เบื้องหลังนักเขียนเด็กดี พิชิตรางวัลพระยาอนุมานราชธน โครงการเรื่องสั้นแห่งปี พ.ศ. 2560



เบื้องหลังนักเขียนเด็กดี
พิชิตรางวัลพระยาอนุมานราชธน 
 

 
สวัสดีค่ะน้องๆ นักอ่านนักเขียนทุกคน ^^ ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนที่เเล้วพี่หวานได้ทำหน้าที่มาประชาสัมพันธ์โครงการประกวดเรื่องสั้นรางวัลพระยาอนุมานราชธนให้น้องๆ ได้รู้จัก หลายคนคงเคยเห็นผ่านตามาบ้าง เเต่อีกหลายคนก็คงเพิ่งมารู้จักไม่นานนี้ เเต่เนื่องจากการประกวดครั้งนี้เป็นปีเเรกที่เว็บไซต์เด็กดีเข้าร่วมด้วย พี่หวานจึงมีโอกาสได้เข้าเก็บภาพบรรยากาศเเละอยู่ร่วมเสวนากับผู้ได้รับรางวัลด้วยค่ะ

งานวันพระยาอนุมานราชธนเป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของพระยาอนุมานราชธนในฐานะปราชญ์แห่งสยาม ผู้เป็นครูต้นแบบในการสอนหลายเรื่องเเก่ชนรุ่นหลัง ถึงเเม้ท่านจะล่วงลับไปเเล้วเเต่ผลงานของท่านยังคงอยู่เพื่อเป็นครูต่อวงการวรรณกรรมไทยต่อไป

 

คุณจิรยง อนุมานราชธน ตัวเเทนทายาทพระยาอนุมานราชธนกล่าวเปิดงาน
 
ในโอกาสนี้เว็บไซต์เด็กดี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เเละกลุ่มทายาทพระยาอนุมานราชธนจัดโครงการประกวดเรื่องสั้น ในหัวข้อ "วัฒนธรรมไทย" นับเป็นการสร้างโอกาสครั้งใหม่ และก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่อีกก้าวหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย ได้ทำการประกาศผลไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 เเละในวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ซึ่งถือเป็นวันพระยาอนุมานราชธน ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดพิธีรับมอบรางวัลขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ฝั่งวังท่าพระ
 

 

ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้น ได้แก่ นายวัชระ หนูแดง
เจ้าของผลงาน คลื่นลูกสุดท้าย




 

ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้น ได้แก่  นายเทพประทาน บุญเสริม

เจ้าของผลงาน Hero




 

พูดคุยกับผู้ได้รับรางวัลทั้งสองคน



โดยปกติเเล้ว นายวัชระ หนูแดง ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศเรื่อง คลื่นลูกสุดท้าย กล่าวว่า ตัวเขาไม่ได้อ่านเรื่องสั้นจริงจัง เเต่เนื่องจากได้เรียนวิชาวรรณกรรมเด่นร่วมสมัย ทำให้นึกสนใจ ประจวบกับมีประกาศการประกวดรางวัลพระยาอนุมานราชธนเข้ามา เเต่เขาก็ฝึกฝนการเขียนอยู่เสมอ อยากลองเขียนงานให้สำเร็จสักชิ้นหนึ่ง จึงมองว่าเป็นโอกาสที่อยากจะส่งผลงานมาประกวดเเละทำให้ได้สักครั้ง ตอนเเรกที่ดูหัวข้อการประกวดเห็นว่าเรื่องวัฒนธรรมไทย จึงปักหมุดไว้ว่าเรื่องจะต้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคน ส่วนตัวพื้นเพเป็นคนภูเก็ตจึงเลือกหยิบเรื่องราวที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาเขียน ในเรื่องคลื่นลูกสุดท้ายก็ได้รับเเรงบันดาลใจมาจากข้อพิพาทระหว่างชาวเลกับนายทุนที่ยืดเยื้อมานานมากเเล้ว หลายคนมองภาพจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม เเต่ขณะเดียวกันมันก็ยังมีมุมหนึ่งที่ไม่สวยงามซ่อนอยู่ ตัวผู้เขียนจึงอยากถ่ายทอดในจุดนั้นออกมา

การมีรางวัลพระยาอนุมานราชธนนี้เป็นเหมือนพื้นที่ทำให้เยาวชนที่สนใจเเละอยากจะเป็นนักเขียนเเต่ด้วยประสบการณ์เเละวัยวุฒินั้นยังด้อยเกินกว่าจะก้าวสู่สนามซีไรต์ ได้ลองส่งประกวด ยิ่งเป็นเหมือนเเรงสนับสนุนอันดีที่ทำให้ตัวผู้เขียนรู้สึกเหมือนได้กลับมาเป็นพลังขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมต่อไป

 

ทั้งนี้นายวัชระยังได้พูดถึงกระบวนการเขียนเรื่องสั้นเรื่อง คลื่นลูกสุดท้าย นี้ไว้ว่า ตัวผู้เขียนมองถึงปัญหาสังคมเหล่านี้ว่ามีความซับซ้อน แม้งานวรรณกรรมชิ้นหนึ่งไม่สามารถถ่ายทอดหรือสะท้อนภาพความจริงทั้งหมดได้ เเต่ก็สามารถเป็นกระบอกเสียงแทนความคิดคนในสังคมได้ เขาจึงหยิบข้อพิพาทระหว่างชาวเลกับนายทุนเป็นตัวตั้งเเละใช้การเขียนเป็นสื่อเล่าเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นตนเอง เเต่ในการเขียนจะต้องหาข้อมูลอย่างมากเพราะเป็นการเขียนเรื่องความเชื่อ ความคิดคนมาเขียนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยนำเสนอให้วิญญาณของพ่อเฒ่ากับพี่ชายตัวเองอย่างอูมะฮกลับมาสื่อสารกับคนเป็น โดยเขียนให้เหมือนยังมีชีวิตอยู่ ทั้งที่ทั้งสองตัวละครนั้นเสียชีวิตไปเเล้ว

นอกจากนี้ความบีบคั้นของเนื้อเรื่องที่น่าสนใจคือ ผู้เขียนใช้กลวิธีละบางส่วนของเนื้อหาเอาไว้ให้คนอ่านได้มีการจินตนาการต่อไป เป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างความน่าสนใจให้ชิ้นงานนี้ได้อย่างมาก ท้ายที่สุดสำหรับเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ได้รับคำชมในเรื่องของการมีความโดดเด่นเป็นเอกภาพเดียวกันอย่างชื่อตัวเอกที่ชื่อ อูมะฮ อันแปลว่า คลื่น สอดคล้องกับชื่อเรื่อง คลื่นลูกสุดท้าย ดำเนินเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับ คลื่นในท้องทะเล เเละการจบเรื่องเเบบปลายเปิดให้คนคิดต่อว่าอูมะฮนั้นจะเป็นคลื่นลูกสุดท้ายของสังคมคนยุคเก่าหรือจะถูกกลืนกลายมาเป็นคลื่นลูกใหม่ของสังคมใหม่กันเเน่อีกด้วย

 

"สำหรับผมปกติไม่ค่อยชอบเเต่งประกวดเท่าไหร่ เเต่ผมเเต่งนิยายลงเว็บเด็กดีอยู่เเล้วก็เลยเห็นข่าวประกวดนี้" นายเทพประทาน บุญเสริม ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศกล่าวในตอนต้น ก่อนจะพูดต่อถึงเเรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง Hero โดยเขามองว่าสภาพสังคมไทยมีสิ่งหนึ่งที่ติดอยู่มานานนั่นคือเรื่อง การยกมือ ตัวผู้เขียนสังเกตว่า สังคมไทยนั้นจะไม่กล้ายกมือ เเต่ถ้ามีใครที่ยกมือขึ้นมาก็จะเริ่มมีคนยกมือตามมา ผสมผสานการเล่นกับความเชื่อของคน ที่เมื่อผู้มีอำนาจเป็นคนกุมความเชื่อจะทำให้การแสดงออกถึงความคิดเห็นของผู้คนถูกปิดกั้น จึงเป็นที่มาของเรื่องสั้น Hero เรื่องนี้นั่นเอง โดยสำหรับเรื่องสั้นนี้มีความโดดเด่นในเรื่องของการเขียนตัดสลับตอนไปมาที่ผู้เขียนละชื่อตัวละครในเรื่องเเต่มาปรากฏชื่อเพียงชื่อเดียวในตอนท้ายนั่นก็คือ ชื่อของวีรบุรุษผู้เสียสละปกป้องทุกคนโดยการตั้งชื่อให้ว่า Hero ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ใส่ชื่อตัวละครเพราะมีความตั้งใจให้คนอ่านจินตนาการมุมมองของผู้เล่าเรื่องด้วยตัวเอง เมื่ออ่านตอนต้นอาจจะยังสับสนเเละไม่เเน่ใจว่าใครเป็นผู้ดำเนินเรื่อง เเต่ถ้าอ่านไปจนจบในตอนท้ายความคลุมเครือทั้งหมดก็จะหายไป

สำหรับการเขียนเรื่องแบบนี้ได้รับคำชมจากคณะกรรมการว่าเป็นการท้าทายจินตนาการของคนอ่านเนื่องจากว่าไม่ได้กำหนดว่าตัวละครและฉากนั้นอยู่ที่ไหน ดังนั้นความน่าสนใจของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ เเละทุกช่วงเวลา ถ่ายทอดการต่อสู้เพื่อความเชื่อระหว่างสิ่งที่ตนเองเป็นกับสิ่งที่คนอื่นมองได้อย่างดี
 


นอกจากได้ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับผลงานทั้งสองเรื่องเเล้วนายเทพประทานยังกล่าวไว้อีกว่าตัวผู้เขียนเองมีเพื่อนในวงการนักเขียนหลายคนเเต่ไม่ค่อยมีใครเดินสายงานประกวดเท่าไหร่นัก การประกวดครั้งนี้เป็นเหมือนเเสงเทียนที่ส่องสว่าง เหมือนกับการที่เว็บเด็กดีมาร่วมด้วยทำให้นักเขียนที่อยู่ในความมืดหลายคนที่ไม่กล้าส่งผลงานเหมือนได้เจอเเสงสว่างอีกครั้ง ผู้เขียนยังกล่าวถึงเพื่อนนักเขียนที่ชอบเขียนเรื่องสยองขวัญด้วยว่าเพื่อนเขาเองก็มีโอกาสได้เขียนนำเสนองานในหัวข้อนี้เเต่เป็นการเขียนด้วยสไตล์ตัวเองคืองานเขียนสยองขวัญ ก็เหมือนเป็นสนามที่สามารถเขียนในเเบบตัวเองได้ จึงเล็งเห็นว่าการประกวดครั้งนี้เป็นโครงการดีๆ ที่ช่วยจุดประกายไฟฝันของเหล่านักเขียนเยาวชนอีกหลายคนให้กลับมามีพลังอีกครั้ง

สำหรับพี่หวานเองก็เป็นอีกคนที่ติดตามอ่านผลงานของผู้เข้าประกวดทุกคน ทุกเรื่องที่ส่งเข้ามา รู้สึกประทับใจในกระเเสตอบรับครั้งนี้มากค่ะ ก็ได้เเต่หวังถึงในโอกาสหน้าว่าพลังสำคัญจากนักเขียนและนัก(หัด)เขียนในเว็บของเรา จะมาเป็นเเรงขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมไทยให้เติบโตต่อไป

 
พี่หวาน

พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น