มารู้จักเทศกาลสงกรานต์ : ประเพณีดั้งเดิมที่โด่งดังกันเถอะ!



เทศกาลสงกรานต์ : ประเพณีดั้งเดิมที่ปรากฏมายาวนาน
 



สวัสดีค่ะน้องๆ เด็กดีไรท์เตอร์^^ เข้าใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์หยุดยาวอย่างนี้ใครแพลนไปเที่ยวที่ไหนบ้างคะ? ส่วนพี่หวานขอเสียสละหลบแดดร้อนๆ มาเขียนบทความให้น้องๆ อ่านอยู่บ้านดีกว่าค่ะ ฮา... และเหมือนเช่นเคยพี่หวานก็ยังคงมีสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องราววรรณกรรมไทยมาฝาก ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างนี้คงต้องขออนุญาตพูดถึงความเป็นมาของเทศกาลสงกรานต์กันหน่อยดีกว่าเนอะ ไม่เเน่ใจว่าในสมัยนี้ยังมีการประกวดนางนพมาศ นางสงกรานต์อยู่รึเปล่า? ถ้าในตอนพี่หวานยังเด็ก ในหมู่บ้านจะมีการให้เด็กๆ มาเเต่งตัวนุ่งชุดไทยห่มสไบเป็นนางนพมาศน้อยด้วยนะคะ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมากความรู้สึกเหมือนงานกีฬาสีแล้วเราได้รับเลือกให้เป็นคนเดินถือป้าย(ยิ่งใหญ่เบอร์นั้นเลย) วันนี้พี่หวานก็เลยตัดสินใจจะเขียนบทความให้เข้ากับเทศกาลซะหน่อย เผื่อว่ามีจังหวะที่น้องๆ อ่านแล้วอาจจะต้องเล่าให้คนอื่นฟังว่าเรื่องราวของวันสงกรานต์ของไทยเนี่ยมันเป็นมายังไง
 


ที่มาของประเพณีสงกรานต์


เรียกว่าตอนนี้คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักเทศกาลสงกรานต์แล้วเเน่นอน เพราะนี่ไม่ใช่แค่เทศกาลที่มีอยู่ในไทยเท่านั้นเเต่ในต่างประเทศก็ให้ความสนใจ อีกทั้งยังมีจัดงานสงกรานต์ขึ้นที่หลายประเทศอีกด้วย เเต่จะมีใครที่รู้ถึงที่มาของเทศกาลนี้บ้างมั้ยนะ? สำหรับพี่หวานก็ไม่ได้เป็นคนที่รู้ข้อมูลเเน่ชัดเท่าไหร่พอตั้งใจจะเขียนบทความเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ก็เลยไปทำการบ้านอย่างหนักเลยค่ะ พี่หวานไปอ่านเจอที่มาของวันสงกรานต์จากหนังสือเล่มหนึ่งในห้องสมุดซึ่งได้บอกเล่าไว้ว่า ปกติแล้ววันสงกรานต์จะมี 3 วัน ได้แก่ วันที่ 13 เป็นวันต้น, วันที่ 14 เป็นวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก

วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันต้น หรือ วันมหาสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ตามแบบไทยเดิม ซึ่งก็ไม่ต่างจากวันปีใหม่สากล เพราะเราถือว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ โดยวันนี้ส่วนมากผู้คนจะนิยมเข้าวัดทำบุญเเละสรงน้ำพระ หรือรดน้ำดำหัวขอพรญาติผู้ใหญ่เพื่อการเริ่มต้นเเละเป็นสิริมงคล และอีกอย่างที่หลายคนอาจจะไม่รู้ก็คือวันนี้เป็น วันผู้สูงอายุ ด้วยนะคะ^^

สำหรับที่มาของการขนทรายเข้าวัดนั่นก็เพราะว่าคนโบราณมีความเชื่อ เมื่อเราเข้ามาทำบุญที่วัดเเละเดินออกจากวัด เราได้นำทรายติดเท้าออกไปด้วย การขนทรายกลับมาเข้าวัดจึงเป็นอีกพิธีกรรมตามความเชื่อที่คนสมัยก่อนได้เคยปฏิบัติกันมายาวนาน แม้ว่าเดี๋ยวนี้เราจะไม่ค่อยพบเห็นการขนทรายเข้าวัดและไปก่อกองทรายเหมือนในสมัยก่อน เเต่พี่หวานก็ได้ไปลองหาภาพบรรยากาศก่อกองทรายมาฝากน้องๆ ด้วยค่ะ 
 

(รูปภาพจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/ประเพณีก่อเจดีย์ทราย)

 
วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา โดยคำว่าเนา มาจากภาษาเขมรที่ออกเสียงว่า ' เนอว ' แปลว่า อยู่ เพราะฉะนั้นความหมายของวันนี้ก็ตามตัวเลยนั่นคือการอยู่บ้านเพื่อพักผ่อน เป็นวันที่อยู่กึ่งกลางคั่นระหว่างปีเก่าและปีใหม่ ตามความเชื่อเดิมเชื่อกันว่าในวันเนา ควรที่จะอยู่บ้านดูแลความเรียบร้อยของบ้าน ประพฤติตัวให้ดี ไม่ควรพูดถึงสิ่งไม่ดีเพราะจะเป็นการนำเอาสิ่งไม่ดีเข้ามาสู่ตัวได้นั่นเองค่ะ 

วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก หรือเป็นวันที่เราได้ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งในวันนี้สิ่งที่ผู้คนนิยมปฏิบัติก็คือการเข้าวัดทำบุญเเละฟังเทศน์ค่ะ โดยในวันนี้ยังถือเป็นวันเปลี่ยนนักษัตรตามแบบไทยอีกด้วย 

 

เรื่องเล่านางสงกรานต์


จากหนังสือที่พี่หวานศึกษาได้มีตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่อง ประกาศมหาสงกรานต์ ซึ่งเเต่เดิมเป็นคล้ายๆ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีใจความกล่าวว่า "ปีนี้สงกรานต์นามกรอย่างไร ทรงพาหนะอะไร ภักษาหารอะไร จะว่ามาก็ไม่ต้องการ ใครใคร่ทราบก็มาดูรูปที่เขียนแขวนไว้ในพระบรมมหาราชวังเทอญ" จากข้อความข้างต้นทำให้มีการสันนิษฐานว่าอาจจะมีการวาดภาพรูปประจำสงกรานต์เอาไว้เป็นภาพประจำปี โดยภาพนั้นอาจจะช่วยทำนายอนาคตของบ้านเมืองได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดนั่นเองค่ะ แต่ก็ไม่มีระบุชัดเจนว่าแท้จริงเเล้วภาพประจำแต่ละปีของเทศกาลนั้นเป็นรูปร่างอย่างไร เเต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ปรากฏพบเห็นส่วนมากมักจะเขียนถึงนางสงกรานต์ หรือนางประจำวันทั้ง 7 ในหนึ่งสัปดาห์ โดยนางทั้งเจ็ดเป็นพี่น้องกันแต่จะมีชื่อเรียกและพาหนะอื่นๆแตกต่างกันไปดังนี้ค่ะ 
 

1. นางทุงษ : ประจำวันอาทิตย์
 

ดอกไม้ประจำตัวคือดอกทับทิม เครื่องประดับคือปัทมราช พาหนะประจำตัวคือครุฑ และมีอาวุธคู่กายติดตัวมาคือจักรและสังข์

2. นางโคราค : ประจำวันจันทร์


มีดอกไม้ประจำตัวคือดอกปีบ เครื่องประดับประจำตัวคือมุกดาหาร พาหนะประจำตัวคือเสือ เเละอาวุธคู่กายที่ติดตัวมาด้วยเสทอคือพระขรรค์และไม้เท้าค่ะ

3. นางรากษส : ประจำวันอังคาร


มีดอกไม้ประจำตัวคือดอกบัวหลวง เครื่องประดับที่ใส่คือโมรา พาหนะที่ใช้ประจำคือหมู เเละอาวุธคู่กายคือตรีศูลและธนู

4. นางมัณฑา : ประจำวันพุธ


มีดอกไม้ประจำตัวคือดอกจำปา เครื่องประดับคือไพฑูรย์ พาหนะประจำกายคือลา เเละอาวุธที่ใช้คือเหล็กแหลม

5. นางกิริณี : ประจำวันพฤหัสบดี


ดอกไม้ประจำตัวคือดอกมณฑา เครื่องประดับคือมรกต พาหนะประจำกายคือช้าง เเละอาวุธคือปืน

6. นางกิมิทา : ประจำวันศุกร์ 


ดอกไม้ประจำตัวคือดอกจงกลนี เครื่องประดับที่ประจำกายคือบุษราคัม พาหนะที่ใช้คือควาย และอาวุธประจำตัวคือ พระขรรค์และพิณ

7. นางมโหทร : ประจำวันเสาร์


ดอกไม้ประจำตัวคือดอกสามหาว เครื่องประดับคือนิลรัตน์ พาหนะคู่กายคือนกยูง เเละอาวุธที่ใช้คือตรีศูล


 

ความสำคัญของประเพณีสงกรานต์


พี่หวานคิดว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญที่ทุกคนตั้งตารอคอย อย่างแรกเลยสำหรับน้องๆ นักเรียนนักศึกษา คนทำงานคงจะดีใจเพราะได้หยุดเรียนหรือได้หยุดงานกันนั่นเองค่ะ หลังจากที่ตรากตรำทำงานกันมาอย่างหนักหน่วงตลอดปีเมื่อถึงช่วงเดือนเมษาที่ร้อนระอุแบบนี้ การได้หยุดพักยาวๆ ย่อมเป็นการดี โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดอย่างพี่หวาน หรืออาจจะเป็นคนที่จากบ้านมาทำงานไกลๆ ก็จะได้ถือเป็นโอกาสเดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้าน ความสำคัญของเทศกาลสงกรานต์สำหรับพี่หวานไม่ใช่แค่การได้เล่นน้ำเพื่อดับร้อนหรือเพื่อความสนุกสนาน เเต่เมื่อวันสงกรานต์มาถึงสิ่งแรกที่พี่หวานนึกขึ้นได้ พี่หวานจะคิดถึงวันเเห่งครอบครัวค่ะ เป็นวันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันพร้อมหน้าเพื่อร่วมสงน้ำพระ ทำบุญ หรือรดน้ำดำหัว กราบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือให้พรแก่ผู้อื่นให้อยู่เย็นเป็นสุขเหมือนน้ำเย็นที่พรมรดให้แก่กัน เพราะโอกาสที่คนในบ้านจะได้มารวมตัวกันนี่ยากเอาการอยู่นะคะ ยิ่งครอบครัวใหญ่ๆ ที่เเยกย้ายกันเติบโตไปคนละทิศละทาง ก็ถือโอกาสนี้แหละได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ประเพณีสงกรานต์สำหรับพี่หวานจึงถือเป็นเทศกาลแห่งครอบครัวอย่างแท้จริง

 

เทศกาลสงกรานต์ในต่างแดน

เพราะว่าเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีขึ้นชื่อที่โด่งดังและไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ต่อมาพี่หวานก็จะพาน้องๆ ไปลองชมบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ที่ต่างประเทศกันบ้างนะคะ โดยส่วนตัวเเล้วพี่หวานยังไม่เคยลองไปสัมผัสด้วยตัวเองเลยค่ะ มีเเต่เคยเฉียดเทศกาลสงกรานต์ในประเทศเกาหลีมาบ้าง เเต่ต้องกลับก่อนไม่ทันได้ไปลองดูว่าเขาจัดงานกันยังไงบ้าง พี่หวานก็เลยนั่งหาข้อมูลเทศกาลสงกรานต์ในต่างแดนมาพูดไว้เผื่อจะเป็นเเรงบันดาลใจให้ใครอยากลองไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่ต่างประเทศบ้าง

 
1. ลอสแองเจลิส


(รูปภาพจาก : FB SiamTownUS)
 
สถานที่เเรกที่พี่หวานขอยกมาพูดถึงในวันนี้ก็คือภาพบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ที่จัดขึ้นในย่ายไทยทาวน์ที่ลอสเเองเจลิส สหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าที่นี่เป็นชุมชนคนไทยขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงมากทีเดียว จากการมารวมตัวกันของคนไทยมากมายจึงเกิดเป็นเทศกาลสงกรานต์กลางแจ้งขนาดใหญ่ขึ้นนั่นเองค่ะ โดยที่ลอสเเองเจลิสจะมีการจัดงานโดยใช้ชื่อว่า 'Thai New Year' มีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพิธีการทางศาสนาซึ่งดำเนินการโดยวัดไทยในลอสเเองเจลิส ตามมาด้วยกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ มากมาย พี่หวานตามดูจากรูปก็พบว่ามีการตั้งขบวนแห่ด้วยนะคะ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ คนไทยคนต่างชาติต่างออกมาร่วมกันอย่างสนุกสนาน บ้างแต่งชุดไทยนั่งบนรถเป็นนางนพมาศก็มีค่ะ เรียกว่าเป็นเทศกาลที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้คนได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ


2. บราซิล
 

(รูปภาพจาก : http://thaiembassybrazil.com/en/embassy-news/10052-songkran-festival-and-thai-gastronomy-event-in-brasilia)

หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าที่ประเทศบราซิลก็มีการจัดงานสงกรานต์ขึ้นเหมือนกันนะคะ แต่พี่หวานไม่พบข้อมูลที่บอกว่ามีกิจกรรมอะไรอื่นบ้างที่ประชาชนมาร่วมสนุกกัน แต่ที่พี่หวานพบเป็นคล้ายๆ การจัดงานขึ้นในกระทรวงการต่างประเทศที่มีเอกอัครราชทูต กงสุล และหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศรวมทั้งภริยาและเจ้าหน้าที่ทางการทูตที่อยู่ในประเทศ โดยจะมีการแสดงโชว์จากการแสดงแบบไทย และที่สำคัญคือมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ด้วยค่ะ ถึงเเม้ว่าจะไม่ปรากฏกิจกรรมสนุกสนานมากนักแต่ก็เป็นเรื่องดีๆ เหมือนกันนะคะที่ได้เห็นชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับประเพณีสงกรานต์อย่างนี้

 
3. ออสเตรเลีย
 

(รูปภาพจาก : http://www.studyperth.com.au/ja/about/news-feeds/2014/04/songkran-festival-perth)
 
ที่กรุงเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศที่มีการจัดเทศกาลสงกรานต์ขึ้นค่ะ พี่หวานคิดว่ารูปแบบของกิจกรรมก็ไม่ต่างจากของไทยมากเท่าไหร่ เมื่อดูจากในรูปก็จะเห็นว่ามีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ มีกิจกรรมการแสดง และก็มีการประกวดนางนพมาศด้วย น่าสนใจมากๆ เลยค่ะ โดยปกติแล้วการจัดเทศกาลสงกรานต์ของที่นี่ก็จะจัดขึ้นช่วงเดียวกับสงกรานต์บ้านเราเลย นั่นก็คือ 13 เมษายน ซึ่งพี่หวานไม่แน่ใจว่าปีนี้จะยังจัดวันเดิมอยู่รึเปล่า แต่คิดว่างานยังมีจัดขึ้นเหมือนเช่นทุกปีแน่นอนค่ะ ^^

 
4. ญี่ปุ่น
 

(รูปภาพจาก : http://japan-attractions.jp/performance/songkran-festival/)

ต่อมาที่พี่หวานจะพูดถึงก็คือเทศกาลสงกรานต์ในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง จากรูปภาพด้านบนที่พี่หวานเจอมาเขาพูดถึงเทศกาลสงกรานต์ที่จะจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 18-19 เดือนมิถุนายน อันนี้เป็นโปสเตอร์เชิญชวนของปี 2016 ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าในปี 2017 จะยังจัดขึ้นอยู่รึเปล่า เเต่จากการสอบถามเพื่อนที่เรียนเอกภาษาญี่ปุ่นก็ได้ข้อมูลมาว่าเทศกาลสงกรานต์ในญี่ปุ่นมักจะมีการเล่นน้ำคล้ายของไทย เเละจัดเป็นประจำช่วงเดือนมิถุนายนนี่แหละ ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจก็ลองติดตามข่าวดูเรื่อยๆ นะคะ

ส่วนนี้ พี่หวานได้เจอวิดีโอบันทึกบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ในญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้วของช่อง Tokyo Love Studio ซึ่งเป็นงานจัดขึ้นที่จังหวัดไซตามะ โดยใช้ชื่องานว่า 'Mizukake Matsuri (水かけ祭りさいたま新都心15回)' ก็เลยนำมาฝากไว้ด้านล่างเผื่อน้องๆ คนไหนอยากเห็นบรรยากาศจริงค่ะ  >> คลิก <<

 
5. เกาหลี


(รูปภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=3uvqxp8qAbo)

และก็มาถึงเทศกาลสงกรานต์ในประเทศสุดท้ายที่พี่หวานจะยกมาเล่าให้ฟังพอหอมปากหอมคอนะคะ นั่นก็คือเทศกาลสงกรานต์ในประเทศเกาหลีนั่นเอง อย่างที่น้องๆ เห็นภาพข้างบนนี้ ประเทศเกาหลีก็เป็นอีกประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่เเละเดินทางไปเที่ยวอยู่ตลอดเวลา การจัดงานสงกรานต์ขึ้นมาจึงได้รับความนิยมค่อนข้างมากทีเดียวค่ะ คนเกาหลีต่างออกมาเล่นน้ำกันสนุกสนานตอนพี่หวานดูคลิปครั้งแรกนี่อดคิดไม่ได้เลยนะคะว่านั่นที่เกาหลีหรือไทยกันแน่ ฮ่า... นอกจากการเล่นสาดน้ำสนุกสนานเเล้ว ก็มีทั้งการออกบูธแสดงอาหารและโชว์แบบไทยอื่นๆ ด้วยนะคะ

ถ้าใครอยากดูบรรยากาศของงานเพิ่มเติมเเล้วละก็พี่หวานมีคลิปจาก 'รายการอปป้าเกาหลี' ที่ดำเนินรายการโดยคนเกาหลีสองคนที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ในระดับดีเลยทีเดียวค่ะ เผื่อว่าใครอยากเปลี่ยนบรรยากาศไปเล่นน้ำที่เกาหลีลองดูก็จะได้เก็บเป็นข้อมูลไว้ได้นะคะ 


(รูปภาพจาก : 오빠까올리TV(โอ๊ปป้าเกาหลีTV))
บรรยากาศเพิ่มเติม >>
คลิก <<


จากข้างต้นที่พี่หวานยกมาพูดถึงก็คือบรรยากาศเทศกาลสงกานต์ในประเทศอื่นๆ นะคะ จะเห็นว่าต่างประเทศไม่ว่าประเทศไหนก็สามารถสนุกกับเทศกาลสงกรานต์ได้เหมือนเราเลย(แต่พี่หวานก็คิดว่าสงกรานต์ที่ไทยนี่น่าสนุกที่สุดแล้วค่ะ ><) การมีเทศกาลไทยๆ แบบนี้จัดขึ้นพี่หวานคิดว่าน่าจะพอช่วยคลายความคิดถึงประเทศไทยให้กับคนไทยในต่างแดนได้ดีเลยค่ะ แล้วน้องๆ ล่ะคะ วันสงกรานต์สำหรับน้องๆ เป็นยังไง มีใครเเพลนไปเที่ยวไหนกันบ้าง ยังไงก็ขอให้เดินทางปลอดภัย เล่นสนุกด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะน้องๆ ผู้หญิงต้องดูแลตัวเองดีๆ นะคะ และสิ่งสำคัญก็คืออย่าลืมทำงานค้างต่างๆ ที่ต้องส่งหลังสงกรานต์ด้วยล่ะ(พี่หวานก็ต้องบอกตัวเองเหมือนกันT^T) หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ทำให้หลายคนได้รู้จักประเพณีสงกรานต์กันมากขึ้นนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าน้าาา ^___^
 

พี่หวาน

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก
 
หนังสือฮีตสิบสอง : สีลา วีระวงศ์, 2517
หนังสือประเพณีไทยเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ : พระยาอนุมานราชธน, 2512
คุณ Queendust

 
พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น