​ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา : คนยิ่งใหญ่โตยิ่งหาคนจริงใจด้วยลำบาก

 

ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา :
คนยิ่งใหญ่โตยิ่งหาคนจริงใจด้วยลำบาก  

 
สวัสดีค่ะชาวนักอ่านนักเขียนเด็กดีทุกคน สำหรับหัวข้อของเราวันนี้ จะมาพูดถึงเรื่อง ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา กัน สำหรับแอดมิน นิทานเรื่องนี้ออกสายบันเทิงนะ ตอนอ่านสมัยเด็กๆ จำได้ว่า ขำว่า พระราชาโดนหลอกให้เดินแก้ผ้าเฉย แล้วคนอื่นๆ ก็ไม่กล้าบอกความจริงกับพระองค์ด้วย เพราะกลัวอาญา เลยทำตัวเลยตามเลย หลอกลวงพระองค์ไป ตอนนั้นแอดมินไม่คิดอะไรมาก แต่พอโตๆ มาก็ได้คิดว่า... เออ มันมีจริงๆ นะ พวกคนใหญ่คนโตที่โดนคนรอบตัวหลอกด้วยคำยกยอปอปั้น เพียงเพราะคนเหล่านั้นกลัวว่าจะมีความผิด หรือจะมีปัญหา มันทำให้แอดมินอดคิดไม่ได้ว่า การเป็นคนใหญ่คนโตที่ก็เหนื่อยเหมือนกัน เพราะคงหาคนจริงใจด้วยยากเหลือเกิน 
 
พระราชาโดนหลอกว่ามีแต่ผู้มีบุญจึงจะมองเห็นชุด
ก็เลยไม่กล้าบอกว่ามองไม่เห็นเพราะกลัวจะเสียหน้า

 
ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา : นิทานแห่งการหลอกลวงและความหวาดกลัว
ผลงานเรื่องฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา เป็นของนักเขียนเทพนิยายเจ้าเก่า ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ที่แอดมินพูดถึงเขาทีไร ก็จะมีคำห้อยท้ายว่า เป็นผู้เขียนเงือกน้อยทุกที (ก็เป็นเทพนิยายสร้างชื่อนี่นา) แม้ว่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเทพนิยาย แต่เนื้อหาของฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชานั้นไม่ได้เข้าข่ายเทพนิยายเอาเสียเลย (ไม่มีเจ้าชายเจ้าหญิงไม่มีแม่มด (แต่ก็มีพระราชา)) เนื้อหาของมันค่อนข้างทันสมัยทีเดียว เป็นเรื่องของโจรต้มตุ๋นสองคน ที่อ้างว่าตัวเองทำเสื้อผ้าที่งดงามที่สุดได้ โดยทอจากไหมและทอง โดยเจ้าโจรได้หลอกพระราชาว่า เสื้อตัวนี้เป็นเสื้อวิเศษ ที่มีแต่ผู้ที่ตาถึงเท่านั้นจึงจะมองเห็น พระราชากลัวเสียหน้า ก็เลยทำเนียนๆ ไป ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่มีเสื้อผ้าอยู่เลย แล้วพระราชาก็เดินแก้ผ้าไปทั่วเมือง โดยที่ทั้งประชาชนและข้าราชบริพารก็ไม่กล้าจะพูดอะไร เพราะเกรงว่าจะต้องโทษ 
 
ประเด็นหลักๆ ของนิทานเรื่องนี้คือ การหลอกลวงและความหวาดกลัว ช่างตัดเสื้อนั้นเก่งเรื่องหลอกลวง เขาเล่นประเด็นที่ใครๆ ก็กลัว นั่นคือประเด็นเกี่ยวกับพระราชา เพราะรู้แน่ว่า ทุกคนย่อมรักชีวิต กลัวว่าถ้าพูดอะไรผิดไปแม้สักคำ ก็อาจจะทำให้ตัวเองเป็นภัยได้ มันน่าคิดว่า... สิ่งที่ช่างตัดเสื้อทำนั้น เป็นเรื่องที่เสี่ยงภัยมากทีเดียว แต่เจ้าตัวก็กล้าที่จะทำ ช่างตัดเสื้อเป็นตัวแทนของชนชั้นล่าง ที่ตะเกียกตะกายอยากได้ชื่อเสียง อยากเลื่อนชนชั้น อยากเข้าสู่ปราสาท อยากได้อยู่ใกล้ชิดกับอำนาจ เมื่อได้โอกาส เขากล้าที่จะเสี่ยงโดยเลือกจับจุดอ่อนของพระราชา ที่เป็นคนกลัวว่าตัวเองจะไม่ ‘วิเศษ’ และกลัวจะต้อง ‘ขายหน้า’ ความห่วงเรื่องภาพลักษณ์นี้เอง ทำให้พระราชาโดนหลอกได้อย่างง่ายดาย การอ่านนิทานเรื่องนี้ ทำให้เราได้รู้จุดอ่อนของมนุษย์เพิ่ม และทำให้เราตระหนักได้ว่า... ไม่ว่ายุคสมัยไหน ก็จะมีคนหลอกลวงและคนโดนหลอกอยู่เสมอ 
 
พระราชาโดนหลอกให้เดินแก้ผ้าไปทั่วเมือง
 
ไม่มีใครบอกความจริงแก่พระองค์เลยสักคน
 
ขนาดดูในกระจกก็ยังไม่กล้าพูดว่ามองไม่เห็นเสื้อ
เพราะกลัวเสียหน้า

 
ไหวไหมพระราชา
 
เดินแก้ผ้าไป
 
ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา : นิทานแห่งความไม่จริงใจ 
เป็นที่รู้กันดีว่า แอนเดอร์สันนั้นไม่ใช่นักเขียนที่สร้างสรรค์เรื่องใหม่ๆ ด้วยตัวเอง แต่เขามักจะเลือกเก็บเอาโครงสร้างของตำนานเก่าๆ มา และต่อเติมเป็นผลงานของตัวเอง สำหรับเรื่องฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา เขาได้แรงบันดาลใจมาจากนิทานสเปน ผลงานของ เจ้าชายแห่งวิลเลน่า ฮวน มานูเอล ชื่อเรื่องภาษาสเปนมีอยู่ว่า “Lo que sucedio a un rey con los burladores que hicieron el paño” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “What Happened to a King with the Rogues Who Wove the Cloth” ผลงานเรื่องนี้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1337 ซึ่งเป็นช่วงยุคกลาง ผู้เขียนนั้นเป็นชนชั้นสูงและเชี่ยวชาญทั้งภาษาสเปนและอาหรับ เรื่องมีอยู่ว่า ช่างทอผ้าสามคนได้ให้การต่อศาลว่า มีแต่บุตรชายที่แท้จริงของพระราชาที่จะสามารถมองเห็นเสื้อผ้าที่พระราชาสวมอยู่ได้ และคนคนนั้นก็จะได้รับมรดก รวมไปถึงได้เป็นทายาทของพระราชา พระราชาเกรงว่าคนอื่นๆ จะคิดว่าตัวเองไม่ใช่ ‘ตัวจริง’ ก็เลยทำทีเป็นเห็นด้วยว่าตัวเองก็มองเห็นเสื้อผ้า จนกระทั่งเด็กชายคนหนึ่งได้กล้าเปิดโปงความจริงว่า ไม่มีเสื้อผ้าใดๆ ทำให้พระราชาต้องอับอาย แอนเดอร์สันอ่านต้นฉบับนี้เป็นภาษาเยอรมัน และสนใจเนื้อหาอย่างมาก เขาได้นำบุคลิกของพระราชามาปรับ และแก้ไขเนื้อหาบางส่วน ในสายตาของแอนเดอร์สัน เขามองว่า พวกกษัตริย์เชื้อพระวงศ์ทั้งหลายมักกลัวว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่มีคุณค่าพอ ไม่ใช่ของแท้ ไม่มีคุณสมบัติพอ และต้องการแสดงตัวว่าเหนือประชากรของตัวเอง เขาก็เลยเลือกบทของช่างตัวเสื้อมาเป็นตัวแทนของสังคมชนชั้นล่าง และได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นโดยอิงประเด็นเรื่องอำนาจ ความกลัว ที่ชนชั้นล่างมีต่อชนชั้นสูง เป็นการเสียดสีสังคมแบบเนียนๆ ผ่านนิทานนั่นเอง  
 
ตัวแอนเดอร์สันเองก็เกิดในกลุ่มชนชั้นล่าง พ่อแม่ของเขามีฐานะยากจนแต่เขาก็สามารถถีบตัวเองจนกลายเป็นชนชั้นกลางระดับสูง และได้ใกล้ชิดกับชนชั้นสูงและบรรดากษัตริย์ (ด้วยผลงานอันโด่งดังของเขานั่นเอง) ทำให้เขามองเห็นถึงความไม่จริงใจในกลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงความบ้าเสื้อผ้า เพชรพลอย เครื่องประดับประเภทของแท้ด้วย ลักษณะเด่นเหล่านี้เอง ทำให้เขาตัดสินใจเขียนเรื่อง ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา ขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องบอกกับคนอื่นๆ แอนเดอร์สันบอกว่า แรงบันดาลใจของเขามาจากความทรงจำในวัยเด็ก ที่เขาผิดหวังในตัวกษัตริย์เฟรเดอริกที่ 6 เพราะพระองค์เป็นเพียงคนธรรมดา ไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์ นักวิจารณ์เชื่อกันว่า ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ทำให้แอนเดอร์สันมีทัศนคติไม่ดีกับเชื้อพระวงศ์เท่าไหร่นัก ทำให้ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา จบลงที่พระราชาต้องยืนแก้ผ้าอยู่ต่อหน้าคนทั้งประเทศ โดยทุกคนก็แอบหัวเราะเยาะพระองค์อยู่ แต่ไม่มีใครจริงใจพอจะพูดกับพระองค์เลยแม้แต่คนเดียว 
 
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การหลอกลวง หรือความหวาดกลัว แต่เป็นเรื่องของการที่คนใหญ่โต ขาดคนจริงใจอยู่ข้างกาย และมันทำให้คนคนนั้นไม่อาจรับรู้ความจริงได้ ซึ่งนั่นคือปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อเจ้าตัว และยังส่งผลไปถึงระบบการปกครองได้เลย เราจะเห็นว่า เมื่อช้าราชบริพารเลือกที่จะปิดหูปิดตากษัตริย์ ถ้าหากพระองค์ไม่มีวิจารณญาณเพียงพอ เอาแต่หูเบาเชื่อฟังคำลวง ก็อาจนำไปถึงการล่มสลายของราชวงศ์ได้เลย (แอนเดอร์สันน่าจะเขียนเรื่องนี้โดยนึกถึงเรื่องราวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมังรี อังตัวเน็ตต์ด้วย) 
 
บางที การเป็นคนใหญ่คนโตนั้น
ก็ช่างหามิตรภาพและความจริงใจได้ยากเหลือเกิน
คิดว่าจริงไหม
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
http://www.andersen.sdu.dk/vaerk/hersholt/TheEmperorsNewClothes_e.html
https://www.tor.com/2017/03/02/deceptions-and-satire-the-emperors-new-clothes/ 
http://www.online-literature.com/hans_christian_andersen/967/ 
https://www.phrases.org.uk/meanings/the-emperors-new-clothes.html 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด