8 ข้อคิดถึงนักเขียน จากใจเออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์


8 ข้อคิดถึงนักเขียน จากใจเออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ 
 
พอพูดชื่อเฮมมิ่งเวย์แล้ว ก็เชื่อเลยว่าทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อของเขาคนนี้อย่างแน่นอน งานเขียนอันยิ่งใหญ่ของเขา Old Man and the Sea ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี ค.ศ. 1953 และปีต่อมา เฮมมิ่งเวย์ก็ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ฟังมาแค่นี้ก็น่าจะรู้แล้วว่าเขาเป็นนักเขียนที่น่าทึ่งแค่ไหน แอดมินได้ลองรวบรวมข้อคิดดีๆ ในการเขียนของเฮมมิ่งเวย์มาฝากกันค่ะ เผื่อนักเขียนรุ่นใหม่ทั้งหลายจะนำเทคนิคจากเขาไปประยุกต์กับสถานการณ์ของตัวเองได้ 
 

 
ข้อคิดที่ 1 : ถามตัวเองเสมอว่าสิ่งที่เขียนนั้นเกี่ยวกับอะไร 
หนังสือดีๆ ส่วนใหญ่แล้ว จะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายหรือดี ลักษณะนิสัยตัวละครต่างๆ บรรยากาศที่ปรากฎในหนังสือ หรืออะไรก็ตามที่คุณเขียนถึง ถ้าหากว่าคุณทำให้คนอ่านรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งที่เขียน ทำให้พวกเขาโหยหา อยากใช้ชีวิตแบบตัวละครในเรื่อง หรืออยากไปเยือนสถานที่ที่คุณเขียนถึงได้ เมื่อนั้น งานเขียนของคุณจะประสบความสำเร็จอย่างมาก  
 
ข้อคิดที่ 2 : อดทนและขยันเรียนรู้ 
อย่าคิดว่าเขียนแค่รอบเดียวแล้วจะผ่านได้เลย อันนี้จริงจังมากๆ เพราะมีนักเขียนน้อยคนที่จะประสบความสำเร็จได้เลยในการเขียนครั้งแรก พวกที่ทำได้นั้นก็มีบ้าง แต่ต้องมีพรสวรรค์มากจริงๆ แต่ถ้าเราไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มนักเขียนประเภทนั้น ก็ควรพัฒนาฝีมือของตัวเองต่อไป อดทน มานะพยายาม เขียน แก้ เขียนใหม่ วนไปวนมาอยู่อย่างนั้น นักเขียนดีๆ ส่วนใหญ่ก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น นักเขียนที่มีพรสวรรค์มักจะเกิดมาพร้อมฝีมือในการเขียน กลุ่มนี้มีน้อยมากอย่างที่บอก แต่นักเขียนกลุ่มที่ใหญ่กว่าคือพวกที่เกิดมาพร้อมทักษะการเรียนรู้และความอดทน อาชีพนี้ พวกนี้ไม่ย่อท้อ และจะหาทางฝ่าฟันจนกว่าผลงานจะได้รับการยอมรับ 
 
ข้อคิดที่ 3 : เวลาเขียนมันไม่ได้สุขอย่างเดียว แต่ทุกข์ด้วย ก็ต้องรับให้ได้ทั้งสองอย่าง 
เวลาเขียนงาน นักเขียนส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการเขียนเพื่อตัวเอง ซึ่งนั่นคือความสุข แต่... ในเมื่อเราไม่ใช่ตัวกำหนดตลาด ถ้าเราเขียนงานที่อยากอ่านคนเดียวโดยไม่คำนึงถึงคนอ่าน ก็คงไม่มีสนพ. ไหนกล้าเสี่ยงกับเรา หรือต่อให้ทำมือเอง ก็ขายได้ยากอยู่ดี ดังนั้น ในฐานะนักเขียน เราต้องยอมรับว่างานเขียนประกอบด้วยความสุขและความทุกข์ไปพร้อมๆ กัน เราต้องนึกถึงใจคนอ่านด้วย ไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวเองคนเดียว พยายามพบกันตรงกลางและมองโลกตามความเป็นจริงให้มากที่สุด
 
ข้อคิดที่ 4 : เขียนถึงสิ่งที่รู้จักดี 
แม้จะมีหลายๆ คนมองว่า เราสามารถเขียนถึงอะไรก็ได้ แต่สำหรับเฮมมิ่งเวย์ เขาเชื่อว่า นักเขียนควรเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองรู้จักดีอยู่แล้ว และที่สำคัญ ควรจะเขียนทั้งข้อดีข้อเสียและเหตุผลที่ทำให้เราเชื่อในสิ่งนั้น หรือจริงจังกับมัน การเขียนในสิ่งที่รู้ จะสร้างความจริงบางอย่าง และทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึกตามเราไปด้วย ยิ่งถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้สร้างตัวละครจากคนในชีวิตที่รู้จัก เขียนให้ครบทั้งข้อดีข้อเสีย สิ่งที่ทำให้เรารักและเกลียดเขา แทนที่จะแต่งเรื่องให้เขาหรือเธอ จะทำให้คนอ่านรู้สึกเข้าถึงตัวละครเหล่านั้นได้มากกว่า เฮมมิ่งเวย์ยังตบท้ายด้วยว่า "งานเขียนที่ประสบความสำเร็จของผม ล้วนเขียนจากสิ่งที่ผมรู้จักและเข้าใจเป็นอย่างดี" 
 
ข้อคิดที่ 5 : แล้วถ้าเขียนไม่ออก...? 
เวลาเขียนไม่ออก ไม่รู้จะไปไหนต่อ เฮมมิ่งเวย์บอกว่า เขามักจะหยุดและปลอบใจตัวเองว่า "อย่ากังวลไปเลย นายเคยเขียนมาก่อนแล้ว เล่มก่อนหน้าก็ยังผ่านมาได้ เพราะงั้นเล่มนี้ก็ได้ต้องได้แหละ" และเทคนิคที่เขาใช้เสมอมาก็คือ หาประโยคสำคัญซึ่งเป็นแก่นเรื่องมา แล้วทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าเขียนหนังสือเรื่องนี้เพื่ออะไร เฮมมิ่งเวย์เชื่อว่า ประโยคที่สำคัญต่อเนื้อเรื่อง จะส่งผลดี ทำให้เขากลับมาคิดได้ว่า ควรจะเขียนอะไรต่อ หรือเนื้อเรื่องควรจะไปทางไหน 
 
ข้อคิดที่ 6 : อะไรไม่จำเป็นก็ต้องทิ้งไป
เฮมมิ่งเวย์เองก็ไม่แตกต่างจากนักเขียนทั่วไป ที่ชอบเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่เขียนเอาไว้ แต่เขาบอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่สามารถโยนข้อมูลทั้งก้อนใส่คนอ่านได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเลือกที่จะตัดข้อมูลสำคัญ แล้วเสิร์ฟให้กับคนอ่าน หน้าที่ของนักเขียนคือ นำเสนอฉากสำคัญๆ ทำให้คนอ่านอยากอ่านต่อ ไม่ใช่ยัดเยียดข้อมูลทุกอย่างให้คนอ่าน ถ้าเจอข้อมูลที่ไม่จำเป็น ต้องตัดทิ้งให้หมด อย่าไปลังเล ตัวเขายึดถือคำพูดที่ว่า เขียนให้สั้นที่สุด กระชับที่สุด และเข้าใจง่ายที่สุด เวลาเขียนหนังสือ ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังเขียนและอธิบายได้ด้วยประโยคสั้นๆ ไม่ใช่ยืดเยื้อจนคนอ่านเบื่อหน่าย
 
ข้อคิดที่ 7 : ควรเขียนให้ได้ทุกวัน 
เฮมมิ่งเวย์บอกว่าเขาชอบเขียนนิยายมากและจะเขียนสม่ำเสมอทุกวัน โดยในแต่ละวัน เขาจะทำตารางสรุปไว้ด้วย ถ้าวันไหนเขียนได้ 1,200-2,700 ตัวอักษร ถือว่าเป็นวันยอดเยี่ยม ถ้าวันไหนเขียนได้ 400-600 ตัวอักษรถือเป็นวันที่ใช้ได้ และถ้าวันไหนเหนื่อยมาก เบื่อมาก ก็ขอให้ได้สัก 320 ตัวอักษรเขาก็พอใจแล้ว 
 
ข้อคิดที่ 8 : อยากเป็นนักเขียนต้องอ่าน 
เฮมมิ่งเวย์บอกว่า มีคนมากมายถามเขาว่าอยากเป็นนักเขียนต้องทำอย่างไร และเขาตอบไปเสมอว่าต้องอ่าน เพราะสิ่งที่เราอ่านจะสอนวิธีการเป็นนักเขียนให้กับเราเอง นักเขียนที่เราอ่านงานของเขา ก็คือครูแบบอ้อมๆ ของเรา ยิ่งอ่านมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเขียนได้เฉียบคมมากขึ้นเท่านั้น เฮมมิ่งเวย์บอกด้วยว่า ถ้าเขียนอย่างเดียวโดยไม่อ่าน เขาก็จะขาดวัตถุดิบสำหรับเขียนเรื่องใหม่ๆ เพราะฉะนั้น เขาจึงต้องอ่านให้มากกว่าเขียน เพื่อเพิ่มเติมทักษะการเขียนให้ตัวเอง 
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด