 

How to เขียนอย่างไรให้โดนใจนักอ่าน

มีกิมมิค
ตัวละครต้องมีกิมมิค มีจุดเด่นน้อยๆ ก็พอแล้วเช่น ทีเร็กซ์ที่ใส่ชุดไดโนเสาร์เดินไปมาในชีวิตประจำวัน

มีความน่ารัก

ตัวละครต้องมีความน่ารัก อาจจะนำเหตุการณ์อื่นๆ เข้ามาแทรกเพื่อดึงความน่ารักมุ้งมิ้งออกมา

ฟังเพลง

เวลาเขียนนิยายก็ควรเลือกเพลงที่เข้ากับนิยายที่เขียน
 

นักเขียนที่ดีเป็นยังไง

สำหรับ The LittleFinger นั้น นักเขียนที่ดีไม่ควรลอกเลียนแบบงานคนอื่นแต่สามารถหาแรงบันดาลใจได้ อีกทั้งนักเขียนควรพัฒนาตัวเองสม่ำเสมอด้วยการอ่านและเขียนเยอะๆ ค่ะ

 

ปุยฝ้ายบอกว่า... 

How to เขียนอย่างไรให้โดนใจนักอ่าน

คิดต่าง
คิดให้ต่างจากนิยายในท้องตลาด แม้จะเป็นพล็อตธรรมดาๆ แต่ก็ต้องทำให้เป็นที่น่าจดจำ

สมเหตุสมผล
ถ้าสร้างตัวละครที่เลวก็ควรสร้างปมหักมุมของตัวละครให้สมเหตุสมผลด้วยค่ะ

โนสนโนแคร์
เมื่อมีคนเปรียบเทียบนิยายเรากับของคนอื่นๆ ก็ไม่ต้องสนใจ เราดีในแบบของเรา

ตามเทรนด์
ก่อนเขียนนิยายเรื่องหนึ่งๆ ก็ควรดูกระแสว่าเป็นยังไง ถ้าให้ดีควรเขียนตามเทรนด์แล้วค่อยสร้างจุดเด่นให้แก่นิยายของเราค่ะ

เวอร์ได้นะแต่ต้อง...
เราสามารถเขียนนิยายให้เวอร์วังอลังการได้ แต่อย่าลืมว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย นั่นก็หมายความว่านักอ่านต้องเข้าถึงได้ค่ะ

อย่าโลกแคบ
ถ้าคิดจะเป็นนักเขียนต้องใจกว้าง พยายามเข้าใจคนอื่นๆ และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง

ข้อมูลอยู่ใกล้นิดเดียว
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวเราสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการประกอบการเขียนนิยายได้

อย่าใส่ทุกอย่างลงไปในเล่มเดียว
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าน้องใส่ทุกอย่างที่อยากเขียนลงไปในเรื่องเดียว? นั่นก็แปลว่าในการเขียนเรื่องถัดมากเราก็จะหมดมุกน่ะสิ ดังนั้นจงยับยั้งชั่งใจในการอยากเขียนทุกสิ่งที่เราอยากเขียน แล้วเอาไปใส่ในนิยายเรื่องอื่นของเราบ้าง

กิมมิคสำคัญ
กิมมิคในแต่ละตัวละครจะมีเพียงแค่หนึ่งเดียว และเราจะต้องขยี้สุดๆ ให้นักอ่านรู้สึกอิน
 

นักเขียนที่ดีเป็นยังไง

เหมือนกับพี่ก้อย แต่ขอแอบเสริมนิดนึงเรื่องเวลาการส่งนิยายให้บ.ก. สิ่งสำคัญที่ควรมีคือมารยาท ถ้าบ.ก.แย้งอะไรขึ้นมาในนิยายของเรา มันแปลว่างานเขียนของเรามีรูรั่ว เราไม่ควรไปเถียงค่ะ แต่ควรกลับไปอุดรูรั่วที่เกิดขึ้นในนิยายของเรา จงเรียนรู้จากบ.ก.ดีกว่าเถียงเขา
 

โปรโมตแบบนี้สิรับรองปังไม่มีพังแน่นอน

นอกจากสำนักพิมพ์จะทำการโปรโมตให้แก่นักเขียนแล้ว นักเขียนเองก็ควรจะมีการโปรโมตด้วยนะคะ ซึ่งเทคนิคที่พี่ปุยฝ้ายใช้ก็มีดังนี้

สปอยล์
ระมัดระวังเรื่องการดึงฉากมาสปอยล์ เช่นถ้าดึงฉากฟินๆ ออกมาให้อ่านแล้ว นักอ่านอาจจะมีความคาดหวัง อยากอ่านฉากต่อไป ถ้าฉากถัดไปไม่เด็ดจริงก็มีสิทธิ์พังกันได้ค่ะ

เบลอฉากหลัง
บางทีอยากสปอยล์มากๆ แต่นี่มันกิมมิคของเรื่อง น้องก็สามารถเบลอฉากหลังเพื่อกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากอ่านของนักอ่านได้นะคะ

Social media
เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ใช้ social media แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter มีอะไรก็ตู้มลงไปเลย ช่องทางนี้เรียกได้ว่าเป็นช่องทางสำคัญเลยก็ว่าได้

ความสม่ำเสมอ
นักอ่านควรมีผลงานออกมาให้ต่อเนื่องเพื่อที่นักอ่านจะได้ไม่ลืมกัน ถ้าเขียนเป็นเซ็ตก็ควรจะมีระยะห่างในการออกแต่ละเล่มอย่างมากแค่ ปีก็พอแล้ว เพราะถ้าเว้นนานกว่านี้นักอ่านจะลืมค่ะ

เนื้อหานิยาย
นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ ต่อให้ปกสวย การโปรโมตดี แต่เนื้อหาไม่ได้เรื่องก็พังอีกนั่นแหละ เพราะแม้ว่าเราจะโปรโมตดีแค่ไหน แต่ถ้าคนอ่านซื้อไปแล้วพบว่ามันไม่สนุกก็จะผิดหวัง และทำให้เสียฐานนักอ่านได้เลยค่ะ

 

จบไปแล้วนะคะกับเคล็ดลับดีๆ ตามสไตล์นักเขียนตัวแม่จากแจ่มใส ต้องขอคุณทางเว็บไซต์เด็กดีและแจ่มใสมากๆ เลยค่ะที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ขึ้นมา หลังจากอ่านจบแล้วแอดมินก็หวังว่าน้องๆ คงได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ 

 


ภาพถ่ายรวมผู้เข้ารอบโครงการนักเขียนหน้าใสปี 9 และนักเขียน 
(ขอบคุณรูปภาพจากเพจนักเขียนหน้าใส)


 

ก่อนจากกันในวันนี้ แอดมินก็อยากเชิญชวนน้องๆ ชาวเด็กดีไปอ่านผลงานของเหล่านักเขียนหน้าใสปี ทั้ง 19 คน ได้ที่ จิ้ม  ซึ่งตอนนี้ก็เปิดให้โหวตได้แล้วนะคะ รักเรื่องไหนชอบเรื่องไหนอย่าลืมไปให้กำลังใจพวกเขาทั้ง 19 คนด้วยค่ะ สำหรับครั้งหน้าจะนำเรื่องอะไรมาฝากนั้น รอติดตามค่ะ

 

ทีมงานนักเขียนเด็กดี


 
Deep Sound แสดงความรู้สึก
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด