'ทศพิธราชธรรม' หลักธรรม 10 ข้ออันพึงปฏิบัติของกษัตริย์นักปกครองที่ปรากฏใน รามเกียรติ์




'ทศพิธราชธรรม' หลักธรรม 10 ข้ออันพึงปฏิบัติ
ของกษัตริย์นักปกครองที่ปรากฏใน รามเกียรติ์

 


สวัสดีค่ะน้องๆ เด็กดีทุกคน^^ พี่หวานคนเดิมเพิ่มเติมคือยังมีสาระน่าสนใจในวงการวรรณกรรมมาฝากเช่นเคย ช่วงนี้ก็คิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรดี จนกระทั่งพี่หวานนึกขึ้นได้ถึงหลัก 'ทศพิธราชธรรม' อันเป็นคุณธรรมประจำตัว 10 ข้อที่กษัตริย์ผู้ปกครองบ้านเมืองยึดถือไว้ พี่หวานได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ด้วยระลึกถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(รัชกาลที่ 9)ได้ยึดถือปฏิบัติมาตลอด ซึ่งหลักธรรมข้อนี้ก็ไปปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยด้วยเช่นกัน


 

ทศพิธราชธรรม คืออะไร 


ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า ทศพิธราชธรรม คือ น. จริยาวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง มี 10 ประการ 
 

1. ทาน 

อย่างที่เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ทาน ก็คือ การให้ ข้อแรกสุดที่กษัตริย์ผู้ปกครองพึงปฏิบัติคือการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยกว่าที่อยู่ใต้ปกครอง เสียสละสิ่งของ และน้ำใจให้แก่ผู้อื่น เราจะเห็นได้ว่ารัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์ผู้ใจกว้างที่เล็งเห็นความสำคัญของความเป็นอยู่ในชีวิตประชาชน เมื่อใดที่มีผู้ปฏิบัติงานได้ดีก็พระราชทานของกำนัลเป็นกำลังใจ เเละยังมีพระราชโองการมากมายออกมาเพื่อช่วยเหลือราษฎรอยู่เสมอ รวมถึงการแจกจ่ายสิ่งของตามโอกาส ตลอดจนการให้ทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนของพระองค์ได้รับการเรียนรู้เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศบ้านเมืองต่อไป 

 

2. ศีล

คือการตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี ทั้งกาย วาจา และใจ กล่าวคือรัชกาลที่ 9 ก็เป็นต้นแบบกษัตริย์ผู้เคร่งในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ที่ไม่เคยบกพร่องในเรื่องการทำนุบำรุงศาสนา การปฏิบัติตามจารีตประเพณีอันดีงามของบ้านเมืองอยู่เสมอ ตลอดจนการปกครองบ้านเมืองที่ไม่เคยใช้อำนาจของพระองค์เพื่ออยู่เหนือการปกครอง มีเเต่ทรงงานเพื่อนำพาประเทศชาติให้ไปในทิศทางที่ดี จึงส่งผลให้รัชกาลที่ 9 ได้เป็นกษัตริย์ที่เปรียบเสมือนจุดยึดเหนี่ยวในใจของปวงชทุกคน และยังเป็นต้นแบบอันดีให้ปฏิบัติตามด้วย

 

3. บริจาค

การบริจาคคือการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยความที่รัชกาลที่ 9 ทรงยึดถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลักก่อนประโยชน์ส่วนตนเสมอ เราจึงมักได้เห็นพระราชกรณียกิจที่ทรงทำเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ให้ประชาชนของพระองค์มีชีวิตที่ดีขึ้น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่หน่วยงานหลายภาคส่วนให้นำไปพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการศึกษา ด้านบำรุงศาสนา ด้านการแพทย์ต่างๆ ตลอดจนการบริจาคที่ดินส่วนพระองค์ให้เเก่ราษฎรเพื่อใช้ทำกินด้วยเช่นกัน

 

4. อาชชวะ

ข้อนี้กล่าวถึงความซื่อตรง หรือซื่อสัตย์ต่อประชาชน กษัตริย์ผู้ปกครองที่ดีจะต้องสร้างความเชื่อมั่นเเละมั่นคงให้เเก่ประชาชน รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นความมั่นคงให้แก่ประเทศไทยมาตลอด นั่นเพราะทรงเป็นกษัตริย์ที่ทำมากกว่าพูด พระองค์แสดงออกถึงความจริงใจผ่านพระราชกรณียกิจมากมายที่ตั้งใจทำเพื่อประชาชนของพระองค์จริงๆ คำพูดที่ทรงตรัสไว้ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้รับสั่งไว้ว่า 'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม' ยังเเป็นพระราชดำรัสที่ตราตรึงในใจชาวไทยทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้

 

5. มัททวะ

มัทวะ หรือ ความอ่อนโอน หมายถึงการแสดงออกอย่างนุ่มนวล ปฏิบัติตนให้ความเคารพต่อผู้สูงกว่า เสมอกันเเละต่ำกว่าโดยไม่แบ่งแยก พี่หวานเชื่อว่าข้อนี้ต้องเป็นข้อที่ทุกคนเห็นตรงกันกับพี่หวานอย่างเเน่นอน เพราะรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นกษัตริย์ที่ไม่เคยถือตนกับผู้อื่น ดังภาพต่างๆ ที่เราเห็นเป็นประจำว่าทรงเข้าถึงความลำบากทุกหย่อมหญ้า เเละพูดคุย ใช้ชีวิตกับพระชาชนอย่างคนธรรมดา ในข้อนี้ได้บ่งบอกชัดเจนถึงความอ่อนโยนที่แสดงออกต่อคนทุกชนชั้นโดยไม่เเบ่งแยกแม้ว่าศักดิ์ของพระองค์จะเป็นถึงกษัตริย์ก็ตาม

 

6. ตบะ

ในที่นี้อาจจะหมายถึงการข่มกิเลสในใจตนเอง รวมถึงการต้องทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความต้องการของตัวเองด้วย เมื่อเป็นกษัตริย์แล้วจะคิดถึงเเต่ตนเองไม่ได้ อาจจะมีหลายครั้งที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ พระราชกรณียกิจมากมายของรัชกาลที่ 9 ยังชัดเจนในความทรงจำของพี่หวาน งานที่ทรงทำมาตลอดเป็นสิ่งที่เกินคำว่าหน้าที่ไปเเล้ว เพราะท่านมองว่านี่ไม่ใช่งาน เเต่นี่คือสิ่งที่ท่านต้องทำเพื่อประเทศชาติเพื่อประชาชนของพระองค์ ทั้งๆ ที่ในบางวันพระองค์อาจจะไม่อยากทำ เเต่เพราะทรงคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอว่าถ้าท่านไม่ทำ ใครจะเป็นคนทำ นี่จึงเป็นหลักธรรมอีกข้อที่เด่นชัดที่สุด

 

7. อักโกธะ

ข้อนี้คือความไม่โกรธ ในสถานการณ์ที่ควรเก็บอารมณ์โกรธก็รักษาพระอาการไว้ได้อย่างดี เราจึงมักไม่ค่อยได้เห็นมุมที่พระองค์ท่านแสดงออกถึงความโกรธขึ้งต่างๆ ข้อนี้เป็นอีกข้อสำคัญที่กษัตริย์ผู้ปกครองควรทำ เพราะนอกจากจะเป็นมารยาทในการรักษากิริยาต่อผู้อื่นเเล้ว การแสดงออกทุกอย่างที่คิดไม่เป็นผลดี หลายคนน่าจะรู้อยู่เเล้วว่ารัชกาลที่ 9 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีอารมณ์ขัน พระองค์ทรงรู้วิธีเเก้ไขบรรยากาศให้ดีได้ด้วยอารมณ์ขันนั่นเอง

 

8. อวิหิงสา

สำหรับข้อนี้คือความไม่เบียดเบียน หรือหมายถึงการไม่เสร้างความทุกข์กายเเละใจให้แก่ผู้อื่นด้วยค่ะ กษัตริย์ที่ดีย่อมต้องเป็นกษัตริย์ที่ประชาชนรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ใต้ปกครอง อย่างที่ทุกคนรับรู้มาตลอดว่ารัชกาลที่ 9 เป็นผู้ทำให้แผ่นดินไทยมีความร่มเย็นมาโดยตลอด ทรงปกป้องทุกชีวิต โดยมีการพระราชททานอภัยโทษต่อนักโทษผู้สำนึก หรือแม้แต่การพระราชทานชีวิตเเก่สัตว์เล็กใหญ่ เป็นการแสดงออกของผู้ที่ประพฤติตนโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นอย่างเเท้จริง

 

9. ขันติ

ข้อถัดมาพี่หวานจะพูดถึงเรื่อง ความอดทนต่อสิ่งทั้งปวงที่มากระทบ ทั้งทางกาย วาจา เเละใจ ผู้มีขันติมักจะเป็นคนที่สงบเสงี่ยมอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาตั้งเเต่อดีตพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ผ่านเรื่องราวกดดันทั้งปวงมาได้ด้วยความมีขันติในตนเอง แสดงออกให้เห็นว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่สามารถจัดการความรู้สึกส่วนตัวได้เป็นอย่างดี ไม่ปล่อยให้ความโกรธหรืออารมณ์ต่างๆ มาครอบงำได้ ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองไม่มั่นคงก็ยังทรงมุ่งมั่นปกป้องแผ่นดินอยู่ไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนด้วยความกลัวใดๆ เเต่ทรงแสดงออกถึงความใส่ใจและรู้ทันทุกข่าวสารเพื่อเข้าไปแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีเสมอมาเสมอมา

 

10. อวิโรธนะ

ข้อสุดท้ายนั่นคือ ความหนักแน่น เที่ยงธรรม เเน่นอนอยู่เเล้วว่ากษัตริย์บ้านเมืองใดก็ตามที่ปฏิบัติตามข้อที่กษัตริย์พึงปฏิบัติครบถ้วน ย่อมสามารถเป็นเสาหลักที่เเข็งแกร่งให้แก่บ้านเมืองได้เช่นกัน เพราะกษัตริย์พึงยึดถือความถูกต้องเป็นหลักมาก่อนความถูกใจ รัชกาลที่ 9 เองก็ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ปฏิบัติตนอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องมาก่อนเสมอ ทรงไม่เลือกพื้นที่ทรงงาน เเต่ทรงไปในทุกๆ พื้นที่เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ทรงตั้งใจเเน่วเเน่ที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน เเละยังทรงดำเนินตามความตั้งใจนั้นอย่างดีมาตลอด
 



 

ทศพิธราชธรรม ใน รามเกียรติ์


จากข้างต้นที่พี่หวานได้กล่าวไปเเล้วทั้งสิบข้อ พี่หวานยังพบอีกว่าในเรื่อง รามเกียรติ์ ก็ปรากฏการกล่าวถึง 'ทศพิธราชธรรม' ในตอนท้าวทศรถสอนพระราม ไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่าหลักธรรมทั้ง 10 ข้อนั้นมีมานานแล้วและเป็นหลักธรรมที่กษัตริย์ผู้ปกครองพึงปฏิบัติเพื่อเป็นสิริมงคลอันดีในการปกครอง 

จากตัวบทด้านล่างนี้
 
       เมื่อนั้น                              พระบิตุรงค์องค์พระจักรกฤษณ์ 
จึ่งเรียกพระรามมานั่งชิด               ทรงฤทธิ์มีราชบัญชา
พ่อจะให้ครองสมบัติ                    สืบวงศ์จักรพรรดินาถา 
จงตั้งอยู่ในทศธรรมา                    เป็นตราชูโลกทั้งไตรดาล
เจ้าจงเลี้ยงเสนาพลากร                ให้ถาวรดั่งร่มพฤกษาศาล 
เอาความสัตย์สุจริตเป็นประธาน       คือรากแก้วกิ่งก้านดอกใบ
อันฝูงสัตว์จตุบาททวิบาท              จะเกลื่อนกลาดมาพึ่งอาศัย 
จงเอาเมตตานั้นแผ่ไป                   ดังกลิ่นดอกไม้อันตระการ
จะหอมขจรทุกประเทศ                  เย็นเกศไปทั่วทิศาศาล 
ทานนั้นต่างผลโอฬาร                   หว่านให้บำเหน็จโดยตรา
แก่หมู่เสนีรี้พล                            ประชาชนยาจกถ้วนหน้า 
ตัดโลภเอาความกรุณา                  เป็นปัญจมหานัที
ไหลมาไม่รู้สุดสิ้น                         อาบกินเป็นสุขเกษมศรี 
อย่าเบียดเบียนไพร่ฟ้าประชาชี        ให้มีความเดือดร้อนเวทนา
น้ำเย็นฝูงปลาก็อาศัย                    ปักษาพึ่งไม้ใบหนา 
ป่ากว้างย่อมมีมฤคา                      พากันมาอยู่สำนัก
จงแผ่เดชาวรายศ                         ให้ปรากฏเกียรติไปทั้งไตรจักร 
แก่มนุษย์เทวัญคนธรรพ์ยักษ์           ลูกรักจงฟังพ่อสอนไว้ ฯ

โดยท้าวทศรถสอนให้พระรามปกครองราษฎรโดยมีความสุจริตเป็นที่ตั้ง 'เอาความสัตย์สุจริตเป็นประธาน คือรากแก้วกิ่งก้านดอกใบ' ถ้าหากทหารที่ปฏิบัติกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ก็ให้มีการมอบรางวัลบำเหน็จ เพื่อสร้างขวัญเเละกำลังใจให้คนที่ทำความดีมีกำลังทำต่อไป ต้องรู้จักที่จะละความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง ต้องมีความอดทน ถ้าใครเคยอ่านตัวบทจะรู้ว่าพระรามเป็นกษัตริย์ที่มีความอดทนสูงมาก จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกเนรเทศให้ไปเดินป่าหลายครั้ง เเต่ก็เลือกจะมองว่ามันเป็นชะตาที่ต้องเผชิญ และสุดท้ายก็สามารถกลับมาครองราชย์เเละได้นำเอาหลักคำสอนทุกประการที่ท้าวทศรถเคยสอนมาปฏิบัติ เเละปกครองกรุงอโยธยาให้รุ่งเรืองสืบไป

 
ไม่รู้ว่าบทความนี้จะทำให้น้องๆ เข้าใจในหลักธรรมเกี่ยวกับ 'ทศพิธราชธรรม' ได้มากขึ้นรึเปล่า เเต่อย่างน้อยก็น่าจะเห็นภาพได้ว่าบางอย่างแฝงในวรรณคดีไทยก็เป็นสิ่งที่อยู่มานานเเละยังคงยึดถือปฏิบัติกันจริงๆ ถ้าใครมีเรื่องอยากรู้หรืออยากให้พี่หวานนำประเด็นไหนมาพูดอีก สามารถเข้ามาเเลกเปลี่ยนความสนใจได้นะคะ เเล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ ^___^
 

พี่หวาน


ขอบคุณข้อมูลเเละรูปภาพบางส่วนจาก
pkook
http://www.dgr.go.th/transparent/pdf/oja.pdf



 
พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น