ฮันเซลกับเกรเทล นิทานที่สอนให้เรารู้ว่า... อาหารสำคัญแค่ไหน!


ฮันเซลกับเกรเทล
นิทานที่สอนให้เรารู้ว่า... อาหารสำคัญแค่ไหน!

 
สวัสดีชาวนักอ่านนักเขียนทุกคนค่ะ แอดมินเป็นคนที่ชอบอ่านเทพนิยายมากๆ อ่านตั้งแต่เด็กจนกระทั่งตอนนี้ก็ยังอ่านอยู่ มีเทพนิยายในดวงใจมากมายหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องที่แอดมินจดจำได้มากที่สุดคือ ฮันเซลกับเกรเทล ผลงานของพี่น้องกริมม์ เหตุผลที่ชอบก็เพราะ อยากเห็นบ้านขนมค่ะ คือรู้สึกว่า บ้านนี้ต้องน่ารักมากๆ แน่ๆ คือตอนเด็กๆ เวลาเราอ่านเทพนิยาย ก็มักจะมองเห็นเรื่องน่ารักๆ และมองข้ามพวกเรื่องเครียดๆ ดาร์คๆ ไป จนโตเป็นผู้ใหญ่นั่นแหละ ถึงเริ่มเกิดคำถามและแปลกใจว่า... เฮ้ย ที่ตอนเด็กๆ เราอ่านแล้วชอบเนี่ย เราไม่สังเกตเห็นเหรอว่ามันมีประเด็นดาร์คๆ แทรกอยู่เต็มไปหมด 
 
สำหรับฮันเซลกับเกรเทลนี้ พอโตขึ้นมาแล้วได้กลับไปอ่านเนื้อเรื่องอย่างจริงๆ จังๆ แอดมินก็เลยมองเห็นว่า ปัญหาของนิทานเรื่องนี้มีอยู่เยอะมาก อย่างแรกเลยคือ เรื่องการปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลลูก ปัญหาครอบครัวเรื่องแม่เลี้ยงลูกเลี้ยง เรื่องของพ่อที่ไม่รักลูก ความไม่เท่าเทียมทางเพศ (กลายเป็นว่าเพศหญิงเป็นใหญ่ ร้ายกาจ อันตราย และเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของทุกคนในครอบครัว ในขณะที่เพศชายอ่อนแออย่างเหลือเกิน แม้แต่ลูกของตัวเองก็ยังปกป้องไม่ได้) ความยากจนและลำบากของคนในครอบครัว (เพราะถ้าไม่ลำบากถึงขีดสุด ยังไงก็คงไม่เอาลูกไปปล่อยในป่าหรอก) และทั้งหมดนี้ มันก็มาลงที่ประเด็นใหญ่ประเด็นเดียวนั่นคือ “ประเด็นเรื่องภาวะแคลนขาดอาหาร” 
 

 
ปัญหาครอบครัว 1 : ความยากจนและขาดแคลนอาหาร
ปัญหาหลักที่เห็นได้ชัดมากและน่าจะเป็นปัญหาสำคัญของครอบครัว ก็คือ ความยากจน ขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะถ้าบ้านไหนมีลูกด้วย ก็จะลำบากยิ่งขึ้นไปอีก ช่วงเวลาที่พี่น้องกริมม์เขียนต้นฉบับอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1812 ซึ่งเป็นช่วงที่ปัญหาความยากจนแพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ความลำบากทำให้ผู้คนออกแย่งชิงอาหารกันอย่างเปิดเผย คนตายกันทุกวันเพราะไม่มีอาหารกิน และยังเจอกับโรคระบาดอย่างกาฬโรคด้วย ดูเหมือนความยากจนจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของฮันเซลกับเกรเทลเช่นเดียวกัน ผู้เป็นแม่ตายเพราะอดอยาก พอพ่อมีแม่ใหม่ ก็กลายเป็นว่า เด็กๆ ไม่ได้รับความรักและอบอุ่นเหมือนแม่แท้ๆ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ “การขาด” คือ ขาดความรักความอบอุ่น ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าเด็กที่ขาดความรักความอบอุ่น จะมีสภาพจิตใจที่แข็งกระด้าง และมองโลกในแง่ลบ แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาจะแข็งแกร่งและเลือดเย็นกว่าเด็กทั่วๆ ไป ฮันเซลกับเกรเทลได้รับผลกระทบนี้เต็มๆ และเมื่อพ่อพาทั้งคู่ไปปล่อยในป่า แทนที่จะอดตายตามความคาดหวังของพ่อแม่ เด็กทั้งคู่กลับต่อสู้ดิ้นรน และหาทางเอาตัวรอด แม้จะเจอกับแม่มด เจอเรื่องโหดร้าย แต่ท้ายที่สุด ทั้งคู่ก็เอาชนะแม่มดด้วยการผลักแม่มดเข้าในเตาเผา ถ้าหากอ่านให้ดีๆ เราจะพบว่า ทั้งคู่ “ฆาตกรรม” แม่มดได้อย่างเลือดเย็น ทั้งๆ อายุไม่กี่ขวบ มันแสดงให้เห็นว่า เด็กสองคนนี้ไม่ได้ไร้เดียงสาหรือไม่สู้คน แต่เป็นเด็กที่มีสัญชาตญาณการต่อสู้ และทั้งหมดนั้น เกิดจากเรื่องเลวร้ายในครอบครัว
 
ปัญหาครอบครัว 2 : แม่เลี้ยงลูกเลี้ยง เพศหญิงเป็นใหญ่ เพศชายอ่อนแอ 
เมื่อแม่ของฮันเซลและเกรเทลตายจากไป ทั้งคู่ต้องพบกับแม่ใหม่ ซึ่งถูกบรรยายไว้ว่า “ใจดำ เลือดเย็น ไม่มีความรัก” ลักษณะของแม่เลี้ยงนี่ค่อนไปทางซาดิสม์ และตอนท้ายเรื่อง แม่เลี้ยงก็แสดงความชั่วร้ายออกมาด้วยการยุแยงให้พ่อพาลูกแท้ๆ ทั้งสองคนไปปล่อยในป่า เพื่อให้อดอาหารตาย ตัวพ่อเอง ก็แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอโอนเอนลู่ลม ไม่อาจตัดสินใจอะไรเองได้ เลยยกภาระให้ผู้หญิงในชีวิต จะเห็นได้ว่าประเด็นนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้เสมอ ใครว่าเพศชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า หรือผู้คุมบ้านเสมอไป เพศหญิงก็สามารถทำได้ เมื่อพ่อไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถปกป้องสถานการณ์ได้ ครอบครัวก็ล่มสลาย ในนิทานได้บรรยายความรู้สึกของพ่อไว้ว่า ไม่เห็นด้วยกับภรรยา แต่เมื่อไม่มีทางเลือกเพราะขาดแคลนอาหารและไม่สามารถแก้ไขปัญหาในบ้านได้ เลยต้องทำตามวิธีของภรรยา 
 

 
ปัญหาครอบครัว 3 : เมื่อเด็กถูกทอดทิ้ง ผลลัพธ์เป็นได้สองทางคือ ไม่เข้มแข็งกระด้างก็อ่อนแอปวกเปียก 
ปัญหาสังคมนี้ เห็นได้อยู่ทั่วไป สำหรับฮันเซลกับเกรเทล ทั้งคู่ถูกพ่อตัวเองทรยศหักหลัง และถูกแม่เลี้ยงทำร้ายด้วยวิธีนำไปปล่อยในป่าให้ตายไปเอง คำบรรยายในเรื่องบอกว่า เมื่อพ่อทิ้งลูกไว้ คำพูดสุดท้ายคือ ขอให้ลูกโชคดี และถ้ามีปัญหาก็จงก่อไฟด้วยตัวเอง ณ ช่วงเวลาที่เรื่องเล่านี้เกิดขึ้น เป็นช่วงสงคราม ประชาชนอดอยาก โรคร้ายก็แพร่กระจายไปทั่ว ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เรื่องเล่านี้ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อาจฟังดูโหดร้าย แต่เมื่อไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ พ่อแม่ก็จำเป็นต้องตัดขาดจากลูกของตัวเอง ตามกฎผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่รอด ทำให้ฮันเซลกับเกรเทล ต้องหาทางต่อสู้ดิ้นรน และท้ายที่สุด ทั้งคู่ก็เอาตัวรอดได้แบบเลวร้ายเต็มทน 
 
การถูกพ่อแม่ทิ้ง ทำให้ฮันเซลกัลเกรเทลได้เรียนรู้บางสิ่ง เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่ได้รับความรักพ่อแม่ พวกเขาก็หาทางเอาชนะปัญหาด้วยตัวเอง กำหนดโชคชะตาของตัวเอง ในเรื่องยังแสดงถึงความไม่ไว้ใจที่มีต่อพ่อแม่ เมื่อฮันเซลเลือกที่จะเก็บก้อนกรวดเอาไว้ และโรยไว้ตามทางเพื่อหาทางกลับบ้านเอง จนกระทั่งตอนหลัง เขาหลงเหลือแต่ขนมปัง เลยต้องเอาขนมปังมาฉีกโรยไว้ตามทาง แต่น่าเสียดายที่ถูกนกกาจิกกินจนหมด เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า... ฮันเซลไม่ไว้ใจพ่อและแม่เลี้ยงแม้แต่น้อย และการที่พ่อหาทางนำลูกไปปล่อยในป่าถึงสองครั้งสองครา ก็บอกให้เรารู้ว่า... พ่อนั้นเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้สมกับที่ฮันเซลคิดไว้ 
 
ในความเป็นจริงแล้ว เด็กๆ ควรจะไว้ใจคนเป็นพ่อ และอบอุ่นใจกับพ่อ ควรจะมองพ่อเป็นฮีโร่หรือหัวหน้าครอบครัว แต่ในเรื่องนี้ ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม แทนที่พ่อจะปกป้องลูก กลับกลายเป็นพ่อเสียเองที่ทำให้ลูกต้องเจอกับเรื่องเลวร้าย ไม่แปลกอะไรที่ฮันเซลกับเกรเทลจะรู้สึกว่า “พ่อไว้ใจไม่ได้” พ่อเองก็เลือกที่จะสละชีวิตของลูก เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง แทนที่จะปกป้องลูกหรือทำตัวเป็นแบบอย่างอย่างที่ควรจะเป็น 
 
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของเรื่องนี้ก็ตรงกับหัวข้อที่เราเขียนไว้ ฮันเซลกับเกรเทลคือเด็กสองคนที่ถูกพ่อทรยศ และเลือกเส้นทางของตัวเองได้ พวกเขาไม่อ่อนแอ แต่เข้มแข็งและพร้อมยืนหยัด ทั้งยังช่วยเหลือกันและกันได้ดีมากๆ ด้วย เมื่อแรกเริ่ม ฮันเซลคนพี่ คือคนวางแผน และหาทางช่วยเหลือน้อง เมื่อพบว่าขนมปังหายไปหมดกลับบ้านไม่ได้ เกรเทลร้องไห้เสียใจอย่างหนัก แต่ฮันเซลไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองเครียดตามน้อง เขาทำตัวเป็นที่พึ่งให้กับเธอ ทว่าเมื่อพลาดท่าถูกแม่มดจับ ฮันเซลต้องกลายเป็นเหยื่อ ตกอยู่ในกรงบ้าง และครั้งนี้แหละ ที่เกรเทลได้รับบทบาทของฮีโร่ เธอไม่หนีเอาตัวรอด ไม่อ่อนแอจนประคองสติไม่ได้ แต่ใช้ไหวพริบหาทางช่วยเหลือพี่ชายของเธอได้อย่างเข้มแข็ง มันแสดงให้เห็นว่า เด็กทั้งคู่เติบโตขึ้นมาได้จากการถูกพ่อแม่ทำร้ายนั่นเอง และท้ายที่สุด เกรเทลก็หลอกล่อจนนางแม่มดต้องตายในเตาไฟ 
 
บทสรุปของเรื่อง ทั้งหมดอยู่ที่ “อาหาร”  
ในเมื่อเราขึ้นต้นมาด้วยหัวข้อว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อาหารสำคัญแค่ไหน เราก็ต้องขอขมวดจบด้วยประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอาหาร จะเห็นว่า เรื่องฮันเซลกับเกรเทล ดำเนินไปได้เพราะอาหารล้วนๆ แม่ของทั้งคู่ตายเพราะขาดอาหาร และทั้งคู่ก็ถูกนำไปป่า เพราะบ้านขาดแคลน ไม่มีอาหารจะเลี้ยง และจุดที่ชี้ให้เห็นชัดที่สุดว่า “อาหารคือตัวดำเนินเรื่อง” ก็เมื่อทั้งคู่เห็นบ้านขนมของแม่มด แล้วรีบวิ่งรี่เข้าไปฉีกขนมบนบ้านมากินเอาๆๆๆๆ นี่แหละ สัญลักษณ์ “บ้านขนมปังขิง” ของนางแม่มด เปรียบได้กับสิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจของเด็กๆ เพราะเราก็รู้กันอยู่ว่าเด็กๆ ชอบขนมมาก และมักจะกินขนมอมยิ้มอะไรพวกนี้จนฟันผุ ทุกวันนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ยังเจอปัญหาลูกขอกินขนมเยอะๆ อยู่ จริงไหม 
 
และเรายังขอเพิ่มเติมว่า อาหารสำคัญต่อเด็กๆ มาก ก็เมื่อนางแม่มดเปิดประตูออกมาเชื้อเชิญเด็กทั้งคู่ แล้วหลอกล่อว่า ถ้าเข้ามาในบ้นจะได้กินอาหารอร่อยๆ ได้นอนหลับสบายนะ ฮันเซลกับเกรเทลได้ยินก็ดีใจ รีบเข้าบ้านทันที ต่อมา นางแม่มดได้ท่า ก็จับฮันเซลขังกรงไว้ เพื่อจะ “กินเป็นอาหาร” อีก ไอเดียการกินเนื้อคนนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สภาพสังคมน่าจะอดอยากมากถึงมากที่สุด ในช่วงนั้น มีเหตุการณ์กินเนื้อคนเกิดขึ้นจริงๆ เสียด้วย และนางแม่มด น่าจะเป็นภาพสะท้อนของผู้คนเหล่านี้ ที่หมดหวังกับชีวิตและอดอยากขาดแคลนอาหาร จนต้องหลอกคนมากินเนื้อนั่นเอง 
 
นอกจากประเด็นเรื่องอาหาร ฮันเซลกับเกรเทล ยังสะท้อนให้เราเห็นว่า เด็กๆ ในยุคนั้นขาดความรักจากพ่อแม่ หิวกระหาย ยากจน และมันทำให้พวกเขาต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น เพื่อเอาชนะอุปสรรคที่มาขวางหน้าให้ได้ แม้แต่เด็กหญิงตัวเล็กๆ อย่างเกรเทล เมื่อเข้าตาจนก็ต้องเอาชนะความกลัว ลุกขึ้นมาฆ่านางแม่มดจนได้ เพราะถ้าหากไม่ทำอย่างนั้น เธอนั่นแหละคือคนที่จะต้องตาย! 
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลจาก  
http://www.fairytalechannel.com/2009/09/fairy-tale-about-food-or-lack-of-it.html
http://www.fairytalechannel.com/2009/09/reading-hansel-and-gretel-journey-of.html  
http://www.fairytalechannel.com/2009/09/reading-hansel-and-gretel-stepmother.html 
http://www.fairytalechannel.com/2009/10/god-is-bread-in-this-german-legend.html
https://jen101290.wordpress.com/2013/10/24/the-underlying-meanings-in-hansel-and-gretel/ 
http://www.penguinrandomhouse.com/books/286510/the-true-story-of-hansel-and-gretel-by-louise-murphy/9780142003077/readers-guide/ 
http://myurbanfairytales.blogspot.com/2012/04/0-0-1-249-1424-honeygrip-11-3-1670-14.html 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด